เชื่อหมอแต่ขอเช็คเน็ต


กลุ่มตัวอย่างสหรัฐฯ ประมาณ 2 ใน 3 เชื่อหมอ แต่ขอเช็คข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต...
อาจารย์นิด้าท่านหนึ่งถามผู้เขียนว่า ท่านเห็นอะไรลอยไปลอยมาในลูกตา ไปตรวจกับหมอตาท่านว่า เป็นวุ้นน้ำตา ไม่มีอันตรายอะไร แจกแผ่นพับให้ท่านอ่านด้วย จะทำอย่างไรดี

ผู้เขียนตอบท่านไปว่า คนไข้ในประเทศตะวันตกที่ไม่สบายใจกับปัญหาสุขภาพจะปรึกษาหมอท่านอื่น เพื่อหาความเห็นที่ 2 (second opinion) ท่านจึงไปตรวจตากับอาจารย์แพทย์หญิงในช่วงพักเที่ยง

อาจารย์นิด้าท่านนั้นชมอาจารย์จักษุแพทย์ว่า เป็นหมอที่ใจบุญมาก ท่านกำลังมีใจเบิกบาน เตรียมไปทอดกฐิน ตรวจตาและอธิบายให้ฟรีด้วย อาจารย์นิด้าจึงขอร่วมทำบุญกฐินด้วย 1,000 บาท

งานนี้เลยได้บุญทั้งอาจารย์จักษุแพทย์(มีใจเบิกบานเตรียมไปทอดกฐิน ได้ตรวจตา และอธิบายเรื่องวุ้นลูกตาให้ฟรี) และอาจารย์นิด้า(มีส่วนร่วมถวายกฐินสงฆ์)

เราๆ ท่านๆ อาจจะสงสัยว่า คนไข้ทุกวันนี้เชื่อหมอหรือเชื่อเน็ต(อินเตอร์เน็ต) ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษา ผลปรากฏว่า คนไข้ส่วนใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 เชื่อหมอ แต่ขอเช็คข้อมูลทางเน็ต(อินเตอร์เน็ต)ก่อนถึงครึ่งหนึ่ง ถ้ารวมเช็คเน็ตก่อนและหลังทั้งหมดแล้ว เช็คเน็ตกันเกือบ 2 ใน 3

ดร.แบรดฟอร์ดและคณะจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐฯ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มของข้อมูลสุขภาพสหรัฐฯ (health information national trend survey / HINTS) โดยโทรศัพท์สอบถามผู้ใหญ๋ 6,369 คนในช่วงเดือนตุลาคม 2545 – เมษายน 2546)

กลุ่มตัวอย่างที่ยินดีให้ข้อมูล 63 % เคยใช้อินเตอร์เน็ตมาก่อน ในจำนวนนี้ 63.7 % เคยใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลสุขภาพ และน้อยกว่า 10 % ร่วมกิจกรรมสุขภาพทางอินเตอร์เน็ต เช่น ซื้อยา ติดต่อแพทย์ เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือเกื้อกูลทางสุขภาพ ฯลฯ

ผลการสำรวจเกี่ยวกับข้อมูลมะเร็งพบว่า 62.4 % หรือประมาณ 2 ใน 3 เชื่อหมอมาก ส่วนอีก 1 ใน 3 หรือ 23.9 % เชื่อข้อมูลอินเตอร์เน็ต

วิธีการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งพบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 49.5 % จะปรึกษาแพทย์ประจำตัว กลุ่มที่ปรึกษาแพทย์ประจำตัว 10.9 % จะปรึกษาแพทย์ก่อนหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต และอีกประมาณครึ่งหนึ่งหรือ 48.6 % จะสืบค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก่อน รวมแล้วเช็คเน็ตกันเกือบ 2 ใน 3

คณะของดร.แบรดฟอร์ดวางแผนว่า จะทำการศึกษา HINTS และรายงานออกมาทุกๆ 2 ปี

ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนไปตามสหรัฐฯ คือคนจะใช้อินเตอร์เน็ตหาข้อมูลเพิ่มขึ้น ผู้เขียนขอเสนอให้สถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล วิทยาลัยพยาบาล วิทยาลัยสาธารณสุข มูลนิธิที่ไม่หวังผลกำไร ฯลฯ และบุคลากรสุขภาพเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องทางอินเตอร์เน็ตให้มากขึ้นต่อไป

สรุป:

  • กลุ่มตัวอย่างสหรัฐฯ ประมาณ 2 ใน 3 เชื่อหมอ อีก 1 ใน 3 เชื่ออินเตอร์เน็ต
  • กลุ่มตัวอย่างสหรัฐฯ เกือบ 2 ใน 3 ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งจากอินเตอร์เน็ต

แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > Patients trust physicians, but are likely to go to internet for health information. > http://www.medscape.com/viewarticle/519666?src=mp > December 22, 2005. (source: Arch Intern Med 2005; 165; 2618-2624).
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๘
    สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๘
หมายเลขบันทึก: 10393เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2005 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ส่วนหนึ่งดิฉันคิดว่า สมัยนี้การเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายผ่านอินเทอร์เน็ตคะ จึงทำให้ความมั่นใจที่ได้รับนั้น น้อยลง เลยต้องหาข้อมูลมาเสริมอีกครั้ง ว่าชัวร์แน่นอนคะ

แวะมาแลกเปลี่ยนคะ :)

ขอขอบคุณ... คุณมะปรางเปรี้ยว

  • จริงครับ... เราอยู่ในโลกที่มีข้อมูลข่าวสาร "ท่วมทับ (flooded information)
  • ทำให้เราสับสน และไม่รู้จะเชื่อใครดี

หน่วยงานสุขภาพ และสถาบันการศึกษาชั้นนำหลายๆ แห่งเลยไม่ยอมใช้ 'dot com (.com)'

  • ท่านหันไปใช้นามสกุลเว็บไซต์อื่นๆ แทน เช่น 'org = สถาบัน' , ฯลฯ
  • บล็อกก็เช่นกันครับ... ถ้าไม่เปิดเผยชื่อ-นามสกุลคนเขียน คนอ่านก็เสี่ยงมากๆ ว่า ข้อมูลเชื่อถือได้หรือไม่
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท