Tacit Knowledge ความรู้ที่ซ่อนเร้นของพวกเราชาวเทคนิคพิจิตร


ขอเชิญพวกเราชาวเทคนิคพิจิตรนำเสนอความรู้ที่ซ่อนเร้นในตัวท่านเพื่อเผยแพร่ให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนครับ

สมาชิกในวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร พร้อมแล้วกับการนำเสนอความรู้ที่ซ่อนเร้น(Tacit Knowledge)เพื่อให้สังคมได้รับรู้และอาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ตยมพร้อมที่จะพบกับเขาเหล่านั้นได้ครับ......ธานินทร  บุญยะกาพิมพ์

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10722เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2005 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

Tacit Knowledge ของครู เรณู  สมบัติใหม่ครับ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่เหล่า  เพื่อการดำเนินชีวิตและภารกิจต่าง ๆ ร่วมกันให้เกิดความอยู่รอดและความก้าวหน้าของสังคมนั้น  จึงมีการจัดตั้งองค์การขึ้นมาเพื่อให้คนจำนวนมากมารวมกันดำเนินภารกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่บุคคลเหล่านี้มีความแตกต่างกันทั้งด้านความคิด ความรู้ความสามารถ จึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างและยากแก่การที่จะปฏิบัติงานให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่สมาชิกในองค์การให้การยอมรับ  เพื่อเป็นผู้นำการทำงานและความคิด ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง  เป็นบุคคลที่ทำให้องค์การประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ เป็นผู้มีลักษณะความเป็นผู้นำอยู่ในตัวเอง  และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งเราเรียกบุคคลนี้ว่ามี  “ภาวะผู้นำ”
จากประสบการณ์การทำงาน การเรียนรู้ และการศึกษาของข้าพเจ้ามากว่า 20 ปี ข้าพเจ้าได้แนวคิดว่าผู้ที่มีภาวะผู้นำที่ดีและเป็นแบบอย่างได้นั้นควรมีคุณสมบัติ   5  น.
ดังนี้
1.       หนักแน่น  คือ  มีอารมณ์มั่นคงไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมากระทบต่อการทำงาน  พร้อมทั้งยืดหยัดที่จะทำในสิ่งที่สร้างความเจริญก้าวหน้าและถูกต้องต่อองค์การและสังคม
2.       น้อมนำ  คือ  เป็นผู้ที่นำนโยบาย  นำความคิด  นำการทำงานให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงานทุกคน เพื่อให้องค์การดำเนินงานไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ 
3.       นบนอบ  คือ  เป็นผู้มีกริยาวาจาสุภาพ  อ่อนโยน และเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน  ไม่เอาแต่ใจตนเอง  ข่มขู่บังคับหรือวางอำนาจใหญ่โต  ควรมีการประชุมปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานบ้าง
4.       หนุนเนื่อง  คือ  ควรยกย่องชมเชย  สนับสนุนและให้กำลังใจกับผู้ร่วมงานอยู่เสมอ  ให้โอกาสผู้ร่วมงานได้ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  มีการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ยุติธรรม  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ร่วมงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์การเจริญก้าวหน้าต่อไป
5.       แนบเนียน  คือ  เป็นผู้มีศิลปะในการพูดและในการใช้คนให้ทำงานด้วยความเต็มใจ  ด้วยความจงรักภักดีต่อองค์การ  รู้กลวิธีการว่ากล่าว ตำหนิติเตียน ผู้ร่วมงานโดยไม่ให้เกิดความคับข้องใจ ไม่สบายใจ ให้ผู้ร่วมงานรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการทำให้เขายอมรับอย่างแท้จริง
สรุปแล้วจากคุณสมบัติ  5  น. ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นนั้น  เป็นคุณสมบัติของ ผู้ที่มี  ภาวะผู้นำ  ในการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาและเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ร่วมงานในองค์การ  ดังคำที่ว่า  “ตัวอย่างที่ดีมีคุณค่ามากกว่าคำสอน”

ประธานวิทย์ ยูวะเวส
เรียนแล้วต้องรู้ ถ้าอยากรู้ก็ต้องเรียน
                                                                                                                                                   “สังคมแห่งการเรียนรู้”  “โลกแห่งการเรียนรู้”   ข้อความทั้งสองนี้ นับว่าเป็นข้อความที่นิยมกล่าวถึงกันอย่างยิ่งในสังคมโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมของคนไทยในยุคโลกาภิวัฒน์  เจตนาของคำกล่าวทั้งสองนี้ ก็เพื่อที่จะต้องการสื่อ หรือต้องการบอกให้รู้ว่า ต่อไปนี้คนไทยทุกคนจะต้องรู้จักแสวงหาความรู้ให้มากขึ้น เพราะความรู้ตามนัยที่กล่าวถึงนั้น มีอยู่มากมาย รอบ ๆ ตัวเรา รอบ ๆ บ้านเรา  รอบ ๆ หมู่บ้านเรา รอบ ๆ ที่ทำงานของเรา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง
                เมื่อความรู้มีอยู่ทุกหนแห่งแล้ว คนไทยทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหา หรือค้นหาความรู้เหล่านั้นแล้วนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งมีคำกล่าวในแวดวงการศึกษาว่า คนไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา จะต้องมีลักษณะเด่น 3 อย่างคือ เก่ง ดี มีความสุข  นั่นหมายความว่าคนไทยทุกคนที่อยู่ในโลกแห่งการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้แล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาจะต้อง เป็นคนเก่ง เป็นคนดี และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
                ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะไปถึงลักษณะเด่นทั้งสามที่ว่านั้นให้ได้?  ก็คงจะต้องย้อนไปที่
คำว่า “สังคมแห่งการเรียนรู้”  “โลกแห่งการเรียนรู้” ทั้งสองคำนี้ มีสิ่งที่เหมือนกันหรือซ้ำกันอยู่คือคำว่า เรียนรู้ ก็คงจะต้องถามอีกว่า เรียนรู้คืออะไร ทำอย่างไรจึงจะเกิดเรียนรู้ และเมื่อเรียนรู้แล้วจะได้อะไร ซึ่งคำถามที่ว่า “จะได้อะไร” เป็นคำถามยอดฮิตในสังคมไทย
                ถ้าศึกษาในตำราทางการศึกษาที่มีรากเหง้าจากต่างประเทศ ก็จะอธิบายเหมือน ๆ กัน และที่สำคัญคือ เมื่อเรียนรู้แล้วจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ ด้านพุทธิพิสัย ด้านทักษะพิสัย และด้านจิตพิสัย อ่านแล้วก็ต้องแปลความกันอีกยกใหญ่ หรืออาจจะเกิดความเหนื่อยอกเหนื่อยใจจนไม่อยากจะเรียนรู้แล้ว
                ผู้เขียนขออธิบายง่ายๆ ว่า การเรียนรู้ คือ การเรียนแล้วรู้ ท่านผู้อ่านอย่าด่วนสรุปว่าคำตอบนี้
ช่างกำปั้นทุบดินเสียเหลือเกิน สิ่งที่ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นในที่นี้ คือเมื่อคนเราได้เรียนแล้ว ก็ควรจะต้องรู้ในสิ่งที่เรียน นั่นคือเจตนาของผู้เขียน  แล้วท่านคงถามต่อว่า แล้วที่รู้นั่นคืออะไร?
                ในฐานะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในด้านการจัดการอาชีวศึกษามาตลอดชั่วชีวิต ผู้เขียนมีความเห็นว่า เมื่อคนเราเรียนแล้วต้องรู้ ซึ่งหมายถึงจดจำและเข้าใจสิ่งที่เรียนรู้ หลังจากนั้นจะต้องนำสิ่งที่รู้ไปจัดการด้วยตนเองให้ได้ คำว่าจัดการในความหมายของผู้เขียนคือ นำความรู้นั้นไปสร้างคุณค่า
ไปสร้างประโยชน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้วยการฝึก ด้วยการประยุกต์ใช้ ด้วยการทดลองใช้ หรือตามแต่วิธีที่ผู้เรียนมีความถนัด เมื่อสามารถนำความรู้ไปจัดการได้เหมาะสมกับความสามารถของตนเองแล้ว จึงกล่าวได้ว่า เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า การเรียนรู้ในทัศนะของผู้เขียน คือ เรียนแล้วรู้ เมื่อรู้แล้วจะต้องนำความรู้ไปสร้างประโยชน์ ไปสร้างคุณค่าหรือไปจัดการให้ได้ 
ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

Hello!  Good morning!   เสียงของคำทักทายทั้งสองนี้ ถูกเปล่งออกมาพร้อมด้วยความเบิกบาน และเป็นธรรมชาติ ในทุก ๆเช้า ที่วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ด้วยเหตุที่นักเรียน-นักศึกษาของสถานศึกษาแห่งนี้ ถูกปลูกฝังให้กล้าพูด กล้าทักทาย โดยใช้ภาษาอังกฤษที่มีความเป็นธรรมชาติ และออกมาจากจิตใจที่เบิกบานในยามเช้าของทุก ๆ วัน ไม่ว่าวันฝนตก วันแดดออก หรือแม้แต่ในวันที่เหน็บหนาว
หลายคนอาจจะสงสัยว่า “ทำไมครูภาษาอังกฤษของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร เขาฝึกเรื่องที่ง่าย ๆ ไม่เหมาะสมกับระดับการศึกษาของผู้เรียนเลย” เพราะการทักทายแบบนี้เขาใช้กันมาตั้งแต่เริ่มเรียน
ภาษาอังกฤษแล้ว
                ในฐานะที่เป็นหนึ่งในครูภาษาอังกฤษของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ก็คงจะต้องรีบทำความเข้าใจกับผู้อ่านทุกท่านในประเด็นนี้ ถ้าจะบอกว่าคำทักทายดังกล่าวเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องหมู ที่ฝึกกันมานาน  นานจนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติวิสัย แต่สิ่งที่พบกันเสมอ อาจจะเรียกได้ว่าไม่มีทางหนีพ้น ก็คือ คำทักทาย
ที่หลายคนคิดว่าง่ายนี้เอง กลับถูกเปล่งออกจากปากของผู้เรียนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับชั้น ด้วยความยากลำบาก ไม่เป็นธรรมชาติ หรือไม่ก็ผิดพลาดเสมอ เช่น Good-s-mor-ning! หรือ Good-sa-morning! แล้วเสียงที่ตามมาหลังจากข้อความทักทายนี้ คือ เสียงหัวเราะที่บ่งบอก ถึงความอาย ความตลก ที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร?  มีใครเคยให้ความสนใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้บ้างหรือไม่
                Hello! Good morning! นับว่าเป็นคำทักทายที่ใช้กันมากมายในภาษาอังกฤษ และเป็นคำพื้นฐานที่สุดในการเปล่งเสียงภาษาอังกฤษ ดังนั้นถ้าผู้เรียนสามารถเปล่งเสียงคำทักทายดังกล่าวด้วยความเคยชิน ด้วยความกล้า ด้วยความเข้าใจธรรมชาติของคำทักทายนี้แล้ว ผู้เขียนมั่นใจว่าการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในระดับต่อ ๆ ไปจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
                ด้วยความเชื่อดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ Hello! Good morning! จึงดังกังวานในทุก ๆยามเช้าของวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ด้วยเจตนาที่ว่า “นี่แหละคือการเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร”
                เมื่อมีความสุข มีความเบิกบาน มีความมั่นใจในยามเช้าแล้ว การฝึกภาษาอังกฤษในลำดับต่อไปก็จะง่าย จะสะดวก และจะเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้นถ้าผู้สอนภาษาอังกฤษรู้จักใช้เทคนิคง่ายๆ ที่ถูกลืมไปจากสังคมไทยแล้ว นั่นก็คือการทำซ้ำ ทำบ่อยๆ ดังเช่นที่สังคมไทยเคยใช้ในอดีตซึ่งก็คือเทคนิคที่ใช้
ในการท่องอาขยาน ผู้เขียนมั่นใจว่า สำหรับเยาวชนยุคปัจจุบันคงไม่รู้จัก คำว่า “อาขยาน” เป็นแน่แท้
                “จะฝึกแนวท่องอาขยานอย่างไร?”  คงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบจากผู้เขียนแน่นอน คำตอบง่ายที่สุดที่ผู้เขียนอยากจะตอบให้เพื่อนครูภาษาอังกฤษนำไปใช้ ก็คือ การซักถามคำถามง่าย ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เรียน โดยถามบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ในทุกต้นชั่วโมงที่ทำการสอน และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสตอบอย่างทั่วถึง ทั้งนี้อาจจะใช้วิธีแข่งขัน หรือวิธีการให้แรงเสริมด้วยคะแนนก็ได้
                คำถามที่สามารถใช้ได้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อฝึกความสามารถในการสื่อสาร ได้แก่
-          Where do you usually go to the market?
-          Where do you usually go to the hospital?
-          When do you usually go to school?
-          When do you usually go to bed?
-          How do you come to school?
-          How tall are you?
-          What is your last name?
-          What is your favourite subject?
-          Who is your best friend?.....................
ผู้อ่านคงคิดว่าคำถามข้างต้นล้วนเป็นคำถามง่าย ๆ แต่ผู้เขียนขอยืนยันว่า ง่าย ๆ แบบนี้ใช้แก้ปัญหาในการฝึกพูดภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้อย่างแนบเนียนดีนักแล ที่สำคัญครูภาษาอังกฤษต้องถามอย่างเป็นกันเอง อย่างเป็นธรรมชาติ และอย่างมีความสุข ห้ามตำหนิผู้เรียนเมื่อตอบผิดโดยเด็ดขาด
                ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีผู้เรียนคนไหนอยากพูดภาษาอังกฤษที่ยาก และสลับซับซ้อน รวมทั้งไกลจากตัวเองมากนัก (เพราะผู้เรียนมิใช่นักภาษา แต่เป็นผู้ใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารกัน) ดังนั้นการให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาอังกฤษที่ง่าย ไม่สลับซับซ้อน มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับตนเอง ให้โอกาสในการใช้บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ นับว่าเป็นเทคนิคที่ดี และเหมาะสมสำหรับเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษในวิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ถ้าท่านอยากได้ยินภาษาอังกฤษที่เปล่งออกมาด้วยความเบิกบาน ด้วยความสุข และเป็นธรรมชาติ ในยามเช้า ผู้เขียนคิดว่า วิทยาลัยเทคนิคพิจิตรเป็นหนึ่งในหลาย ๆแห่งทีท่านสามารถสัมผัสได้

ธานินทร บุญยะกาพิมพ์

ผมคิดว่าทุกๆท่านคงได้ลิ้มรสความเครียดมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย(แต่ผมว่ามาก) คนทุกคนที่อยู่ในสังคม ที่อยู่ในวัฎสงสาร ล้วนแล้วแต่ได้สัมผัสความเครียดมากันโดยถ้วนหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องการเรียน การทำงาน การพบปะผู้คน การเล่นกีฬา การรับประทาน ฯลฯ ร้อยแปดพันประการ แต่ความเครียดที่เห็นจะรุนแรงและมีผลต่อทุกๆท่าน ก็น่าจะเป็นความเครียดจากการทำงาน และความเครียดในกลุ่มนี้ที่เห็นจะรุนแรงที่สุดก็น่าจะความเครียดที่เกิดกับเพื่อนร่วมงาน จะให้ตรงเป้าก็คงจะเป็นความเครียดจากการอิจฉาริษยา จากการแก่งแย่งชิงดี จากการหวังดีเกินผิดปกติ จากการหวังดีประสงค์ร้าย ทำไงดีถึงจะกำจัดความเครียดชนิดนี้ให้จงได้  ผมขอแนะนำสูตรสำเร็จ "3 ค" ครับ

สูตรนี้ ตัว"ค" หมายถึง คน ครับ

คนที่ 1 เป็นคนที่รักเรา เห็นเราทำอะไรก็ดีไปหมด แม้แต่เดินไปตดไป(ขออนุญาตใช้วาจาไม่สุภาพหน่อยนะครับ) เขาก็หัวเราะไม่ว่าอะไรเรา ดูแล้วเราทำอะไรก็ดีไปหมด

คนที่ 2 คนนี้ตรงข้ามกับคนที่ 1 อย่างสุดกู่เลยครับ เราทำอะไรก็เลวไปหมด ทำงานมากก็ว่าเว่อร์ ไม่ทำงานก็ว่าขี้เกียจ ทำปานกลางก็ว่าไม่เหมาะสม (แต่ถ้าเป็นพวก เป็นเพื่อนของเขา ไม่เป็นไร)

คนที่ 3 คนนี้น่าสนใจนะ เพราะ มักจะพูดว่า"เออ.....ช่างเขา" "เออ....ช่างมันเถอะ"

ผมอยากถามท่านผู้อ่านว่าถ้าเป้นท่าน ท่านจะใส่ใจหรือฟังคนที่ 1 2 หรือ 3

ถ้าท่านฟังคนที่ 2 ท่านจะรู้สึกเครียดมากๆๆๆๆๆๆ

ดังนั้นถ้าต้องการหนีพ้นความเครียดจากเพื่อนร่วมงาน หรือจากการทำงานก็ต้องฟัง คนที่1 หรือ 3 แล้วท่านจะมีความสุขตลอดเดือนสุดท้ายของ ปี 48 และตลอดไปตั้งแต่ปี 49 ครับ.........ด้วยความห่วงใจจากใจ ธานินทร ครับ

ผมอยากเรียนพูดภาษาอังกฤษ

ก็ดีนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท