สง่า มยุระ ราชาพู่กัน ที่คนสุพรรณภูมิใจ


“ ขยันอย่างคนจีน ทำงานใช้สมองอย่างฝรั่ง และขี้เหนียวอย่างแขก คือสูตรชีวิตที่ทำให้ผมตั้งตัวได้มาจนทุกวันนี้ ”

 

 

 “  นายสง่า มยุระ ราชาพู่กัน ..ที่คนสุพรรณภูมิใจ  ”


             ในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน เมื่อเรียนวิชาวาดเขียน ทุกครั้งที่หยิบพู่กันขึ้นมาระบายสี จะเห็นข้อความที่ด้ามพู่กันว่า “ พู่กันของสง่า มยุระ “ ผมก็สงสัยมานานว่า สง่า มยุระ เป็นใคร มาจากไหน เพราะดูเหมือนว่าแกจะเป็นเจ้าของพู่กัน ไปทั่วเมืองไทย ใครใช้พู่กันก็ต้องใช้ของแก สงสัยมานานแต่ก็ไม่รู้จะถามใคร จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมได้อ่านนิตยสารสุพรรณเสรี ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2517 คอลัมน์ “ คนดีศรีสุพรรณ “ ได้พบเรื่องราวของ นายสง่า มยุระ และก็ทราบว่า ราชาพู่กันท่านนี้ ท่านเป็นจิตรกรเอกของประเทศไทยคนหนึ่ง เป็นผู้ที่วาดภาพรามเกียรติ์ ณ ระเบียงฝาผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่ผมภาคภูมิใจอย่างยิ่งคือ ท่านเป็นคนสุพรรณ
 

          จากเรื่องราวของท่านที่ผมอ่านมา ทราบว่าท่านเกิดเมื่อ ปีระกา พ.ศ. 2452 ที่บ้านตำบลวังยางน้อย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี(ข้อมูล ปี 2517) บรรพบุรุษของท่านไม่เคยมีอาชีพเป็นช่างในทางใดๆมาก่อน แต่เมื่อตอนท่านเป็นเด็กเล็กๆ บิดาเคยตัดหนังตะลุงให้เล่น แววแห่งความเป็นจิตรกรเอกของท่านเริ่มฉายประกายตั้งแต่ยังเยาว์ เพราะเมื่อเป็นเด็ก เด็กชายสง่า ชอบเขียนภาพเป็นที่สุด พบเห็นรูปอะไรก็นำเอามาเขียนตามอย่าง สมัยนั้นซองบุหรี่มีภาพลิง ภาพยักษ์ เด็กชายสง่าเก็บมาเป็นแบบเขียนภาพอย่างสวยงาม
ตอนที่เรียนหนังสืออยู่ที่วัดสัปรสเทศ(สะกดตามหนังสือเดิม) ซึ่งเป็นวัดใกล้ๆบ้าน เล่ากันว่าเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เคยจ้างเด็กชายสง่าให้วาดรูป เพื่อนำไปติดว่าวเล่นกัน


           เมื่ออายุ 17  ปี นายสง่า มยุระ ท่านได้มาหัดเขียนภาพอยู่กับพระอาจารย์อู๋ ที่อยู่วัดมะนาว ตำบลทับตีเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี พระอาจารย์อู๋ท่านนี้ เป็นทั้งช่างวาดและช่างปั้น การเรียนวาดภาพในสมัยนั้น( ราวๆสมัยต้นรัชกาลที่ 6 ) น่าสนใจมาก นายสง่าเล่าว่า เวลาจะเขียนภาพต้องไปซื้อสีจากร้านเครื่องยาจีน เอากะลามะพร้าวมาขูดแต่งเสียให้ดี แล้วเอาสีใส่กาวหนังธรรมดาเคี่ยวใส่ ท่านพระอาจารย์อู๋มีสูตรพิเศษว่าให้ใส่ดีหมูด้วย เพื่อให้สีสดขึ้น การเรียนกับพระอาจารย์อู๋ ที่วัดมะนาวจะเริ่มด้วยการหัดเขียนกนก 3 ตัวก่อน โดยบอกหลักว่าการหัดเขียนครั้งแรกต้องหัดเขียน กนก นารี กระบี่ คช(ท่านให้อ่านว่า คด-ชะ) อาจารย์อู๋บอกนายสง่าว่า เขียน 4 อย่างนี้เป็น ก็จะเขียนเป็นหมดทุกอย่าง ดังที่ภาษาช่างเขียนเขาเรียกว่า กนก นาง ช้าง ลิง

          ในช่วงอายุ 17 ปี นายสง่า เริ่มขายภาพได้เป็นครั้งแรก ภาพแรกที่ขายได้เพราะมีคนมาจ้างพระอาจารย์อู๋วาด แต่พระอาจารย์เชื่อฝีมือนายสง่า จึงมอบงานนี้ให้วาด ภาพนี้เป็นภาพพระบทรูปยืน ได้ค่าจ้างวาด 1 บาท 50 สตางค์ หรือหกสลึง จากนั้นท่านก็เขียนภาพขาย เล็กๆ น้อยๆ เช่นภาพเจว็ดที่ไว้ตามศาลเจ้า ราคาขายภาพละประมาณ 1 บาท


           วิถีชีวิตของนายสง่า มยุระ ได้เปลี่ยนแปลงและก้าวไปสู่การสร้างหลักปักฐานเมื่ออายุ 18 ปี จากสถานการณ์นี้ คือที่ข้างบ้านของนายสง่า มีวัดอีกวัดหนึ่งชื่อวัดเสาธงทอง เจ้าอาวาสองค์เดิมคืออาจารย์ปลื้ม มรณภาพ หลวงพ่อพริ้งแห่งวัดจันทร์ บ้านโพธิ์พระยา ได้นิมนต์หลวงพ่อหรุ่นจากวัดคลองบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเสาธงทอง ขณะนั้นนายสินซึ่งเป็นมรรคนายก(คนชอบเรียกมรรคทายก) วัดเสาธงทอง ได้สร้างธรรมาสน์ไม้ถวายวัด นายสินขอร้องให้นายสง่า ไปเขียนภาพดาวที่ฝ้าของธรรมมาสน์ เจ้าอาวาสคนใหม่ของวัดเสาธงทองมาเห็นภาพวาดนี้เข้า ก็ชื่นชมว่า เขียนได้ดี 


          
           เมื่อหลวงพ่อหรุ่นสมภารคนใหม่ของวัดเสาธงทอง  เห็นผลงานการเขียนดาวที่ธรรมมาสน์ ก็ชมว่าเขียนดี แล้วก็ว่าอยู่บ้านนอกจะมีงานทำหรือ ถ้าอยู่กรุงเทพฯ เขียนลายรดน้ำเป็น จะมีงานมาก เมื่อได้ฟังคำแนะนำ นายสง่าก็ถวายตัวเป็นบุตรบุญธรรมของหลวงพ่อหรุ่น ชีวิตก่อนหน้านี้ นายสง่ายากจน ไม่มีไร่มีนาทำ ช่วยยายทำงานไปวันๆเท่านั้น หลวงพ่อหรุ่นสงสารเลยพามากรุงเทพฯ และมาอยู่ที่วัดทอง ในคลองบางกอกน้อย จากนั้นหลวงพ่อหรุ่นก็พามาฝากกับครูสอิ้ง บ้านอยู่หลังวัดทอง ครูสอิ้งเลยพามาเขียนลายรดน้ำที่วัดโพธิ์ ท่าเตียน เขียนลายรดน้ำที่วิหารคดรอบโบสถ์และเขียนภาพพระมาลัยที่บ้านครูสอิ้งด้วย


           ต่อมานายสง่าได้รู้จักกับนายผิน ที่อยู่หลังวัดมหาธาตุ จึงได้มาเขียนลายรดน้ำอยู่กับนายผิน ได้เดือนละ 25 บาท ขณะนั้นมีอายุได้ราวๆ 19 ปี และแล้วก็มีเหตุการณ์ให้นายสง่าได้แสดงฝีมือกับงานใหญ่ๆ เมื่อหลวงเจนกิจยงค์รับงานเขียนโถข้าวกระยาคู 2 ใบ ที่วังกรมพระสวัสดิ์ ต้องเขียนให้เสร็จในคืนนั้น หลวงเจนกิจยงค์ เรียกนายผินไปช่วย และถามว่ามีใครพอช่วยได้อีกบ้างไหม นายผินบอกว่ามีนายสง่า พอช่วยได้ จึงเป็นอันว่านายสง่าได้ไปแสดงฝีมือ นายสง่าเล่าว่า เขาเอารถเก๋งของกรมพระสวัสดิ์มารับ นึกภูมิใจที่ตนเองได้นั่งรถเก๋ง งานนั้นเขียนอยู่ตลอดคืนเกือบสว่างจึงเสร็จ

          ต่อมาหลวงเจนกิจยงค์รับงานที่วัดขี้เหล็กในคลองบางกอกน้อย ก็ได้ชวนนายสง่าไปช่วยเขียน เนื่องจากหลวงเจนกิจยงค์มีอายุมากแล้ว เขียนต่อไปไม่ไหวจึงได้ยกงานนั้นให้นายสง่า นายสง่าเขียนเขียนลายรดน้ำประตู หน้าต่างอยู่ 5 เดือน ได้เงิน 400 บาท(สมัยนั้นเรียก 5 ชั่ง) เงินจำนวนนี้นี่เองที่ทำให้ นายสง่า มยุระ ของชาวสุพรรณเริ่มตั้งตัวได้ จากนั้นนายสง่าก็ลาออกจากงานที่ทำกับนายผิน เพราะได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 2 บาท เดือนละ 25 บาท จึงคิดจะไปสร้างตัวเองบ้าง เมื่อออกมาก็รับงานเขียนภาพพระมาลัย พานแว่นฟ้าและลายรดน้ำตามวัดต่างๆ


          ความภาคภูมิใจของนายสง่าก็คือการวาดภาพระเบียงฝาผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นภาพ เรื่องรามเกียรติ์ ฝากไว้เป็นสมบัติของชาติ เรื่องนี้นายสง่าเล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อปี พ.ศ. 2473 ท่านได้เขียนภาพรามเกียรติ์ ไว้ 5 ห้อง ครึ่ง ต่อมาภาพดังกล่าวชำรุด จึงมาเขียนกันใหม่ เป็นภาพตอนปล่อยม้าอุปการ 1 ห้อง นายสง่าเล่าว่าท่านได้พยายามเขียนภาพนี้อย่างประณีต จึงใช้เวลานานถึง 1 ปีเต็ม ได้รับเงินค่าวาดมา 30,000 บาท(สามหมื่นบาท) และที่น่ายกย่องอย่างยิ่งคือ นายสง่าได้นำเงินจำนวนนี้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชกุศล

          นายสง่าเล่าถึงขณะที่เข้าเฝ้าว่าพระองค์รับสั่งถามว่ามีภาพเขียนแบบไทยบ้างไหม ภาพที่ทรงมีอยู่นั้นเป็นภาพสมัยใหม่กับภาพของฝรั่ง ได้ส่งไปติดไว้ที่พระราชตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อทราบพระราชประสงค์ดังกล่าว นายสง่า มยุระ ใช้เวลา 1 ปี เขียนภาพรามเกียรติ์ 2 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพตอนพระรามทำศึกกับทศกัณฐ์ อีกภาพเป็นภาพหนุมานอมพลับพลา ตอนศึกไมยราพ ภาพทั้งสองนี้ ท่านได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นี่คือผลงานที่นายสง่า มยุระ ภาคภูมิใจยิ่งในชีวิต

      เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจของ นายสง่า มยุระ ยิ่งเล่าก็ยิ่งศรัทธา ในความวิริยะ อุตสาหะ และความมีน้ำใจงามของท่าน ตอนนี้แหละครับจะได้รู้กันเสียทีว่า ฉายา “ ราชาพู่กันไทย “ มีกำเนิดมาอย่างไร
สมัยนั้นพู่กันไทยยังไม่แพร่หลาย พู่กันดีๆจากต่างประเทศมีราคาสูงลิ่ว ใครจะรู้บ้างว่าหนุ่มบ้านนอกจนๆจากเมืองสุพรรณ จะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติอย่างยิ่งใหญ่ ทำให้ประเทศไทยประหยัดเงินตราที่จะต้องสั่งซื้อพู่กันจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล

         นายสง่า มยุระ เล่าถึงความคิดริเริ่มในการทำพู่กันว่า
เหตุที่ท่านคิดทำพู่กันออกมาขาย คือเมื่อท่านมีอายุ 27 ปี ได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ท่านมาคิดว่า ตนเองเป็นช่างเขียน ทำงานคนเดียวไม่พอเลี้ยงครอบครัว ที่ทางก็ไม่มีจะหารายได้พิเศษ เขียนภาพอยู่คนเดียวเขียนอย่างไรก็ไม่รวย แต่เนื่องจากท่านมีพรสวรรค์ทางช่างเขียน ครูอาจารย์เคยสอนทำพู่กัน โดยเอาขนหูวัวมาใส่หลอด ก่อนนี้ใช้ขนไก่ตัดขั้วออกขูดขนออกแล้วใช้ไม้ใส่ก็เขียนได้ นายสง่าก็มาคิดขึ้นได้ว่า ทำเหมือนของนอกเลยดีกว่า ท่านจึงไปซื้อพู่กันที่ทำจากต่างประเทศมา มาดูมาศึกษาว่าเขาทำอย่างไร จากนั้นก็ชุบปลอกให้สวย ลองทำเลียนแบบ

          ตั้งแต่นั้นก็ทำมาจนเป็นอาชีพหลัก แรกๆก็มีคนงานคนเดียว ใช้ผู้หญิงมาช่วยขัดถู ขณะนั้นท่านทำงานอยู่กับคณะช่าง แล้วย้ายมาอยู่กับบุญครอง เมื่อกิจการทำพู่กันดีขึ้น ก็เลยลาออกจากงานนั้นมาเปิดโรงงานทำพู่กันขึ้น จนกิจการเจริญก้าวหน้า เรียกได้ว่านักเรียนนักศึกษา ทั่วเมืองไทยต่างก็เคยได้ใช้ ได้สัมผัส พู่กันของ สง่า มยุระ กันมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่นายสง่า มยุระ ได้คิดดัดแปลง ประดิษฐ์พู่กันไทยขึ้นจนแพร่หลายและเกิดคุณค่าอย่างมหาศาลแก่ประเทศชาติ จึงได้รับฉายา ว่า “ ราชาพู่กันไทย “

          ถ้ามีใครมาถามท่านว่า ท่านมีเคล็ดลับ หรือหลักการ หรือสูตรพิเศษ อย่างไรในการทำงาน จึงทำให้ท่านประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างงดงาม ทั้งๆที่พื้นฐานชีวิตของท่านเริ่มต้นจากเด็กบ้านนอกจนๆคนหนึ่งเท่านั้น นายสง่า มยุระ จะตอบด้วยน้ำเสียงที่พูดอย่างฉะฉาน มีจังหวะ ชวนให้ติดตามฟังว่า


          “ ขยันอย่างคนจีน ทำงานใช้สมองอย่างฝรั่ง และขี้เหนียวอย่างแขก คือสูตรชีวิตที่ทำให้ผมตั้งตัวได้มาจนทุกวันนี้ ”


          นี่คือตัวอย่างชีวิตของคนสุพรรณ คนหนึ่งที่เราชาวสุพรรณภาคภูมิใจมาก เป็นตัวอย่างที่เยาวชนคนดีศรีสุพรรณในยุคปัจจุบันพึงยึดถือเป็นแบบอย่าง ชีวิตของท่านก่อร่างสร้างตัวมาจากสภาพที่ยากไร้สู่ความมีหลักฐานอันมั่นคง ด้วยทรัพย์สิน และเกียรติยศ เพราะหลักธรรมที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 โดยแท้ ท่านมีความพอใจรักใคร่ในอาชีพของตน คือฉันทะ ท่านมีความอุตสาหะ พยายามในการทำงาน คือวิริยะ ท่านมีจิตฝักใฝ่จดจ่อต่อการงานไม่ท้อถอย คือจิตตะ และท่านมีความคิดริเริ่ม ในการปรับปรุงพัฒนาตน พัฒนางานอาชีพของท่านอยู่เสมอไม่หยุดนิ่ง สมแล้วที่ชาวสุพรรณภูมิใจท่าน ราชาพู่กันไทย “ สง่า มยุระ “

อ.พิสูจน์  ใจเที่ยงกุล
โรงเรียนบางลี่วิทยา

 

คำสำคัญ (Tags): #ภูมิปัญญา
หมายเลขบันทึก: 110789เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2007 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ชื่นชมครูสง่ามาก และบทความนี้เขียนได้ดี
  • ขอบคุณคุณระพีมาก ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • และขอบคุณอีกครั้งสำหรับคำชมครับ

 

ผมคนศรีประจันต์แท้ๆ บ้านอยู่ห่างจากวัดเสาธงทองประมาณ 5 กม. เพิ่งทราบวันนี้เองว่าอาจารย์สง่า มยุระ ราชาแห่งพู่กัน เป็นคนบ้านเดียวกัน  อย่างไงก็ขอขอบคุณนะครับที่นำข้อมูลดีๆมาให้อ่านเป็นวิทยาทาน  และขอแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ

 

หลวงพ่อหรุ่น พรหมสโร วัดเสาธงทองนั้นท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของปู่ผมเองครับ  หลวงพ่อหรุ่นท่านเป็นปรมาจารย์ผู้ขึ้นชื่อลือชาเรื่องวิชาอาคมของศรีประจันต์มีลูกศิษย์ในยุคต่อมาที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ หลวงพ่อจวน วัดไก่เตี้ย , หลวงพ่อสวิง วัดเสาธงทอง เป็นต้น

ท่านเป็นผู้ชอบให้โอกาสคน ให้การศึกษาและสิ่งต่างๆมากมาย

 

  • ขอบคุณ คุณSak Suphan มากครับที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • และช่วยเสริมความรู้ให้กว้างขวางเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นครับ

สง่า ได้ฝากฝีมือไว้ที่หน้าบันศาลาการเปรียญและอุโบสถวัดขวาง อำเภอบางปลาม้า ภาพคลาสสิกที่ชอบเขียนมากคือ พระอินทร์ เขียนเป็นลายฉลุสวยงามมาก จนต่อมาเจ้าอาวาสวัดเลียบ สะพานพุทธ อยากดูฝีมือช่าง จึงเดินทางไปดูด้วยตนเอง ก่อนจะตกลงให้นายสง่า ออกแบบภาพต่างๆ ที่พระอุโบสถวัดราชบุรณะ ซึ่งตัวโครงสร้างนั้น หลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นผู้ออกแบบก่อน แต่รายละเอียดของหน้าบัน บานประตู หน้าต่าง ล้วนเป็นฝีมือการออกแบบของสง่าทั้งสิ้น ที่หน้าบันพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก สง่ายังได้ฝากฝืมือปั้นปูน เป็นรูปพระอินทร์ลายฉลุด้านหลัง และปูนปั้นขนาด ๖ นิ้ว (ต้องใช้กระจังรองรับ) เป็นรูปช้างสามเศียร พระอิน่ท่ร์ขี่ช้าง มีท้าวมาตลีเทพบุตร และท้าวเวสสุกรรมเทพบุตร เป็นบริวาร

ว่างๆ ก็ไปดูฝีมือของครูสง่า มยุระที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)เชิงสะพานพุทธ ตรงข้ามกับโรงเรียนสวนกุหลาบ และ รร.เพาะช่างดูสิครับ

ขอบคุณ อ.พิสูจน์ มากครับ

ที่นำเรื่องราวดดีๆมาเผยแพร่

นับถือครับ

ขออนุญาตนำบทความดีๆไปเผยแพร่ต่อนะครับ

ที่เวบบอลสุพรรณครับ

http://suphanburifc.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&p=321#321

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท