ความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานในมหาวิทยาลัย


กองการเจ้าหน้าที่ มข. จัดการองค์ความรู้ด้านการบริหารงานบุคคล (KM)

การออมเพื่อเกษียณ

ความสำคัญของการออมเพื่อเกษียณอายุ

           ทั่วโลกกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ  อันเป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านการแพทย์ซึ่งทำให้ประชากรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างมาก  และผลจากการวางแผนครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทำให้อัตราการเกิดลดลง จากข้อมูลสถิติพบว่า ในปี 2005 ประเทศในแถบเอเชียมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป) คิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15  แนวโน้มดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกันในประเทศญี่ปุ่นและประเทศในแถบยุโรปซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 26 และ 21 ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 และ 28 ตามลำดับ ในอีก 20 ปีข้างหน้า

             ประเทศไทยก็มีลักษณะเดียวกัน  ในปี 2005 ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ในอีก 20 ปีข้างหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศไทยจะมีอัตราประชากรวัยทำงาน (อายุ 15 - 59 ปี) ต่อผู้สูงอายุที่จะต้องดูแลคิดเป็น 6: 1 และจะเปลี่ยนเป็น 3 : 1 ในอีก 20 ปีข้างหน้า

             ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐและประชากรวัยทำงานในอนาคตในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุหรือผู้ที่ไม่มีงานทำ เราจึงต้องตระหนักถึงปัญหานี้พร้อมกับการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณทฤษฎีเสาหลักของธนาคารโลก
         
ระบบการออมเพื่อเกษียณอายุหรือระบบบำนาญที่ธนาคารโลก (World Bank) นำมาเป็นแนวคิดและเสนอเป็นการทั่วไป สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ที่เรียกกันว่า "ทฤษฎีเสาหลัก 3 ต้น (Three Pillars)"

                 1st Pillar: Public mandated, Publicly managed, Defined benefit system เป็นระบบแบบบังคับ โดยประชาชนจ่ายส่วนหนึ่งและรัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนอีกส่วนหนึ่ง บริหารโดยหน่วยงานของรัฐกำหนดผลประโยชน์เป็นอัตราขั้นต่ำที่สมาชิกจะได้รับ  ในประเทศไทยได้แก่กองทุนชราภาพของระบบประกันสังคม  
               
 2nd Pillar: Public mandated, Privately managed, Defined contribution system เป็นระบบแบบบังคับ โดยรัฐบังคับให้ประชาชนออมเพื่อเพิ่มหลักประกันในยามชราโดยอาศัยผลแห่งการทำงานของตนเอง รูปแบบการออมเป็นบัญชีรายบุคคล เอกชนเป็นผู้บริหาร ในประเทศไทยมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งน่าจะจัดได้ว่าเป็นเสาหลักต้นที่ 2 แต่จำกัดขอบเขตบังคับใช้กับข้าราชการเท่านั้น นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเสนอหลักการเพื่อออกกฎหมายจัดตั้งกองทุนภาคบังคับสำหรับแรงงานภาคเอกชนเพื่อให้มีหลักประกันในการดำรงชีพเช่นเดียวกับข้าราชการ
               
 3rd Pillar : Privately managed, voluntary savings, Defined contribution system เป็นระบบการออมแบบสมัครใจ รูปแบบการออมเป็นบัญชีรายบุคคล เอกชนเป็นผู้บริหาร รัฐให้การสนับสนุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี  ในประเทศไทยได้แก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ    

               ทฤษฎีเสาหลัก 3 ต้นเปรียบเสมือนตาข่ายที่จะรองรับคุณไว้ให้สามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างไม่ลำบาก การออมเงินผ่านเฉพาะเสาหลักต้นที่ 1 อาจมีเงินออมเพียงน้อยนิดไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่นับวันจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และในอนาคตภาระของรัฐบาลมีมากขึ้น สวัสดิการจากเงินกองทุนประกันสังคมอาจลดลงหรือมีจำกัดไม่เพียงพอ จึงควรต้องมีเสาหลักต้นที่ 3 ที่ใช้หลักการพึ่งตนเองรองรับไว้เพื่อความอุ่นใจได้ว่า คุณจะมีเงินก้อนไว้ใช้เพิ่มเติมจากเสาหลักต้นที่ 1 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

                       กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเริ่มมีการจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยก่อนปี 2527 และในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ได้มีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการออกพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาการและมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลทั่วไปซึ่งการจัดการกองทุน และได้แต่งตั้งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นนายทะเบียนกองทุน
                       ต่อมากระทรวงการคลังได้มีดำริที่จะโอนงานการกำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมายังสำนักงาน ก.ล.ต. เนื่องจากเล็งเห็นว่า การจัดการลงทุนในประเทศไทยในขณะนั้นได้แก่ กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่แล้ว การรับหน้าที่กำกับดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มอีกประเภทหนึ่ง จึงน่าจะมีความเหมาะสมและทำให้หลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ และมาตรฐานในการกำกับดูแลเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
                       ดังนั้น จึงได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อให้การจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับแก้ไขทั้งสองฉบับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2542 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2543

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืออะไร

          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการให้สวัสดิการของนายจ้าง นอกเหนือจากค่าแรงที่ได้รับประจำ โบนัส หรือสวัสดิการอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างนานขึ้น อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงและมั่นใจให้ลูกจ้างเมื่อพ้นจากงาน เพราะเงินที่นำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบไปด้วยเงินที่ลูกจ้างยินดีจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างยินดีจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" นั่นคือ นอกจากลูกจ้างจะออมแล้วนายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย จึงเท่ากับว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของลูกจ้างและนายจ้างที่จะร่วมแรงร่วมใจกันออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
          กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นทางเลือกหนึ่งในการส่งเสริมการออมที่เน้นการออมแบบผูกพันระยะยาวคือ ค่อยๆ ออม ออมไปเรื่อยๆ และจะเป็นหลักประกันให้คุณอุ่นใจได้ว่าจะมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ เมื่อลาออกจากงานหรือเมื่อเสียชีวิตแล้วยังตกทอดไปยังครอบครัวได้อีกด้วย เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณตัดสินใจที่จะออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว คุณไม่สามารถเบิก-ถอนได้ตามใจชอบ เงินของคุณจะถูกนำไปบริหารโดยนักลงทุนมืออาชีพที่เรียกว่า "
บริษัทจัดการ" เพื่อให้เงินนั้นออกดอกออกผลเพิ่มพูนขึ้นเป็นผลประโยชน์ให้กับกองทุนและคุณจะได้รับเงินที่ออมไว้ในกองทุนนี้ก็ต่อเมื่อพ้นสมาชิกภาพออกไปจากกองทุนแล้ว 

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ทำไมต้องมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

           โครงสร้างประชากรในประเทศไทยมีแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุเป็น 6 : 1 ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้า ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานปัจจุบันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นผู้สูงอายุ ในขณะที่วัยเด็กปัจจุบันจะแปรเปลี่ยนไปเป็นวัยทำงาน โดยมีสัดส่วนวัยทำงานต่อผู้สูงอายุเป็น 3 : 1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าภาระที่คนวัยทำงานต้องเลี้ยงดู ผู้สูงอายุมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว  ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งที่สำคัญเป็นผลมาจากความสำเร็จของนโยบายการคุมกำเนิดในประเทศไทยช่วงระยะเวลาหนึ่งในอดีต รวมทั้งแพทย์ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ในขณะที่คนวัยทำงานมีจำนวนลดลง  ดังนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐและคนวัยทำงานในอนาคตในการเลี้ยงดูผู้ที่สูงอายุหรือผู้ที่ไม่มีงานทำ เราจึงต้องตระหนักถึงปัญหานี้พร้อมกับการรณรงค์ส่งเสริมการออมเพื่อให้ประชาชนมีเงินออมและสามารถช่วยเหลือเลี้ยงดูตัวเองได้เมื่อเกษียณอายุหรือเมื่อไม่มีงานทำ โดยการสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

โครงสร้างของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

         ก่อนที่จะลงมือจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลองมารู้จักโครงสร้างและบุคคลที่เกี่ยวข้องของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันก่อน

1.  นายจ้าง

        เป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากปราศจากนายจ้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น นายจ้างจึงเป็นบุคคลที่มีความหวังดีต่อลูกจ้างในการให้สวัสดิการที่ดีเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือออกจากกองทุน นายจ้างทำหน้าที่หลักในการนำส่งเงินสะสมและสมทบเข้ากองทุน

2.  ลูกจ้าง

        เป็นส่วนประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น มีหน้าที่ยอมให้นายจ้างหักค่าจ้างเป็นเงินสะสมเข้ากองทุน และต้องยินยอมปฏิบัติตามข้อกำหนดในข้อบังคับกองทุน

3.  คณะกรรมการกองทุน

        คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด เป็นตัวแทนของนายจ้างและสมาชิกในการบริหารกองทุน ดูแลเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการประสานงานเพื่อจัดตั้งกองทุน คัดเลือกบริษัทจัดการ การกำหนดนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับโครงสร้างของกองทุน หรือแก้ไขข้อบังคับกองทุน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญมากทีเดียว เนื่องจากอำนาจและหน้าที่บางอย่าง เช่น การแก้ไขข้อบังคับกองทุนจะมีผลผูกพันกับสมาชิกให้ต้องปฏิบัติตาม และการกำหนดนโยบายการลงทุนจะมีผลต่อความมั่นคง และผลตอบแทนของกองทุน ดังนั้น ก่อนที่จะเลือกบุคคลมาเป็นตัวแทนของนายจ้างหรือสมาชิกควรพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เลือกคนดีที่มีความรู้ความสามารถ เป็นคนดีมีความตั้งใจจริง มีความเสียสละและสามารถอุทิศเวลาให้แก่เพื่อนๆ สมาชิกได้ในทำนองเดียวกัน คณะกรรมการกองทุนก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วยความซื่อสัตย์สุจริตระมัดระวังสมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างและสมาชิก ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนแบ่งเป็น

              คณะกรรมการกองทุนฝ่ายนายจ้าง
นายจ้างจะเป็นคนแต่งตั้ง อาจจะไม่ได้เป็นลูกจ้างก็ได้

              คณะกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง มาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง คนที่ได้รับเลือกจากลูกจ้างอาจไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนอยู่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จะกำหนดไว้ในข้อบังคับ  แต่ตามหลักแล้ว คณะกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้างก็ควรจะเป็นสมาชิกอยู่ในกองทุนเอง เพราะคงไม่มีใครเข้าใจสมาชิกได้ดีเท่ากับสมาชิกด้วยกันเอง

 4. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

        หรือเรียกย่อๆ ว่า " สำนักงาน ก.ล.ต." ทำหน้าที่ควบคุมดูแลบุคคลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และผู้สอบบัญชี เป็นต้น และอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งคือ ทำหน้าที่ในฐานะนายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในการรับจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน การแก้ไขข้อบังคับกองทุน รวมทั้งควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนด้วย

5.  บริษัทจัดการ

        ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของกองทุน โดยนำไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกกองทุน ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนต้องร่วมกันเลือกบริษัทจัดการที่เหมาะสมเข้ามาบริหารจัดการกองทุน โดยบริษัทจัดการจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลด้วย

 6.  ผู้สอบบัญชี (auditor)

        ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานทางการเงิน รับรองความถูกต้องของข้อมูลตามรายงานทางการเงินของกองทุน ก่อนที่จะทำการเลือกผู้สอบบัญชีของกองทุน จะต้องทราบว่าสมาชิกในกองทุนมีจำนวนเท่าใด หากกองทุนที่มีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 100 ราย ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไปตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินของกองทุนได้ แต่หากกองทุนมีสมาชิกเกิน 100 ราย ต้องให้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินของกองทุน

 7.  ผู้รับฝากทรัพย์สิน (custodian)

        ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน ติดตามสิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินปันผล และสิทธิต่างๆ ที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทที่กองทุนลงทุน โดยผู้รับฝากทรัพย์สินต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

 
8.  นายทะเบียนสมาชิก (fund administrator)

        ทำหน้าที่รับเงินจากนายจ้างเข้ากองทุน จ่ายเงินจากกองทุนให้สมาชิกที่ลาออก จัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิก จำนวนเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละราย และจัดส่งรายงานรายตัวสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สมาชิกทราบทุกงวด 6 เดือนของปีปฏิทิน โดยรายงานจะต้องแสดงจำนวนหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่าของเงินสะสมของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบของนายจ้าง พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทจัดการมักจะทำหน้าที่นี้เอง แต่ก็อาจมอบหมายให้บริษัทอื่นที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทำหน้าที่แทนก็ได้ โดยที่ผู้ปฏิบัติการกองทุนทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก ดังนั้น จึงมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "นายทะเบียนสมาชิก"

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 110138เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท