ภาค 2 ของ External surveyor


บุคคล "ต้นแบบ"

      ขอเล่าบรรยากาศการอบรมการเป็นผู้เยี่ยมสำรวจภายนอกของพรพ. ต่อนะคะ เนื่องจากว่ามีโอกาสเข้าร่วมการอบรมในวันสุดท้าย (23 ธันวาคม 2548) มีทั้งหมด 5 วัน บรรยากาศที่น่าประทับใจอยากจะเล่าสู่กันฟังนอกจากจะเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี แล้วก็มีบรรยากาศที่อบอุ่น ผู้เข้าอบรม (ท่านเดิม ที่แต่งกลอนเก่งมากๆๆๆ อ. อัศนี รพ.รามาธิบดี ไงคะ) ได้แต่งเพลง “ต้นแบบ” ให้ท่านผู้อำนวยการ ทำเอาท่านยิ้มแก้มแทบปริเลยนะคะ เนื่อร้องค่อนข้างจะมีภาษา ธรรมะด้วย ใครแปลออก รบกวนช่วยตอบด้วยนะคะ จะขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ เนื้อร้องมีดังนี้ค่ะ (ใช้ทำนอง รางวัลแด่คนช่างฝัน)

ต้นแบบ“ปิโย”  ท่านน่ารัก ทุกยาม   
อยากจะติดตาม เข้าไถ่ถามและปรึกษา
กอปร์“ครุ”ทุกคราว  น่าเคารพทุกทีท่า
ภูมิปัญญา  “ภาวนีโย”ยกย่อง
เมื่อกล่าววาจา  ก่อแต่ผลที่ดี
“วัตตา_จ”มี  จึ่งผู้ใหญ่ท่านสนอง
“วจนักขโม”  อดทนฟังเรื่องเกี่ยวข้อง
ตามครรลอง “กัลยาณมิตรธรรม”   นำไป
“คัมภีรัญ(จ)  กถังกตา”   
เรื่องยากสา-มารถ   อธิบายได้
และไม่แนะ  ในเรื่องเหลวไหล 
ใจจำ“โน -  จัฏฐเน....นโย........ชเย”
รุ่นหนึ่งอบรม หลักสูตรESเรา
จึ่งจิตคงเนาว์  ด้วยความดีท่านเสมอ
ถ้วนทุกทิศ ทั่วไทย  ประโยชน์ไซร้ มีล้นเอ่อ
ตามรอยเจอ  เป้าปลอดภัยช่วยผู้ป่วย  ได้จริง
                                “.......................”             
ท่านนำหนุน  HAที่ดียิ่ง
ผองเราซึ้ง พระคุณท่านจริง    
อิงในพร จากคุณพระคุ้มครองท่าน
“ให้ปลอดภัยดี  ให้สุขีทุกครา”
                                      

และท่านผอ.ได้แนะนำ weblog ให้ผู้เข้าอบรมได้ใช้ประโยชน์ด้วยค่ะ คงจะมีชุมชน ES รุ่น 1 เร็วๆ นี้ค่ะ (โปรดติดตามตอนต่อไป)
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 10588เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2005 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 08:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ธรรมะเรื่องกัลยาณมิตรนี้ อ.นพ.ธวัช จายนียโยธินมาบรรยายให้ พรพ. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2541  แล้วก็ได้ส่ง file ให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตรศึกษาล่วงหน้า จึงขอคัดลอกมาเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้ ครับ

คำบรรยายเรื่องธรรมะกับการเป็นโค้ช โดย อ.นพ.ธวัช จายนียโยธิน


            รู้สึกดึใจมากที่ได้มาพูด  ได้มาพบพวกเราหลายคน  ท่านประธานได้พูดไว้อย่างน่าประทับใจ  คิดว่าน่าจะได้ร่วมงานกันต่อไป  ตอนแรกผมคิดว่าจบแล้วจะไปทำอย่างอื่น  แต่ดูแล้วมันเข้าท่าน่าจะไป รพ.นพรัตน์ด้วย

            ผมใช้เวลาเตรียมที่จะมาบรรยาย 3-4 อาทิตย์  แต่พอใจที่จะใช้คำว่าโค้ช  มีความรู้สึกไม่ดีกับผู้ตรวจราชการหรือผู้นิเทศ  เหมือนกับเป็นยักษ์  ยิ่งมีกระบองก็ยิ่งเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี  ชอบใช้การใช้คำว่าเป็นโค้ช

            ตามความหมายของโครงการ  เราจะทำหน้าที่เป็นอะไร  อยากจะใช้กับว่าผู้แนะนำ  surveyor แปลว่าผู้สำรวจ ก็ดีเหมือนกัน  หวังว่าคงจะตกลงกันได้ว่าจะเรียกอะไร

            กิจกรรมจริงๆ คือการเป็นผู้ประเมินจากภายนอกองค์กร  พวกเราเข้าสังเกต ไปสำรวจ  

            หน้าที่ของโค้ชตาม HA ทำหน้าที่เป็นผู้สำรวจ  เราสำรวจอะไร  ชอบใจมากที่เขียนว่าเราไม่ได้ไปจับผิดเขา  แต่เราไปสำรวจดู
            1. ความมุ่งมั่นในการพัฒนาแค่ไหน  สำคัญมากเพราะเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ
            2. คุณภาพของระบบงาน
            3. ผลลัพธ์


            เราจะไปประเมินเมื่อร้องขอ  ประทับใจมากว่าจะทำโดยที่เขาขอให้เราไปทำ  เราจะไปดูอะไร  เราก็ไปดูว่า รพ.ที่เขาเชิญเราไปดูนั้น ทางด้านโครงสร้างเป็นอย่างไร  มีอะไรที่จะพัฒนาให้ดีขึ้น  ดูกระบวนการทำงาน  ผมเพิ่งไปแอบดูกระบวนการทำงานของ รพ.สมุทรสาคร รู้สึกมันดี  และสุดท้ายคือดูผลลัพธ์  จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร


บทบาทของโค้ช
1. ให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงมาตรฐาน รพ.
2. เข้าร่วมประชุมเครือข่ายวิชาชีพต่างๆ
3. จัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ
4. เยี่ยม รพ.เพื่อประเมินโอกาสการพัฒนา
5. ประเมินว่า รพ.ได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ให้ไว้เพียงใดเพื่อการรับรองคุณภาพ
บทบาททั้งหลายเป็นไปในเชิงบวกทั้งนั้น


คุณสมบัติของโค้ชที่พึงปรารถนา
1. เป็นผู้บรรลุวุฒิภาวะแบบไทย  มีความสนใจในรูปลักษณ์  รู้จักเหตุผล  อดทน  จิตใจรับใช้สังคม
2. มีความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพนั้นๆพอสมควร
3. เป็นผู้เข้าใจเรื่องการเรียนการสอนของผู้ใหญ่  การบอกอะไรกับผู้ใหญ่ยากกว่าสอนเด็ก  ผู้ใหญ่มีคุณสมบัติพิเศษคือถ้าเขาไม่ปรารถนาเขาจะไม่ทำ  เราต้องมองว่าจะกระตุ้นให้เขาเกิด need ตรงไหน  ถ้าเกิดขึ้นมาเขาจะรีบทำทันที  ขอให้เราใช้วิจารณาญาณให้ดี  เราจี้ตรงนั้นเขาจะทำทันทีไม่ต้องไปจี้มาก  จะพูดกับผู้ใหญ่อย่าพูดเชิงลบเด็ดขาด  ต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ  แม้จะเห็นว่าไม่ดีก็ให้บอกว่าดีไว้ก่อน  แต่ไปกระซิบทีหลังว่าที่ว่าดีนั้นยังไม่ถึงขั้น
4. เป็นผู้เข้าใจความสำคัญและความเชื่อมโยงของบริการสาธารณสุขทั้ง 4  สาขา  คงคำนึงถึงการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพด้วย  เช่น เมื่อรับผู้ป่วยอุจจาระร่วงอย่างแรง  ควรจะรีบบอกให้ สสจ.ไปจัดการ  เรื่องข้อมูลข่าวสาร  เรื่องห้องชันสูตรซึ่งมีความสำคัญที่จะยืนยันการวินิจฉัยของแพทย์

ธรรมะที่เอื้ออำนวยต่อการเป็นโค้ช
            ความหมายของธรรมะคือ ธรรมชาติ  หน้าที่ตามธรรมชาติ  ผลที่ได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่  คำสอนควรจะเรียกว่าศาสนา


ก.กัลยาณมิตรธรรม
            1) ปิโย  น่ารัก  ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษาไถ่ถาม
            2) ครุ น่าเคารพ  ประพฤติสมควรแก่ฐานะ
            3) ภาวนีโย  น่ายกย่อง ทรงความรู้และภูมิปัญญา ควรเอาอย่าง
            4) วัตตา จ  รู้จักพูดให้ได้ผล  เป็นที่ปรึกษาที่ดี  (ผู้ใหญ่ไม่ชอบสั่ง) 
            5) วจนักขโม  อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟัง ไม่เบื่อง่าย  (ฟังให้จบ  ยิ้มเข้าไว้  ถ้าไม่อดทนจะไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร)
            6) คัมภีรัญจ กถัง กัตตา  สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจ  (เป็นพรสวรรค์ 
            7) โนจัฏฐเน นโยชเย  ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล

ข.พรหมวิหาร 4 ธรรมประจำใจอันประเสริฐ
            ผมเปลี่ยนจากเสือมาเป็นแมวได้อย่างไร  ผมชอบล่าสัตว์  ผมบอกว่าสัตว์นั้นมันถึงที่ตายเพราะหันมามองไฟ  ถ้าผมเดินช้าไปนิด หรือมันเดินเร็วไปหน่อยมันก็ไม่ตาย  ท่านอ.จวนถามว่าจบหรือยัง  ท่านบอกว่าสัตว์มันจะถึงที่ตายทำไมหมอต้องเอามือไปเปื้อนเลือด  หลายต่อหลายคนขอก็ยังไม่ได้  พอมาเจอ อ.จวน  ท่านไม่ได้บอกให้เลิก  ผมหาเหตุผลตอบท่านไม่ได้จึงกัมลงกราบและวางปืนตั้งแต่นั้นมา  ตั้งแต่นั้นวิถีชีวิตเปลี่ยน  มันเกิดเมตตาธรรมขึ้นมาทีละน้อย  เห็นนกก็สงสารมัน  คิดว่าเมื่อก่อนทำไมฆ่าเขาได้  เห็นนกเกาะอยู่อยากรู้ว่าเป็นนักอะไรก็ยิงถาม  เอามาปิ้งกิน  เดี๋ยวนี้ทำอย่างนั้นไม่ได้เพราะธรรมะ
            1) เมตตา  ความรักใคร่  พวกเราควรจะมีเมตตา  คงจะไม่เมตตากับผู้ที่มารับคำแนะนำจากเรา  ให้แผ่เมตตาไปยังผู้มารับบริการด้วย  วิชาระบาดวิทยามีการแลกเปลี่ยนกันทั่วโลก  มีการแผ่ไปช่วยเหลือกันทั่วโลก
            2) กรุณา  ความสงสาร  เราอยากให้ผู้มารับบริการได้พ้นจากความทุกข์โดยเร็วที่สุด
            3) มุทิตา  ความยินดี  เวลาไปประเมินก็ควรจะดีใจด้วยกับ รพ. ที่มาตรฐานเขาดีขึ้นตามลำดับ
            4) อุเบกขา  ความวางใจเป็นกลาง  เราไปให้ข้อเสนอแนะให้มาตรฐานเขาดีขึ้น  ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องวางใจให้เป็นกลาง  ว่าอีกหน่อยเขาก็ต้องดีขึ้น  ไม่ใช่ไปว่าให้เขาเสียหาย

ค.อคติ
            1) ฉันทาคติ  ลำเอียงเพราะรัก
            2) โทสาคติ  ลำเอียงเพราะชัง
            3) โมหาคติ  ลำเอียงเพราะหลง

ง. อิทธิบาท 4 คุณธรรมไปสู่ความสำเร็จ
            1) ฉันทะ  ความพอใจในคุณค่าของสิ่งที่เราทำ  งานของเรามีประโยชน์ต่อมนุษยชาติ  เราก็พอใจ  ต่างจากตัณหาซึ่งเป็นความพอใจในรสชาด
            2) วิริยะ  ความพากเพียร
            3) จิตตะ  ความเอาใจใส่
            4) วิมังสา  ความไตร่ตรอง 
 
            การนำธรรมะไปสู่การปฏิบัติที่มั่นคงและยั่งยืน  จะต้องใช้ปัญญาสัมปทา  คือ  ความถึงพร้อมซึ่งปัญญา  ที่ช่วยให้เข้าใจชีวิตนี้ตามความเป็นจริง

            ควรจะรักษาศีล  ฝึกจิตให้สงบ  แล้วปัญญาจะเกิดขึ้น  แต่มันไม่ได้เป็นเส้นตรง  มันเป็นวง  ก่อนที่จะเริ่มรักษาศีลจะต้องมีปัญญาหน่อยๆ

            ถ้าท่านรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ได้ครบ 24 ชม.  จะเกิดความวิวิสมาหลาขึ้นในดวงจิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท