จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร


จิตตปัญญาศึกษา

จิตตปัญญาศึกษาคืออะไร

ในโลกของการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ในปัจจุบันได้เดินทางมาถึงจุดที่ต่างตระหนักและเห็นพ้องร่วมกันว่าต้องมีการทบทวนสร้างใหม่อย่างขนานใหญ่ การศึกษาวิชาการนอกตัวเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆ และไม่สามารถนำพาสังคมไปสู่สุขภาวะได้ การแสวงหาทางเลือกให้กับสังคมและมนุษยชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพด้านในของมนุษย์ ทั้งในเรื่องจิตใจและปัญญานั้น จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวพ้นขอบเขตของศาสตร์ต่างๆ ที่ตายตัว เสมือนการต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิม โดยเพิ่มศักยภาพของความเป็นมนุษย์ในสายอาชีพและวงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักการสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา นักพัฒนา นักบริการ สถาปนิก วิศวกร นักธุรกิจ สื่อมวลชน และอื่นๆ ให้มากขึ้น อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นในปัจจุบัน มนุษย์ควรอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเสมอภาคเท่าเทียม มีความเคารพซึ่งกันและกัน แม้จะมีระดับความแตกต่างหลากหลายในสังคมอย่างมากก็ตาม ท้ายที่สุดกระบวนการเหล่านี้ จะสร้างสังคมคุณธรรม นำสันติภาพให้เกิดกับผู้คน ดังนั้น ความรู้ที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ดังกล่าว นับว่าเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้และควรค่าแก่การค้นคว้าวิจัยเป็นอย่างยิ่งกระบวนการแห่งการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพเพื่อลดช่องว่างและข้อจำกัดของการเรียนรู้ของมนุษย์ จำเป็นต้องก้าวพ้นข้อท้าทายอย่างน้อย 4 ประการคือ1.   มุ่งสร้างระบบการเรียนรู้ (ระบบการศึกษา) เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ที่มุ่งเสพมากกว่าการสร้าง สู่การเรียนรู้ที่ยกระดับจิตตปัญญาเพื่อเป็นพื้นฐานให้มนุษย์พัฒนาศักยภาพสูงสุดของตนเองในการเรียนวิชาความรู้และความจริงภายในตนเองควบคู่กันไป2.   ปรับเปลี่ยนทัศนคติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม ให้เป็นไปด้วยท่าทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยการฝึกใช้ปัญญา สร้างทักษะของการใช้ปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ (เป็นกัลยาณมิตร) และเป็นความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลกัน การช่วยเหลือกัน การมีวาจาที่เป็นมิตร เป็นสาระประโยชน์ ให้ความจริงและให้กำลังใจกัน การมีไมตรีเห็นอกเห็นใจกัน รวมทั้งสร้างทัศนคติที่ว่ามนุษย์ทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน3.   ยกระดับวัฒนธรรมแห่งศักดิ์ศรี คุณค่า ความดีงาม และการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงเป็นวาระแห่งการอยู่รอดของสังคมไม่เฉพาะแต่กับผู้คน แต่จะเกิดผลไปถึงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้ยั่งยืน ด้วยความสมดุล โดยการฝึกเรียนรู้จากธรรมชาติและชุมชนแห่งการผลิตพื้นฐาน เห็นคุณค่าของผู้อื่น เห็นความดี เห็นความงามและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข4.   เสริมกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ตั้งแต่การรู้จักความรู้ที่มีอยู่ในตัว (Tacit Knowledge) การใช้ความรู้นั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ได้จริง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อยอดความรู้ ทดลองใช้ในบริบทต่างๆ จนถึงการประมวล สังเคราะห์เป็นความรู้ใหม่ที่ยังประโยชน์ได้กว้างขวาง เกิดความเชื่อมั่นในความรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในบริบทของสังคม และมีความมั่นใจรู้เท่าทันในการสร้างและใช้เทคโนโลยีต่างๆ ตามความเจริญของสากลโลกหลายองค์กรทั่วโลก ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงเกิดปรากฎการณ์ที่หลายต่อหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ มีการสอดแทรกเรื่องการพัฒนาจิตและปัญญาเข้าไปในบทเรียน ตัวอย่างเช่น การรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าหลายแห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งสถาบันชื่อ The Contemplative Mind in Society, โครงการ The Spirituality in Higher Education Project (UCLA), The Education as Transformation (EasT) Network (Wellesley College), The Center for Mindfulness in Medicine, Healthcare and Society (University of Massachusetts), The Mind/Life Institute, The Center for Contemplative Studies (Brown University), The Community for Integrative Learning and Action (เป็นการรวมตัวของ Five College Consortium ที่ Massachusetts)นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ที่จัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านใน อาทิ Naropa University, California Institute of Integral Studies, JFK University, Fielding Institute, Integral University และรวมถึงมหาวิทยาลัยพุทธฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ด้วยปรากฎการณ์ดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้นกับคนทั่วทุกมุมโลก บ่งบอกถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงของมนุษยชาติ ที่หันมาสนใจในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคนในสังคม ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น เป็นที่มาของ Contemplative Education ซึ่งแปลว่า จิตตปัญญาศึกษา เป็นกระบวนการพัฒนาจิตและปัญญาอย่างรอบด้าน เป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยสร้างมนุษย์ให้เป็นคนที่สมบูรณ์และสมดุลย์ และสามารถเชื่อมโยง สร้างสังคมที่สันติสุขและเสมอภาคความหมายของ จิตตปัญญาศึกษา จึงได้รับการนิยามโดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน เพื่อให้เข้ากับบริบทของสังคมและยุคสมัย และในที่นี้จึงหมายถึง กระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ การศึกษาที่เน้นการพัฒนาด้านในอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ เกิดความรักความเมตตา อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม และสามารถเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างสมดุลย์กระบวนการเรียนรู้นี้ เป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เกิด ปัญญาะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะการฝึกจิตให้มีสติ (จิตตะ) เป็นเรื่องที่ต้องหมั่นเพียรเรียนรู้ด้วยตนเองว่าหนทางใดจึงจะเหมาะสมกับตน และเป็นเรื่องที่เรียนแทนกันไม่ได้ บางคนอาจจะใช้เวลานาน หรือใช้เวลาทั้งชีวิต แต่สำหรับโลกในยุคปัจจุบัน เวลาเหลือน้อยเต็มที วิกฤตการณ์ต่างๆ รุมเร้า อันเป็นสัญญาณบอกเหตุให้รู้ว่า ถึงเวลาแล้ว ที่กระบวนการความคิดของมนุษยชาติต้องเปลี่ยนแปลง และสังคมต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการคิดค้นกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ อันจะก่อให้เกิดปัญญาร่วมของสังคม เปรียบเสมือนยารักษาโรค ที่ปกป้องคุ้มครองสังคมให้มีสุขภาวะที่ดี และนั่นจะเป็นสิ่งประเสริฐที่สุดที่มนุษย์จะพึงกระทำได้กล่าวโดยสรุป แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษาจึงเป็นการศึกษาแบบองค์รวมที่เน้นการเรียนรู้ในแบบต่างๆ คือ1.   การเรียนรู้แบบบูรณาการและผสานสรรพศาสตร์ (Integrative & Transdisciplinary Learning) คือการเรียนรู้ที่ไม่แบ่งแยกศาสตร์สาขาต่างๆ ออกจากกัน การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า ศาสตร์สาขาต่างๆ แท้จริงแล้วมีจุดเริ่มต้นเหมือนกัน นั่นคือความพยายามที่จะอธิบายหรือทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น 2.   การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) คือการเรียนรู้ที่ผู้เรียนนำตนเองเข้าสู่การลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง และได้รับการกระตุ้นให้สามารถสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะ ด้านใหม่ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ วิธีคิดและการมองโลกในแง่มุมที่แตกต่างไปจากเดิม 3.   การเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใน (Transformative Learning) คือการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงภายในของตนเองอันเกิดจากความสัมพันธ์ที่มีต่อโลกภายนอกโดยอาศัยจิตตปัญญาเป็นเครื่องมือ ซึ่งการพยายามฝึกหัดขัดเกลาตนเองด้วยวิธีการดังกล่าวนี้เอง จะนำพาผู้เรียนไปสู่ความเข้าใจต่อธรรมชาติของสรรพสิ่ง มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างตนเองและสิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างไม่แยกส่วน เกิดความเข้าใจว่าการเรียนรู้ การงานและการดำเนินชีวิต              ด้วยความสำคัญของการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้จัดตั้ง ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศและภูมิภาคต่อไป

หมายเลขบันทึก: 104448เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 08:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมติดตามงานอาจารย์ในเรื่องจิตตปัญญาเพิ่งทราบว่าตรงกับ contemplate education:จากบทความในต่างประเทศแต่เดิมไม่ทราบว่าใช้ศัพท์อะไรในภาษาไทยต้องขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง

ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ท่านเป็นผู้บัญญัติครับ

อาจจะไม่ตรงความหมายเสียทีเดียวแต่ก็ใช้ในการสื่อสารและทำงานพอได้ครับ

อนุชาติ

พอดีช่วงนี้ สพฐ. กำลังจัดโครงการพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษาทั้งระบบ มีเรื่องเกี่ยวกับจิตตปัญญาศึกษาด้วย อยากศึกษาให้ลึกซึ้ง ท่านอาจารย์พอจะมีหนังสือเกี่ยวกับหลักการ ทฤษฎีจิตตปัญญาศึกษาหรือไม่ กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย [email protected]

เรียนคุณรังสรรค์

เราพิมพืหนังสือออกมาเยอะมากเลยครับ

สามารถติดต่อได้ที่ www.ce.mahidol.ac.th

หรือคุยกับ อ.เพียส ๐๘๙ ๔๔๔๔๖๒๔

นะครับ

อนุชาติ

เพิ่งส่งใบสมัครเข้าอบรม"จิตตปัญญา"
เข้ามาหาข้อมูลค่ะ

อยากให้มีในหลักสูตรการศึกษาด้วยจัง เด็กจะได้โตขึ้นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปล.หนูอยู่ ม.3 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท