รักษาใจด้วยธรรมะ


การพัฒนาจิตตามหลักพุทธธรรม ถือว่าเป็นวัคซีนสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งจะนำพาความสุขแห่งชีวิตมาให้
วันนี้ขอนำเรื่องของธรรมมะมาให้อ่านค่ะซึ่งคัดลอกมาบางส่วน จากหนังสือ  Healthtoday ฉบับที่ 36 เดือนมีนาคม 2547 เขียนโดยพระมหาประดิษฐ์      จิตตสังวโร

ธรรมโอสถ วัคซีนสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีการ
การพัฒนาจิตตามหลักพุทธธรรม ถือว่าเป็นวัคซีนสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งจะนำพาความสุขแห่งชีวิตมาให้ ตามธรรมชาติของมนุษย์เรามีความปรารถนาพื้นฐานที่เหมือนกันอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ

1. ความร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย เพื่อสามารถใช้อำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิตและความมีฐานะทางสังคม นำมาซึ่งยศ ตำแหน่ง บริวาร การนับถือของสังคม ความร่ำรวยมาจากความขยัน อดออม

2.ความมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไม่ป่วย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน มีพลานามัยที่ดี มีอายุที่ยืนยาว ความมีสุขภาพดีช่วยให้ประหยัดค่ายาค่ารักษาได้อีกมาก สุขภาพดีมาจากการออกกำลังกาย

3.ความสุขใจ ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่เราต่างดิ้นรน ขวนขวายกันทุกวันนี้ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขใจ ทุกชีวิตต่างปรารถนาและแสวงหาซึ่งความสุข ทำให้หลายคนต้องยอมทุกข์ยากลำบากในการดำเนินชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข ความสบายใจในอนาคต

ใน 3 อย่างนี้หากให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งคุณจะเลือกอะไร
ความทุกข์เป็นสิ่งที่คนเราพยายามหลีกหนี ถอยห่างไม่อยากพบเจอ โดยธรรมชาติแห่งสัญชาติญาณของมนุษย์ คือรักสุข เกลียดทุกข์ แต่ทำไมมนุษย์ส่วนมากจึงพบเจอแต่สิ่งที่ตนพยายามหลีกเลี่ยง ยิ่งหนีก็ยิ่งเจอ ความสุขกับความทุกข์เป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับความสว่างกับความมืด เราเข้าไปในห้องมืด ๆ พอเปิดสวิตซ์ไฟ ความมืดก็หายไป ความสว่างมาแทนที่ ความทุกข์ใจก็เช่นกัน เพียงแต่เรารู้การเปิดสวิตซ์ไฟแห่งปัญญา ความสุขก็จะมาเยือน สว่างตาด้วยแสงไฟ สว่างใจด้วยแสงธรรม ก็ต้องแสวงหาไฟแห่งปัญญา คือหลักธรรมเข้ามาแทนที่ เพราะแสงสว่างอื่นใดจะเปรียบแสงสว่างแห่งปัญญานั้นไม่มีการพัฒนาจิต สู่การมีสุขภาพจิตที่ดีต้องเริ่มจากการพัฒนาความคิด หรือตัวปัญญาคือธรรมะในทางพุทธศาสนา ด้วยการศึกษาและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจึงจะสัมฤทธิ์ผลตามปรารถนาได้จะขอยกเอาหลักการปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อพัฒนาจิตที่อาจารย์วศิน   อินทสระ นักปราชญ์ท่านหนึ่งของพุทธศาสนาได้เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งบรรยายที่ธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2530 และเขียนไว้ในหนังสือ บนเส้นทางสีขาวซึ่งใช้ได้กับการพัฒนาจิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดี มีหลักปฏิบัติดังนี้           
 1. ความอ่อนน้อมถ่อมตนและนิยมยกย่องผู้อื่น เราทุกคนไม่ชอบความเย่อหยิ่งจองหอง แต่ชอบคนอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าอยากให้เขาเกลียดชังก็จงเย่อหยิ่ง จองหอง ยกตนข่มผู้อื่น ถ้าอยากให้เขารักก็จงอ่อนน้อมถ่อมตนต่อคนทุกประเภท วางตนให้เหมาะสม เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ประพฤติตามอารมณ์ตน หรือคิดแต่จะให้ผู้อื่นเข้าใจตนแต่ตนไม่เข้าใจใคร ควรฝึกตนให้เหมือนน้ำทำประโยชน์ทุกอย่างแล้วไหลลงต่ำอ่อนโยนละมุนละไมแต่มีอานุภาพยิ่งนัก ยิ่งคนที่มีความดีมากก็ยิ่งอ่อนน้อมถ่อมตน มาเย่อหยิ่งอวดดี คุณสมบัติของผู้อ่อนน้อมถ่อมตนมาก็คือ การรู้จักนิยมยกย่องผู้อื่นด้วยใจจริง จึงเป็นที่สำราญใจของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างยิ่งเขาจะจดจำติดอยู่ในใจเป็นเวลานานแสนนานแม้เวลาจะผ่านไปเท่าไรก็ตามแต่คำยกย่องนั้นสดใสอยู่ในใจของผู้ฟัง           
2. การรู้จักตัดตอน มนุษย์เรายังมีกิเลสอยู่ ย่อมทำดีบ้าง ชั่วบ้าง คนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีก็ต้องเคยทำความชั่วบ้างหรืออย่างน้อยก็อยู่ในใจคนที่ใคร ๆ พากันเห็นว่าเป็นคนชั่ว ก็คงเคยทำความดีมาบ้าง ภายหน้าอาจเป็นคนดีมาก ๆ ก็ได้ ผู้มีปัญญาจึงไม่ควรตัดสินคนด้วยการกระทำเพียงครั้งเดียวสองครั้งของเขาจะเป็นเช่นนั้นตลอดชีวิต บัณฑิตต้องรู้จักตัดตอน คนที่เคยทำชั่วเมื่อเขาสำนึกชั่วแล้วมิใช่ว่าจะกลับเป็นคนดีไม่ได้ ควรให้โอกาสแก่คนเพื่อเขาจะกลับเป็นคนดี           
3. กล้าสู้กับความทุกข์ยาก ความทุกข์ยากเป็นฤดูกาลของชีวิตเหมือนต้นไม้ที่ต้องผ่านฤดูทั้ง3 จึงจะเจริญงอกงามได้ ความทุกข์ยากลำบากทำให้เราเข้าใจตนเอง เข้าใจเพื่อนและญาติ ภรรยาสามีดีขึ้น ผู้มีจิตใจเข้มแข็ง เมื่อมีความทุกข์ยากย่อมเข้มแข็งมากขึ้น ตั้งหน้าทำความดีมากขึ้นเพื่อเอาชนะความทุกข์ยากนั้น           
โปรดพิจารณาข้อความต่อไปนี้
1. ไฟนั้นทำลายไม้และสิ่งอื่น ๆ เป็นอันมาก แต่ทำให้เหล็กแข็งขึ้น เหล็กที่ผ่านไฟแล้วเป็นเหล็กกล้าฉันใด ความทุกข์ยากลำบากได้ทำลายคนธรรมดาให้สิ้นหวังเสียคนไปมากแล้ว แต่สำหรับมนุษย์เหล็กคือคนเข้มแข็ง ความทุกข์ยากลำบากทำให้เขาเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นฉันนั้น
2. ตักน้ำใส่ตุ่มเพียงขัน สองขันมองไม่เห็นน้ำเลย แต่เมื่อตักบ่อย ๆ เข้าเป็นร้อย ๆ ขันน้ำย่อมเต็มตุ่ม ฉันใด การทำความดีเพียงเล็กน้อยจะไม่ค่อยปรากฏ แต่พอทำมาก ๆ เข้าความดีก็ปรากฏและเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยความดีฉันนั้นในการนี้จะต้องมีความอดทนและความเพียรพยายามอย่างสม่ำเสมออย่าท้อแท้ง่าย ๆ
3. ผลงานเป็นค่าอันแท้จริงของตน ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ถ้าเขายิ่งทำงานใหญ่ได้แสดงว่าเขามีความยิ่งใหญ่อยู่ภายในไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่แบบมาเฟีย ทรงอำนาจราชศักดิ์ แต่หมายถึงยิ่งใหญ่ทางการงานในหน้าที่ของเขาอาจเป็นนอตตัวหนึ่งของเรือเดินทะเล แต่เป็นนอตที่มีคุณภาพ ปราศจากปัญหา เรือลำนั้นจะไม่จมเพราะนอตตัวนี้แม้เขาจะเป็นคนใหญ่หรือคนเล็กของสมาชิกทีมงานในองค์กรใดก็ตามเขาจะเป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
4. แม้สถานการณ์จะส่อไปในทางที่ทำให้เรารู้สึกน่าจะสิ้นหวังแต่เราต้องไม่หมดหวังเสียโดยง่าย คิดไว้เสมอว่าเมื่อเรายังมีความหวังแต่ความเพียรอย่างสม่ำเสมอก็ย่อมต้องพบช่องทาง เมื่อประสบความทุกข์ยากลำบากขอให้มีความอดกลั้นทนทานและรักษาความสงบใจไว้ก่อน ดังคำกล่าวของหลินอยู่ถังที่ว่าความสงบที่แท้จริงของดวงจิตนั้นมาจากการยอมรับสิ่งที่เลวร้ายที่สุด(True peace of mind come from accepting the worst )
5. หัดให้รางวัลแก่ตัวเองเสียบ้าง อย่าหวังรางวัลจากผู้อื่นหัดชื่นชมตนเอง มิใช่คอยแต่จะลงโทษซ้ำเติมตัวเองอยู่ร่ำไป แต่ขอให้ชื่นชมอยู่เงียบ ๆ แอบภูมิใจในตนอยู่เงียบ ๆ เหมือนดอกไม้บาน หัดซื้อของขวัญให้ตนเองเสียบ้าง เช่นวันเกิดของเรา วันเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเรา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาความระทมทุกข์ ความเศร้าหมอง อันเนื่องมาจากความคิดว่าไม่มีใครเอาใจใส่ต่อเรา ไม่มีใครให้ของขวัญหรือรางวัลแก่เรา6. การช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนอง คนเราต้องพึ่งพาอาศัยกันก็จริง แต่คนที่เราพึ่งได้มากที่สุดก็คือตัวเราเอง พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน และตรัสต่ออีกว่าตนที่ฝึกดีแล้วย่อมได้พึ่งซึ่งได้โดยยาก การฝึกตนก็ต้องฝึกจิต จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำมาซึ่งความสุข การพึ่งตนได้นั้นเป็นความภูมิใจ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ การทำงานเป็นวิธีการอันสำคัญอย่างหนึ่งของการพึ่งตนเองพยายามช่วยเหลือตนเองจนสุดความสามารถ           
 หลัก 6 ประการนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นของการฝึกพัฒนาจิต ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และมีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งพื้นฐานเหล่านี้เป็นการยอมรับความทุกข์ เปิดใจกับมันและเก็บเกี่ยวทัศนคติในแง่ดีของความเป็นไปในชีวิต ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการเยียวยาทางจิต เป็นวัคซีนเสริมสร้างสุขภาพจิตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานแก่พวกเรา ดังพุทธพจน์ที่มาในอุทานวรรคว่า 

ถ้าเธอปรารถนาความสุขทั้งปวง            จงสละความยากทั้งหมดโดยการสละความยากทั้งปวง                 เธอจะพบกับความสุขสูงสุดเมื่อเธอเห็นด้วยปัญญา  ว่าสิ่งทั้งหลายปราศจากตัวตนเธอก็จะไม่ถูกทำร้ายด้วยความทุกข์

อ่านแล้วเป็นอย่างไรบ้างค่ะ ตัวดิฉันเองก็พยายามที่จะปฏิบัติตามทำได้บ้างไม่ได้บ้างแต่ก็จะพยายามต่อไปค่ะเพื่อตัวเองและคนรอบข้าง

หมายเลขบันทึก: 104759เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2007 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • น่ารักจริงๆ ที่ขยันหาของดีมาฝาก
  • ขอบคุณค่ะ
  • เป็นวัคซีนที่ดีทีเดียว
  • อ่านแล้วรู้สึกว่านำมาใช้กับชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี ก็เลยอยากจะให้คนอื่นได้รู้ด้วยคะ
  • ขอบพระคุณคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท