วิกฤตอุดมศึกษาไทย


น่าจะเป็นจริงอย่างนั้นนะครับ เท่าที่สัมผัสมา

เป็นบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พอดีมีอาจารย์ที่เคารพส่งเมล์มาให้ ลองอ่านดูครับ

วิกฤตอุดมศึกษาไทย

โดย วินัย อาจคงหาญ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



ปัญหาในวงการอุดมศึกษาที่เพิ่งผ่านพ้นไปในปีนี้คือกระบวนการรับเข้าของมหาวิทยาลัย ที่ทำให้นักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองกังวลใจไม่แพ้กัน ซึ่งแม้ปัญหาจะเพิ่งผ่านพ้นไป แต่ปีหน้าก็ต้องเผชิญกันใหม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยที่กำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย อาจถือเป็นโชคร้ายที่ต้องพบเจอความเครียดมากเป็นพิเศษ

ความพยายามในการแก้ปัญหาการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังคงมีต่อไป แต่พัฒนาการของการแก้ปัญหา "แพ้คัดออก" ยังไม่ได้ก้าวไปเท่าไหร่นัก ตราบเท่าที่กระบวนการวัดผลยังคงผูกยึดกับความสามารถทางวิชาการ (ที่ยังคงวัดได้แค่ความจำ ความเข้าใจ) การแก้ปัญหาการเรียนพิเศษเป็นบ้าเป็นหลังก็ยังมีอยู่ให้เห็น

ผู้ชนะได้เข้าเรียนในสถานศึกษาที่พอใจมากหรือพอใจน้อย ในสาขาที่ชอบมาก ชอบน้อยจนถึงไม่ชอบแต่จำเป็นต้องเรียนเพราะสอบได้อย่างนั้น

สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องตระหนักคือการอบรมกล่อมเกลาผู้เรียนให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ และเป็นผู้นำในสังคมได้

แต่ปัญหาใหญ่ที่มหาวิทยาลัยภาครัฐประสบปัญหาเดียวกันคือการได้มาซึ่งผู้บริหาร

ที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมคือคดีฟ้องร้องของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ศาลปกครองตัดสินว่าการได้มาซึ่งอธิการบดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีของมหาวิทยาลัยสารคามที่ถูกระงับการสรรหาอธิการบดี เนื่องจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนไม่มีคุณสมบัติในการเลือกอธิการบดี

รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยศิลปากร

แม้ทุกมหาวิทยาลัยพยายามทำให้เรื่องราวต่างๆ เป็นปัญหาภายใน ไม่อยากให้รั่วไหลสู่สาธารณะเพราะเกรงว่าจะเสียชื่อเสียงของสถาบัน แต่แรงปะทุของปัญหาที่มีมากทำให้ไม่สามารถรักษาปัญหาให้เป็นเรื่องภายในอีกต่อไป

เมื่อหันไปดูมหาวิทยาลัยอื่นๆ จะพบว่าแท้จริงแล้วทุกมหาวิทยาลัยมีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะกระบวนการได้มาซึ่งผู้บริหารเปลี่ยนเป็นระบบการเลือกตั้งทางอ้อม (ที่เรียกว่าการสรรหา) ทั้งสิ้น

กระบวนการนี้พัฒนามาจากการเลือกตั้งทางตรงแบบเดิมที่เคยมีปัญหา การสัญญาจะให้ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับปัญหาของประเทศ วิธีการสรรหาจึงนำมาใช้ตามแบบหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

การสรรหามีฐานความเชื่อมาจากการไว้วางใจในผู้ทรงคุณวุฒิที่จะคิด พิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้านในการได้มาซึ่งผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารมหาวิทยาลัยให้ไปสู่อุดมคติคือความเป็นเลิศทางวิชาการ

แต่อนิจจา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กลับพบการสืบทอดอำนาจในการบริหารผ่านกลไกการคัดสรรกรรมการสภามหาวิทยาลัยเพื่อไปเลือกอธิการบดี

บางมหาวิทยาลัยผู้บริหารใช้อำนาจในการแต่งตั้งกรรมการสภาจำนวนมาก ซึ่งประชาคมในมหาวิทยาลัยเชื่อว่ามีการบล็อคโหวตแม้ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด

บางมหาวิทยาลัยกลายเป็นว่ามติของกรรมการสภาคือเสียงสวรรค์ในการตัดสินเลือกผู้บริหารโดยไม่สนใจเสียงประชาคม

น่าแปลกที่การเลือกตั้งในระดับประเทศยังสามารถใช้การเลือกตั้งทางตรง แม้จะเผชิญกับสารพัดปัญหา ทั้งการซื้อสิทธิขายเสียง การสัญญาจะให้สารพัด แต่รัฐยังเลือกกระบวนการให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้พัฒนาการของการเมืองไทยดีขึ้น

แต่พัฒนาการเลือกตั้งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกลับเชื่อถือประชาคมในมหาวิทยาลัยน้อยกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งๆ ที่ประชากรในมหาวิทยาลัยล้วนแต่เป็นผู้ที่ความรู้ดี สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการแถลงนโยบาย ตลอดจนสามารถตรวจสอบการบริหารจัดการได้โดยง่าย

การคัดสรรผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงเทียบไม่ได้กับการเลือก อบต.ที่ให้ความเชื่อถือกับประชาชนมากกว่า

กล่าวได้ว่าบรรยากาศของการได้มาซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย (โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ) ติดบ่วงเดียวกันคือวงจรอุบาทว์ในการสืบทอดอำนาจ แล้วจะหวังอะไรกับการบริหาร มหาวิทยาลัยว่าจะยุติธรรม โปร่งใส รวมไปถึงการนำพามหาวิทยาลัยไปสู่อุดมคติ

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องคืนอำนาจการเลือกผู้บริหารให้กับประชาคมที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในมหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นผู้ร่วมพัฒนามหาวิทยาลัย โดยในโลกของการมีส่วนร่วมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารงานแบบธรรมาภิบาล

หากปัญหาการสรรหาผู้บริหารยังเป็นแบบเดิมเชื่อได้เลยว่ายากที่จะพัฒนามหาวิทยาลัย การออกนอกระบบราชการที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ อันมีนัยเพื่อนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการไม่มีวันที่จะเป็นจริงไปได้หากแต่เป็นการพัฒนาที่ถดถอยยิ่งกว่าระบบราชการเดิม เพราะแนวโน้มการใช้อำนาจจะมีเพิ่มขึ้น

ถึงเวลาปลดแอกมหาวิทยาลัยไทยแล้วหรือยัง

 

หมายเลขบันทึก: 106527เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนคุณ ชีวิตเพื่อสาธารณะ ที่เคารพ

  • ผมคิดว่า มันเป็นวิกฤติทางความคิดครับ
  • ทุกวงการมีพัฒนาการ มีประวัติศาสตร์
  • มีการเติบโต และโรยรา
  • ถ้าเราจัดการกับ ความคิด ได้ ทุกอย่างก็จบ

 

  • คำถามคือใช้อะไรครับ
  • ใช้มรรคแปด และอริยสัจ ๔ ฮะ
  • ใคร่ครวญ วิจารณ์ เรื่อยไปจะต้องแก้ตกแน่นอน

วิกฤติ คือ โอกาส ครับ

ขอบคุณครับ

มีความหวังว่าสักวันหนึ่งวิกฤตคงจะสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะการเปลี่ยนแปลงระบบคิด ค่านิยม และพฤติกรรมของคน เป็นไปได้ยากมาก คงต้องฝากให้ผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ อบรมกล่อมเกลาเด็กรุ่นหลังให้มีระบบคิด ค่านิยม และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากปัจจุบัน
  • ระบบการศึกษาไทย ก็รู้ๆ กันอยู่ ทำไปได้ ให้เด็กเป็นหนูทดลองยา ทดลองกันเข้าไป ไม่เป็นนไรหรอก ไม่ถูกใจก็เปลี่ยนใหม่ได้
  • มันต้องเปลี่ยน แม้ว่าระบบเก่าจะดีหรือไม่ ไม่งั้น ไม่เข้าแนวคิด การปฏิรูป ขอให้เปลี่ยนเถอะ ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ก็ถือว่าได้ปฏิรูปแล้ว
  • อีกนานเท่าไหร่ ระบบการศึกษาไทยจะตามชาติอื่นทัน ขอตอบว่า อีก 100 ปี ก็ตามประเทศอื่นๆ ไม่ทันหรอก ไม่ใช่ว่าคิดแง่ลบนะ แต่จากการประเมินดูแล้ว คงเกือบหมดหวัง

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท