ได้เวลาลงมือ... เร่งเครื่องเศรษฐกิจให้เดินหน้า


ต้องยอมรับจริง ๆ ว่า ขณะนี้ภาคเศรษฐกิจตกอยู่ในห้วงของ "การคาดหวัง" โดยเฉพาะคาดหวังที่จะได้เห็นเศรษฐกิจดีขึ้นในระยะต่อ ๆ ไป และจำได้หรือไม่ว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว เราหลายคนก็หวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในต้นปี 2550  แต่พอสถานการณ์การเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน มีอันต้องปั่นป่วน จนถึงวันนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหาทางลงเจอ ได้ฉุดรั้งเครื่องยนต์ ทั้งการลงทุนและการบริโภคเอกชน ให้ดำดิ่งลงในช่วงต้นปี  ในที่สุดระบบก็เริ่มกระบวนการคาดหวังอีกครั้งว่า ครึ่งหลังปีนี้บรรยากาศการเมืองจะผ่อนคลาย ความเชื่อมั่นจะกลับมาและเศรษฐกิจไทยจะเริ่มโงหัวขึ้นได้อีกครั้ง "ประชาชาติธุรกิจ" ฉบับนี้ จึงรวบรวมและนำเสนอความเห็นของ "หมอดูเศรษฐกิจ" หรือนักเศรษฐศาสตร์บางส่วน ที่ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีหลังและแนวโน้มเริ่มที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทย         มีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังต้องรอการคลี่คลายทางการเมืองในช่วงสิ้นปี และรอแรงส่งจากการใช้จ่ายที่แผ่วลงมากในช่วงต้นปี ซึ่งหากการใช้จ่ายฟื้นกลับมา เศรษฐกิจจะเข้าสู่วัฏจักรใหม่และเดินหน้าใหม่อีกครั้ง พร้อมกันนั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายยังจะเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุน เพราะที่ผ่านมาแม้สถานการณ์ไม่นิ่ง ยังมีนักธุรกิจบางกลุ่มเดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจว่าจะเติบโตได้ในอนาคตหลังการเมืองเรียบร้อย โดยเชื่อว่าการใช้จ่ายและการลงทุนจะฟื้นตัวได้ทัน เพื่อเข้ามาเสริมการส่งออกที่อาจจะชะลอลง      ในระยะต่อไป หลังจากขยายตัวมากในช่วงที่ผ่านมา   "มุมมอง ธปท.ยังเหมือนเดิม เศรษฐกิจขยายตัวได้ในกรอบ 3.8-4.8% ซึ่งไม่ใช่ระดับเลวร้ายในสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ โดยครึ่งปีหลังจะมีความพร้อมมากขึ้น เงินเฟ้อ ก็ไม่เป็นปัญหา ดอกเบี้ยก็ลงมาแล้วหลายครั้งและสถาบันการเงินตอบสนองค่อนข้างเร็ว การใช้จ่ายภาครัฐก็เร็วและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวสร้างความมั่นใจ และผลของนโยบายต่าง ๆ จะเห็นในครึ่งปีหลัง สถานการณ์ ทางการเมืองก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องมีความชัดเจน ทุกคนอยากให้สถานการณ์เรียบร้อยจะได้เดินหน้ากันต่อ"นางธาริษากล่าวว่า แม้คาดว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะดีขึ้น คงไม่ใช่ประเด็นที่ว่าจะปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก จากขณะนี้ลดไปแล้ว 1.50% เหลือ 3.50% เพระการทำนโยบาย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดูประเด็นการเติบโตของเศรษฐกิจ ว่า ณ เวลาประชุมเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยลงความเห็นว่าควรคงหรือลงดอกเบี้ยต่อ แต่หากมองขณะนี้เงินเฟ้อก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้น้ำมันขาดตลาด  "ทิศทางดอกเบี้ยตอนนี้ค่อนข้างผันผวน คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ กนง. จะต้องดูทั้งการเติบโตและเงินเฟ้อประกอบกัน ถ้าเงินเฟ้อไม่มีปัญหาและเศรษฐกิจต้องการกระตุ้นดอกเบี้ยก็ลงได้อีก แต่ถ้าเศรษฐกิจนิ่งและเงินเฟ้อสูงขึ้น กนง. ก็คงต้องหยุดและรอทิศทางเศรษฐกิจ โดยรวมแล้วตอนนี้ดอกเบี้ยคงไม่ขึ้น แต่ลงหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อมูลการลงทุน" นางธาริษากล่าว นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยระยะต่อไปยังมีเสถียรภาพ ปีนี้คงขยายตัวได้ 4-4.5% โดยการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเติบโต 12.4% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้น โดยเดือน พ.ค.รัฐบาลเบิกจ่ายไปแล้ว 51.74% และรัฐวิสาหกิจเบิกจ่าย 67.7% (ณ สิ้น มี.ค.) ของงบฯ ลงทุนปี 2550     "การนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นในเดือน เม.ย. ที่ขยายตัว 11.2% โดยเป็นการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น 8.6% เป็นสัญญาณของความต้องการสินค้าทุนที่จะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเอกชนในไตรมาสที่ 2/2550 และช่วงที่เหลือของปี" นายอำพนกล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ให้ได้ตามเป้า 93% และรัฐวิสาหกิจ 85% ติดตามโครงการกระจายเม็ดเงินสู่พื้นที่ระดับหมู่บ้าน  จัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2551 ให้ได้ตามกำหนด และทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 1.65 แสนล้านบาท ตลอดจน การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการลงทุน อุตสาหกรรม ด้วยการสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจการเมือง โดยเฉพาะการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามกำหนดนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.8-4.5% โดยมีแรงหนุนจากการส่งออก และการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของภาครัฐ  ที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลัง ซึ่งต้องจับตาดูว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันการใช้จ่ายที่เหลือออกไปได้มากเพียงใด  พร้อมกันนั้น ยังคาดหวังจะได้เห็นบรรยากาศเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งได้ตามกำหนด ชัดเจนว่าพรรคใดจะเข้ามาบริหารประเทศ และมีนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร  อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลังของปียังมีประเด็นสำคัญที่อาจเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ย.2550 ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีผลต่อภาษีนำเข้าและโควตาพิเศษของญี่ปุ่น ที่มีทั้งผลบวกและลบ กล่าวคือ ไทยอาจได้ประโยชน์ด้านการขยายตลาดส่งออกและได้ลดภาษีนำเข้า   แต่ขณะเดียวกัน การเข้ามาของญี่ปุ่นจะส่งผลด้านลบต่อบางอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร และประเด็นถูกสหรัฐลดระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา สู่บัญชีจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นประเทศเดียว    ในอาเซียนที่อยู่ในระดับนี้ จนอาจเป็นผลให้ความน่าสนใจลงทุนในไทยลดลง นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในครึ่งปีหลังยังแข็งค่าขึ้นได้อีก จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปีนี้คาดว่า     จะเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีก่อน 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 4-4.5% และปรับตัวดีขึ้นเป็น 5.5% ในปี 2551 โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์การเมืองที่ดีขึ้น มีการเลือกตั้งที่อย่างช้าต้นปีหน้า การบริโภคและการลงทุนเริ่มฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยมีโอกาสลดลงได้อีก ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ไม่เท่าปีที่ผ่านมา ดังกล่าวคือ คำทำนายและความคาดหวังจากหลายสำนัก แต่ในความเป็นจริงเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครคิดหรือหวังว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มีบทบาทในระบบ ตั้งใจและลงมือขับเคลื่อนจริงใจเพียงใดประชาชาติธุรกิจ  21  มิ.ย.  50
คำสำคัญ (Tags): #ภาวะเศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 105089เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2007 11:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท