"สมัยเราเรียน....มันไม่เป็นอย่างนี้" เป็นประโยคที่ได้ยินบ่อยครั้ง เมื่อคุณแม่คุยกับเพื่อน ๆ หมายให้ได้รู้ถึงความใส่ใจในเรื่องการเรียนของคุณลูก แต่ประโยคต่อมา... "ก็เลยสอนการบ้านลูกไม่ได้" ด้วยเหตุนี้ สถานกวดวิชา ติววิชา สอนพิเศษ จึงรับบทบาทแทน
ด้วยความใส่ใจคุณลูกจริง ๆ หลังโรงเรียนเลิก คุณแม่กับคุณลูกก็จูงมือกันไปต่อที่โรงเรียนของอาจารย์ผู้ทุ่มเทให้กับการสอน ซึ่งดูเสมือนจะไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่เช้าที่โรงเรียนจริง ตกเย็นมาต่อกันที่โรงเรียนตึกแถว จนถึงสองทุ่ม สามทุ่ม จึงค่อยแยกย้ายกลับบ้าน
ทั้งแม่ลูก ครูบาอาจารย์ ต่างทุ่มเทให้กับการเรียนแทบทุกวัน รวมทั้งเสาร์ อาทิตย์ ก็ยังต้องงดเที่ยว งดพักผ่อน เพื่อเรียน นอกจากว่าวันไหนอาจารย์ติดธุระนั่นแหละ ทุกอย่างสามารถหยุดได้อย่างสบายใจ โดยไม่รู้สึกผิดในใจ ว่าไม่ทุ่มเทให้กับการเรียนของลูก
ทุกคนในเรื่องนี้ล้วนเหนื่อยยาก ทุ่มเทเวลา ทุ่มเทกำลังใจ ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร...? และไม่มีวิธีอื่นใดอีกหรือ...!
ถ้าเป็นอย่างนี้จะได้มั้ย
ด้วยความใส่ใจการเรียนของลุกเป็นทุนอยู่แล้ว แทนที่จะต้องเหนื่อยนอกบ้านที่ต้องไปรับลูกจากโรงเรียนกลางวัน ไปส่งที่โรงเรียนกลางคืน รอลูกจนเลิก พากันกลับบ้าน เปลี่ยนเป็น
-
ตกเย็นคุณแม่รับลูกกลับบ้าน คุณแม่ทำกับข้าว คุณลูกทานขนม เล่น พักผ่อน กินข้าวเสร็จเรียบร้อย ระหว่างรอคุณพ่อ คุณแม่กับคุณลูกเรียนหนังสือด้วยกัน คุณพ่อถึงบ้านทานข้าวพร้อมกัน นั่งคุยกันไป ดูทีวี เล่นเกมส์ เล่นอินเตอร์เน็ต เข้านอน
-
ตกเย็นครูบาอาจารย์ก็กลับบ้าน ดูแลครอบครัว สอนหนังสือลูก หลังอาหารเย็น ค้นหา ปรับปรุงความรู้ เตรียมสื่อการสอน หรือเขียนตำราด้วยใจทีบริสุทธิ์ ปรารถนา ตั้งใจให้เกิดประโยชน์ต่อศิษย์ได้จริง และถ้าจะขึ้นเงินเดือนให้ครูบาอาจารย์เป็นเดือนละแสน ก็ไม่เห็นจะมากเกินไป เพราะครูทำงานทั้งที่โรงเรียน และที่บ้าน และทำด้วยใจ
-
เวลาผ่านไปทุกคนที่ได้เอ่ยถึงในเรื่องข้างต้นน่าจะมีความสุข ความเจริญ เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้นในประเทศไทย ไม่น่าจะมีอะไรเลย ที่แย่ลง เสื่อมลง
วันนี้ -3 พ.ค. 2552 ขอเล่าเรื่องต่อ ด้วยความเชื่อว่าถ้าพ่อแม่จะเรียนไปกับลูกด้วยกัน ไม่ต้องให้เหนื่อยยากเกินเหตุเกินควร เรื่องก็มีอยู่ว่า ลูกก็ไม่ได้เรียนกวดวิชา เรียนพิเศษ อะไรทั้งสิ้น อาจมีบางช่วงไปเรียนศิลปป้องกันตัว แต่เวลาที่นอกจากการเรียน ส่วนใหญ่แล้วก็พักผ่อนตามปกติ อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจบ้าง ก็เป็นนักเรียนส่วนน้อยที่ไม่ได้กวดวิชาอะไรกับเขา ก็ทำเกรดได้ 3 แก่ ๆ มาตลอด จนกระทั่งถึงชั้น ม.6 ก็เป็นคนเดียวของห้องที่ยังคงไม่กวดวิชา แต่ในภาคสุดท้ายก็(เป็นคนเดียวที่)สอบได้ที่ 1 และสอบข้อเขียน (สอบตรง) เข้ามหาวิทยาลัย 2 สถาบัน หลักสูตรอินเตอร์และหลักสูตรไทยได้ทั้งสองสถาบัน สัมภาษณ์ผ่านหนึ่งสถาบัน วันนี้สถาบันที่สัมภาษณ์ไม่ผ่านเรียกให้ไปสัมภาษณ์อีกครั้ง (คงจะมีนักศึกษาน้อยเกินไปหรืออย่างไรไม่ทราบได้) แต่กำลังรอผลว่าจะได้คณะที่ตั้งใจ (ซึ่งไม่เปิดสอบตรง) หรือไม่
ที่เล่าเพิ่มเติมมานี้ก็ด้วยมีประเด็น
- พิสูจน์ได้ว่าไม่ต้องกวดวิชาก็เรียนอยู่ในระดับดีได้ หากพ่อแม่ลูก เรียนร่วมกัน
- การกวดวิชา ก็มีผลเสีย เพราะแนวทางคือสอนให้ตอบข้อสอบให้ได้เป็นสำคัญ เพราะจากที่รู้มา หลังจากอาจารย์บอกหลัก บอกเคล็ดวิชาแล้ว นักเรียนจะได้ข้อสอบมากมาย จากแหล่งต่าง ๆ มากมายเหลือเกิน และแล้วอาจารย์ก็เฉลยให้ดู มากบ้างน้อยบ้าง นักเรียนก็ทำข้อสอบในส่วนที่เหลือ ตอนนี้แหละสำคัญ นักเรียนมักจะใช้วิธีเทียบเคียงกับที่อาจารย์เฉลย อาจจะมีบ้างที่ใช้เคล็ดวิชาจากอาจารย์มาหาคำตอบได้ ด้วยแนวข้อสอบที่มากมาย ด้วยเวลาที่อยู่กับการกวดวิชาทุกวันไม่เว้นเสาร์อาทิตย์ ทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะทำความเข้าใจในตัวแก่นวิชา ทำให้ไม่มีความรู้ในวิชานั้น (ซึ่งหมายรวมถึงการไม่มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเองที่มากพอ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการที่คนเราจะต้องใช้แก้ไขความไม่รู้ที่มีอยู่มากมาย และต้องเผชิญตลอดชีวิต) ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าข้อสอบภาคเรียนที่ผ่านมา ไม่ตรงกับแนวข้อสอบที่นักเรียนเกือบทั้งห้อง ต่างหมกมุ่นอยู่ และก็เนื่องจากเป็นภาคสุดท้ายที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนยิ่งจมอยู่กับแนวข้อสอบที่ทั้งเพิ่มระดับความยากขึ้นไปอีก ปริมาณข้อสอบก็มากขึ้นด้วย ก็อาจเป็นสาเหตุที่นักเรียนกวดวิชาไม่สามารถสอบได้ที่ 1 ของห้อง
- อาจมีความเป็นไปได้ว่านักเรียนสอบได้ที่ 1 เป็นการบังเอิญ ซึ่งที่จริงแล้วการได้ที่ 1 เป็นเพียงการบอกว่าไม่ต้องกวดวิชาก็มีโอกาสทำสอบชนะนักเรียนที่กวดวิชาได้ แต่ที่สำคัญคือนักเรียนที่ไม่กวดวิชาสามารถเรียนอยู่ในระดับดีได้
- เรื่องนี้ไม่ต้องการเปิดเผยว่าเป็นโรงเรียนใดในประเทศไทย เป็นโรงเรียนที่มาตรฐานสูงหรือต่ำ เนื่องจากไม่มีความเกี่ยวข้องกับผลที่เกิดขึ้น เพราะนักเรียนที่นำมาเปรียบเทียบเป็นนักเรียนห้องเดียวกัน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ต่างกันแต่มีนักเรียนคนเดียวที่ไม่กวดวิชา
- การเรียนพิเศษ ก็ควรจะมีความเป็นพิเศษ อาจมีความจำเป็น หากมีความต้องการให้นักเรียนเข้าแข่งขันโอลิมปิค เป็นต้น ซึ่งควรจะเป็นการเพิ่มสมรรถนะของนักเรียน จะเป็นการมุ่งมั่นให้นักเรียนมีความรู้อย่างจริงจัง มิใช่มุ่งหวังเพียงให้ทำข้อสอบได้ หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นสำคัญ
- เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อาจสรุปผลได้ว่ามีความน่าเชื่อ หรือมีความเป็นไปได้เพียงใด แต่ก็เคยได้ยินว่าบางครอบครัวไม่ส่งลูกเรียนในระบบโรงเรียนด้วยซ้ำ พ่อแม่สอนเอง บ้านคือโรงเรียน และก็เข้าสอบระดับประโยค ได้มาตรฐานเดียวกับการเรียนในระบบ
จึงอยากจะย้ำว่า หากไม่เหตุจำเป็นด้วยเหตุผลอื่น ถ้าพ่อแม่จะเป็นครูของลูก และก็เชื่อว่าถ้าอาจารย์ที่เก่งกลับเข้าไปตั้งใจ มุ่งมั่นสอนนักเรียนในโรงเรียน และรับเงินเดือนจากรัฐให้สมกับความตั้งใจของอาจารย์ พ่อแม่ลูก ครูบาอาจารย์ ต่างจะทำงานเท่าที่ต้องทำ มีเวลาหยุดพักผ่อน หาความสงบสุข ความเจริญทางจิตใจก็จะดีไปด้วย
8 พ.ค. 2552
วันนี้อยากจะเล่าเรื่องต่ออีกครั้งหนึ่ง เป็นตอนจบสำหรับเรื่องนี้ ในที่สุด นักเรียนที่ไม่ได้เรียนกวดวิชาตั้งแต่อนุบาล จนจบ ม.6 ก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัย และได้คะแนนสูงสุดในสาขาวิชาของคณะ ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสาขาที่ตัวเองตั้งใจ และมุ่งมั่นมาแต่แรก แม้ว่าเด็กคนนี้ยังต้องเล่าเรียนต่อไป หน้าที่ยังไม่จบ แต่ผู้เขียนไม่ค่อยได้ยินว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยมีการเรียนกวดวิชากัน และในวัยนี้เด็กคนนี้ควรจะต้องใช้วิธีเรียนรู้และค้นคว้าด้วยตัวเอง พ่อแม่ คงไม่ต้องเรียนไปกับลูกเพราะเป็นความรู้เฉพาะทาง พ่อแม่จบหลักสูตร ม.ปลายในปัจจุบันแล้วก็พอแล้ว แต่จะยังคงเป็นผู้สนับสนุนลูกต่อไปตามหน้าที่ของพ่อและแม่ ดังนั้นก็ขอจบเรื่องนี้ได้แล้ว
เล่าเรื่องมายาวมาก หากไม่มีบทสรุป ก็คงจะไม่สมบูรณ์ เหมือนเล่านิทานแล้วไม่จบด้วย "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....." แต่บทสรุปนี้ไม่ใช่คำสอน แต่เป็นคำเสนอ หรือข้อเสนอ ที่อยากจะเปิดเผยเพื่ออาจเป็นประโยชน์ได้บ้าง
1. การเรียนในระบบ วันละไม่ควรจะเกิน 5-6 ก็คงจะพอเพียง ที่จะสร้างให้เด็กมีภูมิรู้ และมีอาวุธเป็นเครื่องสำหรับการเรียนรู้ ทำให้อยู่ในโลกอย่างมีความรู้ความเข้าใจได้
2. หากต้องการให้นักเรียนมีศักยภาพสูงเท่าใด เสนอให้ปรับปรุงสองส่วน ส่วนแรก หลักสูตรต้องปรับปรุง เพราะหลักสูตรก็คือกรอบความรู้ที่จะให้นักเรียน อีกส่วนหนึ่งคือครูบาอาจารย์บางท่าน ต้องเพิ่มความเป็นครูให้สูงขึ้น อย่าให้เข้าใจได้ว่าเป็นผู้รับจ้างสอนหนังสือ
3. สุดท้ายขอเสนอถึงครูบาอาจารย์ที่สอนหนังสือนอกระบบ เพราะท่านก็มีภูมิรู้และมีฝีมือ นักเรียนพากันไปหาท่าน ขอให้เข้ามาสู่ระบบ กลับมาหานักเรียน ท่านจะช่วยนักเรียนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันก็เสนอต่อภาครัฐ ได้ให้สนับสนุนอย่างจริงจัง การที่รัฐให้เรียนฟรีในระดับประโยคประถม และประโยคมัธยม ซึ่งเป็นการให้โอกาส เกิดผลผลิตทางด้านปริมาณ ก็นับว่าดีอยู่แล้ว แต่รัฐก็จะต้องให้การศึกษาที่มีคุณภาพด้วย มิฉนั้นเราจะมีเพียงสถิติที่ประชากรเกือบทั้งประเทศได้รับการศึกษา เพียงเท่านั้นเอง แต่เราควรจะมีประชากรที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งสำคัญกว่า เพราะฉนั้นไหน ๆ เมื่อรัฐเห็นความสำคัญของการศึกษา ก็ขอให้เพิ่มคุณภาพในการศึกษาอีกสักนิด ง่าย ๆ โดยให้การส่งเสริมข้าราชการครู ยกระดับ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้สมฐานะในความเป็นครู ผู้มีจรรยาบรรณ ผู้ควรค่าที่จะเป็นปูชนียบุคคล ด้วยการดูแลสวัสดิการ และที่สำคัญ ที่เป็นรูปธรรม คือการเพิ่มเงินเดือน ค่าตอบแทนให้เพียงพอ ที่จะให้ครูที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว มีความสุขในความเป็นครู และยังเป็นแรงจูงใจให้ครูนอกระบบเข้ามาสู่ระบบ ครูต้องไม่อัตคัตขาดแคลน ครูต้องมีความสุข เพื่อจะได้มีกำลังกาย กำลังใจ แผ่เมตตาต่อไปยังลูกศิษย์ ให้สิ่งดี ๆ แก่ลูกศิษย์ ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์
หากทำได้ เชื่อว่าคนไทยน่าจะมีความสุข ดัชนีความสุขประเทศไทยคงจะสูงขึ้น และจะเกิดผลต่อเนื่องในทางที่ดี ๆ ได้อีกมากมาย