ชีวิตที่พอเพียง : 309. เรียนรู้จากการเป็นกรรมการ


          ผมต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการหรือประธานกรรมการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในมหาวิทยาลัย และองค์กรที่ผมเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ     จึงได้มีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานแบบนี้   และขอนำมามาเล่าไว้เป็นประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้
 
         ประเด็นแรกที่ผมดู คือ track record ว่าที่เขาทำงานมาแล้ว เขามีผลงานอะไรบ้างที่บอกเราว่าเขามีความสามารถด้านไหนเป็นพิเศษ     และน่าจะจะทำหน้าที่ในตำแหน่งที่เรากำลังสรรหาได้ดี     ผมจะถามคำถามเกี่ยวกับความสำเร็จของเขา ที่เขาภูมิใจ     เพื่อให้เขาเล่าว่าคิดอย่างไร ทำอย่างไร     เรื่องเล่านี้ จะช่วยให้เราประเมินนิสัยใจคอ และขีดความสามารถในการทำงานของเขาได้

         อีกประเด็นหนึ่งคือ ผมจะดูว่าข้อเสนอ และคำเสนอของเขา เป็น macro หรือ micro management     ในวงการที่ผมเกี่ยวข้อง ผู้คนมักมีจุดอ่อนในด้านคิดใหญ่ไม่ค่อยเก่ง      และถ้าเราได้คนที่มีนิสัย micro management มาทำหน้าที่บริหาร เราก็กังวลว่า เขาจะทำ macro management ไม่เป็น      และหากเขาลงแต่ micro management เราก็เป็นห่วงว่าคนในองค์กรจะไม่มีความสุข    เพราะปัญหาผู้บริหารหยุมหยิม
 
        ผมมีข้อสังเกตว่า คนที่มารับการสัมภาษณ์ มักจะเขียนข้อเสนอ และนำเสนอด้วยวาจาอย่างยืดยาว    แบบมวยที่เต้นมากแย้ปมาก     แต่ไม่มีหมัดตาย    ผมอยากฟังการนำเสนอว่าจะทำให้เกิดอะไร ที่เป็นเป้าใหญ่     และที่สำคัญ จะไม่ทำอะไร เพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญ 

        สิ่งที่ผมกลัว คือนักล่าตำแหน่ง ล่าเงินเดือน  ไม่ใช่นักทำงานให้สำเร็จ     ซึ่งคนแบบนี้อาจพูดเก่ง นำเสนอเก่ง     โน้มน้าวจนกรรมการตายใจหลงเชื่อ     พอได้ตัวไปทำงานไม่นาน ธาตุแท้ก็เผยออกมา      ผู้คนก็จะถามกันว่า ใครเป็นกรรมการสรรหา     กรรมการสรรหาก็เสียชื่อ     แต่กรรมการสรรหาเสียชื่อก็ไม่เสียหายเท่ากับงานของหน่วยงานเสียหาย
  
        การเป็นกรรมการสรรหาจึงมีความเครียดสูง เกรงจะสรรหาได้คนที่เมื่อไปทำงานแล้ว พิสูจน์ได้ว่าไม่เหมาะสม    
 
         ที่จริงส่วนใหญ่เราไม่สามารถสรรหาคนที่สมบูรณ์แบบได้     เรามักได้คนที่ดีบางด้านและอ่อนบางด้าน     ในกรณีเช่นนี้ ผมก็จะเสนอต่อผู้ใหญ่ที่เขาจะมาทำงานด้วย  ว่าจะต้องหาวิธีช่วยแก้จุดอ่อนของเขาอย่างไร

          สำหรับผม การทำหน้าที่นี้คือ แบบฝึกหัด สำหรับเรียนรู้      ภายในเวลา ๑ ปี เราก็จะได้ข้อเฉลย ว่าเราตอบโจทย์ถูกหรือผิด   ผมเคยนึกว่า ผมเป็นคนโชคดี ที่มีคนไว้วางใจ ให้ได้ทำงานในลักษณะที่มีการเรียนรู้สูงอยู่เสมอ      และการทำหน้าที่กรรมการสรรหา เป็นการทำงานที่การเรียนรู้สูงมากอย่างหนึ่ง     แต่ของดีย่อมมีราคาสูง      ผมต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยความเครียดหรือความกังวล ว่าจะทำงานได้ผลไม่ดี

วิจารณ์ พานิช
๒๓ มิ.ย. ๕๐
เซอร์ เจมส์ คันทรี่ คลับ สระบุรี    

หมายเลขบันทึก: 107154เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2007 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณครับ
    ได้แง่คิด เตือนสติหลายแง่มุมครับ  สิ่งที่ทำให้เราต้องเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือเมื่อต้องร่วมทำงานเป็นทีมกับคนที่มีระดับความคิด  ความจริงจังในงานต่างระดับกับเรามากๆครับ  เขาดูเหมือนหันหน้ามาทางเดียวกับเรา  แต่พอลงลึกทีไร พบว่าส่วนใหญ่เขาแค่เกาๆ  แตะๆอยู่ที่ผิวเปลือก  ขณะที่เราพูดเรื่องแก่น เขาส่วนมากพูดกันแต่เรื่องกระพี้ ของเรื่องเดียวกันนั้น เพราะความเคยชินว่าแค่นั้นแค่นี้ก็ ผ่านได้แล้ว  ไม่มีใครว่าอะไรแล้ว จะอะไรกันนักหนา ฯลฯ
    ในที่สุด เมื่อผลโดยรวมของงานออกมา  มันก็ไม่ค่อยมีแก่น  ไม่มั่นคงยั่งยืน  ดูแล้วให้อึดอัด ขัดใจ  เพราะเราก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ดูเหมือนเป็นผู้ร่วมผลักดันให้ผลแบบนั้นเกิดขึ้นมา  ...  คำถามของผมก็คือ จะทำอย่างไรดี  ให้เพื่อนร่วมงานที่อยู่ในระดับแกนนำ หรือกรรมการ ที่หันหน้ามาทางเดียวกับเราแล้วเหล่านี้ เลิกคิด "เกางาน" หันมาคิดให้ "ถึงแก่น" และได้ "ทำงาน" จริงๆเสียที 

     หมายเหตุ
     เรื่องแบบนี้ภาคเอกชนคงมีน้อยครับ .. แล้วภาคไหนล่ะมีมาก .. อย่าให้ต้องตอบเลยครับ ที่ท่านคิดกันอยู่นั้นน่ะ ใช่แล้วล่ะ .. เป็นคำตอบที่ถูกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท