Romeo
นาย อภิวัฒน์ ทรัพย์ศิริ

พระอัจฉริยะทางด้านดนตรี


พระอัจฉริยะทางด้านดนตรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับดนตรี ตั้งแต่สมัยที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระ อนุชาธิราชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อครั้งทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์
        ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฝึกหัดดนตรีประเภทเครื่องเป่าต่างๆ โดยมีพระอาจารย์ถวายคำแนะนำเป็นเวลา ๒ ปี พระอาจารย์ถวายความรู้ในเรื่องดนตรี แก่พระองค์ตามแบบฉบับการศึกษาวิชาดนตรีแบบสากล นั่นคือพระองค์ทรงเรียนรู้เรื่อง การเขียนโน้ตและฝึกฝนบรรเลงดนตรีในแนวคลาสลิกเมื่อพระองค์ทรงฝึกฝนดนตรีคาสลิก จนเป็นที่เข้าใจแล้ว พระองค์ได้ศึกษาดนตรีในแนวแจ๊ส (Jazz) ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่มี ความตรง กันข้ามกับดนตรีแนวคลาสลิกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาประวัตินักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนมาก พระองค์ทรงโปรดสไตล์ การเป่าโซปราโน แซกโซโฟน ของซิดนี่ เบเช่ (Shdey Bechet) ออโต แซกโซโฟน ของจอห์นนี่ ฮอดเจส์ (Johny Bechet) ทรงโปรดเปียโนและวงดนตรีของ ดยุค เอลลิงตั้น (Duke Ellington) เป็นต้น
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อแผ่นเสียงที่พระองค์ทรงโปรด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเล่นดนตรีของนักดนตรีเหล่านั้น จากนั้นพระองค์จะทรงบรรเลงดนตรีสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่พระองค์ทรงโปรด
        ที่พระตำหนักวิลล่าวัฒนานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้บรรดานักเรียนไทยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วม สโมสร สังสรรค์ทางดนตรีอยู่เสมอ และบางครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินประทับที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงปารีส เป็น การส่วนพระองค์ พระองค์ก็ได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศลร่วมเล่นดนตรีกับ พระองค์อยู่เสมอเช่นกัน
        นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระปรีชาสามารถเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า ซึ่งได้แก่ แซกโซโฟน คลาริเน็ต และทรัมเป็ตแล้ว พระองค์ยังทรงกีตาร์และเปียโนได้อีกด้วย การที่พระองค์ได้ทรงศึกษาดนตรีมาเป็นอย่างดี ทำให้พระองค์สามารถ ทรงเล่นดนตรีร่วมกับวงดนตรีได้ทุกวง ทั้งวงของไทยและของต่างประเทศ
        เกี่ยวกับวงดนตรีแจ๊สนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สามารถทรงดนตรีประเภทนี้ได้ทั้งชนิดที่มีโน้ตและไม่ต้องมีโน้ต พระอัจฉริยภาพของพระองค์ปรากฏอย่างเด่นชัดในการทรงเล่นดนตรีแจ๊ส ก็คือ ตอนที่ต้องเดี่ยว (Solo) ด้วยพระองค์เอง ซึ่งการเดี่ยว ดนตรีของดนตรีแจ๊สนั้นนับเป็นเรื่องที่ยาก ทั้งนี้เพราะการเดี่ยวดนตรีแจ๊ส ผู้เล่นจะต้องแต่งเนื้อหาขึ้นมาใหม่ด้วยปฏิภาณ ที่ฉับพลัน และต้องให้อยู่ในกรอบของจังหวะแนวเพลงนั้นอีกด้วย
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นอย่างสูง พระองค์สามารถทรงคลาริเน็ตและแซกโซโฟนได้อย่าง คล่องแคล่ว พระองค์สามารถบรรเลงโต้ตอบกับนักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงของโลกอย่าง เบนนี่ กู๊ดแมน (Benny Goodman) แจ๊ก ทีการ์เด้น (Jack Teagarden) นักตีระนาดเหล็กสากล ไลออเนล แฮมพ์ตัน (Lionel Hanpton) นักเป่าทรัมโบน และ สแตน เก็ตส์ (Stan getz)
        พระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้นักดนตรีของโลกเหล่านั้น พากันชื่นชมและถวายการยกย่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นนักดนตรีแจ๊สที่มีพระอัจฉริยะสูงส่งของโลกดนตรี ดนตรีที่พระองค์โปรดมากก็คือ ดนตรีแจ๊ส ดิ๊กซีแลนด์ (Dixieland Jazz) เป็นดนตรีสไตส์ชาวอเมริกันแห่งเมืองนิวออลินส์ ในช่วงหลัง พ.ศ. ๒๔๕๙ ดนตรีแจ๊ส ดิ๊กซีแลนด์ เป็นแนวเพลงดนตรีที่มีความ สนุกสนานเบิกบาน เปิดโอกาสให้ผู้เล่นแสดงความสามารถเฉพาะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำแนวทางการตั้งวงดนตรี แนวนี้มาจัดตั้งวงดนตรีของพระองค์ขึ้นในยุคแรกในพระที่นั่งอัมพรสถาน ทรงใช้ชื่อวงว่า "วงลายคราม"
        "วงลายคราม" เป็นวงดนตรีที่มีแต่นักดนตรีสมัครเล่น ซึ่งล้วนแต่เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่พระองค์ทรงคุ้นเคยมาแต่ทรงพระเยาว์ อาทิ หม่อมเจ้าวิมาทิตย์ รพีพัฒน์ หม่อมเจ้าแววจักร จักรพันธุ์ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ หม่อมเจ้ากมลสาน ชุมพล หม่อมหลวง อุดม สนิทวงศ์ หม่อมราชวงศ์พงศ์อมร กฤดากร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช์
        นักร้องของวงลายครามได้แก่ หม่อมเจ้าบูรธาภิเศก โสณกูล หม่อมเจ้าขจรจบ กิตติคุณ กิติยากร เป็นต้น วงดนตรีลายคราม เป็นวงดนตรีของนักดนตรี นักร้องสมัครเล่น ด้วยเหตุนี้ หลายๆ ครั้งที่นักดนตรีมักจะเล่นผิดๆ ถูกๆ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงแนะนำให้กำลังใจ ให้ทุกคนมีความสนุกครึกครื้นอยู่กับการเล่นดนตรีอยู่เสมอ
         ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในปีนั้นพระองค์โปรด เกล้าฯ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับการให้ความบันเทิงและสาระประโยชน์ในเรื่องต่างๆ
        คำว่า อ.ส. ก็คือชื่อย่อของ อัมพรสถาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ซึ่งที่สถานีวิทยุ อ.ส. นี้ วงลายคราม ได้มีโอกาสแสดงดนตรีออกอากาศร่วมกับวงดนตรีอื่นๆ ในขณะนั้น เช่น วงดนตรีเกษตร ที่มีหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป็นผู้อุปุถัมภ์วง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าวงลายคราม ซึ่งมีนักดนตรีสูงอายุมากยิ่งขึ้นและ บางครั้งก็เล่นดนตรีเครื่องเป่าไม่ค่อยไหวแล้ว พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีหนุ่มๆ มาผสมวงเล่นร่วมกับวงลายคราม จนต่อมา จึงเกิดวงดนตรี "อ.ส. วันศุกร์" ขึ้น สมาชิกของวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ประกอบไปด้วย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวง ประพันธ์ สนิทวงศ์ นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา หม่อมหลวงเสรี ปราโมช หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ นายไพบูลย์ สีสุวัฒน์ นายเสนอ ศุรบุตร นายเดช ทิวทอง นายถาวร เยาวขันธ์ นายสุวิทย์ อังสวานนท์ นายนนท์ บูรณสมภพ นายกวี อังสวานนท์ นาวาอากาศเอกอภิจิตร สุขกระจันทร์ นายอวบ เหมะรัชตะ สำหรับนักร้องของวง อ.ส. วันศุกร์ มีคุณหญิง สาวิตรี ศรีวิสารวาจา คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณกัญดา ธรรมมงคล ท่านผู้หญิงสุวรี เทพาคำ คุณจีรนันท์ ลัดพลี และคุณพัลลภ สุวรรณมาลิก เป็นต้น วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงร่วมบรรเลงดนตรีด้วย โดยออก อากาศกระจายเสียงทางสถานีวิทยุ อ.ส. เป็นประจำวันศุกร์
        นอกจากพระองค์จะทรงเล่นดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระองค์โดยตรงด้วย การเป็นผู้จัดรายการเพลง บางครั้งพระองค์เปิดโอกาสให้ประชาชนโทรศัพท์เข้าไปขอเพลงได้ โดยที่พระองค์จะเป็นผู้รับโทรศัพท์ ด้วยพระองค์เองอีกด้วย
        บทบาทที่เด่นอีกด้านหนึ่งของวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ก็คือ การบรรเลงในงานวันทรงดนตรี ตามที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้กราบ บังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินอยู่เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชหฤทัยรักการดนตรียิ่งนัก พระองค์จะทรงซ้อมดนตรีอยู่อย่างสม่ำเสมอในทุกค่ำวันศุกร์ และวันอาทิตย์ เครื่องดนตรีทุกชิ้นของพระองค์ จะทรงเก็บรักษาอย่างดี ทรงทำความสะอาดด้วยพระองค์เอง และถ้าหากเครื่องดนตรี เสีย พระองค์ก็จะซ่อมแซมด้วยพระองค์เอง
        ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชภารกิจในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างมากมาย ในการเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวนั้น จะมีผู้ปฏิบัติราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจำนวนมาก เช่น นักเกษตรหลวง คณะแพทย์ อาสาสมัคร ข้าราชบริพารในพระองค์ ราชองครักษ์ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย พระองค์ทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านั้น ต้องเหน็ดเหนื่อยไปตาป่าเขาลำเนาไพรและตามภูมิภาคต่างๆ พระองค์จึงคิดหาวิธีให้บุคคลดังกล่าวนั้นผ่อนคลายจากความเหน็ด เหนื่อย ด้วยการก่อตั้งแตรวง "สหายพัฒนา" ขึ้น
        แตรวง สหายพัฒนานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำหน้าที่เป็นครูสอนผู้ตามเสด็จฯ ที่ไม่เคยเล่นดนตรีกันมาก่อนเลย โดยพระองค์พระราชทานเวลาเพียงวันละเล็กละน้อย สอนสมาชิกแตรวงสหายพัฒนา ในช่วงที่พระองค์ทรงออกพระกำลังในตอนค่ำ จนทำให้วงแตรวงสหายพัฒนาสามารถบรรเลงดนตรีในโอกาสพิเศษต่างๆ ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ในระหว่างนักพัฒนาที่มา จากหลายๆ หน่วยงาน
        นอกจากพระองค์จะมีพระอัจฉริยะทางด้านนักดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีพระราชอัจฉริยะทางด้านพระราชนิพนธ์ เพลงอีกด้วย (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ "พระอัจฉริยภาพด้านพระราชนิพนธ์เพลง")

ที่มา :
ถวัลย์ มาศจรัส. พระองค์คืออัครศิลปิน. กรุงเทพฯ : บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด, ๒๕๓๙
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย. อัครศิลปิน. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. สัมพันธ์พาณิชย์ , ๒๕๓๐

หมายเลขบันทึก: 109327เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูอ้อย นับถือ ผู้ที่เล่นดนตรีได้ค่ะ  นับได้ว่า  สวรรค์ประทานให้มีพรสวรรค์ไงล่ะคะ

ครูอ้อยตามมาอ่านคะ..ให้กำลังใจเสมอค่ะ  อยากเล่นดนตรีเป็นค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท