มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

จัดเรตติ้งรายการทีวี ขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์ “เงิน” หรือ “สังคม”


จัดเรตติ้งรายการทีวี ขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์ “เงิน” หรือ “สังคม”
โดย ผู้จัดการออนไลน์     11 กรกฎาคม 2550 08:45 น.
       คอลัมน์ พ่อแม่ลูกปลูกรัก
       สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
       
       ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ที่ถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งทางความคิดของคนสองกลุ่มที่อยู่คนละฟาก และถูกมองว่าเพราะยืนคนละมุม และมองแต่ในมิติของตัวเอง จริงหรือ…!

       ในส่วนของผู้ผลิตรายการทีวีได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องให้ทบทวนเรื่องนี้ ในขณะที่ทางฟากนักวิชาการ และคนทำงานทางด้านเครือข่ายครอบครัวก็พยายามเรียกร้องให้กรมประชาสัมพันธ์เร่งดำเนินการตามมติครม. ได้แล้ว เพราะมีมติ. ครม. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ถึงปัจจุบันดูเหมือนกรมประชาสัมพันธ์ ไม่ได้เร่งจัดทำนโยบายควบคุมการออกอากาศรายการต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมตามมติ ครม.
       
       ที่สำคัญ กรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจถึงการจัดเรตติ้งรายการทีวีครั้งนี้ว่าเป็นอย่างไร และประชาชนได้ประโยชน์อะไร
       
       สำหรับมติ ครม.ดังกล่าวมีการจำแนกเนื้อหาของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 5 ประเภท ประกอบด้วยรายการประเภท ป. คือ รายการเพื่อเด็กปฐมวัย ประเภท ด. คือ รายการสำหรับเด็ก ประเภท ท. คือ รายการทั่วไป ประเภท น. คือ รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ สำหรับเด็กอายุระหว่าง 13-18 ปี และประเภท ฉ. คือ รายการเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดช่วงเวลาออกอากาศของรายการประเภทต่าง ๆ รวมถึงกำหนดให้กรมประชาสัมพันธ์จัดลำดับความเหมะสม และจัดทำกฎหมายเพื่อรองรับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์
       
       แต่ที่ผ่านมาหลัง ครม. มีมติตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. ถึงปัจจุบันกรมประชาสัมพันธ์ก็ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่ชัดเจนออกมา
       
       ไม่แปลกใจหรอกค่ะ ที่บรรดาผู้ผลิตรายการทีวีทั้งหลายจะออกมารวมตัวกัน แสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งรายการทีวีในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลสวยหรูในท่วงทำนองว่า “เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเลือกชมรายการทีวีของประชาชน เพราะประชาชนต้องมีสิทธิในการเลือกว่าจะดูรายการอะไร และในช่วงเวลาใด และประชาชนก็สามารถแยกแยะได้ว่ารายการไหนดีก็ดู รายการไหนไม่ดีก็ไม่ต้องดู”
       
       โห…เยี่ยมจริงๆ เป็นเหตุผลที่เข้าใจพูดในสถานการณ์เช่นนี้ โดยอาจลืมไปว่า แล้วแท้จริงที่ผ่านมาประชาชนเคยมีสิทธิที่จะได้เลือกหรือเปล่า…!!
       
       ถ้าสิทธิเสรีภาพในความหมายที่ว่า คือเมื่อมีรีโมทก็กดเปลี่ยนช่องไปสิ ไม่อยากดูช่องนี้ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ล่ะก็ น่าเศร้าใจค่ะ…!!!
       
       แต่ถ้าสิทธิเสรีภาพที่อยากจะมีทางเลือกในการรับชมรายการดีๆ ล่ะ มีโอกาสไหม
       
       ทำไมละครต้องอยู่หลังข่าว ทำไมเนื้อเรื่องของละครถึงต้องมีเนื้อหาที่ชาวบ้านชาวเมืองเขาเรียกว่า “น้ำเน่า” ทำไมเกมโชว์ต้องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน แล้วทำไมไม่มีรายการดีๆ สำหรับเด็ก และทำไม… ฯลฯ
       
       คำตอบอยู่ในตัวมันเองเพราะมันเป็นเรื่องธุรกิจ ก็ในเมื่อลงทุนก็ต้องได้กำไร เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ไง ยิ่งช่วงเวลาที่ผู้คนดูทีวีมากที่สุดคือช่วงเวลาที่ภาษาธุรกิจเรียกว่า ไพร์มไทม์ เป็นช่วงเวลาที่ทำเงินมากที่สุด เวลาคั่นโฆษณาในช่วงละครต่อนาทีมีราคาราวนาทีละ 300,000 บาท มูลค่าตลาดในช่วงนั้นสูงถึง 280 ล้านบาท ก็ย่อมต้องทำมาหากินในช่วงนั้นเป็นหลัก

    
       ในแง่การทำธุรกิจ ทุกคนเข้าใจดีว่าต้องแสวงหาผลกำไรสูงสุด เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สิ่งซึ่งสำคัญมาก คือธุรกิจที่ทำคือธุรกิจอะไร
       
       ถ้าเป็นธุรกิจขายแก้ว ขายสบู่ คงไม่มีใครอยากไปยุ่งด้วย เพราะเข้าใจได้ แต่นี่คือผู้ผลิตรายการทีวี ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชน รวมถึงชี้นำสังคมได้ในระดับกว้างทีเดียว
       
       คนๆ หนึ่งโด่งดังมีชื่อเสียงก็เพราะทีวี แต่คนๆ เดียวกันหมดอนาคตก็เพราะทีวีได้เช่นกัน และเพราะเข้าใจถึงอิทธิพลของเจ้าทีวีดี เราถึงได้เห็นเด็กรุ่นใหม่ต่างก็พยายามเสาะแสวงหาโอกาสทุกวิถีทางให้ได้ไปยืนอยู่หน้าจอทีวี เพราะเชื่อว่าสามารถเปลี่ยนชีวิตได้ หรือผู้มีอำนาจและมีเงินทั้งหลายจึงต้องการครอบครองสื่อประเภทนี้เหลือเกิน เพราะรู้ว่ามีส่วนในการกำหนดเนื้อหารายการให้ประชาชนทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีโทรทัศน์เกือบทุกบ้านมิใช่หรือ..!!
       
       ท่ามกลางสภาพสังคมที่กำลังถามหาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ทำไมบุคคลผู้มีส่วนอย่างยิ่งต่อการชี้นำให้สังคมดีขึ้นได้ ไม่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเรื่องจิตสำนึกของผู้คนในช่วงวิกฤติสังคม อย่าลืมว่าโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อสังคมทุกยุคทุกสมัย
       
       การพยายามบอกว่า “ให้ประชาชนแยกแยะว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี เอาเอง เพราะประชาชนไม่โง่” ฟังดูสวยหรู แต่ในความเป็นจริง สังคมความรู้ยังคงกระจุกตัวอยู่ ในขณะที่สังคมที่ยังขาดความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ยังเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ…มิใช่หรือ..!!
       
       ขณะที่ฟากนักวิชาการก็พยายามชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของรายการทีวีที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมจะส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก ด้วยเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทั้งเรื่องเพศ ความรุนแรง และการใช้ภาษา ฯลฯ มาโดยตลอด ออกมาทั้งเรียกร้องและรณรงค์ แต่ก็เป็นพักๆ แล้วก็หายไป ที่สุดก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ

    
       ครั้งนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของผู้บริโภคมิใช่หรือ…!! ถึงเวลาที่เราควรจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในฐานะผู้ชมรายการทีวีที่อยากได้รายการสร้างสรรค์อย่างแท้จริงได้แล้วหรือยัง
       
       ทุกวันนี้สภาพปัญหาสังคมก็มากมายอยู่แล้ว ถ้าเพียงขอให้ผู้ผลิตรายการทีวี เจ้าของสถานีโทรทัศน์ยอมรับฟังความคิดเห็น หรือมองในมุมกลับบ้างว่า พวกคุณมีส่วนสร้างสังคมให้ดีได้ เพียงแต่ต้องลดทิฐิลงบ้าง มองเรื่องผลประโยชน์ลดลงบ้าง ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนา เพราะคนส่วนใหญ่ก็อยากดูละครอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ผลิตละครไม่จำเป็นต้องใส่ฉากตบตี ตบจูบ หรือข่มขืน แต่เนื้อหาและแก่นของเรื่องก็ยังคงอยู่ได้มิใช่หรือ…!!
       
       คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อใดที่เราเอาเงินเป็น “ตัวตั้ง” โดยไม่นึกถึงผลที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลในวงกว้างซึ่งมันเป็นผลกระทบที่อาจไม่ได้แสดงผลในทันที แต่ถูกหล่อหลอมและบ่มเพาะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จนกระทั่งกลายเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวต่อไปในอนาคต
       
       ทุกวันนี้ มีแต่คนออกมาพูดถึงเรื่องเสียประโยชน์ แล้ว…เคยถามหรือเปล่าว่าถ้ามีการจัดเรตติ้งรายการทีวี ประชาชนได้อะไร
       
       ได้เห็นผลสำรวจจากเอแบคโพลล์ หรือยัง…ความคิดเห็นในกลุ่มผู้ใหญ่ เกี่ยวกับการจัดเรตติ้งให้กับรายการทีวี พบว่าร้อยละ 88.4 ระบุเห็นด้วย และร้อยละ 11.6 ระบุไม่เห็นด้วย เมื่อสอบถามกลุ่มผู้ใหญ่ถึงวิธีการดูแลปกป้องลูกหลาน ไม่ให้รับชมรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรง ไม่เหมาะสม พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ ให้คำแนะนำเนื้อหาของบทละครต่างๆ แนะนำตักเตือน ร้อยละ 44 เปลี่ยนไปดูช่องอื่นหากมีฉากรุนแรง ร้อยละ 13.3 เลือกรายการที่จะดู ร้อยละ 12.8 ให้ข้อมูลว่ารายการไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ร้อยละ 12 และให้ทำกิจกรรมอื่นแทนการดูละคร ร้อยละ 9
       
       ลองถามเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ดีไหม หรือลองถามเสียงคนเป็นพ่อแม่สิ ว่าเขาคิดอย่างไรเวลาจะให้ลูกดูทีวีแต่ละครั้ง
       
       ทุกวันนี้ดูทีวีทีไรก็จะเน้นไปทางประเทืองอารมณ์ มากกว่าประเทืองปัญญา
       
       เชื่อเถอะค่ะ…ผู้ผลิตรายการที่ดี และเจ้าของสถานีโทรทัศน์ สามารถสร้างสังคมให้ดีได้ อยู่ที่ว่าจะเอาโจทย์ตัวไหนเป็นตัวตั้งในการผลิตรายการ ระหว่าง “เงิน” กับ “สังคม”
<hr width="100%" size="2" /> </embed>

หมายเลขบันทึก: 110605เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2007 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท