สัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ : นิยาม ธรรม


สัมผัสพลังแห่งการตื่นรู้ : นิยาม ธรรม

 

เขียนโดย เรจินัลด์ เรย์ เขียน วิจักขณ์ พานิช ถักทอและร้อยเรียง

 

             ในโลกของพุทธศาสนา คำว่า "ธรรมะ" เป็นคำที่สำคัญและถูกใช้กันมากที่สุดคำหนึ่ง แต่จะมีใครสักกี่คนที่จะเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า "ธรรมะ" อย่างลึกซึ้ง การทำความเข้าใจธรรมะถือเป็นกระบวนการการแสวงหาที่ท้าทาย เพราะมันได้รวมและผสมผสานประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการค้นหาคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่แท้


ธรรมอันเป็นอนันต์

 

                ในคัมภีร์พระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท พระพุทธเจ้าศากยมุนีกล่าวไว้ว่า ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาสอนสั่ง หรือจะมีสงฆ์สาวกมาปฏิบัติตามพระธรรมหรือไม่ ธรรมะนั้นก็จะยังคงอยู่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าธรรมะคือการดำรงอยู่พื้นฐาน เป็นสัจธรรมแห่งชีวิต แห่งสรรพสิ่ง และแห่งสากลจักรวาล อีกทั้งยังเป็นความจริงสูงสุดและธรรมชาติเดิมแท้ของความเป็นตัวเราที่แท้

 

                เป้าหมายของผู้ฝึกฝนตามวิถีพุทธ คือการค่อยๆลอกเปลือกที่บดบัง "ธรรมชาติเดิมแท้" ออกไปจนหมด จนเราสามารถที่จะดำรงอยู่และรวมเป็นหนึ่งกับธรรมชาตินั้นได้โดยสมบูรณ์ อย่างที่ไม่ต้องไปหวนคิดถึงขอบเขตจำกัดของ "ตัวตน" อีกเลยแม้แต่น้อย ในภาวะแห่งการตระหนักรู้ที่ว่า เราสามารถมองเห็นถึงธรรมชาติของความเป็นตัวเราที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ อันได้ถูกแสดงออกมาในรูปของความรักอันเป็นอนันต์แห่งสากลจักรวาล

 

                ธรรมะอันเป็นอนันต์ได้ผ่านไปมาให้เราได้สัมผัสในชีวิตประจำวันอยู่เสมอๆ ความรักและการโอบอุ้มแห่งจักรวาลสามารถถูกเข้าถึงได้โดยผู้คนธรรมดาทุกคน อย่างที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นชาวพุทธ หรือแม้แต่ต้องสนใจเรื่องราวทางจิตวิญญาณเลยด้วยซ้ำ

 

ธรรมในฐานะปรากฏการณ์              

 

                  ธรรมะในความหมายที่สองแสดงถึงพื้นฐานของการดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน ของความคิด การรับรู้ ประสาทสัมผัส และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัว อันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆคนหนึ่ง

 

               ในที่นี้เราจำเป็นที่จำต้องแยกแยะข้อแตกต่างระหว่างหลักการที่พยายามอธิบายความเป็นไปในชีวิตหรือหลักการความคาดหวังล่วงหน้า กับความจริงอันเปล่าเปลือยที่เกิดขึ้นในชีวิต ธรรมะในนัยยะหลังคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริง ไม่ว่าเราจะชอบมันหรือไม่ ไม่ว่าเราจะปรารถนามันหรือไม่ และไม่ว่าเราคาดหวังที่จะประสบกับมันหรือไม่ อย่างเช่น การเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างกระทันหัน การล้มเหลวของชีวิตคู่ หรือความตายที่ไม่คาดฝัน เหตุการณ์เหล่านั้นต่างก็แสดงถึงปรากฏการณ์การแทรกผ่านของธรรมะในลักษณะที่ต่างกันออกไป เช่นเดียวกับหลอดไฟที่ขาดหลังจากที่เราเปิดสวิทช์ โทรศัพท์ที่ดังขึ้นอย่างไม่ได้คาดหมาย ความปีติจากการได้เห็นลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาดูโลก หรือ ความตื่นตระหนกที่พบว่าความคิดที่เรามีเกี่ยวกับผู้คนและสิ่งต่างๆรอบตัวดูจะไม่มีความสัมพันธ์ใดๆต่อธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย

 

                ทุกผู้คนและทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้เผยให้เราได้เห็นถึงขั้นความรุนแรงของความหมกมุ่น การปิดตัวเองอยู่ในฝันกลางวันลมๆแล้งๆที่เราอุปโลกน์ขึ้น และการเวียนว่ายอยู่ในหัวกับสิ่งที่เราคิดว่าตัวเองเป็น กับสิ่งที่คนรอบตัวคิดเกี่ยวกับตัวเรา หรือ กับโลกที่เราสมมติขึ้น ทุกประสบการณ์ในชีวิตต่างเข้ามาเพื่อปลุกให้เราตื่น แม้จะเป็นแค่เวลาสั้นๆเพียงชั่วขณะหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่อุบัติขึ้น เมื่อถูกมองตามที่เป็นจริงจากมุมมองของมันเอง (ธรรมะ) จะแสดงให้เราเห็นถึงธรรมชาติอันปราศจากแก่นสาระของความยึดมั่นในสมมติสัจจะของตัวเราและโลกของเรา จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดแล้วธรรมะในฐานะปรากฏการณ์หาใช่สิ่งที่แตกต่างไปจากธรรมะอันเป็นอนันต์ ความเปล่าเปลือยและความตรงไปตรงมาของปรากฏการณ์ตามที่เป็นจริงได้แสดงให้เราเห็นถึงการแทรกผ่านของธรรมะอันเป็นอนันต์สู่ชีวิตแห่งการตื่นรู้ในทุกขณะ

         

ธรรมในฐานะเส้นทางการฝึกตน

                  หนทางที่เราจะตอบสนองต่อความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคง และความไม่ต่อเนื่อง ที่ก่อขึ้นโดยธรรมอันเป็นอนันต์ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเลือก

ในทางหนึ่งเราอาจตกไปสู่หนทางของการปฏิเสธและหลีกเลี่ยง วิ่งวุ่นหาหนทางที่จะสร้างความมั่นคง ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยขึ้นมาใหม่ หรือในอีกทางหนึ่งเราอาจให้ความสำคัญแก่ธรรมะในฐานะสัจธรรมสูงสุด และพยายามฝึกฝนสู่ความตระหนักรู้โดยสมบูรณ์ในฐานะเส้นทางการฝึกตนในทุกย่างก้าวของชีวิต

 

                 แนวทางแรกจะนำเราไปสู่การปฏิเสธสิ่งที่เราได้ประสบและพยายามแสร้งเข้าใจเป็นอย่างอื่น ผลที่ได้ก็คือโซ่ตรวนที่แน่นหนาขึ้นไปอีก ความสับสนที่เพิ่มขึ้น การสร้างกรรมดำหรือเหตุปัจจัยในทางลบ อันจะนำไปสู่บ่วงแห่งความทุกข์ที่หนักหนาในบั้นปลาย ส่วนแนวทางที่สอง แม้จะไม่ได้เป็นหนทางแห่งการกำจัดความทุกข์ออกไปจากชีวิตเราเสียเลยทีเดียวก็ตามที แต่หากเราฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง มันก็จะนำเราไปสู่หนทางแห่งการสลายตัวตนของผู้ที่ประสบทุกข์อย่างช้าๆ จนชีวิตของเราค่อยๆคลี่บานกลายเป็นพื้นที่ว่างแห่งการเรียนรู้อันกว้างใหญ่อย่างไร้ข้อจำกัด

 

ธรรมในฐานะคำสอน

 

                ในแง่มุมนี้ ธรรมะคือคำสอนที่ถูกถ่ายทอดโดยพระพุทธเจ้า และถูกเสริมเพิ่มโดยสาวกรุ่นหลังทั้งหญิงและชาย ผู้พากเพียรฝึกฝนคำสอนจนเข้าสู่ภาวะแห่งการตื่นรู้ภายในโดยสมบูรณ์ คำสอนเหล่านี้ได้อธิบาย แสดง และชี้ให้เราเห็นถึงธรรมอันเป็นอนันต์อันจะปรากฏต่อสายตาของเราในรูปแบบประสบการณ์ชีวิตที่เปล่าเปลือย เหนือการตัดสินและการตีความใดๆ

 

                ในความหมายดั้งเดิม ธรรมคำสอนคือ พุทธวัจนะที่ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะของโศลกหรือเพลง โดยเหล่าผู้รู้แจ้งทั้งหลาย พระสูตร หรือพุทธวัจนะนั้น จะเริ่มต้นด้วย "ครั้งหนึ่งฉันได้ยิน" ไม่ใช่ "ครั้งหนึ่งฉันได้อ่าน"  ไม่มีใครสามารถจะเป็นนักเปียโนระดับโลกด้วยการอ่านคู่มือฝึกเปียโน หรือฝันอยากเป็นพ่อครัวมือเอกโดยการอ่านคู่มือทำอาหาร ในการศึกษาปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน เราจำเป็นต้องรับเอาธรรมคำสอนด้วยการฟังสิ่งที่ธรรมาจารย์สั่งสอนต่อเราโดยตรง เราจะต้องซึมซับเอาความหมายและความลึกซึ้งของคำสอนนั้นๆด้วยการฟัง สัมผัสท่วงทำนองและความไพเราะของธรรมแห่งการตื่นรู้จากประสบการณ์ตรงของเราเอง

                พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมตามความต้องการเฉพาะของกลุ่มผู้ฟัง ท่านได้ถ่ายทอดสัจธรรมในรูปแบบที่สามารถสื่อสารไปถึงหัวใจของผู้ฟังโดยตรง การแสดงธรรมแบบเฉพาะเจาะจงเช่นนี้หาได้ออกมาจากความคิดใคร่ครวญหรือความจงใจเสียทีเดียวนัก แม้ในทุกวันนี้ ธรรมาจารย์มักเลือกที่จะแสดงธรรมโดยการดึงเอามาจากตำราหรือพระคัมภีร์ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้อยคำ ภาพ อุปมาอุปไมย และตรรกะที่ปรากฏขึ้นในหัวใจที่เปิดกว้างของธรรมาจารย์ผู้ปฏิบัติชอบเหล่านั้นได้ถูกดึงออกมาจากสิ่งแวดล้อม อันเป็นภาพสะท้อนของทุกคนที่อยู่ในสถานที่นั้นๆ ด้วยจิตที่ว่างจากหลักการความคิด ธรรมจารย์ได้เปิดหัวใจรับรู้ เกิดเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้านในอันไพศาล ยอมให้ข้อความที่ต้องการถือกำเนิดในวินาทีนั้นเข้ามาสะกิดหัวใจอย่างไม่ขัดขืน จากนั้นจึงถ่ายทอดออกมาเป็นคำสอนที่ได้แสดงถึงเหตุปัจจัยแห่งสัจธรรมในปัจจุบันขณะอันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือความหมายของปัญญาญาณที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ธรรมแห่งการตื่นรู้เป็นเพียงข้อความที่สากลจักรวาลต้องการที่จะชี้แสดงให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ร่วมกัน

เราสามารถสัมผัสได้ถึงพลังแห่งปัญญาและประสิทธิภาพแห่งการสื่อสารของธรรมะในรูปแบบของคำพูดหรือการเล่าเรื่องได้ดีกว่าธรรมะในรูปแบบตำราและคัมภีร์ที่ถูกบันทึกในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เพราะการถ่ายทอดปากเปล่าได้ส่งผ่านคุณค่า ความหมาย และจินตนาการ จากผู้พูดสู่ผู้ฟังในรูปแบบของความเต็มเปี่ยมภายในแห่งประสบการณ์ การถ่ายทอดคุณค่าแห่งการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะด้วยหัวใจของผู้พูดได้เปิดโลกแห่งประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ให้ผู้ฟังได้เข้าไปอาบบรรยากาศและมีความรู้สึกร่วมอันนำมาซึ่งประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เสกสรรเป็นแรงดลใจในการย่างก้าวบนเส้นทางแห่งการฝึกฝนตนเองอย่างมุ่งมั่น

 

                 สำหรับชาวพุทธในโลกสมัยใหม่ที่รักการศึกษาพุทธธรรมจากการอ่าน เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าสิ่งที่เราอ่านจากหนังสือหาใช่ธรรมะแต่อย่างใด ข้อความตัวอักษรทำหน้าที่เป็นเพียงประตูสู่โลกแห่งธรรมะภายในตัวเรา บ่อยครั้งที่หนังสือธรรมะได้นำพาเราให้ไปพบกับธรรมจารย์ ผู้สามารถถ่ายทอดพลังแห่งพุทธธรรมในรูปของคำสอนปากเปล่า เรารู้สึกได้หัวใจที่เปิดกว้างเพื่อสัมผัสความชุ่มชื้นของธรรมแห่งการตื่นรู้นั้น จากนั้นธรรมาจารย์ก็จะแนะนำให้เราเริ่มต้นฝึกฝนตนเองด้วยการสอนพื้นฐานการภาวนาเบื้องต้น การภาวนาคือจุดเริ่มต้นของชีวิตที่แท้ เราจะค่อยๆสัมผัสถึงความแตกต่างของชีวิตประจำวันอันประกอบด้วยพื้นหลังแห่งพลังแห่งการตื่นรู้ที่เราบ่มเพาะจากการภาวนา ความมหัศจรรย์ของชีวิตที่ลุ่มลึกค่อยๆปรากฏในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติความเป็นตัวเราที่แท้

 

                 ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมในโลกสมัยใหม่ เราต่างมีภารกิจร่วมกันในการปลดล็อคข้อความคำสอนในหนังสือ ตำรา และพระคัมภีร์ เพื่อการเข้าถึงธรรมอันเป็นอนันต์ในฐานะความจริงสูงสุดแห่งธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่แท้ แน่นอนว่าการปลดล็อคข้อความที่ว่าจะต้องอาศัยความจริงใจในการฝึกฝนตนเองอย่างอุทิศชีวิต ทั้งหมดนี้คือความหมายของธรรมะ ในฐานะสัจธรรมสูงสุดและชีวิตที่ตื่นต่อการเรียนรู้ในทุกขณะ

 

                เป็นความจริงที่ว่า สัจธรรมหาได้มีความหมายและก่อให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงต่อชีวิตเรา หากมันเป็นเพียงแค่การรวบรวมของหลักการทางนามธรรม แต่ในทางกลับกันหากสัจธรรมแสดงถึงประสบการณ์อันมีชีวิต เส้นทางแห่งการแสวงหาสัจธรรมแม้จะเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหวัง เปี่ยมไปด้วยภัยอันตราย ความท้าทาย และน่าหวั่นไหว แต่มันคือหนทางเดียวที่จะนำเราสู่การค้นพบความหมายแห่งการมีชีวิตอยู่ สัจธรรมแห่งชีวิตเกี่ยวข้องกับการท้าทายแบบแผนการตีความที่คุ้นชิน อันแสดงถึงหนทางแห่งการศิโรราบและการเรียนรู้ด้วยใจที่สมบูรณ์ ทั้งการมองเห็น สัญชาตญาณ การกระทำ ความรู้สึก และการใคร่ครวญทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน นั้นคือความหมายของพุทธธรรม หรือสัจธรรมอันมีชีวิตอันจะนำพาเราเข้าไปสู่ประสบการณ์ในมณฑลแห่งความไม่รู้ที่ลึกซึ้งขึ้น อันได้แสดงถึงความหมายที่แท้จริงของชีวิตในฐานะเส้นทางแห่งการเรียนรู้ที่เป้าหมายอยู่ในทุกย่างก้าว

 
คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 103687เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท