ดูแลผิวพรรณ หน้าฝน


ฝนเมืองไทยปีนี้คงจะทำให้พวกเราชุ่มฉ่ำกันไม่มากก็น้อย วารสารหมอชาวบ้านมีคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการดูแลผิวพรรณหน้าฝน ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ...

ฝนเมืองไทยปีนี้คงจะทำให้พวกเราชุ่มฉ่ำกันไม่มากก็น้อย...

วารสารหมอชาวบ้านมีคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการดูแลผิวพรรณหน้าฝน ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ...

หน้าฝนเป็นช่วงที่มีโรคผิวหนังหลายชนิดเกิดได้บ่อย

ท่านอาจารย์นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังได้ให้คำแนะนำดีๆ เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวดังต่อไปนี้

  1. โรคน้ำกัดเท้า ทำให้เป็นผื่นเปียกยุ่ยสีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า บางครั้งมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้เป็นผื่นแดง และมีน้ำเหลืองไหล
  2. โรคติดเชื้อราขาหนีบ หรือ "สังคัง" มักติดเชื้อมาจากที่เท้า เมื่อสวมกางเกงในก่อนถุงเท้า จะทำให้ติดเชื้อจากเท้าไปขาหนีบ ทำให้คันมาก
  3. โรคเท้าเหม็น เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดรูพรุนเล็กๆ ที่เท้า มีกลิ่นเหม็น
  4. โรคพยาธิปากขอ เป็นการติดเชื้อพยาธิจากการเดินผ่านน้ำท่วมขัง พยาธินี้จะดูดเลือด และอาจทำให้เกิดโรคเลือดจางได้
  5. โรคฉี่หนู เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากฉี่หนู ทำให้เป็นไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด และอาจถึงตายได้
  6. แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ ฯลฯ
  7. แมงกะพรุนไฟ พบบ่อยหลังมีพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลเป็น หรือเสียโฉม บางคนแพ้พิษจนจมน้ำตายได้ วิธีป้องกันที่ดีคือ ว่ายน้ำสระริมทะเลปลอดภัยกว่าว่ายน้ำทะเล ถ้าโดนแมงกะพรุนไฟ ให้รีบขึ้นจากน้ำ ใช้น้ำทะเลหรือน้ำสะอาดล้างแผล แล้วรีบไปหาหมอ

วิธีดูแลผิวพรรณหน้าฝนที่สำคัญได้แก่...

  1. หลีกเลี่ยงการเดินผ่านน้ำขัง ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้... ให้ใช้รองเท้าบู๊ตกันน้ำ
  2. หลังเดินย่ำน้ำ ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่ทันที
  3. ใช้ถุงเท้าบางแทนถุงเท้าหนา และไม่ใช่ถุงเท้าที่คับเกิน เพื่อลดความชื้นสะสมที่เท้า
  4. ใช้รองเท้าแตะ(ถ้าทำได้) เพื่อลดความชื้นสะสมที่เท้า
  5. นุ่งกางเกงบางแทนกางเกงหนา และไม่ควรนุ่งกางเกงยีนส์ เพื่อลดการสะสมความชื้นที่ขาหนีบ (ป้องกันสังคัง) และลดกลิ่นเหม็นบริเวณอวัยวะเพศ
  6. นุ่งกางเกงในชนิดคล้ายกางเกงนักมวย (boxer) แทนกางเกงในชนิดมียางยืดรัดต้นขา เพื่อลดการสะสมความชื้นที่ขาหนีบ

ท่านอาจารย์ประวิตรกล่าวว่า โรคเชื้อราที่เท้าและขาหนีบพบค่อนข้างน้อยในพม่า เนื่องจากชาวพม่านิยมสวมรองเท้าแตะ ทำให้เท้าแห้งง่าย ไม่อับชื้น

นอกจากนั้นการที่ชาวพม่านุ่งโสร่ง และไม่นิยมสวมกางเกงในมีส่วนช่วยให้ขาหนีบแห้งง่าย ไม่อับชื้น จึงไม่ค่อยเป็นสังคัง

ขอเรียนเสนอให้ลองใช้โสร่งเป็นผ้าเช็ดตัว เนื่องจากโสร่งส่วนใหญ่ทำจากผ้าฝ้าย ซับน้ำได้เร็วมาก และแห้งเร็ว ลดการสะสมความชื้น และเชื้อโรคที่ผ้าเช็ดตัวในหน้าฝนได้ดีเช่นกัน

ข้อควรระวังในการใช้โสร่งระยะแรกคือ สีมักจะตก จึงควรแยกซักต่างหากในช่วงแรก...

คนไทยแต่เดิมใช้ผ้าข้าวม้ามานานแล้ว... เรียนเชิญพวกเราหันมาใช้ผ้าขาวม้า หรือผ้าถุงเวลาอยู่บ้าน เลือกผ้าฝ้ายบางๆ จะอยู่เย็นเป็นสุขมากกว่าที่คิด (ไม่ร้อนเหมือนสวมเสื้อ-กางเกง)

ฝรั่งหรือชาวตะวันตกมีโรคเชื้อราที่เท้าและขาหนีบได้บ่อย เนื่องจากชอบสวมถุงเท้า รองเท้านานเกินไป แถมบางคนยังเข้านอนโดยไม่ถอดถุงเท้า รองเท้า ทำให้เกิดการสะสมความชื้นเพิ่มขึ้นมาก

สารคดีชุด 'The black hospital' ของญี่ปุ่นกล่าวเรื่องนอนไว้ดีครับ... อาจารย์แพทย์ญี่ปุ่นแนะนำว่า

เวลานอนให้สวมเสื้อผ้าบางๆ หลวมๆ และควรห่มผ้า(อย่างน้อยก็ผ้าบางๆ)

ท่านแนะนำว่า อย่านอน "โป๊" หรือ "เปลือย" เพราะช่วงเวลานอนหลับเป็นช่วงที่ร่างกายคนเราค่อนข้างอ่อนแอต่ออากาศเย็น

การปล่อยให้ตัวเรา โดยเฉพาะตั้งแต่คอลงไป เย็นมากเกิน การตั้งเครื่องปรับอากาศเย็นมากเกิน(ในสารคดีท่านกล่าวว่า ไม่ควรตั้งต่ำกว่า 26-27 องศาเซลเซียสเวลานอน) หรือการเป่าพัดลมให้ถูกผิวหนังโดยตรง ทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง

ตรงกันข้าม... การสวมเสื้อผ้านอนดีๆ มีส่วนช่วยป้องกันโรคหวัดได้...

อาจารย์หมอฝรั่งมีคำแนะนำให้สวมถุงเท้าก่อนกางเกงใน เพื่อลดการติดเชื้อจากเท้าไปสู่ขาหนีบ คำแนะนำนี้เป็นคำแนะนำที่ดีเช่นกัน

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพผิวพรรณดีไปนานๆ ครับ

ข่าวประกาศ...                                                  

  • ผู้เขียนขอปิดส่วนความคิดเห็น และงดตอบปัญหา เพื่อปรับปรุงคำหลัก (key words) บันทึกย้อนหลังไปพลางก่อน

ขอแนะนำ...                                                    

    แหล่งที่มา:                                      

  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร. ผิวสวย หน้าใส > 7 โรคผิวหนังหน้าฝน > หมอชาวบ้าน กรกฎาคม 2550 ปี 29 ฉบับ 339 หน้า 8-10.
  • ขอขอบพระคุณ > สารคดีชุด 'The black hospital' ของญี่ปุ่น ออกอากาศทาง UBC.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 7 กรกฎาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 109271เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2007 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท