พัฒนาผู้นำท้องถิ่นรุ่น 1 (โคราช)


การพัฒนาท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาคุณภาพของคน และสร้างทุนทางปัญญามากกว่าที่จะนำงบประมาณไปพัฒนาด้านวัตถุ

ถึง ผู้เข้ารับการเรียนรู้ทุกท่าน                        ความฝันของผมคือการได้พลิกฐานพีระมิดของสังคมไทย    การได้มีโอกาสมาจัดการเรียนรู้ โครงการพัฒนาผู้นำและผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ ผม ถือว่าเป็นจุดเริ่มที่ดี ของการพัฒนารากฐานที่สำคัญของประเทศ  แม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาส             บรรยากาศการเรียนรู้ในช่วงที่ผมบรรยาย ดูทุกคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้แสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์มากมาย

 

 


 

มีนายก อบต. บางท่าน ถึงกับเล่าว่า เขาได้เตรียมงบประมาณสำหรับการพัฒนาความรู้ให้แก่เยาวชนท้องถิ่นไว้สำหรับปีนี้ 50,000 บาท  ซึ่งผมคิดว่าเป็นความคิดที่ดีของการพัฒนาท้องถิ่น เพราะการพัฒนาท้องถิ่นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาคุณภาพของคน และสร้างทุนทางปัญญามากกว่าที่จะนำงบประมาณไปพัฒนาด้านวัตถ

 

 

 

             ผู้นำท้องถิ่นหลาย ๆ คนในห้องเรียน  พูดถึงการเรียนในครั้งนี้ว่า เหมือนการได้เบ็ดตกปลา ซึ่งมีประโยชน์มากกว่า การให้ปลา แต่ไม่สอนวิธีการหาปลา

 

 

 

 

     

 

 

    สุดท้ายทีมงานของผมได้ทำบันทึกสรุปที่เราได้เรียนรู้กันไปเมื่อวานนี้ เพื่อทุกท่านจะเข้ามาอ่านแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ใน Blog นี้ครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #korat
หมายเลขบันทึก: 106481เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

โครงการพัฒนาผู้นำและผู้บริหารขององค์กร

ปกครองส่วนท้องถิ่น

หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงกับการเพิ่ม

ประสิทธิผลขั้นสูงในการทำงานและการสร้าง

ภาวะผู้นำ

กรณีศึกษา Covey’s 7 Habits workshop”

The 7 Habits of Highly Effective People:

เจ็ดอุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลสูง

วันที่ 25 มิถุนายน 2550

ณ อาคารสุรสัมมนาคาร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

ผลการประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับ 4L’s

กลุ่ม 2

 ·      โครงการที่จะทำในอนาคตที่สอดคล้องกับ4L’s คือ การแก้ปัญหาขยะด้วย 4L’s

ทำได้โดยสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน แยก

ขยะไปขาย ลดขยะ และนำสิ่งของเหลือใช้มาทำเป็นสินค้า

กลุ่ม 9

 ·       4L’s มีประโยชน์คือทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่ดี

 กลุ่ม 6

·       โครงการที่จะทำในอนาคตที่สอดคล้องกับ 4L’s คือ

 

o           โครงการตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน

 o           ทำ Home Stay หมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม

กลุ่ม 7

 

·      4L’s ขับเคลื่อนชุมชนทำให้มีการพัฒนาท้องถิ่น รอบรู้ข่าวสารมากขึ้น

 ·     โครงการที่จะทำในอนาคตที่สอดคล้องกับ 4L’s คือ โครงการเว็บไซต์เรียนรู้คณิตศาสตร์

กลุ่ม 4·      โครงการที่จะทำในอนาคตที่สอดคล้องกับ 4L’s คือ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม 13

 ·       4L’s มีประโยชน์ต่อชุมชนชนบทมาก การพัฒนาประเทศทำได้ลำบากเพราะคนมีโอกาสการพัฒนาการเรียนรู้น้อย 4L’s จะช่วยพัฒนาความรู้ให้ชุมชนได้ชุมชนได้ไปเข้ารับการอบรมและสามารถนำไปต่อยอดได้
มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

คำกล่าวในนามผู้เข้าร่วมสัมมนา

 

โดย

 นายสุพจน์ วงศ์จรัสรวี

สำนักงานเทศบาลตำบลแชะและประธานรุ่น

โครงการพัฒนาผู้นำและผู้บริหารขององค์กร

ปกครองส่วนท้องถิ่น

หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงกับการเพิ่ม

ประสิทธิผลขั้นสูงในการทำงาน

และการสร้างภาวะผู้นำ

กรณีศึกษา Covey’s 7 Habits workshop”

The 7 Habits of Highly Effective People:  

เจ็ดอุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลสูง

วันที่ 27 มิถุนายน 2550

ณ อาคารสุรสัมมนาคาร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

 

ศาสตราจารย์ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

 

ท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

 

และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน  

            ในนามผู้เข้าร่วมสัมมนาโครงการพัฒนาผู้นำและผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงกับการเพิ่มประสิทธิผลขั้นสูงในการทำงานและการสร้างภาวะผู้นำ กรณีศึกษา Covey’s 7 Habits workshop” The 7 Habits of Highly Effective People: เจ็ดอุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลสูง ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมาร่วมการสัมมนาครั้งนี้

            เราได้รับอะไรมากมายจากการสัมมนาครั้งนี้

 

            อันดับแรกคือ วิชาการ

 

·      เรื่อง 4L’s

 

·      Stephen Covey’s 7 Habits Case Study

 

 ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงเพื่อจะทำให้การทำงานของท้องถิ่นซึ่งเกี่ยวข้อง

โดยตรงและผูกพันอย่างใกล้ชิดกับประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

 

 

            อันดับที่สอง ถือเป็นความสำคัญอันสูงสุดที่ได้ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณและได้ความมุ่งมั่นที่อยู่ในส่วนลึกของจิตใจ หรือที่เรียกรวมๆกันว่าปณิธาน ซึ่งหลายคนลืมที่จะนึกถึง แต่หลังจากการอบรม สิ่งเหล่านี้ได้ถูกกระตุ้นออกมาทำให้เกิดเป็นพลังมหาศาล เกิดความมุ่งมั่นในการที่จะทำงานให้กับประชาชนโดยส่วนรวม

 

             อันดับที่สาม สิ่งที่ได้และยิ่งใหญ่ไม่แพ้สองข้อแรกก็คือมิตรภาพ ความผูกพันของผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆนัก เพราะผู้เข้าอบรมแต่ละคนล้วนแต่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารหลากหลายสาขาองค์กรซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นมิตรภาพที่เกิดขึ้นนั่นหมายถึงความรัก ความผูกพัน การที่จะช่วยเหลือประสานงานของผู้เข้ารับการอบรมซึ่งจะผูกพันช่วยเหลือกันไปซึ่งกันและกันตลอดนานแสนนาน

 

 

ในการนี้ ใคร่ขอขอบพระคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้เกียรติมาร่วมงาน ศาสตราจารย์ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์และวิทยากรทุกท่านที่มาให้ความรู้พวกเราและคณะผู้จัดงานได้แก่ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ Chira Academy และ Pacrim Group ที่กรุณาจัดโครงการดีๆแบบนี้ให้พวกเราและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยที่ให้การสนับสนุนโครงการครั้งนี้

 ขอบคุณมากครับ 
นายสุระ พาขุนทด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกราด

ก่อนเข้าร่วมโครงการนี้รู้สึกอย่างไร

ในตอนแรกยังไม่โฟกัส แต่ตอนนี้ได้รับการถ่ายทอดวิชาไปก็สามารถนำไปปรับปรุงให้การบริหารดีขึ้น และรู้ว่าผู้นำท้องถิ่นควรจะได้รับการพัฒนาอย่างไรบ้าง

เปรียบเทียบหลักสูตรนี้กับหลักสูตรอื่นที่เคยเรียนมา

หลักสูตรนี้ฉีกแนว เพราะว่าเป็นการมามองการสร้างคน ให้มีนิสัยมุ่งมั่นในการทำงาน มีวินัย ชัดเจน แน่วแน่ รู้จักแยกแยะถูกผิด ถ้าไม่พัฒนาคนก็จะสร้างสังคมยาก

สังคมการเรียนรู้มีความสำคัญไหม

สำคัญมาก ที่ผ่านมาภาครัฐให้แนวทางยังไม่ชัดเจน งานนี้ถือเป็นมิติที่ดี นำไปสู่การรับทราบอย่างใกล้ชิดและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์การบริหารการปกครองส่วนถิ่นที่ดีขึ้น

จะนำความรู้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร

ได้รับความรู้แปลกใหม่ขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดขยายผลสู่ระดับล่าง ให้กลุ่ม สมาชิก เจ้าหน้าที่ ข้าราชการประจำ บุคลากร และให้ทีมงานนำไปขยายผลต่อ

เพื่อน ๆ อบต. คนอื่น ๆ พูดถึงหลักสูตรนี้อย่างไรบ้าง

80 กว่าชีวิตที่มาเข้าสัมมนา แต่ละคนก็มีพื้นฐานการศึกษาและสถานภาพในการรับรู้ต่างกัน แต่ก็สามารถนำไปขยายผลได้

ถ้ามีการจัดโครงการแบบนี้เป็นรุ่นที่ 2 ท่านมีความเห็นว่าอย่างไร

ดี แต่ควรเน้นกลุ่มปลัด นายก และสภา เพราะคนเหล่านี้มีบบบาทนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้

สวัสดีครับท่านผู้นำท้องถิ่นและท่านผู้ติดตาม Blog ทุกท่าน ผมขอรายงานเกร็ดข้อมูลบางอย่างให้ทุกท่านได้รับทราบกันสัก 4 เรื่อง

เรื่องแรก ผมกับคุณนิพนธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูขาด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาได้ตกลงจะทำงานต่อเนื่องกัน คือ วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ผมจะขึ้นไปร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ให้กับชุมชนตำบลคูขาด โดยผมจะขอเรียนเชิญกลุ่มครู นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำรวจ พัฒนาการจังหวัด และอนามัย เข้ามาร่วมฟัง และร่วมกันสร้างสังคมการเรียนรู้ งานนี้ผมตั้งใจที่จะทำประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปให้เห็นถึงกิจกรรมที่มีประโยชน์ โดยมีการถ่ายรายการโทรทัศน์ และเชิญนักข่าวมาร่วมทำข่าว  โครงการนี้ผมทำสำเร็จก็เพราะนายกนิพนธ์มีความบ้าคลั่งที่จะทำต่อ ถ้าท่านนายกท่านใดต้องการจะทำต่อเนื่องแบบนี้ก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ เพื่อสร้างสังคมการเรียนรู้ร่วมกัน

เรื่องที่ 2 ผมได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์แนวหน้าถึงโครงการนี้ไปในฉบับวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน 2550 โดยผมได้นำมาลงใน Blog ให้ท่านได้อ่านกันด้วยครับ

Isarn that learn

          ในช่วง 30 กว่าปี ที่ผมได้เริ่มงานที่ธรรมศาสตร์ ถึงวันนี้มีความฝันเสมอว่า หาก "ทรัพยากร มนุษย์ " เป็นเรื่องสำคัญของไทย วันหนึ่งประเทศไทยก็คงอยู่รอดอย่างผาสุก ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

คำถามคือ จะทำอย่างไร ให้สำเร็จอย่างยั่งยืน มากกว่าที่จะไปทำเช่นหน่วยราชการต่าง ๆ ของ รัฐ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวง มหาวิทยาลัย หรือโรงเรียน ที่ลอกตำราฝรั่งเอามาสอน สอนอย่างเดียวโดยไม่ได้คิดว่า การเรียนยุคใหม่เป็นแบบไหน

เผอิญว่าคุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยากับผม เพิ่งได้รับรางวัล HR TOP 100 ที่จัดโดย สถาบันทรัพยากรมนุษย์ของธรรมศาสตร์ ได้พยายามผลักดันให้สังคมไทย เป็นสังคมที่อุดมด้วย คุณธรรม ปัญญาและการเรียนรู้ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

ในการวิเคราะห์ผมและคุณพารณ เรามีทฤษฎี 4 L's เปรียบเทียบกันไว้

ทฤษฎี 4 L's ของคุณพารณ

Village that Learn หมู่บ้านเกิดการเรียนรู้

School that Learn โรงเรียนเกิดการเรียนรู้ 

Industry that Learn อุตสาหกรรมเกิดการเรียนรู้

Nation that learn ประเทศชาติเกิดการเรียนรู้

ทฤษฎี  4 L's ของดร.จีระ

Learning Methdology วิธีการเรียนรู้  

Learning Enivonment สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ 

Learning Opportunities โอกาสในการเรียนรู้

Learning Communities ชุมชนแห่งการเรียนรู้

            ใน 4 L's ของคุณพารณ ผมจึงดัดแปลงจาก Village that learn มาเป็น Isarn that learn เพราะหากชาวบ้านเป็นสังคมการเรียนรู้ได้ ภาคอิสานก็เรียนได้แน่นอน การได้รับการยกย่องเป็น HR TOP 100 ของประเทศไทย คงจะมีคำถามว่า

 " Can I contribute ? "

"ผมจะมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ของคนไทยอย่างไร"

วันนี้ คนไทยส่วนใหญ่จะทำงานไปวัน ๆ คนที่ไม่มี purpose ( เป้าหมาย ) จะไปเรื่อย ๆ คนที่เก่งก็คงจะเก่งเพื่อองค์กรหรือเพื่อตัวเองและครอบครัว อาจจะไม่ค่อยได้ช่วยสังคมเท่าไร

สัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง 3 วันเต็ม ตั้งแต่ 8.00 น. ของวันจันทร์ จนถึง 17.00 น.ของวันพุธ กับผู้นำท้องถิ่นในนครราชสีมาเกือบ 100 คน เป็นระดับนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) และระดับนายกเทศมนตรีหลายคน มาร่วมกันเรียนรู้ 4 เรื่อง

- การสร้างสังคมการเรียนรู้

- จิตวิญญาณประชาธิปไตยกับวัฒนธรรมไทย

- เศรษฐกิจพอเพียงกับโลกาภิวัตน์

- การพัฒนาภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลสูง โดยใช้หลักการของ The 7 Habits of Highly Effective People

 วิธีการเรียนคือเรียนแบบเน้นความจริง และเน้นตรงประเด็นที่นำไปใช้ ปรากฏว่า ได้ผลอย่าง มาก เพราะการเรียนใน

อดีต เป็นการเรียนที่ไม่เน้นตัวผู้เรียน และผู้สอนมักจะให้สาระมาก แต่นำไป ปฏิบัติไม่ได้ผล

เรื่องแรกคือ อิสานไม่ได้เน้นบริโภคปลา หรือมีคนเอาปลามาให้กิน เพราะกินเสร็จก็ต้องหิว ต้องกินอีก หรือรอให้คนเอามาให้ หากจะเน้นหาเบ็ดตกปลา ( ทฤษฎีพึ่งตัวเอง ) คือ การใฝ่หาความรู้ ตลอดชีวิต และวิธีการเรียนรู้ที่เน้นเอาไปใช้ประโยชน์โดยแลกเปลี่ยนให้ทุกคนมีความคิดเห็นร่วมกัน

นายก อบต. ท่านหนึ่งบอกว่า เห็นด้วยกับการสร้างเบ็ดตกปลาให้ อบต. แต่ต้องมีหลายคัน เพราะใน อบต. จะต้องทำงานร่วมกันกับหน่วยอื่น ๆ เช่น ตำรวจ ครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อนามัย พัฒนา ชุมชน ซึ่งแต่ละกลุ่มยังไม่มีเบ็ดตกปลา ผู้นำหลายคนจึงบอกว่า วันนี้ นายก อบต. เข้าใจ หน่วยราชการ อื่น ๆ ต้องเข้าใจด้วย

เพราะการมีเบ็ดตกปลา จะช่วยจริง ๆ 3 เรื่องใหญ่

- เรื่องแรก คือ การรับฟังและหาทางออกร่วมกันในปัญหาต่าง ๆ นายก อบต. ต้องฟังทุกฝ่าย จะต้องมีการบูรณาการความคิดกับชุมชนและทีมงาน อย่าบ้าอำนาจคนเดียว เริ่มแก้ปัญหาเช่น ภัย ธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง หรืออุบัติเหตุ มีการพูดถึงภาวะโลกร้อนจากธรรมชาติ หรือการแก้ปัญหา รายได้ตกต่ำ

 แต่ประเด็นที่เด่นมาก ๆ เกิดขึ้นแล้วคือ ได้แนวคิดแบบทฤษฎี "มหาสมุทรสีฟ้า" หรือ "Blue ocean" คือ การสร้างสังคมการเรียนรู้ จะต้องแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ สังคมหรือ วัฒนธรรม จะต้องสำรวจศักยภาพเสมอว่า มีอะไรที่มีคุณค่าของท้องถิ่นนั้น ๆ

 และประเด็นสุดท้ายคือ ทำ 1 + 2 ให้สำเร็จ และอดทน และอาจจะต้องมีการเชื่อมโยงกับกลุ่ม อื่น เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มข้าราชการ และกลุ่มธุรกิจ เช่น มีความคิดดี ๆ ถ้ามีโอกาสแล้ว ยังทำไม่ สำเร็จ อาจจะขาดวิธีการบริหาร การตลาด การเงิน คงจะต้องสร้าง Network เครือข่ายกับพันธมิตร ต่าง ๆ มีนายก อบต. จากอบต.คูขาด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมาชื่อคุณนิพนธ์ พันธ์วิศิษฎ์ ที่เป็น ครูเก่า บอกว่า การจัดสัมมนาของ อบต. ในอดีต ส่วนมากมาเซ็นชื่อแล้วหายไปหมด แต่หลักสูตรของ ผมใน 3 วันนี้ขาดไม่เกิน 10 % เขาจึงถามผมว่า จะช่วยต่อยอดให้อบต. คูขาดได้ไหม โดยช่วยจัด สัมมนาสร้างสังคมการเรียนรู้แบบ 4 L's ต่อคือ จะเชิญครู ตำรวจ กำนัน หน่วยราชการอื่น ๆ นักธุรกิจ ท้องถิ่น มานั่งฟัง และแสดงความเห็น

ผมดีใจและภูมิใจ ในคุณนิพนธ์มาก เพราะเป็นบุคคลประเภท Get thing done ทำจริงและ สำเร็จ ผมเป็นผู้หาเบ็ดตกปลา ที่ อบต.คูขาด บางครั้งเราเรียน แต่ไม่ได้นำไปใช้ ไม่ได้ต่อยอด ผมและ คณะจะไปที่ อบต.คูขาด ในวันที่ 18 กรกฎาคม เพื่อต่อยอดโดยสร้างสังคมการเรียนรู้ขึ้น

สุดท้าย น่าสนใจมาก ใครที่คิดว่า 7 Habits คงจะเกิดขึ้นได้ในผู้นำระดับสูงเท่านั้น ผมขอ ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ 7 Habits ที่เกิดขึ้นใน 3 วันคือ

- ควรมีการลำดับความสำคัญของงานในระดับท้องถิ่นให้ดี ผมชอบใจที่บอกว่า คนเรา ส่วนมาก จะทำงานด่วนและสำคัญ 90 % แต่งานสำคัญไม่ด่วนจะรอไปเรื่อย ๆ ทีมของ 7 Habits เห็น ว่างานสำคัญ มักจะไม่ด่วน เพราะถ้าด่วนคือ วิกฤติ เช่น วิกฤติของประชาธิปไตยคือ เราชอบเลือกตั้ง แต่ไม่เน้นการสร้างจิตวิญญาณประชาธิปไตย จึงมีปัญหาวิกฤติการเมืองตลอด ดังนั้น ควรปลูกฝัง วัฒนธรรมไทยในเรื่องประชาธิปไตยตลอดเวลา

การบริหารความเสี่ยงในเรื่องต่าง ๆ ที่ปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เน้นในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำบัญชีครัวเรือน หรือการปรับพฤติกรรมการบริโภคของที่ไม่จำเป็น หรือ การลด ละ อบายมุข เรามักจะผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ

สุดท้าย มีการให้ทำการบ้านของแต่ละคน กำหนดปณิธานของตัวเองว่า อีก 30 ปี อยากให้ ลูกบ้านหรือชุมชนมอง นายก อบต. อย่างไร คำถามตัวเองว่า " Who am I ?" ทำให้เราสำรวจ ค้นหา ตัวเอง ซึ่งสนุกมาก ทุกคนสามารถคิดดี ทำดีทั้งหมด แต่ชีวิตความเป็นจริง ไม่เคยได้มีโอกาสสำรวจการ กำหนด " ปณิธานของตัวเอง " จึงเป็นที่มาของ " Isarn that learn ครับ " ผมจะทำให้ครบ 5,000 คนครับ

 

เรื่องที่สาม คือ โครงการนี้จะจัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 2 ในวันที่ 23 – 25 กรกฎาคม 2550  ณ โรงแรมรอยัล พาเลส พัทยา ซึ่งในครั้งนี้ผมก็จะเน้นผู้นำท้องถิ่นที่จังหวัดนครราชสีมาอีกครั้งครับ แต่ตอนนี้มีหลาย ๆ ท่านจากจังหวัดอื่นที่สนใจก็มีติดต่อเข้ามาบ้าง ผมก็ยินดีต้อนรับครับ เพื่อที่จะได้มาร่วมโครงการกันต่อไปครับ

 

เรื่องสุดท้าย  ผมได้ทำข้อสรุปจากการทำวิจัยในรุ่นนี้ที่มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 90 คน ได้มีผู้ที่ร่วมตอบแบบสอบถามกันทั้งสิ้น 71 ท่านด้วยกัน ซึ่งผมก็ได้นำข้อมูลมาทำสรุปให้ท่านได้ทราบกันดังนี้ครับ

ข้อ 1 ผมได้ถามไปว่า ท่านคิดว่าภาวะผู้นำท้องถิ่น จำเป็นแค่ไหน มีผู้ตอบว่าจำเป็นระดับสูงมากถึง 74.65 % และบอกว่าจำเป็นระดับสูง ถึง 20%

ข้อ 2 คุณสมบัติของภาวะผู้นำในท้องถิ่นที่พึงประสงค์ ให้เลือก 3 ข้อ ซึ่งผมมีตัวเลือกดังต่อไปนี้

-          มีคุณธรรม

-          วางแผนเก่ง

-          การสื่อสารดี

-          มีความรู้พอเพียง

-          ตัดสินใจเด็ดขาด

-          มีการทำงานเป็นทีม

-          ยกย่องเพื่อนร่วมงาน

-          ไม่บ้าอำนาจ

-          ให้ลูกบ้านมีส่วนร่วม

-          อื่น ๆ

ซึ่งข้อ 2 นี้

อันดับ 1 ของคุณสมบัติของภาวะผู้นำในท้องถิ่นที่พึงประสงค์ก็คือ 67 คน จาก 71 คน หรือคิดเป็น 94.37% บอกว่า มีคุณธรรม

อันดับ 2 ของคุณสมบัติของภาวะผู้นำในท้องถิ่นที่พึงประสงค์ก็คือ 50 คน จาก 71 คน หรือคิดเป็น 70.42% บอกว่า มีการทำงานเป็นทีม

อันดับที่ 3 ของคุณสมบัติของภาวะผู้นำในท้องถิ่นที่พึงประสงค์ก็คือ 31 คน จาก 71 คน หรือคิดเป็น 43.67% บอกว่า ให้ลูกบ้านมีส่วนร่วม

ข้อ 3 ผมได้ถามว่า ถ้าจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการภาวะผู้นำ ท่านเห็นความสำคัญแค่ไหน มีผู้ตอบว่าเห็นสำคัญระดับสูงมากถึง 60.56 % และบอกว่าจำเป็นระดับสูง ถึง 46.47%

ซึ่งจากแบบสอบถามทั้ง 3 ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจในเรื่องภาวะผู้นำเป็นอย่างมาก ผมรู้สึกดีใจที่ทุกท่านเห็นความสำคัญของภาวะผู้นำ และในโอกาสต่อไปผมคงจะได้ให้ความรู้กับท่านในเรื่องภาวะผู้นำบ้างนะครับ

ผมขอจบการรายงานเกร็ดข้อมูลไว้แค่นี้ก่อนครับ และผมหวังว่าทุกท่านที่สนใจจะช่วยกันแสดงความคิดเห็น หรือท่านใดสนใจโครงการนี้ก็ติดต่อกันเข้ามาได้นะครับ ที่02-619-0512-3 หรือ ติดต่อผมผ่าน Blog นี้ได้เลยครับ  ขอบคุณครับ

จีระ  หงส์ลดารมภ์

กราบเรียน อาจารย์จีระฯ ที่เคารพ

    ผมนายอัครชัย ฯ จาก อ.ประทาย เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับการสัมนาในวันนั้น  มีประโยชน์มากๆครับ และอยากให้มีหลักสูตรต่อเนื่อง เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด เราจะพัฒนาได้อย่างมีประสิทธภาพ และประสิทธิผลก็ต้องเริ่มที่การเรียนรู้  

   หลังจากที่ผมกลับจากสัมนาในวันนั้น ผมก็ทำสรุปเสนอนายกฯ และนำเสนอโครงการที่ตั้งใจอยากทำโครงการหนึ่งคือ ธนาคารขยะร่วมใจ ของชุมชนประทาย รูปแบบคร่าวๆก็จะเน้นในการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มาก ตอนนี้กำลังจะเตรียมการไปศึกาดูงานที่พิมายครับ เพราะที่นั่นเขามีธนาครขยะที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว ที่สำคัญมันเกิดจากความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนเป็นต้นคิด วางแผน กำหนดทิศทาง โดยอาศัยงบประมาณจากท้องถิ่นน้อยมาก แต่อาศัยวัฒนธรรมความสามัคคีในชุมชนเป็นหลัก

   ผมเลยเสนอแนวคิดนี้ต่อนายกฯ และขออนุญาตินำเอาหลักทฤษฏี 4 L ของอาจารย์ มาใช้ในงานนี้ คาดว่าสิ้นเดือนนี้คงได้ไปดูงาน หลังจากนั้นผมจะเปิดเวที ให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็น และวางแผนร่วมกัน  ได้ผลเป้นประการใด ผมจะเรียนให้อาจารย์ ทราบเป็นระยะต่อไปครับ

   ด้วยความเคารพ

 อัครชัย  อมัติรัตนะ

อ. ประทาย จ.นครราชสีมา

 

 

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท