มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

Entertainment Talk : อัมพร จักกะพาก กับงานดนตรีเพื่อการศึกษา


Entertainment Talk : อัมพร จักกะพาก กับงานดนตรีเพื่อการศึกษา
28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 10:00:00

ชื่อของ อัมพร จักกะพาก เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงดนตรีบ้านเรา ทั้งในฐานะคอลัมนิสต์รุ่นอาวุโส เจ้าของนามปากกา "สีลม" และในฐานะคนรักดนตรีตัวจริง ที่ได้พยายามผลักดันให้เกิดการผสมผสานดนตรีไทยในแนวทางใหม่ ตั้งแต่การเกิดขึ้นของวงกังสดาล วงบอยไทย เรื่อยมาจนถึงวงยกรบ

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ปัจจุบัน ภารกิจเบื้องหน้าที่ อัมพร ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถของเธออย่างเต็มที่ คือกิจกรรมดนตรีเพื่อการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ เย็นวันเสาร์ ณ อุทยานการเรียนรู้ อันเป็นกิจกรรมที่นำเสนอมุมมองใหม่ต่อเสียงดนตรี เพราะไม่ได้มีเพียงการแสดงอันฉาบฉวยอย่างที่ปรากฏในการแสดงดนตรีโดยทั่วไปเท่านั้น แต่กิจกรรมนี้ เป็นการหลอมรวมสาระและบันเทิงเข้าไว้ด้วยกันอย่างมีรสนิยม นี่คือบทสนทนาถึงความเป็นมาและเป็นไปของกิจกรรมที่คนรักดนตรีทั้งหลายควรมีโอกาสไปสัมผัส

คุณเกี่ยวข้องกับการจัดงาน "ดนตรีเพื่อการศึกษา" ได้อย่างไร

ดิฉันได้รับการติดต่อจาก ทีเค พาร์ค มาตั้งแต่ปี 2549 อย่างที่หลายคนทราบว่า ที่นี่มีห้องสมุดดนตรี พอมีข้อมูลเรียบร้อยแล้ว เขาคิดว่าน่าจะมีกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลในห้องสมุด เช่น คุณฟังดนตรีไทย กดคอมพิวเตอร์ออกมาเป็นรูประนาด แต่ก็น่าจะมีการแสดงสดของระนาดจริงๆ ด้วย ทางทีเค เลยติดต่อดิฉันให้มาทำงานตรงนี้ ในฐานะทำงานด้านดนตรีที่ออกไปในทางศิลปวัฒนธรรมมานาน ซึ่งไม่ใช่การทำงานในลักษณะของดนตรีเชิงพาณิชย์ รวมทั้งดิฉันเป็นคอลัมนิสต์ดนตรีด้วย

โดยโจทย์ คือจัดรายการแสดงทุกวันเสาร์ มีวิทยากร มีการแสดงสด มีทั้งสาระและบันเทิง ไม่ใช่คอนเสิร์ตโดยทั่วไป แต่ให้ผู้ชมได้เรียนรู้จากศิลปินโดยตรง ทุกรูปแบบ ไม่จำกัดแนว อยากรู้เรื่องฮิพฮอพก็ได้ บลูส์ก็ได้ แจ๊สก็ได้ ดนตรีไทยก็ได้

คุณวางทิศทางของโปรแกรมอย่างไร

ตอนที่จัดใหม่ๆ มันเป็นเรื่องที่จัดยากมาก เราต้องเอาศิลปินที่มีคนรู้จัก และต้องพูดคุยได้ด้วย บางคนเขามาพูดไม่ได้ หรือไม่อยากพูด (หัวเราะ) และต้องมีกลุ่มคนฟังพอสมควร ทำอย่างไรที่เขายินดีจะแสดงออกบนเวทีนี้

ต้องยอมรับว่า ทีเค พาร์ค ยังเป็นที่รู้จักไม่มากนัก เราต้องโน้มน้าวศิลปินให้เขาเข้าใจ ดิฉันคงไม่พูดเกินความจริงนักว่า ช่วงแรกนี่ต้องใช้เครดิตส่วนตัว พอมาถึงทุกคนก็จะบอกว่า ดีมาก ไม่เคยรู้มาก่อนเลย แล้วสถานที่ก็เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมจำพวกนี้มาก

จริงๆ ที่นี่จะเป็น information เป็นเหมือนฮาร์ดดิสก์ มีการบันทึกไว้อีก 40-50 ปีต่อจากนี้ ก็จะทำให้คนรู้ว่า ครั้งหนึ่งเคยมีวงแฮมเมอร์นะ วงนั้นวงนี้นะ อย่างอาจารย์ทัศนา นาควัชระ ประทับใจมาก เพราะนักดนตรีคลาสสิกไม่ค่อยได้พูด หรืออย่างวงลาบานูน แฟนเพลงก็ขึ้นมากอดคอร้องบนเวที หรือ นภ พรชำนิ ให้ผู้ชมขึ้นมาเลย มาร้องเพลงสไตล์นภ

กิจกรรมที่จัดขึ้น จึงไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว แต่มี interact ด้วย ดังนั้น งานของเราจึงมีทั้งการให้ข้อมูล ได้ฟัง และมีส่วนร่วม

แบ่งเนื้อหาอย่างไร

ก็มีการปรับรูปแบบไปเรื่อยๆ มีพูดคุย แต่พอมีพูดคุย คนก็มักจะลุก เลยได้ข้อสรุปว่า คนต้องการดูดนตรีโดยต่อเนื่อง ดังนั้น จึงมีลักษณะของการคุยไปด้วย เล่นไปด้วย โดยไม่มีการเบรกแล้วคุย อย่างวงอีทีซี โซ่-แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ (มือคีย์บอร์ด) จะเล่นไป แล้วก็ตั้งคำถามผู้ชมว่า เบสมีวิธีการเล่นแบบไหนบ้าง มีมือเบสในห้องนี้บ้างมั้ย จะเป็นการสาธิตมากกว่า

แต่ดิฉันจะบอกว่า งานนี้ไม่ใช่มาเพื่อสอนโดยตรง เพราะผู้ชมไม่ใช่นักเรียนดนตรี แต่เป็นการให้สาระความรู้ทั่วๆ ไปเกี่ยวกับดนตรีมากกว่า อย่างทีโบนมาก็สอนเต้นเร็กเก้ เป็นต้น

ความยากของการจัดงาน ?

ความยากที่สุดคือทำอย่างไรให้ศิลปินมาร่วมงาน ทำอย่างไรจะโน้มน้าวให้เห็นว่า เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า เพราะเขามักถามว่า audience คือใคร เพราะตอบยากมาก เพราะทุกกลุ่มทุกอาทิตย์ ไม่ซ้ำกันเลย อีกทั้งมันเป็นกิจกรรมฟรี ไม่มีการซื้อบัตรที่จะเรารู้ล่วงหน้า ดังนั้น ศิลปินจึงมาแบบไม่รู้ว่า audience คือใคร ก็เตรียมตัวลำบากเหมือนกัน บางคนก็ปรับกันตรงนั้นเลย

วัดความสำเร็จจากอะไร

ตอนแรกๆ ไม่ได้รับโจทย์ว่าจะต้องเอาคนที่มีชื่อเสียงมา แล้วในความคิดของคนจัดคือไม่ต้องการจัดคนที่ดัง พวกศิลปินป๊อปจะไปดูที่ไหนก็ได้ เราต้องการคนดนตรีตัวจริง แต่ถ้าเป็นตัวจริงด้วย ป๊อปด้วย ก็จะเป็นด้านบวกของกิจกรรม อย่าง น้อย วงพรู หรือ นภ พรชำนิ แต่ก็ยอมรับว่า บางคนบางแนว ซึ่งไม่มีกลุ่มเลย คนดูอาจจะน้อย

เมื่อเดือนที่แล้วเราจัดธีม แบ็คทูสกูล เรารู้ว่า อีทีซี มีคนมาแน่นอน แทตทูคัลเลอร์ มีคนแน่นอน แต่วง 25 สตางค์รู้สึกว่าคนโทรเข้ามาน้อย แต่ก็อยากให้ศิลปินแบบนี้มา เพราะเป็นฮิพฮอพพันธุ์ไทย เพื่อให้คนรู้จัก และได้บันทึกเก็บไว้

สังเกตว่าระยะหลัง รูปแบบการจัดงานจะมีธีมหรือคอนเซปต์ ?

แรกๆ มาใหม่ จะเป็นแบบวาไรตี้ ไม่ได้เป็นธีม แต่หลังๆ ปีที่เราประสบความสำเร็จคือเทศกาลร็อคแอนด์โรล มาจนถึงนีโอคลาสสิกร็อค ซึ่งได้ปรึกษากับคณะกรรมการทีเค เห็นว่า มีเนื้อหาต่อเนื่อง เช่น จะมีคนที่มา 5 สัปดาห์ติดต่อกัน จากยุคทศวรรษ 1960-70-80-90s หรืออย่างปีนี้ ที่เราทำ เรโทร มิวสิค เฟสติวัล เรารู้สึกว่า ถ้าเป็นธีมก็จะชัดเจน อย่างปีนี้มี แบ็คทูสกูล กรกฎาคม จะมี แจ๊ส เฟสติวัล ส่วนเดือนกันยายนจะกลับมาเป็น ร็อค เฟสติวัล ปีที่ 2

ในส่วนของดนตรีแจ๊สเป็นอย่างไร

ถือว่าประสบความสำเร็จทุกรายการนะ อันเดียวที่มีคนน้อยคือ เจอาร์พี ลิตเติล บิ๊กแบนด์ เพราะระเบิดลงพอดี ไม่มีคนเลย แต่อย่างปีที่แล้วที่ประสบความสำเร็จ อาจารย์โปรด (ธนภัทร มัธยมจันทร์) หรือบลูส์ที่จัดร่วมกับ ธวัชชัย บลูส์ แบนด์ ซึ่งคนมากันเยอะมาก หรืออาจารย์เด่น อยู่ประเสริฐ เป็นต้น เมื่อได้จัดแจ๊สมาหลายรายการ พบว่ารายการแจ๊สมีกลุ่มคนติดตามพอสมควร

เราจึงคิดว่าเทศกาลดนตรีแจ๊สที่สำคัญในบ้านเรา ก็มีหัวหินช่วงกลางปี และปลายปีที่สนามเสือป่า รวมทั้งมี แจ๊ส รอเยล แล้ว แต่เราอยากจะจัดที่นี่บ้าง เลยคิดขึ้นมาเป็น ทีเค ทีไทม์ แจ๊ส เฟสติวัล เอาเป็นว่าดนตรีที่ไม่ต้องกินเบียร์เป็นไง ฟังได้มั้ย ฟังขณะที่คุณไม่เมาเลย เพราะเห็นว่าทางสื่อพูดในทำนองทำไมแจ๊สต้องไปผูกกับสีเขียวสีเหลือง ทำไมต้องเมาด้วย

เราคิดว่าเดือนกรกฎาคมนี้เหมาะที่สุด เราไม่ทำเพื่อการค้า และไม่ได้หวังคนเยอะ แต่เห็นว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่เราอยากจะจัด และคิดว่าถ้าเอามารวมเป็นซีรีส์ทั้งเดือนน่าจะเวิร์ค

เสาร์แรก เสาร์ที่ 7 (ก.ค.) จะเริ่มต้นด้วยวงแม้นศรี เป็นวงคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และทางวงให้ความร่วมมือดีมาก เสาร์ถัดมา เป็นสัปดาห์ของ อันโตนิโอ คาร์ลอส โจบิม จะเจาะลึกเรื่องราวของโจบิมเลย ถือเป็นบิดาแห่งบอสซาโนวา โดยเลือกคุณปรีชา แสงจันทร์ เป็นวิทยากร เพราะเขาค้นคว้ามาก เขียนเรื่อง The Girtl From Ipanema ได้เป็น 10 ตอน โดยมี คุณพิว โชติรส มาเป็นศิลปิน

สัปดาห์ถัดไปเป็นริธึ่มแอนด์บลูส์ ทำให้นึกถึง แฮงก์-โอสถ ประยูรเวช มาในนาม คูล แอนด์ เดอะ แฮงก์ (Cool & the Hank) ซึ่งจะมาในเพลงของ เจมส์ บราวน์ เพลงยุคโมทาวน์ โดยเป็นการตั้งทีมขึ้นมาใหม่

เสาร์สุดท้าย (28 ก.ค.) เนื่องจากว่าเราได้ร่วมงานกันมากับหนังสือ JazzLife เมื่อคราวที่แล้ว ทริบิวท์ให้แก่ แฟรงค์ สินาตา คราวนี้ เราจะร่วมงานกันอีกครั้ง กับการทริบิวท์ให้ บิลล์ อีแวนส์ โดยมีนักเปียโนอย่าง คม วงษ์สวัสดิ์ ซึ่งเคยคว้ารางวัลจากการแข่งขันแจ๊สชิงถ้วยพระราชทานฯ มาถึง 2 ปีติดต่อกัน กับวงดนตรีของเขา และนักร้องชายตัวแทนของ โทนี เบ็นเน็ตต์ มาถ่ายทอดตัวอย่างผลงานของ บิลล์ อีแวนส์ ซึ่งเป็นนักเปียโนที่มีความสำคัญที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์แจ๊ส

…………………………………………………….

หมายเหตุ : กิจกรรมดนตรีเพื่อการศึกษาของอุทยานการเรียนรู้ (ทีเค พาร์ค) มีขึ้นทุกเสาร์ ตั้งแต่เวลา 16.30-18.00 น. ณ ทีเค พาร์ค ชั้น 8 เซ็นทรัลเวิลด์พลาซา เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม โดยสมาชิกรายปีทำบัตร 200 บาทใช้บริการฟรี, บุคคลทั่วไป เสียค่าบัตรผ่าน 20 บาทต่อวัน

มโนมัย มโนภาพ

ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/28/WW06_0616_news.php?newsid=81286<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 108024เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท