การสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง


การสนทนากลุ่ม การสัมกษณ์กลุ่ม

   การวิจัยส่วนใหญ่มักจะใช้การวิจัยเชิงสำรวจ  มีการดำเนินการกำนหดกรอบการวิจัย  ดำเนินการสร้างเครื่องมือ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล  ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล  และเขียนรายงาน ยังมีวิธีวิทยากการวิจัยอีกค่ายหนึ่ง เรียกว่าการวิจัยเชิงคุณภาพมีการใช้เทคนิดหลายวิธี  เทคนิคหนึ่งท่ผู้วิจัยนำมาใช้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง หรือ การสนทนากลุ่ม ซึ่งมีรายละเอียด  ดังนี้

ความหมายของการสัมภาษณ์กลุ่ม


       Focus Group Interview เป็นเทคนิกการเก็บข้อมูลเฃิงคุณภาพรูปแบบหนึ่งมีการเรียกชื่อที่แตกต่างกัน เช่น “Focus Group” “Focus Group Interview” “Focus depth Interview” “Focus Interview” “Focus Group Discussion” ในภาษาไทยมีอยู่หลายคำ เช่น “การจัดกลุ่มสนทนา” (นภาภรณ์ หะวานนท์, 2535) “การจัดสนทนากลุ่ม” (วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ และ โยธินแสวงดี, 2536) “การสนทนากลุ่ม” (สุภางค์จันทวานิช, 2540) “การสัมภาษณ์กลุ่ม” (นิศา ชูโต, 2540) ส่วนการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้คำว่า “การสัมภาษณ์กลุ่ม” เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทในเรื่องที่วิจัย มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
      

       นภาภรณ์ หะวานนท์ (2535) กล่าวไว้ว่า การจัดสนทนาเป็นวิธีการศึกษาที่เชิญผู้ร่วมสนทนาจำนวนไม่มากนัก (ประมาณ 6-12 คน) มาสนทนาในประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้วิจัยสนใจจะศึกษา ในกลุ่มสนทนาจะมีผู้ดำเนินการสนทนา (moderator) เป็นผู้จุดประเด็นคำถามต่าง ๆ อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
 วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ และ โยธินแสวงดี (2536) ให้ความหมายคำว่าการจัดสนทนากลุ่ม คือ การรวบรวมข้อมูลจากการนั่งสนทนากับผู้ให้ข้อมูล (Key informants) เป็นกลุ่ม ซึ่งผู้ร่วมสนทนากลุ่มนี้จะได้มาจากการเลือกสรรตามหลักเกณฑ์ที่นักวิจัยกำหนดไว้ว่า จะเป็นผู้ที่สามารถให้คำตอบตรงประเด็นและสามารถตอบวัตถุประสงค์ที่สนใจศึกษามากที่สุด


       สุภางค์ จันทวานิช (2540) กล่าวไว้ว่า การสนทนากลุ่ม คือ การสนทนาเป็นกลุ่มโดยที่คนเดียวนำการสนทนากลุ่มดำเนินต่อไป ผู้สัมภาษณ์ป้อนคำถามคุมไม่ให้เรื่องออกนอกทาง
 นิศา ชูโต (2540) กล่าวไว้ว่า การสัมภาษณ์กลุ่ม หมายถึง การสัมภาษณ์ที่กระทำในกลุ่มเล็กประมาณ 6-8 คน เกี่ยวกับเรื่องใดโดยเฉพาะ ใช้เวลาสั้น ๆ ประมาณ  -2 ชั่วโมง


        Popham (1993)ให้ความหมายจากการสัมภาษณ์กลุ่ม หมายถึง การหาข้อมูลเชิงคุณภาพจากบุคคลที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จำนวน 8-12 คน โดยมีผู้ดำเนินการสัมภาษณ์กลุ่มแบบมี   ปฏิสัมพันธ์ร่วมกับกลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ร่วมกับผู้ให้สัมภาษณ์ ใช้เวลา 1 -2 ชั่วโมง


        Soriano (1995) กล่าวไว้ว่า การสัมภาษณ์กลุ่ม หมายถึง การรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วม (participants) ตั้งแต่ 8-10 คน หรือ บางครั้งก็แค่เพียง 5-7 คน ดำเนินการโดยผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ (moderator) หรือผู้อำนวยความสะดวก (fiacilitator) โดยอาศัย ปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มเพื่อได้ข้อมูลที่ต้องการ ใช้เวลาตั้งแต่ 40 นาที ถึง 3 ชั่วโมง


การใช้การสัมภาษณ์กลุ่มกับการประเมินผลทางการศึกษา


       Popham (1993) ได้นำการสัมภาษณ์กลุ่มมาใช้ในปัจจุบันด้วยวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อมาสนับสนุนการตัดสินใจ สำหรับงานวิจัยที่ไม่มีโครงสร้างก็จะใช้การสัมภาษณ์กลุ่มเจาาะจงเพื่อสร้างสมมุติฐานทั่วไป นักประเมินผลจะใช้การสัมภาษณ์กลุ่มเป็นการตัดสินใจในทางเลือก หรือใช้การสัมภาษณ์กลุ่มเพื่อหาความสอดคล้องของข้อมูลกับวิธีการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นต้น Popham ได้นำการสัมภาษณ์กลุ่มไปใช้ 4 รูปแบบ (four difference function) ดังนี้


1) การประเมินความต้องการจำเป็น (Needs Asscessment) นักประเมินผลการศึกษานำไปใช้เป็นตัวตัดสินตามเป้าหมายทางการศึกษาโดยแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ปรารถนา (desired status) เช่น เป้าหมายของระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และสภาพปัจจุบัน (Current status) เช่น ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปัจจุบัน การสัมภาษณ์กลุ่มได้ความต้องการของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของโรงเรียน ได้แก่ ผู้ปกครอง ผู้บริหารธุรกิจ (business excutive) นักศึกษา หน่วยงานจากรัฐบาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงเรียน (type of stakeholder) รวมถึงความสนใจผลผลิตทางการศึกษาที่ออกมาหลากหลายอันเป็นผลทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จได้


2) การประเมินความก้าวหน้า (Formative Evaluation) เป็นการพยายามที่จะปรับปรุงโปรแกรมทางการศึกษาใหม่ อะไรเป็นวิธีที่ดีที่จะถูกนำมาปรับปรุงโปรแกรมการสัมภาษณ์กลุ่มกับนักศึกษาใหม่ อะไรเป็นวิธีที่ดีที่จะถูกนำมาปรับปรุงโปรแกรมการสัมภาษณ์กลุ่มกับนักศึกษาผู้ซึ่งเรียนรู้จากโปรแกรม การสัมภาษณ์กลุ่มไปยังนักศึกษาผู้ซึ่งได้รับประสบการณ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของโปรแกรมจะทราบผลที่เกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุอาจจะไม่ใช่เกิดจากความผิดพลาดที่เกี่ยวข้องกับครู

3) การประเมินผลสรุป (Summative Evaluation) การสัมภาษณ์กลุ่มสามารถที่จะใช้สรุปผลในการประเมินผลการศึกษา เช่น การตรวจสอบนักเรียนที่ผ่านโปรแกรม การสัมภาษณ์สามารถพบผลลัพธ์ของโปรแกรมซึ่งอาจเป็นทางด้านบวกหรือด้านลบ ผลกระทบจากโปรแกรมที่ดำเนินการไปแล้วสำเร็จหรือไม่สำเร็จ


4) ปรับปรุงเครื่องมือ (Instrument Refinement) การประเมินผลเครื่องมือเป็นเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะการประเมินผลการศึกษา ส่วนมากเครื่องมือการประเมินจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ เช่น ทักษะหรือทัศนคติของนักเรียนต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ การสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจงกับนักเรียนจะได้สารสนเทศมากมายที่เป็นข้อบกพร่องเพื่อนำมาปรับปรุงเครื่องมือของผู้พัฒนาเครื่องมือ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้สร้างเครื่องมือและผู้ให้ข้อมูล


 จุดเด่นและจุดด้อยของการสัมภาษณ์กลุ่ม


 Popham (1993) ได้กล่าวถึงจุดเด่นและจุดด้อยของการสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง มีดังนี้


 จุดเด่นของการสัมภาษณ์กลุ่ม


1) ผู้ให้สัมภาษณ์มีโอกาสเลือกตอบคำถามที่ตนรู้หรือต้องการตอบทำให้ผู้ให้สัมภาษณ์ลดความต้องกดดันในการตอบและมีเวลาคิดไตร่ตรองคำถามนั้น
2) คำตอบของผู้ให้สัมภาษณ์ในกลุ่มจะไปกระตุ้นความคิดของผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มคนอื่น ๆ ทำให้ได้ข้อมูลที่หลากหลายและเจาะลึก
3) ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์มีการตอบโต้กับผู้ให้สัมภาษณ์ได้ทันทีทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจน   และผู้ดำเนินการสัมภาษณ์สามารถสังเกตการตอบสนองของกลุ่มที่ไม่ใช่ทางด้านภาษา เช่น การยิ้ม หน้าตาบูดบึ้ง หัวเราะ กริยาท่าทางของผู้ให้สัมภาษณ์
4) เป็นวิธีการเก็บข้อมูลจากเด็กหรือผู้ไม่รู้หนังสือหรือไม่ได้รับการศึกษา
5) เป็นการได้ข้อมูลในระยะเวลาที่รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยเมื่อเทียบกับวิธีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งได้ข้อมูลเท่า ๆ กันและผลที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มนำเสนอเข้าใจได้ง่าย


 จุดด้อยของการสัมภาษณ์กลุ่ม


1) การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์จะปล่อยให้ผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มพูดตามความคิดเห็นของตน ซึ่งบางครั้งอาจไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย ทำให้สรุปและตีความได้ยาก
2) การวิเคราะห์ข้อมูลต้องใช้เวลามาก
3) ในผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่ม อาจมีสมาชิกภายในกลุ่มคนหนึ่งที่มีอำนาจมากกว่าคนอื่นๆ   เมื่อแสดงความคิดเห็นแล้วทำให้ผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มไม่กล้าแสดงความคิดเห็น (dorminate) ซึ่งจะทำให้ข้อมูลขาดความตรงและความน่าเชื่อถือ
4) ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์อาจมีอคติโดยรู้ตัวในการให้แนวทางในการตอบหรือคำถามนำ ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์เลือกตอบเฉพาะสิ่งที่เป็นลักษณะข้อมูลที่พึงประสงค์เท่านั้น

 องค์ประกอบของการสัมภาษณ์กลุ่ม


 Popham (1993) กล่าวไว้ว่านักประเมินผลการศึกษาและนักสังคมศาสตร์นิยมเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยที่จะใช้วิธีเชิงปริมาณและตามด้วยวิธีเชิงคุณภาพเป็นการเสริมข้อมูล วิธีการเชิงคุณภาพที่สำคัญ คือ การสัมภาษณ์กลุ่มให้ข้อมูลที่หลากหลายและเจาะลึกส่วนวิธีเชิงปริมาณจะได้ข้อมูลกว้าง ๆ ในเรื่องนั้น ๆ และเพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมดังกล่าวการสัมภาษณ์กลุ่มควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้


1) สิ่งแรกที่จะต้องทำในเรื่องของการสัมภาษณ์กลุ่ม คือ การกำหนดเรื่องที่จะต้องทำการศึกษา (วีรสิทธิ์ กองไตรย์ และโยธิน แสวงดี, 2536) การกำหนดหัวข้อเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องการข้อมูลประเภทความรู้สึกความคิดเห็นหรือวิสัยทัศน์ของบุคคลนั้น ๆ จะต้องเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถแสดงความรู้สึกความคิดเห็นให้อย่างอิสระและเต็มใจที่จะเปิดเผยจุดประสงค์และคำถามของการวิจัยต้องชัดเจนและมีลักษณะเฉพาะเจาะจง (นภาพร หะวานนท์, 2535)


2) การกำหนดประเด็นหรือตัวแปร หรือตัวบ่งชี้ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ทำการศึกษาเพื่อมา  สร้างเป็นแนวทางในการสัมภาษณ์กลุ่ม ซึ่งการกำหนดประเด็นหรือ     ตัวแปรนั้นก็ทำได้ โดยจำแนกแยกแยะมาจากวัตถุประสงค์ของการศึกษานั่นเอง วัตถุประสงค์ต้องการทราบอะไรก็กำหนดประเด็นหรือสมมุติฐานและตัวแปรออกมาแล้วนำมาสร้างเป็นแนวคำถามย่อย ๆ (วีรสิทธิ์ กองไตรย์ และโยธิน แสวงดี, 2536)


3) แนวคำถามหรือกรอบคำถามคือ แนวทางในการสัมภาษณ์กลุ่มได้จากการนำคำถามที่ร่างไว้มาเรียบเรียงเป็นข้อย่อย จัดลำดับหรือผูกเป็นเรื่องราวเพื่อนำการสนทนาให้เป็นขั้นตอนและจัดลำดับความคิดเป็นหมวดหรือหัวข้อใหญ่ เช่น หมวดคำถามเกี่ยวกับเรื่องอดีต และหมวดคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นต้น (วีรสิทธิ์ กองไตรย์ และโยธิน แสวงดี, 2536)
4) การคัดเลือกผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่ม ผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง จะต้องมีความรู้ความเข้าใจหรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่ศึกษา และผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มจะต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเรื่องที่ต้องการศึกษา Stewart และ Shamdasani (1991) กล่าวว่าจำนวนผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มแต่ละกลุ่มควรอยู่ระหว่าง 6-12 คน และเป็นกลุ่มที่มีความคล้ายคลึงกันด้วย เพราะผู้ดำเนินการสามารถที่จะควบคุมให้การสัมภาษณ์กลุ่มเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
5) บุคลากรในการสัมภาษณ์กลุ่มประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้  (วีรสิทธิ์ กองไตรย์ และโยธิน แสวงดี, 2536)
ก. ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ (moderator) เป็นผู้ถามคำถามและเป็นผู้นำตลอดการสัมภาษณ์กลุ่มให้เป็นไปตามแนวทางของหัวข้อการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนละเอียดที่สุดในเวลาที่กำหนด ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์จะต้องเป็นผู้รู้จักปัญหา รู้จักทฤษฎีและรู้จักวิธีการควบคุมประเด็นควบคุมการสัมภาษณ์กลุ่มเป็นอย่างดี ตลอดจนประเด็นหรือสมมุติฐานของงานที่ศึกษานั้น ๆ ในช่วงการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ดำเนินการสัมภาษณ์จะต้องคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับไปด้วยตลอดเวลา โดยพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลนั้นกับข้อมูลอื่น ๆ ที่ได้รับในการตอบมาก่อน เพราะคำถามที่ตั้งไว้นั้นเป็นเพียงคำถามกรอบเฉย ๆ การถามคำถามจริง ๆ วิธีการและการใช้คำพูดตลอดจนการแตกคำถามออกไปอีก เพื่อให้ผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มเข้าใจและตอบได้ตรงประเด็นจริง ๆ นั้น เป็นบทบาทและหน้าที่ที่สำคัญของผู้ดำเนินการสัมภาษณ์
ข. ผู้จดบันทึก (note taker) เป็นผู้ที่คอยจดบันทึกคำสัมภาษณ์ ผู้จดบันทึกจะทำหน้าที่จดทุกคำพูดที่จดทันตลอดจนการจดอากับกิริยาท่าทางของสมาชิกผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มด้วย เพราะการไม่พูดและการนั่งเฉย ๆ อาจไม่ใช่การไม่มีความเห็นเพราะแววตา ท่าทางก็อาจจะแสดงถึงความเห็นหรือคำตอบได้ การพยักหน้า การส่ายหน้าและสีหน้าก็เป็นการแสดงออกถึงคำตอบได้ ผู้จดบันทึกจะต้องจดบันทึกสิ่งเหล่านี้ด้วย ข้อบันทึกของผู้จดบันทึกนี้จะสามารถใช้อ่านเป็นข้อสรุปของการสัมภาษณ์กลุ่มในแต่ละครั้งได้ แล้วก็สามารถนำไปประกอบการถอดเทปข้อมูลด้วย เพื่อที่จะให้ทราบว่าเสียงที่ตอบคำถามนั้นเป็นเสียงตอบของใครบ้าง หรือโต้แย้งกันว่าอย่างไรนอกจากนี้ผู้จดบันทึกยังมีหน้าที่คอยสะกิด เตือน หรือบอกผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ในกรณีที่ผู้ดำเนินการลืมถามหรือข้ามคำถาม และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง   คือ ผู้จดบันทึกจะต้องเขียนผังการนั่งสัมภาษณ์กลุ่มไว้ให้ผู้ดำเนินการด้วยเพราะจะช่วยให้ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์ทราบว่าในผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มมีใครบ้าง ชื่ออะไร นั่งอยู่ตรงไหน ผู้ดำเนินการสัมภาษณ์จะได้เรียกชื่อผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจงได้ถูก และอีกแผ่นหนึ่งก็เขียนไว้ที่ตนเองจะได้ทราบว่าใครนั่งตรงไหน จะช่วยให้จดบันทึกได้ง่ายขึ้น
ค. เจ้าหน้าที่บริการทั่วไป (Provider)  เป็นบุคคลที่คอยเอื้ออำนวยและให้ความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่ม เจ้าหน้าที่บริการทั่วไปมีหน้าที่คอยบริการน้ำดื่ม ขนม บันทึกเทป เปลี่ยนเทป ตลอดจนการคอยกันไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องในการสัมภาษณ์กลุ่มเข้าไปเสนอความคิดเห็น หรือเข้าไปรบกวนสมาธิของผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มเจาะจง
6) อุปกรณ์ในการรวบรวมข้อมูล    ในการสัมภาษณ์กลุ่มอุปกรณ์ในการรวบรวมข้อมูล คือเทปบันทึกเสียง เพราะในการสัมภาษณ์กลุ่มนั้นจะมีการถกประเด็น ปัญหาการขัดแย้ง เป็นการแสดงความคิดสวนกันสวนกันมา หลายเสียงหลายความเห็น ดังนั้นจึงต้องมีการบันทึกเสียงเอาไว้ เพราะคำตอบที่เป็นกระแสโต้แย้งหรือการประเด็นกันด้วยเหตุผล และการแสดงความสอดคล้องเห็นด้วย สิ่งนี้แหละเป็นหัวใจของการสัมภาษณ์กลุ่ม เทปบันทึกเสียงจะเป็นอุปกรณ์บันทึกข้อมูลที่ดีที่สุดที่สามารถเก็บเหตุผล รายละเอียด และข้อคำตอบได้ละเอียดที่สุด คำตอบที่เกิดจากการถกและแลกเปลี่ยนประเด็นกันมาก ๆ มีการแสดงความคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นกันมาก ๆ   เหล่านี้จะเป็นรายละเอียดที่จำเป็นที่สุดในการวิเคราะห์ข้อมูลนั่นเองและการตีความต้องพิจารณาละเอียดลงไปถึงเหตุผลที่ถูกโต้แย้งหรือเสนอความเห็นที่สอดคล้องเหล่านี้ จะช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีที่สุด ละเอียดที่สุดในการจัดการสัมภาษณ์กลุ่มควรใช้เทปบันทึกเสียง 2 เครื่อง บันทึกข้อมูลเหลื่อมล้ำกันประมาณ 5 นาที เพื่อที่จะได้บันทึกข้อมูลส่วนที่เสียไปในระหว่างการเปลี่ยนเทปและเป็นประโยชน์ในการป้องกันการที่ข้อมูลบันทึกไม่ติดในเทปเครื่องใดเครื่องหนึ่ง นอกจากนี้การมีตลับเทปบันทึกข้อมูล 2 ชุดนี้ ก็เพื่อกันหายและใช้แบ่งกันฟังได้ในกรณีมีผู้ร่วมวิจัยหลายคน

7) อุปกรณ์เสริมการสัมภาษณ์ (วีรสิทธิ์  กองไตรย์ และโยธิน แสวงดี, 2536) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การสัมภาษณ์กลุ่มดำเนินการไปด้วยบรรยากาศราบรื่นและดูเป็นธรรมชาติไม่เคร่งเครียดสร้างบรรยากาศให้เป็น “การนั่งจับเข่าคุยกัน” อุปกรณ์ที่จะช่วยเสริมการสัมภาษณ์กลุ่มให้ดูเป็นธรรมชาติ ได้แก่ น้ำดื่ม ขนม บุหรี่ ของขบเคี้ยวเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจจะรวมถึงรูปภาพ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มได้เข้าใจเรื่องหรือประเด็นที่เราสนใจจะถามมากยิ่งขึ้น
8) สถานที่ที่จะจัดการสัมภาษณ์กลุ่ม (Morgan, 1993) ควรมีการกำหนดให้แน่นอนเป็นสถานที่ที่ผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี บรรยากาศเงียบสงบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีเสียงรบกวน ไม่เป็นสถานที่ที่ครอบงำความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มทำให้ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น สถานที่ควรทำให้ผู้ร่วมสัมภาษณ์กลุ่มทุกคนสบายใจที่จะพูดและแสดงความคิดเห็นหรือทัศนวิสัยของตนเองออกมาได้อย่างปลอดภัย
9) ของกำนัลหรือของที่ระลึก (วีรสิทธิ์ กองไตรย์ และโยธิน แสวงดี, 2536) มอบไว้ก่อนจากกันให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์กลุ่มที่ได้สละเวลาอันมีค่ายิ่งของเขามาร่วมกันสัมภาษณ์กลุ่ม มิใช่เป็นค่าจ้างแต่มอบให้ระลึกถึงกันว่าเราเคยมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหาด้วยกันเมื่อโอกาสหนึ่ง

   

หมายเลขบันทึก: 107866เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท