ชีวิตที่พอเพียง : 314. การจัดองค์กรเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมระดับประเทศ


         ผมเป็นคนชอบเรียนรู้เรื่องการจัดองค์กรเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรม และความริเริ่มสร้างสรรค์ระดับประเทศ      เป็นความสนใจที่ติดมาตั้งแต่เป็น ผอ. สกว.     หรือที่จริงสนใจเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย      และผมมีสมมติฐานอยู่ในใจ ว่า สภาพที่เป็นอยู่ในประเทศไทยนั้น ผิด      

        วันที่ 22 มิ. ย. 50 ผมได้ฟัง ดร. ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รอง ผอ. NECTEC รายงานสรุป เรื่องการเปรียบเทียบ (benchmarking) ผลงานของ NECTEC กับผลงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เดียวกันของประเทศอื่น     แล้วพบว่าไม่มีหน่วยงานของประเทศใดเลยที่ทำหน้าที่กว้าง หรือหลากหลาย อย่าง NECTEC      ดร. ชฎามาศบอกว่า  ในเกาหลี งานที่ NECTEC ทำนั้น เขามีหน่วยงานนับสิบหน่วยแบ่งกันรับผิดชอบ

          ผมจึงถึงบางอ้อ ว่า ใช่แล้ว  ในประเทศไทยเรายังยึดถือแนวทางจัดองค์กรแบบองค์กรใหญ่ ทำหน้าที่หลายอย่าง เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ      ในขณะที่ในต่างประเทศเขาเลยสภาพนั้นไปแล้ว     เขาจัดตั้งองค์กรแบบ "เฉพาะทาง" เพื่อความคล่องตัว เพื่อให้สามารถสร้างนวัตกรรมวิธีทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร ที่เหมาะสมต่อภารกิจเฉพาะนั้นๆ     เพราะงานเฉพาะทางแต่ละด้านต่างก็ต้องการความริเริ่มสร้างสรรค์วิธีทำงาน และวัฒนธรรมองค์กร ที่ไม่เหมือนกัน     จึงจะทำงานสร้างสรรค์นั้นๆ ได้ผลดี

          ผมเชื่อว่า องค์กรที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านใดด้านหนึ่ง ในระดับประเทศ     ต้องทำงานแบบโฟกัส หรือพุ่งเป้า      ไม่ทำงานแบบกว้าง หลายหน้างาน จนเบลอ หรือไม่ชัดเจน     แต่หลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมต่างด้านต้องทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย     โดยต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่เชื่อมโยง หรือขับเคลื่อนเครือข่าย อีกต่อหนึ่ง      หน่วยงานเหล่านี้มีขนาดเล็กจิ๋วทั้งสิ้น     แต่ละหน่วยงานมีคน ๕ - ๒๐ คน  

          เวลาไปชี้แจงต่อกรรมาธิการงบประมาณ  และต่อนักการเมือง  เรามักถูกต่อว่า  ว่างานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรู้  การสร้างนวัตกรรม     ไม่มีเอกภาพ  มีความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน     "เรื่องข้าวทำไมมีการสนับสนุนการวิจัยโดยหลายหน่วยงาน    แล้วก็ไม่ประสานงานกัน"     มักเป็นประโยคที่ได้ยินอยู่เสมอ    
    
          ผมเดาว่า นักการเมือง และคนในราชการ มีแนวคิดแบบเน้นการควบคุมสั่งการ     จึงต้องการให้มีหน่วยงานน้อยๆ ให้ตนหรือพรรคของตน หรือรัฐบาล ควบคุมได้     โดยควบคุมลงไปถึงการใช้เงิน หรือการใช้ทรัพยากร     หรือควบคุมไปถึงการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง     เพราะนั่นคือวิธีการแสดงอำนาจ     ผมมองว่าวัฒนธรรมและพฤติกรรมเช่นนั้นล้าหลัง      และจะนำประเทศไปสู่หายนะ     ตามไม่ทันประเทศอื่นในเรื่องการขับเคลื่อนนวัตกรรม     ที่ต้องการการจัดองค์กร (organization) แนวใหม่

วิจารณ์ พานิช
๒๔ มิ.ย. ๕๐
วันครบรอบเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๗๕ ปี

หมายเลขบันทึก: 109025เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2007 08:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท