ทำขวัญนาค ตอนพิเศษ 6 (ลูกหลานชั้นหลังจะไม่รู้เรื่อง)


คนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องถามว่า “เขาทำขวัญนาคกันทำไม”

 

ทำขวัญนาค

ตอนพิเศษ 6

ลูกหลานชั้นหลัง จะไม่รู้เรื่อง 

        บางท่านบอกกับผมว่า ที่บ้านของเขาจัดงานบวชนาคมีคนมาทำขวัญด้วยนะ ดูแปลกดี  อีกท่านพูดว่า  ที่บ้านญาติของท่าน  มีการจัดงานบวชนาค  หมอทำขวัญมาสอน เจ้านาค คือผู้ที่จะบวช ได้ฟังแล้วซาบซึ้งใจถึงกับน้ำตาไหลร้องไห้กันไปเลย ต่างคนต่างความคิด ต่างจิตต่างใจกันครับ ส่วนผมอยู่กับประเพณีนี้มานาน ตั้งแต่จำความได้ก็มีพ่อคุณ หร่าย ไม่รู้โรย เป็นหมอทำขวัญ เวลาท่านจะไปทำขวัญนาคที่ไหน ก็เอาผมติดไปด้วย เมื่อผมโตขึ้น อายุประมาณ 10 ปี จำได้ว่า ได้เคยนำเอาบทร้องทำขวัญนาคของท่านมาท่อง และร้องตามแบบพ่อคุณ น่าเสียดายที่ท่านมาเสียชีวิตไปตั้งแต่ผมเรียนอยู่ชั้น ป.4  

         จึงทำให้ต้องขาดตอนในการสานต่อเรื่องทำขวัญนาคไป ต่อมาอีกหลายปีจนพ่อคุณวัน มีชนะ ท่านเป็นพี่ชายของแม่คุณ ถนอม เกิดวัน (คุณยายของผม) รวบรวมหลานเหลนหลายคนไปฝึกหัดทำพิธีทำขวัญนาคต่อจากท่าน จึงทำให้ผมได้รับมรดกภูมิปัญญาด้านนี้โดยตรงมาจากเจ้าของที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านโดยแท้  เมื่อครั้งที่พ่อคุณวันยังมีชีวิตอยู่ พ่อคุณทำงานรับใช้สังคมหลายด้าน  ได้แก่ เป็นมรรคทายก  เป็นสับปะเหร่อ  เป็นหมอทำขวัญ  เป็นหมอพ่น เป็นหมอยา เป็นหมอเส้นผี เป็นนักวาดภาพ เป็นนักแกะสลัก ตัด เจาะกระดาษสี เป็นช่างแทกหยวก ฯลฯ ในเรื่องของการทำขวัญนาค พ่อคุณเป็นต้นแบบที่อยู่ในหัวใจของผม 

ความสำคัญแห่งการทำขวัญนาค  

         การทำขวัญนาค เป็นการทำพิธี ที่มีแบบแผนมาช้านานนับร้อยปี เป็นพิธีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะพิธีเชิญขวัญ เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการทำขวัญนาค โดยหมอทำขวัญจะนำกล้วยหวีงามมาวางไว้ที่มือของเจ้านาค โดยให้นาคถือกล้วย (แทนขวัญ) เอาไว้ ต่อจากนั้นหมอขวัญก็จะร้องทำนองเสนาะ ขึ้นต้นบทร้องว่า  ศรี ศรี วันนี้ วันดี เป็นศรีพญาวัน จะขอเรียกมิ่งอันเชิญ...ขวัญพ่อ เป็นหน่อเนื้อ มุนีนารถ  ขวัญเจ้าเอ๊ย.. จงมาอยู่สุขไสยาสน์ ให้ยาวยื่น  ขวัญของพ่ออย่าพะวงหลงใคร ไปเป็นอื่นเที่ยวซอกซอนในไพรสี พุ่มพงพี พิภพและภัยพาล  แดนดงกันดานดาษดา  ขวัญเจ้าเอ๊ย.. มาเถิดหนาอย่ามัวหมอง  เชิญมาชมบายศรีทองกรองด้วยแก้ว  งามประเสริฐเลิศแล้ว ล้วนสลักเสลาด้วยแก้วเก่าประการ สร้อยสนสังวาล แหวนนพรัตน์  ผ้าโขมพัสตร์ที่เลิศแล้ว ด้วยลายทอง..ขวัญเจ้าเอ๊ย.. หมอขวัญจะว่าไปจนจบบทเรียกขวัญ  

            

        ต่อจากนั้นหมอขวัญก็จะแยกร้องเป็นทำนองเพลงไทยเดิม ร้องส่งมีดนตรีรับ เป็นเพลงไพเราะ ทำนองเชิญพระขวัญ ทำนองขวัญเจ้าเอย เป็นการเพิ่มเติมสุดแล้วแต่ทางที่หมอขวัญถนัด แต่ก็จะอยู่ในขอบข่ายของการเชิญขวัญ (ขวัญที่อยู่บนหัวคน ให้กลับมาอยู่ดังเดิม) หรือบางทีก็แยกไปร้องทำนอง รานิเกลิง เรียกขวัญเสียก็มี (ก็น่าฟังไปอีกแบบหนึ่ง)   

        ภาพสำคัญตอนนี้ก็คือ บิดา มารดาของเจ้านาค จะเข้ามานั่งเคียงข้างนาค มือของท่านจะวางไว้ที่แผ่นหลังและลูบเบา ๆ เมื่อตอนที่หมอเขาร้องว่า ขวัญเจ้าเอ๊ย... ถ้าเป็นสมัยก่อนสักหน่อย จะได้ยินเสียงคนรุ่นคุณยาย คุณย่า ทีทั้งมือของท่านก็ลูบหลังให้นาค (หลานของท่าน) ปากก็พูดว่า ขวัญเอ๊ยขวัญมา มาอยู่กับเนื้ออยู่กับตัวเถิดนะลูกนะ  

         และสิ่งที่สำคัญอีกตอนหนึ่งก็คือ ผู้เฒ่า ผู้แก่ ในท้องถิ่นโดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ของนาค ก็จะเข้ามาช่วยกันเอาด้ายผูกข้อมือให้ (บางท้องที่ก็อาจจะไม่มี)  เมื่อเชิญขวัญจบลง ก็จะด้ายสายศีลนั่งล้อมกันเป็นวงกลม แล้วนาคก็นำพานธูปเทียนมากราบขอสมาอภัยญาติ ๆ ทั้งหมด บ้างก็ยกมือ กล่าวให้อภัยด้วยคำว่า อโหสิ บ้างก็ควักกระเป๋าหยิบเงินมาใส่ในพานนาคพร้อมทั้งกล่าวให้ศีลให้พร  

         สุขใดหรือจะเท่ากับที่ได้มีญาติผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมาอำนวยอวยพร เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในบวรพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว การที่ได้มาร่วมงานบวชพระ นับว่า เป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ยังความปลาบปลื้มใจมาสู่ตน และอิ่มบุญที่จะได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูกหลานตนเองได้เป็นญาติกับพระศาสนา ได้เป็นบุตรของพระตถาคต    

        จริงอยู่วัฒนธรรมประเพณีมีความเจริญมีความเปลี่ยนแปลง ดูอย่างการทำขวัญอื่น ๆ เหลือน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการทำขวัญเสา  ทำขวัญจุก  ทำขวัญคู่บ่าวสาว (เส้นผี) ทำขวัญเรือน ทำขวัญแม่โพสพ เหลืออยู่แต่พีทำขวัญนาค ที่ยังมีให้คนรุ่นหลังได้เห็น แต่ก็มีวิวัฒนาการไปมากเช่นกัน โดยที่มีความนิยมอีกอย่างหนึ่งเข้ามา คือ การนิมนต์พระสงฆ์ที่เคารพนับถือ มาเทศน์สอนนาคแทนการทำขวัญ และล่าสุด มีพระสงฆ์มาทำพิธีคล้าย ๆ กับหมอทำขวัญไปเสียเลย ซึ่งอันนี้ไม่ขอกล่าวต่อ  เนื่องจากพิธีทำขวัญนาคเป็นพิธีพราหมณ์ (ไม่เกี่ยวกับพระสงฆ์) หรือผมอาจจะเข้าใจผิด ต้องขออภัยด้วย

         ในส่วนลึก ๆ ผมอยากให้มองย้อนอดีต และเก็บสิ่งที่ดี  มีคุณค่าแก่แผ่นดินทุกด้าน ซึ่งถึงแม้ว่า บางอย่างอาจพลัดตกลงมาจากหัวใจผู้คนเป็นเวลานาน และบางอย่างอาจจมดินไปแล้วก็ตาม  เรามาร่วมกันระลึกถึงคุณค่าในความคิดของคนในยุคก่อนที่ท่านได้กำหนดให้มีพิธีการ ที่น่านับถือศรัทธา เก็บสิ่งที่ดี ๆ เหล่านั้น แล้วนำมาปฏิบัติเป็นการฟื้นฟูกันต่อไป  เท่าที่หัวใจจะทำได้ จะได้ยังมีองค์ประกอบที่ดี ที่สำคัญมาช่วยพยุงจิตใจของผู้คนในสังคม ให้มีความสงบสุข แลกเปลี่ยนโดยการสละความสุขส่วนตนไปทำหน้าที่สะสมบุญ บารมีที่เป็นความร่มเย็น เกิดความรู้ ปัญญา แสงสว่าง ก่อนที่จะกลับมามีครอบครัว และเป็นผู้นำที่ดีของลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป  คนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องมาถามว่า เขาทำขวัญนาคกันทำไม ครับ 

        ในตอนต่อไป ผมจะเล่าถึงเรื่องราวของหมอทำขวัญนาคกับพระเทศน์สอนนาค (รับฟังเสียงร้องและภาพได้ที่ไฟล์อัลบั้ม)

        ชำเลือง มณีวงษ์ / ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ราชมงคลสรรเสริญ ปี พ.ศ.2547  โทร. 084-976-3799  email : [email protected]

 

หมายเลขบันทึก: 107844เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท