Romeo
นาย อภิวัฒน์ ทรัพย์ศิริ

พระอัจฉริยะทางด้านดนตรี(ต่อ)


พระราชนิพนธ์เพลง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชนิพนธ์เพลงมาตั้งแต่ครั้ง ยังดำรงพระยศ เป็นพระอนุชาธิราช เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จ พระราชดำเนินตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล เสด็จนิวัติพระนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยการพระราชนิพนธ์เพลง และทรงทราบว่า หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นนักแต่งเพลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงโปรด เกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เข้าเฝ้าฯ
        ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดลมี พระราชดำรัสถาม หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ว่ามีปัญหาอะไรใน การแต่งเพลงบ้าง
        หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ กราบบังคมทูลว่าไม่สามารถแต่งเพลงบูลส์ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงทรงสาธิตเพลงบูลส์ด้วยเปียโน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุชา (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบัน) ทรงเป็นผู้บรรยาย รายละเอียดให้ฟัง หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ได้ถวายข้อคิดเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีพื้นฐาน ด้านดนตรีมาอย่างดี น่าจะทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เอง
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระราชดำริว่าพระองค์ไม่ทรงพระราชนิพนธ์ แต่พระอนุชาน่าจะทรงพระราชนิพนธ์ ต่อ เพราะทรงได้ดีเป็นท่อนเป็นตอนแล้วแต่ยังไม่ครบเพลงเท่านั้น
        ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ได้ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานไปยังวงดนตรีต่างๆ ในสมัยนั้น เช่น วงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีดุริยะโยธิน และวงดนตรีประจำ มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เผยแพร่เพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์อย่างสม่ำเสมอ
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความรู้ในทฤษฎีการประพันธ์เพลงเป็นอย่างยิ่ง ในการพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงพระองค์จะใช้คอร์ดดนตรีที่แปลกใหม่และซับซ้อน ทำให้เกิดเสียงประสานที่ไพเราะจนเป็นอมตะในแบบฉบับการพระราชนิพนธ์เพลงของพระองค์
        เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือเพลงแสงเทียน เป็นเพลงบูลส์ ซึ่งลักษณะของเพลงบูลส์ (Blues) เป็นสไตล์หนึ่งของดนตรีแจ๊ส ที่นิยมกันมากในประเทศ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นต้นมา เป็นเพลงที่มีเสียง โน้ตแปร่งหู ช่วงจังหวะคล้ายขัดธรรมชาติในบางครั้ง ซึ่งความรู้สึกที่ขัดแย้งของเสียงจังหวะนี่เองที่ทำให้ดนตรีแจ๊สมีรสชาติที่ ตื่นเต้น แตกต่างไปจากการเล่น ดนตรีแบบดั้งเดิมของดนตรีตะวันตก ฟังแล้วเกิดความรู้สึกที่ท้าทาย แนวเพลงบูลส์จึงมีความรู้สึก แปลกใหม่เร้าใจ
        แม้พระองค์จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงแสงเทียนเป็นเพลงแรก แต่เนื่องจากต้องการที่จะทรงแก้ไข ในบางส่วนจึงยังมิได้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานออกมา เพลงที่พระองค์โปรดเกล้าฯ เผย แพร่ออกมาก่อน คือ เพลง "ยามเย็น และ เพลง "สายฝน"
        ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๙๔ และวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๔๙๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์พระราชทานเพลงแก่พสกนิกรด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดร่วมแต่งเพลง พรปีใหม่ขึ้น ในการพระราชนิพนธ์เพลงพรปีใหม่นี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป่าแซกโซโฟน ในช่วงแรกและช่วงที่ ๓ ส่วนพระองค์ทรงเป่าในช่วงที่ ๒ และช่วงที่ ๔ สลับไป จนจบเป็นทำนองเพลง จากนั้นทรงใส่เนื้อร้อง เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ นาที
        เนื่องจากคืนนั้นเป็นคืนที่มีเวลาจำกัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลงปีใหม่ให้วงดนตรีนำไปเผย แพร่ได้ ๒ วงเท่านั้น ได้แก่ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งกำลังแสดงอยู่ที่โรงหนังเฉลิมไทย
            เพลงพรปีใหม่ที่พระราชทาน มีเนื้อเพลง ดังนี้
            "สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
            ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
            ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
            โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย"
        เพลงพรปีใหม่นี้ ปัจจุบันยังใช้บรรเลงในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มาตราบเท่าทุกวันนี้ พระอัจฉริยะทางด้านดนตรีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นมีมากมายนัก นอกจากพระราชนิพนธ์ทางศิลปะการดนตรีแล้ว ยังทรงมีพระอัจฉริยะด้านศิลปะการ ละครอีกด้วย ในด้านศิลปะการละครนั้น พระองค์ได้พระราชนิพนธ์เพลงชุดแสงเดือนขึ้น เพื่อใช้ประกอบลีลาการแสดงระบำปลายเท้า ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร จนเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของพสกนิกร ถัดจากเพลงพระราชนิพนธ์ชุดแสงเดือนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชนิพนธ์เพลงประกอบการแสดงในชุดต่อมาอีกคือ ชุดมโนราห์ (Kinari Suite) พระองค์ทรงแยกเสียงประสาน โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้วงดนตรีนำไปบรรเลงประกอบการแสดงด้วย
        การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เพลงชุดดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงพระอัจฉริยะทางด้านตรีของพระองค์ที่มีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลง Pop , Light Music และเพลง Classic ได้เป็นอย่างดี
        พระราชอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้รับรู้กันเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แม้สถาบันดนตรีเอกของโลก จากประเทศออสเตรีย ก็รับรู้ถึงพระราชอัจฉริยะของพระองค์ด้วย ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศที่ให้กำเนิดและเป็นศูนย์กลางดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลก
        วันศุกร์ที่ ๒ ตุลาคม พระองค์ทรงพระราชทานเลี้ยงให้กับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรีย ที่โรงแรมอิมพีเรียล ซึ่งเป็นโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดมาช้านานของออสเตรียในขณะนั้น ตลอดงานพระราชทานเลี้ยงทุกคนมีความสุข กับการได้ฟังการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเพลงที่บรรเลงในวันนั้นเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น จำนวน ๒๕ เพลงด้วยกัน อาทิ เพลงสายฝน ใกล้รุ่ง กับวอลท์ช
        วันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราช ดำเนินมายังตึกแสดงคอนเสิร์ตของกรุงเวียนนา สถานที่อันยิ่งใหญ่ของโลกดนตรี วงดนตรีที่บรรเลงในวันนั้น คือ วงดนตรีนิเดอร์ เออสเตอไรซ์ โทนคีนสเลอร์ ออร์เคสเตอร์ (N.O. Tonkunstler Orchester) ควบคุมวงโดย ไฮนซ์ วัลเบิร์ก (Heinz Wallberg) ครั้งแรกของการบรรเลงนั้น เป็นการบรรเลงเพลงของโจฮัน สเตราส์ ซึ่งเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสกรุง เวียนนาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ - ๒๖ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๔๐ ทางประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐออสเตรีย ก็จัดให้มีการ บรรเลงเพลงของ โจฮัน สเตราส์ เช่นกัน
        ในวันเสาร์ที่ ๓ ตุลาคมนั้น ครั้งหลังเป็นการบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากมโนราห์ สายฝน ยามเย็น มาร์ชราชนาวี และมาร์ชราชวัลลภ เป็นเพลงสุดท้าย เมื่อประชาชนได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์นั้นถึงกับปรบมือ กึกก้องยาวนานไม่ยอมหยุด จนพระองค์ต้องประทับยืนขึ้นรับความยินดีจากทุกๆ คนในทุกๆ เพลง หลังบรรเลงจบสถานีวิทยุกระจาย เสียงได้ถ่ายทอดไปทั่วประเทศ ประชาชนกล่าวแซ่ซ้องว่า "Qusqezechnet" หมายถึง ยอดเยี่ยมเป็นเลิศ และ Wunderhar (วิเศษเหลือเกิน)
        เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ ประธานของ อเคเดมี ฟอร์มูซิค อุนด ดารซเดลเล คุนส์ (สถาบันการดนตรีและศิลปะ แห่งกรุงเวียนนา) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สและคีตกวี พระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรากฏอยู่บนแผ่นหินสลักของสถาบันการดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา โดยทรง เป็นสมาชิกหมายเลข ๒๑ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ชาวเอเชียเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับการถวายพระเกียรติคุณยิ่งใหญ่นี้ เมื่อพระชนมายุเพียงแค่ ๓๗ พรรษา ซึ่งนับว่าน้อยที่สุด เพราะสมาชิกส่วนมากจะมีอายุตั้งแต่ ๖๐ - ๘๐ ปีขึ้นไป
        เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเพลงที่แสดงออกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงแก่พสกนิกร ของพระองค์เพลงจำนวนมากที่พระองค์พระราชนิพนธ์เพื่อปลุกปลอบชีวิตและให้ความหวังในชีวิตของคนหลายหมู่เหล่า เช่น เพลงยามเย็น พระองค์พระราชทานแก่สมาคมปราบวัณโรค เพื่อนำออกแสดงเก็บเงินบำรุงการกุศล เพลงใกล้รุ่งบรรเลงเป็นปฐมฤกษ์ งานของสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย เพลงยิ้มสู้ พระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอด เพลงลมหนาว พระราชทานในงาน ประจำปีของสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ ในพระบรมราชูปถัมภ์ Kinari Suite พระราชทานเพื่อใช้ประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ ชุดมโนราห์ เพื่อหารายได้สมทบกองทุนสภากาชาดไทย เพลงพรปีใหม่ พระราชทานแก่พสกนิกรในวันปีใหม่ เกิดเป็นไทยตายเพื่อ ไทย ความฝันอันสูงสุด เราสู้ พระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
        นอกจากนี้ พระองค์ ยังได้พระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยไว้อีก อาทิ มหาจุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ส่วนเพลงพระราชทานแก่หน่วยทหารต่างๆ ได้แก่ ธงชัยเฉลิมพล มาร์ชวัลลภ และมาร์ชราชนาวิกโยธิน เป็นต้น
        แม้เพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะไปในแนวเพลงไทยสากล แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระองค์ท่านได้ เป็นองค์อุปถัมภ์ทั้งด้านดนตรีไทยและดนตรีสากล
        ด้านดนตรีไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มให้มีการบันทึกโน้ตเพลงให้ถูกต้องและดำเนินการจัดพิมพ์ไว้เป็น หลักฐาน ทั้งนี้ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ พระองค์ทรงกำหนดให้มีการวิจัยเกี่ยวกับดนตรีไทย ในเรื่องบันไดเสียงของเครื่องดนตรีไทยประเภทต่างๆ อาทิ ความแตกต่างระหว่างบันไดเสียงของเครื่องสาย บันไดเสียงของระนาด โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล นำเพลงไทยสากลจากทำนองมหาจุฬาลงกรณ์ มาแต่งในแนวเพลงไทย และบรรเลงด้วยวงปีพาทย์ แล้วปรับปรุงเพลงดังกล่าวเป็นเพลงไทย โหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของ ชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นเพลงไทยเพลงแรกที่ประดิษฐานขึ้นจากเพลงไทยสากล ตาม พระราชดำริในการสร้างสรรค์และส่งเสริมดนตรีไทย
        ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุ ๕ รอบ กรมศิลปากรร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพฯ ได้มอบหมายให้ นายมนตรี ตราโมท บรมครูดนตรีไทยของกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งเพลงโหมโรงมหาราชขึ้น เพื่อ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในมหาศุภมงคลนั้น เพลงโหมโรงมหาราช เป็นเพลงไทย เดิมประเภทเพลงโหมโรง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเป็นเพลงประโคมดนตรีเบิกโรง เพื่อวัตถุประสงค์หลัก ๒ ประการคือ เป็นการแสดง ความเคารพ อัญเชิญเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมาประชุมกัน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้บรรเลงดนตรีในงาน และวัตถุประสงค์อีก ประการหนึ่งคือ เป็นเพลงสัญลักษณ์ที่จะประกาศให้ผู้ฟังทราบว่า หลังจบเพลงโหมโรงแล้วจะมีรายการอะไรต่อไป เช่น ปี่พาทย์ โหมโรงเย็นก็เป็นการประกาศให้ทราบว่า ต่อไปจะเป็นการสวดมนต์เย็น เป็นต้น
        นายมนตรี ตราโมท ได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตอัญเชิญทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ มาแต่งขยายขึ้นเป็นเพลง โหมโรงมหาราช ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และเมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว นายมนตรี ตราโมท ได้เลือกเพลงพระราชนิพนธ์ใกล้รุ่งกับเพลงเราสู้ มาทำเป็นเพลงสองชั้น แล้วแต่งขยายขึ้นตามแบบแผนการแต่งเพลงไทย ต้องการใส่ทำนองเพลงให้มีทางหลายๆ แบบ ทั้งทางอิสระ และทางลูกล้อ ลูกขัดผสมผสานกันไป และในช่วงท้ายของเพลง โหมโรงมหาราช ยังได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์สายฝนมาใส่ไว้อีกสามประโยค เพื่อให้เพลงโหมโรงมหาราชมีทำนองจังหวะวอลท์ชผสมอยู่ในเพลงไทย
        ทางด้านประเพณีที่เกี่ยวกับเพลงไทยนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอนุรักษ์ประเพณี เพื่อเป็นแบบอย่างให้อนุชน รุ่นหลังได้ช่วยกันธำรงรักษาไว้สืบไป เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกอบพิธีครอบประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน ละคร และพิธีต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์ องค์พระพิราพ ซึ่งเป็นพิธีสำคัญยิ่งขึ้นในพระราชฐาน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นต้น
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชวาทว่า การดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สามารถก่อให้เกิดความปีติ ความสุข ความยินดี ความพอใจ ได้อย่างมากที่สุด หน้าที่ของนักดนตรี คือ ทำให้ผู้ฟังเกิดความพอใจ ความครึกครื้น ความอดทน ความขยัน มีความเข้มแข็งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ นอกจากจะสร้างความบันเทิงแล้ว ควรแสดงในสิ่งที่จะเป็นการสร้างสรรค์ เช่น ชักนำให้เป็นคนดีด้วย และพระองค์ยังทรงย้ำอีกครั้ง ดังนี้
        "ฉะนั้น การดนตรีจึงมีความสำคัญสำหรับประเทศชาติสำหรับสังคม ถ้าทำดีๆ ก็ทำให้คนเขามีกำลังใจทีจะปฏิบัติงานการก็เป็น หน้าที่ส่วนหนึ่งที่ให้ความบันเทิง ทำให้คนที่กำลังท้อใจ มีกำลังใจขึ้นมาได้ คือ เร้าใจได้ คนกำลังไปทางหนึ่งทางที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะดึงให้กลับมาในทางที่ถูกต้องได้ ฉะนั้นดนตรีนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงพูดได้กับท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการดนตรี ในรูปการณ์ต่างๆ ว่ามีความสำคัญ และต้องทำให้ถูกต้อง ต้องทำให้ดีทั้งถูกต้องในหลักวิชาการดนตรีอย่างหนึ่งและก็ถูกต้องตาม หลักวิชาของผู้ที่มีศีลธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นประโยชน์ทั้งต่อส่วนรวมทั้งส่วนตัว เพราะก็ อย่างที่กล่าวว่า เพลงนี้มันเกิดความปีติภายในของตัวเองได้ ความปีติในผู้อื่นได้ ก็เกิดความดีได้ เกิดความเสียหายได้ ฉะนั้นก็ต้อง มีความระมัดระวังให้ดี"

ที่มา :
ถวัลย์ มาศจรัส. พระองค์คืออัครศิลปิน. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด, ๒๕๓๙
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย. อัครศิลปิน. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์ , ๒๕๓๐

หมายเลขบันทึก: 109359เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วได้รับความรู้เยอะเลยค่ะ  ครูอ้อยจะเก็บไว้ให้นักเรียนมา ค้นคว้า ทำรายงานนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ดีมาก เลย งัฟเรื่องแบบ นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท