มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

กระดูกเอวเคลื่อน...โรคของคนหนุ่มสาว(1)


       ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะมีความยิ่งใหญ่สักเพียงไหน
       ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะร่ำรวยเงินทองมากสักเพียงใดก็ตาม
       แต่มนุษย์ทุกรูปทุกนามก็ย่อมหนีไม่พ้นวัฏจักรแห่งชีวิต 4 ประการคือ เกิด แก่ เจ็บและตาย
           
       ในบรรดาวัฏสังสารแห่งชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า แทบจะร้อยทั้งร้อยย่อมไม่อยากจะแก่ เจ็บและตาย แต่ทุกคนย่อมหนีไม่พ้น อย่างไรก็ตาม เรามีหนทางหรือมีวัตรปฏิบัติที่จะทำให้การแก่ การเจ็บและตายเป็นไปอย่างสงบสุขได้
       
       พูดถึงเรื่องความเจ็บของมนุษย์ เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อมีอายุมากขึ้น สังขารที่ผ่านการใช้งานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานย่อมตกอยู่ในภาวะ “ความเสื่อม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหนึ่งในความเสื่อมที่สร้างปัญหาค่อนข้างมากก็คือ “กระดูกสันหลัง”
       
       ก่อนอื่นคงต้องอธิบายลักษณะตามธรรมชาติกันสักนิดว่า โครงสร้างของกระดูกสันหลังเป็นเช่นไร
       
       กระดูกสันหลังของคนเรา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ 1.กระดูกต้นคอซึ่งเป็นกระดูกสันหลังที่อยู่บนสุด 2.กระดูกสันหลังระดับหน้าอก 3.กระดูกสันหลังระดับเอว และ 4. กระดูกก้นกบ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังที่อยู่ล่างสุด
       
       สำหรับภาวะความเสื่อมที่เรามักปรากฏเห็นชัดที่สุดในบรรดาโครงสร้างทั้งหมดก็คือ กระดูกสันหลังระดับเอว เนื่องจากเป็นส่วนที่ถูกใช้งานและรับภาระมากที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในภาวะที่ต้องระวังก็คือ กลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป และจะปรากฏให้เห็นชัดขึ้น บ่อยขึ้น ตามอายุที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความหนักเบาของอาการไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุที่เพิ่มขึ้นเสมอไป
       
       ถามว่า ต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เกิดโรคคืออะไร?
       
       คำตอบง่ายมาก เพราะเป็นผลมาจากธรรมชาติของร่างกายมนุษย์นั่นเอง กล่าวคือ เนื่องจากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยืนด้วยสองขา ทำให้แนวกระดูกสันหลังตั้งตรง ดังนั้น กระดูกสันหลังจึงเป็นส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมากที่สุดและจุดที่ต้องรับน้ำหนักมากที่สุดคือกระดูกเอว
       
       ที่สำคัญคือ การที่กระดูกเอวทอดตัวในแนวโค้งแม้จะมีข้อดีคือทำให้เราเคลื่อนไหวร่างกายได้คล่องแคล่ว แต่ก็มีจุดเสียเพราะเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อกระดูกส่วนเอวได้ง่าย
       
       เมื่อเข้าใจกันในภาพรวมแล้ว คราวนี้จะขอพุ่งเป้าไปที่อีกปัญหาหนึ่งของกระดูกเอวที่มีผู้เป็นกันมาก นั่นคือ “ภาวะกระดูกเอวเคลื่อนผิดไปจากรูปเดิม”
       
       ทั้งนี้ โรคนี้มีความเชื่อมโยงกันเส้นเอ็นหรือเส้นใยที่ยึดระหว่างข้อต่อของกระดูกที่ฉีกขาด ทำให้แกนในของกระดูกบวม และหลุดจากตำแหน่งที่ควรจะเป็น แล้วความแปลกของโรคนี้ก็คือไม่ได้เกิดในกลุ่มวัยกลางคน หากมักเกิดกับผู้อยู่ใน วัยหนุ่มสาว อายุระหว่าง 20-25 ปี และมักจะเป็นกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็เป็นเพราะการใช้ร่างกายที่ไม่ระมัดระวัง แบกของหนัก อุบัติเหตุ
       
       เมื่อการเคลื่อนที่ของกระดูกผิดปกติ ก็จะไปทับเส้นประสาท ทำให้เกิดความเจ็บปวดในส่วนล่างของร่างกาย และเกิดมีความรู้สึกชา
       
       อย่างไรก็ตาม ในทางการแพทย์จีนวิเคราะห์เหตุของโรคเอาไว้ด้วยว่า สามารถเป็นผลมาจากภายในได้อีกด้วย กล่าวคือมีที่มาจาก “พลังไตพร่อง” ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมไม่สมบูรณ์ หรือถูกภาวะความเย็นเข้าแทรก กระทั่งทำให้เกิดความเจ็บปวดและนำไปสู่ภาวะกระดูกเอวเคลื่อนในที่สุด
       
       หรือสรุปง่ายๆ ได้ว่า โรคนี้มีที่มาได้จากทั้ง 2 ทางคือ จากภายนอกและภายในนั่นเอง
       
       อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิต ใช้ร่างกายด้วยความประมาท นอนน้อย พักผ่อนน้อย ก็ต้องพึงระมัดระวังเช่นกัน เพราะไม่ใช่แค่เพียงทำให้เกิดกระดูกเอวเคลื่อนเท่านั้น เนื่องจากเมื่อร่างกายอ่อนแอ ไม่สมดุล การทำงานของอวัยวะภายในก็จะรวนเรมีปัญหา และนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้อีกด้วย
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาก่อให้เกิดผลกระทบกับไต เพราะไตคือฐานพลังของชีวิต ซึ่งทางการแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับไตมาก เมื่อไตแข็งแรง สมรรถภาพของร่างกายก็จะแข็งแรง และเมื่อไตอ่อนแอ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็จะตามมากมายมาย

ที่มา : Uncle fat     21 มิถุนายน 2550 08:36 น.
<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 108811เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2007 12:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท