ไหมพุมเรียง ของดีศรีวิชัย


ของดีศรีวิชัย

ไหมพุมเรียง  ของดีศรีวิชัย

                                                                                          วิโรจน์  แก้วเรือง                          

                            พระบรมธาตุคู่เมือง                     รุ่งเรืองพุทธศาสน์          

                     พุทธทาสปราชญ์โลก                          สวนโมกขพลาราม          

                    ลือนามศรีวิชัย                                       ผ้าไหมพุมเรียง          

                    ทะเลเคียงหาดทราย                              แหล่งซื้อขายไข่เค็ม                

          ถ้าพูดถึงบ้านพุมเรียง  หลายๆ ท่านคงไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนแต่ถ้าได้อ่านคำขวัญของอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี   ข้างต้น  ก็คงพอจะนึกได้  แต่ก็ไม่มากนักที่จะมีโอกาสไปเยือนบ้านพุมเรียง  เนื่องจากบ้านพุมเรียง  ไม่ได้อยู่ติดกับถนนสายหลัก กรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี  หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41  ผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์เป็นประจำหรือชั่วคราว  ก็มักจะแวะนมัสการท่านพุทธทาสปัจจุบันท่านได้มรณภาพแล้ว  พระนักปราชญ์ของชาวใต้ชาวไทยและชาวโลก  ที่วัดสวนโมกข์พลาราม  แล้วก็แวะซื้อไข่เค็ม  ตามร้านเพิงริมถนนหลายสิบร้าน   ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นร้านที่ชนะเลิศการประกวดไข่เค็มมาแล้วทั้งนั้น เรียกว่า    จะหาซื้อไข่เค็มจากร้านที่ชนะเลิศรางวัลที่ 2 ที่ 3  นั้นไม่มีเลย  พูดง่ายๆ อร่อยทุกร้านไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน               

             บ้านพุมเรียง  ตั้งอยู่ในตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  พุมเรียงอยู่ติดทะเล    อ่าวไทย  มีแหลมโพธิ์  ซึ่งเป็นแหลมสวยงามและมีหาดทรายขาวสะอาด  ดังนั้น  การเดินทางไป   สุราษฎร์ธานี  ครั้งต่อไปขอให้บ้านพุมเรียง  และอำเภอไชยา   อยู่ในหัวใจท่านในการไปเยือนบ้านและอำเภอนี้  ทำไมผมจึงอยากเชิญชวนท่านให้เดินทางไป  ด้วยเมืองไชยา  หรือเมืองศรีวิชัย  ในชื่อเดิม         มีความเจริญรุ่งเรืองในระหว่างพุทธศตวรรษ  ที่ 12-17 มีอาณาเขตกว้างขวางครอบคลุมหัวเมือง  ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก  เมืองตะกั่วทุ่ง  เมืองตะกั่วป่า ฯลฯ  ไชยา  มาจากคำว่า วิชะยะ   หรือ    วิชัยยะ  คนทางใต้มักออกเสียงสั้นๆ ว่า ชัยยะ จนเพี้ยนมาเป็น ไชยา  ในปัจจุบัน สถานที่สำคัญที่ท่านควรไปแวะคือ  วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร  อยู่ในตำบลเวียง  อำเภอไชยา  ห่างจากสถานีรถไฟไชยาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร  พระบรมธาตุไชยาเป็นพุทธเจดีย์แบบศรีวิชัย  บรรจุพระสารีริกาธาตุ  นับว่าเป็นเจดีย์แบบศรีวิชัยที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน  และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติไชยา  ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก               

         อาชีพของชาวไชยา  เนื่องจากไชยามีดินดี  น้ำบริบูรณ์จึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันจนได้รับการขนานนามว่า อันเมืองไชยาใครไปใครมา  อาหารไม่อด อารีอารอบ ไม่ชอบถือยศ  เป็นที่ปรากฏ มาตั้งแต่ไร  ดังนั้นการทำนาจึงเป็นอาชีพหลัก   รองลงมาเป็นการประมงมีทั้งการทำประมงน้ำจืด  และประมงน้ำเค็ม  มีการเลี้ยงหอยแครง  หอยตะโกรม  และกุ้งกุลาดำ  ส่วนการเลี้ยงสัตว์  การทำไข่เค็ม  และทำน้ำตาลโตนด  ก็มีบ้างที่ยึดเป็นอาชีพ               

            การทอผ้า  เมืองไชยาเคยมีชื่อเสียงโด่งดังในการทอผ้ามาแต่โบราณ และยึดเป็นอาชีพมาถึงปัจจุบันนี้แหล่งผลิตผ้าที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่บ้านพุมเรียง มีการทอผ้าไหมยกดอก  ผ้าพื้น  ผ้าขาวม้า ฯลฯ    การทอผ้าไหมพุมเรียงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มคนไทยมุสลิมภาคใต้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่     บ้านหัวเลน  หมู่ที่ 2  บริเวณคลองพุมเรียง  ตำบลพุมเรียง   ซึ่งสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนจนเป็นที่ยอมรับว่า  ผ้าไหมพุมเรียงมีลวดลายสวยงาม  มีลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากผ้าไหมภาคอื่นๆ คือ  การทอยกดอกด้วยไหมและดิ้น  เช่น  ผ้ายกดอกตามเกสร  ผ้ายกดอกหน้านาง  เป็นต้น               

             คุณวรรณม๊ะ  นุ้ยหมีน  เจ้าของร้านวรรณม๊ะ ไหมไทย  ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า  ชาวไทยมุสลิมบ้านพุมเรียงส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายมาจากแขกเมืองสงขลา  เป็นพวกมลายูอพยพมาจากหมู่เกาะอินโดนีเซียบางส่วนมีเชื้อสายแขกเมืองปัตตานีและไทรบุรีที่อพยพเข้ามาอยู่พุมเรียงในสมัยรัตนโกสินทร์  แม้จะมีการผสมผสานทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมกับชาวไทยแต่ก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมการทอผ้าไหมยกดิ้นเงิน  ดิ้นทอง  หรือยกไหม  อันเป็นเอกลักษณ์ที่ต่างไปจากผ้าทอของคนไทยในสมันนั้น  ศิลปะการทอผ้าไหมได้ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งหญิงสาวมุสลิมที่จะออกเรือนต้องเตรียมผ้าที่จำเป็นทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง  จึงทำให้สามารถรักษาศิลปะการทอผ้าอันโดดเด่นนี้ไว้ได้  ในอดีตผ้าที่ทอใช้ในชีวิตประจำวันจะทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย  เป็นผ้านุ่ง  ผ้าห่ม  ผ้าพื้น  ผ้าริ้ว  ผ้าขาวม้า  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผ้าฝ้าย  สำหรับผ้าที่ใช้ในพิธีการต่างๆ จะทอด้วยไหม  หรือฝ้ายแกมไหมมีลวดลายยกดอกสวยงาม  เดิมผ้านี้ใช้ได้เฉพาะเจ้านายและขุนนาง  ต่อมาเมื่อคนธรรมดาใช้ได้จึงนิยมนุ่งในพิธีสำคัญ  เช่น  คนไทยนิยมนำไปให้นาคนุ่งในงานบวช ฯลฯ  จึงมีการทอขายให้เฉพาะผู้สั่งทำ  ผ้าไหมยกดอกพุมเรียงจึงยังไม่แพร่หลายนัก  หลังปี พ.ศ. 2480  มีการนำกี่กระตุกไปเผยแพร่ในตำบลพุมเรียง  จึงมีการทอผ้าไหมได้มากขึ้น  และส่งจำหน่ายในที่ต่างๆ ทำให้เริ่มรู้จักผ้าไหมพุมเรียงเพิ่มมากขึ้น  การทอผ้าไหมซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเส้นไหมมีราคาแพงและหาซื้อยาก  แต่ชาวมุสลิมบ้านพุมเรียงก็ยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันโดยจะรับจ้างทอผ้าให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วยกี่กระตุก  ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือนบ้างรายชิ้นบ้าง  ตามความสามารถของผู้ทอ          

            วัฒนธรรมการทอผ้าไหม ของชาวพุมเรียงต่างจากการทอผ้าไหมของชาวอีสานในกรณีชาวอีสานจะมีการปลูกหม่อน  เพื่อนำใบไปเลี้ยงไหม  ได้รังไหมแล้วก็นำไปสาวเอาเส้นไหมไปทอผ้า  แต่ที่พุมเรียงไม่มีการเลี้ยงไหม  จึงต้องสั่งซื้อเส้นไหมจากอีสานจากอำเภอละแม  จังหวัดชุมพร  และไหมจากประเทศจีน  แล้วนำมาฟอกย้อมและทอเป็นผืนผ้าที่พุมเรียง               

           ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมพุมเรียง  มีทั้งผ้าไหมยกดอกทอด้วย  หูกโบราณ  หรือกี่พื้นบ้านได้แก่  ผ้ายกชุดหน้านาง  ผ้ายกชุดฝรั่ง  ผ้ายกเฉพาะเชิง  เป็นต้น  มีทั้งประเภทใช้ไหมทั้งหมด  ยกด้วยไหมลายซ้อน 2-5 สี  และอีกประเภทใช้ไหม 90 %  แล้วยกด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง  ส่วนผ้าไหมพื้น  ผ้าไหมซิ่นลายร่วงผ้าไหมตาหมากรุกสลับสี  ผ้าสไบ  ฯลฯ  จะทอด้วยกี่กระตุก  ก่อนนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋าถือ  กรอบรูป  ผ้าคลุมผม  ผ้ารองจาน  ดอกไม้ประดิษฐ์  เป็นต้น               

         การจำหน่าย  ร้านผ้าไหมพุมเรียงมีอยู่หลายร้าน  ทั้งร้านเล็กๆ คูหาเดียวและร้านใหญ่หลายคูหา  พร้อมมีโรงงานทอผ้าขนาดย่อมๆ อยู่หลังร้าน  ตั้งอยู่สองฝั่งถนนใจกลางบ้านพุมเรียง  มีทั้งการขายปลีกและขายส่ง  ในหนึ่งรอบปีจะขายดีในเดือน  ตุลาคม-มีนาคม  ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแต่งงานกันมาก  และเป็นเทศกาลปีใหม่  ผ้าไหมพุมเรียงมีการสั่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ หาดใหญ่  และสิงคโปร์  เป็นหลัก    บางร้านจะมีการจำหน่ายวัตถุโบราณสมัยศรีวิชัยด้วย  ไม่ซื้อก็เดินชมเป็นอาหารตา  ทุกร้านจะต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดียิ่ง  เนื่องจากลูกค้าไม่มาก  มีเวลาโอภาปราศรัยกับลูกค้า  เช่นเดียวกับผมและคณะหลังเพียงจะแวะไปดูผ้าไหมพุมเรียงอย่างเดียว  แต่เมื่อได้สนทนากับผู้ประกอบการแล้วก็อดจะคิดถึงและเขียนถึงผ้าไหมพุมเรียงเสียมิได้  ถ้าจะซื้อผ้าไหมพุมเรียงดังที่กล่าวข้างต้น  จะได้ทั้งความภาคภูมิใจที่ได้ผ้าไหมลวดลายและการทอที่สั่งสมมาของบรรพชนตั้งแต่ในอดีตของชาวไทยมุสลิม  แต่ถ้าไม่เลือกให้ดี  ท่านก็มีสิทธิ์ซื้อผ้าไหมของชาวไทยอีสานกลับมา 

บรรณานุกรม 

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชยา.  2544.  หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  ผ้าไหมพุมเรียง.  26 หน้า  

หมายเลขบันทึก: 110906เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท