ศิลปะ (3) "จัดอย่างไร ได้กับนักเรียน"


วิชาพื้นฐาน เป็นวิชาที่นักเรียนทุกคนเรียนรู้ได้

 

ศิลปะ (3)

จัดอย่างไร ได้กับนักเรียน

           ใน 2 ตอน ที่ผ่านมาผมเล่าถึงการเรียนรู้หลักการพื้นฐานทางศิลปะ ในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ที่ประกอบไปด้วยสาระที่ 1 ทัศนศิลป์ (มีผู้รู้มาเปลี่ยนคำนี้เป็น ศิลปะ) สาระที่ 2 ดนตรี  และสาระที่ 3 นาฏศิลป์ ทั้ง 3 สาระนี้ รวมอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ใช้ชื่อว่า ศิลปะ ก็เกิดปัญหาถกเถียงกันมาตลอดในครูผู้สอนระดับชั้นมัธยมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 3 และ 4) เพราะคุณครูเรียนในระดับปริญญาตรีมาต่างสาขาในวิชาเอกศิลปะ ถ้าจะยกเรื่องการศึกษาของคุณครูเอามาอ้างก็เรื่องยาวมาก เพราะในทางศิลปะ ด้านทัศนศิลป์อย่างเดียวก็ยังมีแขนงย่อย ๆ แตกออกไปอีกมามาย เช่น วาดภาพ (วาดด้วยดินสอดำ วาดภาพระบายสี) ปั้น แกะสลัก หล่อจากแม่พิมพ์ ภาพพิมพ์ งานออกแบบ (ภายนอก ภายใน) ในทางจิตรกรรมยังมีการศึกษาที่เน้นเฉพาะทางอีก เช่น เขียนภาพสีน้ำ สีโปสเตอร์ สีน้มัน สีอะคริลิค, ซิลค์สกรีน, เขียนลายผ้า ฯลฯ

            ส่วนด้านดนตรี ดูว่าจะพูดกันเข้าใจง่ายหน่อย เพราะมีสัญลักษณ์ทางดนตรีเข้ามากำกับ คือ ตัวโน้ต ที่สามารถทำให้ผู้ที่มีทักษะทางดนตรีสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ทันทีเมื่อมีโน้ตมาวางให้อ่านและบรรเลงไปด้วย อาจมีความเข้าใจไม่ตรงกันบ้างก็ตรงที่ ดนตรีไทย และดนตรีพื้นบ้าน (ประเภทเครื่องให้จังหวะ) ถ้ามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เขาไม่มีการเขียนโน้ต แต่ท่านผู้รู้บอกว่าจะต้องเขียนโน้ตกำกับทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ตะโพน ฉิ่ง กรับ  ผมเลยนำเอาบทเพลงพื้นบ้านตอนไหว้ครู (1 หน้ากระดาษ เอ 4) ไปให้น้องที่เขาเก่งดนตรีเขียนเป็นโน้ตออกมาได้ 14 หน้ากระดาษ แต่ว่าเพลงพื้นบ้านของผมเล่นงานละ 3-4 ชั่วโมง ใช้บทร้องประมาณ 50-60 หน้ากระดาษ เขียนเป็นโน้ต ประมาณ 600-700 หน้า เพื่อความกระจ่างผมนำเอาแผ่นโน้ตบทไหว้ครูไปให้ลูกศิษย์ที่เก่งทางดนตรีร้อง (ปิดชื่อเพลงอีแซวเอาไว้ก่อน) แกร้องออกมาเป็นเสียงพูดแต่มีสูงมีต่ำ ไม่เป็นทำนองเพลงอีแซวหรอกครับ ผมนำเอาไปทดลองหลายคน คำแรกที่ถูกถามคือ นี่คือ โน้ตเพลงอะไรแล้วก็ร้องออกมาเป็นสียงพูดคล้ายๆ กัน

            ด้านนาฏศิลป์ ด้านนี้มีผู้ใหญ่หลายท่าน ฝากความหวังเอาไว้มาก กับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะผู้ใหญ่ท่านคิดว่า เพลงพื้นบ้าน มีร้อง มีรำ มีดนตรี น่าที่จะฝากความหวังไปกับครูนาฏศิลป์ได้ หลายคนคงลืมไปว่า คำว่า นาฏศิลป์ มีขอบข่ายกว้างพอสมควร โดยเฉพาะนาฏศิลป์ไทย มีหลายแขนง ได้แก่ ระบำ รำฟ้อน เซิ้ง ละคร  โขน การแสดงพื้นบ้าน แต่ลักษณะที่เด่นของการเรียนรู้นาฏศิลป์ จะสื่อออกมาในเรื่องของการรำเสียมากกว่า  ส่วนการร้องดูจะเบาบางลงไปไม่โดดเด่น ทั้งที่งานร้องเพลงเป็นอาชีพที่มุ่งหน้าไปคนเดียวเดี่ยว ๆ ก็หาเงินได้

           ผมย้อนกลับมาที่ ศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน เพราะผมฝึกหัดเพลงมาจากต้นฉบับดั้งเดิม ป้าอ้น จันทร์สว่าง (ครูเพลงของผมยังมีชีวิตอยู่ อายุ 85 ปี) ผมไม่รู้จักตัวโน้ตสากลจากครูเพลง ผมไม่ใช่ครูดนตรี  ผมเล่นเครื่องดนตรีไทยได้บางชิ้น  ผมมีความสามารถรำได้ตามแบบลิเกสมัยก่อน (ฝึกหัดมา) ผมสามารถร้องเพลงไทยเดิม เพลงไทยลูกทุ่ง เพลงไทยสากล เพลงแหล่ เพลงพื้นบ้าน (จากการฝึกทำขวัญนาค) ผมนำเอาความรู้มาถ่ายทอดสู่ลูกศิษย์ จนพวกเขามีความสามารถด้านการแสดงเป็นอาชีพ มีรายได้ วิธีการของผม (ผิดด้วยหรือ) ผมเคยชมรายการโทรทัศน์ เคยอ่านเอกสารทางวิชาการจำนวนมาก ผู้ที่ได้รับตำแหน่ง....ทางเพลงพื้นบ้าน (มีตำรามากมาย) แต่ไม่มีพื้นฐานทางเพลงจากต้นกำเนิดมาเลยหรือมีมาบ้างเพียงส่วนน้อย เพราะคำยืนยันจากท่านที่บอกว่า ที่...ของเรายังไม่มีเพลง...ยังไปไม่ถึงตรงจุดนั้น แต่ก็ยังดีที่มีอีกหลายสถาบันกล้าที่จะนำนิสิตมาพบครูอย่างผม แล้วก็ฝึกเพลงพื้นบ้าน (ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเต้นกำ เพลงพวงมาลัย ฯลฯ) นำเอาความรู้กลับไปนำเสนอในสถาบัน ยิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีละยุ่งเลยครับ เพราะเพลงพื้นบ้านมันคนละทางกันเลย อย่าได้พูดถึงเครื่องดนตรี เพราะที่มาเขามาจากการพูด แล้วดัดแปลงให้เป็นเพลง ใครนึกสนุกก็ปรบมือ กระทืบเท้า ตีเกราะ เคาะไม้ตามอารมณ์ ใครมีเครื่องดนตรีทำเองก็นำเอามาใช้ ไม่มีการกำหนด แม้กระทั่งจังหวะที่ชาวบ้านเขาใช้ตีตะโพน ในเพลงอีแซว ถามพี่โชติ สุวรรณประทีป (2541) ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปแล้ว (2549) ท่านบอกว่า ตะโพนที่ใช้ให้จังหวะในเพลงอีแซวตีจังหวะสนุก ๆ แต่ท่านผู้รู้บอกว่าให้ตีจังหวะหน้าทับลาว ตีหน้าทับสองไม้ ตีหน้าทับปรบไก่ อะไรมากมาย ไม่เหมือนที่ต้นฉบับเขาบอกเรามา ผมเคยไปบรรยายและสาธิตร้องเพลงอีแซวด้นกลอนสด ๆ โดยมีวงดนตรีไทยให้จังหวะประกอบด้วย (โรงแรมใหญ่ที่หัวหิน ปี 2538) จำไม่ได้ชัดเจนนานมาแล้ว  ผมร้องไม่ได้ เขาตีไปตามหน้าทับของเขา ไม่มาเราเลย (จบกัน) ตรงนี้เองทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วการจัดการเรียนการสอนละจะต้องจัดการเรียนรู้ตามที่นักวิชาการแนะนำเพียงอย่างเดียวหรือเชื่อปราชญ์ชาวบ้านบ้างได้ไหม  เพราะผมมาทางภูมิปัญญาท้องถิ่น

           

จัดอย่างไร 

มาถึงเรื่องของการจัดการเรียนรู้ในวิชาศิลปะ โดยเฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ยุ่งมากสำหรับครูที่ไม่เคยบูรณาการเลย) ยุ่งตั้งแต่จัดวิชาสอน เพราะเขาจะเป็นคนกำหนดเองว่า จะต้องสอนเรื่องนั้น เรื่องนี้ตามความถนัดโดยลืมนึกไปว่า ที่มาของหลักสูตร พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้เรียนจะต้องเรียนให้ครบ ทั้ง 8 กลุ่มสาระ  มีวิชาพื้นฐาน (ทุกคนเรียนได้)  มีวิชาเพิ่มเติม (จัดให้เรียนตามความถนัด ความสนใจ และเลือกด้วยตัวนักเรียนเอง) มีวิชากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ต้องให้มองเห็นการพัฒนาเป็นรายบุคคลจริง)  

ผมขอนำเอาประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปะมาเล่า เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กัน และเพื่อเป็นแนวทางในการปรับวิธีสอนของผมด้วย ในโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 1-2) ไม่มีปัญหาเพราะมีครูสอนเพียงคนเดียว ในห้องเรียนหนึ่ง ๆ ครูก็จะต้องรับไปคนเดียวเต็ม ๆ หรืออาจจะเป็นทีมเพียง 2-3 คน ส่วนในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา (ช่วงชั้นที่ 3-4) ในกลุ่มสาระหนึ่ง ๆ จะมีคนเก่งเฉพาะทางในกลุ่มสาระเดียวกันนั่นแหละ เช่น ในกลุ่มสาระศิลปะ จะมีครูดนตรีไทย ครูดนตรีสากล ครูนาฏศิลป์ ครูวาดภาพ ครูปั้น แกะสลัก  ครูออกแบบ ครูภาพพิมพ์ ฯลฯ พอมาเจอคำว่า วิชาศิลปะ ที่รวมเอา 3 สาระ และมี  6 มาตรฐาน ก็รับในภาพรวมไม่ได้ (เพราะว่าท่านไม่ได้เรียนมา 3 ด้าน) ความจริงน่าที่จะแบ่งแค่ 2 ด้าน คือ ด้านทัศนศิลป์ กับด้าน โสตศิลป์ (ก็ยุ่งมากแล้ว) แต่ถ้าครูทำใจยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า บางอย่างเราก็ต้องเรียนรู้ไปกับนักเรียน วันนี้มีหลายเรื่องที่นักเรียนเขาก้าวหน้าไปมากยิ่งกว่าครู ครูตามไม่ทันโดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร เด็ก ๆ เขาเก่งกว่าครู แม้แต่การใช้อินเทอร์เน็ท เด็กชั้น ม.1 พูดถึงเรื่อง Handy Drive ได้อย่างก้าวหน้า รู้ถึง Speed ของตัวฮาร์ดแวร์ด้วย ราคาก็เข้าถึงปัจจุบัน (แหมน่ายกย่องจัง) ของครูยังอันเบ้อเริ่มอยู่เลย ในส่วนของสาระสำคัญในการจัดการเรียนรู้ศิลปะ มองที่สาระทั้ง 3 และมองลึกลงไปที่  6 มาตรฐาน จะมีสาระหลัก ๆ อยู่ไม่กี่หัวข้อ ได้แก่

         1.    ทัศนธาตุ  เป็นการศึกษาจากสิ่งที่นำเอามาประกอบกันเข้าแล้วเป็นงานศิลปะ

         2.    องค์ประกอบ การเบื้องต้นของการจัดภาพในงานทัศนศิลป์

         3.    ผลงานศิลปะล้ำค่าแขนงต่าง ๆ  จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรีและนาฏศิลป์

        4.     ดนตรีไทย และดนตรีสากล  ประเภทของเครื่องดนตรี

        5.    ประเภทของวงดนตรีไทย และดนตรีสากล ลักษณะและโอกาสในการบรรเลง

        6.     หลักในการขับร้องเพลงประเภทต่าง ๆ

        7.            นาฏศิลป์ไทย  ประเภทระบำ รำฟ้อน เซิ้ง โขน ละคร

       8.            รำวงมาตรฐาน (นาฏยศัพท์) ที่ใช้กับการรำ และการแสดง

       9.          ศิลปะการแสดงท้องถิ่น เพลงพื้นบ้าน เพลงประจำถิ่น 

          

วิธีการจัดหลักสูตรวิชาศิลปะ (กลุ่มวิชาพื้นฐาน) แบบใดดีที่สุด

1. จัดหลักสูตรแบบภาพรวม มีครบทั้ง 6 มาตรฐาน 3 สาระของศิลปะ เรียนรู้จากครูคนเดียว ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย นักเรียนเป็นสำคัญ มีการเชื่อมโยงกันใน 3 สาระของศิลปะอย่างชัดเจน

2. จัดแบบแยกออกเป็นสาระ สาระละ 1 ปี คือ ม.1 เรียนศิลปะ เน้นทัศนศิลป์  ม.2 เรียนศิลปะ เน้นดนตรี และ ม.3 เรียนศิลปะเน้นนาฏศิลป์  ครูสอนเป็นทีม 2 คน (ทีมแบบสอนด้วยกัน 2 คน มิใช่แบ่งชั่วโมงกันสอน)

         3. จัดแบบแยกออกเป็นสาระ สาระละ 1 ปี คือ ม.1 เรียนศิลปะ เน้นทัศนศิลป์  ม.2 เรียนศิลปะ เน้นดนตรี และ ม.3 เรียนศิลปะเนินนาฏศิลป์  ใช้ครูสอนคนเดียว (ใครถนัดศิลปะด้านใดก็ให้สอนด้านนั้น)

         ไม่ว่าจะจัดแบบไหน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา ความพร้อมของครูผู้สอน แต่ที่สำคัญคือ ควรจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างครบถ้วนตามสาระที่กำหนดไว้

นักเรียนได้อะไรกับการจัดหลักสูตรแบบนี้ (ติดตามต่อ ในตอนที่ (4) ครับ / ชำเลือง มณีวงษ์)

 

หมายเลขบันทึก: 104026เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2007 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท