มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

กระดูกเอวเคลื่อน...โรคของคนหนุ่มสาว(จบ)


      ก่อนอื่นคงต้องขออภัยแฟนๆ คอลัมน์ด้วยการก้มหัวคารวะงามๆ หลายครั้ง สำหรับการเว้นวรรคเขียนเรื่องราวของกระดูกเอวเคลื่อนไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จนทำให้ไม่ได้รับข้อมูลที่ไม่ปะติดปะต่อ เพราะติดภารกิจสำคัญบางประการจริงๆ
           
       ดังนั้น เพื่อเป็นการสานต่อข้อมูลให้ราบรื่นคงต้องเท้าความเรื่องเก่ากันสักนิดว่า โรคกระดูกเอวเคลื่อนเป็นอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร
       
       ภาวะกระดูกเอวเคลื่อนผิดไปจากรูปเดิม เป็นโรคที่มีความเชื่อมโยงกับเส้นเอ็นหรือเส้นใยที่ยึดระหว่างข้อต่อของกระดูกที่ฉีกขาด จนทำให้แกนในของกระดูกบวม และหลุดจากตำแหน่งที่ควรจะเป็น ซึ่งช่วงอายุที่พบบ่อยก็คือ วัยหนุ่มสาว อายุระหว่าง 20-25 ปี และมักจะเป็นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยสาเหตุหลักๆ ก็เป็นเพราะการใช้ร่างกายที่ไม่ระมัดระวัง เช่น แบกของหนัก อุบัติเหตุ เป็นต้น
       
       สำหรับอาการของโรคที่แสดงออก มีทั้งที่มีสาเหตุมาจากภายนอกและภายในคือเกิดจากพลังไตพร่องคละเคล้ากันไป โดยอาการสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ได้แก่ อาการเจ็บและปวดตรงบั้นเอว การเคลื่อนไหวของเอวลำบากและผิดไปจากปกติ เวลาไอ จามหรือเข้าห้องน้ำอุจจาระจะเกิดความเจ็บปวดที่เอว บางคนอาจรู้สึกชาตั้งแต่บั้นเอวไล่เรื่อยไปจนถึงขาและเท้า รวมทั้งก้นกบ
       
       แต่ในรายที่เป็นหนักก็ทำให้ระบบการขับถ่ายเรรวน ไม่สะดวก ปัสสาวะและอุจจาระลำบาก
       
       ทั้งนี้ ถ้าหากตรวจวินิจฉัยโครงสร้างของกระดูกจะพบว่า ไม่เหมือนเดิม คือแนวโค้งของกระดูกเอวหายไป บิดเบี้ยว และทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวถูกดึงให้ผิดรูปไปด้วย ซึ่งลักษณะดังกล่าวจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดความเจ็บปวด
       
       ยิ่งในรายที่เป็นมานานอาจมีปัญหากล้ามเนื้อลีบ-ไม่มีแรงร่วมอยู่ด้วย โดยทำให้เวลาจะยกขายกแข้งยากไปหมด
       
       สำหรับหลักการรักษา โดยทั่วไปจะก็เริ่มต้นจากการคลายกล้ามเนื้อเพื่อทำให้เลือดลมไหลเวียนสะดวก ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ ผ่อนคลาย พร้อมทั้งปรับสภาพกระดูกที่มีผิดรูปให้คลายออกจากกันและจัดกระดูกที่อยู่ในตำแหน่งผิดปกติกลับเข้าที่เข้าทางเหมือนเดิม
       
       ส่วนขั้นตอนในการรักษาแบ่งออกเป็น 9 ขั้นตอนด้วยกันคือ
       
       ขั้นตอนที่หนึ่ง-เป็นขั้นตอนของการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่บริเวณเอว โดยผู้ถูกนวดจะต้องนอนคว่ำราบลงไปกับพื้น จากนั้นผู้รักษาจะสันมือมือกลิ้งไปมาที่บริเวณเอว
       
       สอง-คล้ายกล้ามเนื้อซ้ำอีกครั้งด้วยการใช้นิ้วมือบีบและนวดที่เอว
       
       สาม-ใช้นิ้วหัวแม่มือด้านหนึ่งกดลงไปจุดที่มีปัญหาและใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้างหนึ่งกดซ้อนลงไปเพื่อให้เกิดแรงที่เพียงพอ
       
       สี่-ใช้นิ้วหัวแม่มือดีดไปตรงกล้ามเนื้อเอวและกล้ามเนื้อใกล้เคียงเพื่อกระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
       
       จากนั้นขั้นตอนที่ห้า-ให้ใช้ฝ่ามือคลึงบริเวณบั้นเอวด้านล่าง เพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่มีปัญหา
       
       ส่วนขั้นตอนที่ หก-จะใช้หมอนรองเอาไว้ตรงท้องเพื่อให้ช่วงเอวยกขึ้นมา จากนั้นใช้มือซ้ายกดที่เอวของคนไข้เอาไว้เพื่อยึดร่างกายให้แน่น เสร็จแล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งสอดเข้าไปใต้ขาและใช้มือโยกขาขึ้นลง เพื่อกระตุ้นและจัดรูปกระดูกเอวให้เข้าที่เข้าทาง
       
       เจ็ด-ขั้นตอนนี้ผู้รักษาจะไปย้ายไปยืนด้านข้างของผู้ป่วยที่นอนคว่ำราบกับพื้น จากนั้นใช้หัวแม่มือซ้ายกดตรงจุดที่มีปัญหา แล้วใช้แขนขวายกขาข้างใดข้างหนึ่งพร้อมๆ กัน ซึ่งจังหวะการกดและการยกจะต้องประสานและสอดคล้องกันเพื่อจัดกระดูกให้คืนสู่ตำแหน่งที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ โดยส่วนมากเมื่อรักษาขั้นตอนนี้จะได้ยินเสียงกระดูกเอวดัง “ก๊อก”
       
       แปด-ผู้ป่วยเปลี่ยนจากนอนคว่ำเป็นนอนตะแคง พับขาข้างหนึ่งกลับมาด้านหลัง จากนั้นกดจุดที่บริเวณเอวพร้อมกับดันขาข้างที่พับไว้ไปมา
       
       สำหรับท่าสุดท้าย ท่าที่เก้า ใช้น้ำมันทาลงไปที่เอวเพื่อป้องกันการเสียดสีและเพิ่มความร้อนให้กับกล้ามเนื้อ จากนั้นใช้สันมือนวดอย่างรวดเร็วเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออีกครั้ง
       
       อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า การรักษาโรคดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของโรคด้วย บางรายอาจจะนวดอย่างเดียวก็หาย แต่บางรายก็ไม่ได้ใช้เฉพาะการนวดอย่างเดียว หากแต่จะต้องมีการสั่งยาสมุนไพรจีนเพื่อช่วยเสริมสร้างอวัยวะภายในต่างๆ ที่บกพร่องให้ฟื้นฟูประสิทธิภาพกลับคืนมาเหมือนเดิมด้วย
       
       ก่อนจากกันในวันนี้ มีข้อแนะนำเพื่อการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคกระดูกเอวเคลื่อนสักเล็กน้อย ข้อแนะนำแรกอยากให้ดูแลตัวเองในเรื่องของการนอนที่ถูกสุขลักษณะ โดยนอนบนเตียงที่แข็ง เช่น เตียงไม้กระดาน แทนการนอนบนเตียงที่อ่อนนุ่ม เพื่อทำให้กระดูกเอวอยู่ในสภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งตรงนี้สามารถใช้ได้กับทั้งผู้ที่ยังไม่ป่วยและผู้ที่มีปัญหาไปแล้ว
       
       คำแนะนำถัดมาคือ ในระหว่างที่กำลังรักษา ควรจะหาเครื่องมือช่วยในการพยุงเอวเข้ามาเสริมเพื่อไม่ให้กระดูกเอวเคลื่อนผิดรูป และเมื่อหายแล้วควรหมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อเอวเพื่อให้แข็งแรงด้วย เช่น ชี่กง ไทเก๊ก
       
       แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องทำงานซึ่งต้องก้มๆ เงยๆ เป็นเวลานาน ต้องพึงหลีกเลี่ยงการทำงานในลักษณะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการขึ้นมาอีก
       
       นอกจากนี้ เวลาจะเคลื่อนไหวร่างกาย ลุก นั่ง เดินหรือนอน ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพราะการลุกขึ้นกะทันหันหรือการเปลี่ยนท่าโดยฉับพลันอาจกระทำต่อกระดูกเอว รวมทั้งเวลายกของหนักก็ต้องระวังและใช้ท่าทางที่ถูกต้องด้วย
       
       ส่วนข้อแนะนำสุดท้าย ถ้าหากเราต้องนั่งหรือยืนในท่าที่ไม่ถูก ต้องพยายามเปลี่ยนอิริยาบถ อย่าอยู่ในท่านั้นๆ นานเกินไป

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์     5 กรกฎาคม 2550 08:16 น.
       คอลัมน์…มหัศจรรย์นวดแผนจีนทุยหนา
       โดย…หมอหลินตันเฉียน
<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 108812เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2007 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท