ประสบการณ์ อินแปง-น่าน สอนอะไรเรื่องชุมชน


ชุมชนเป็นระบบที่ซับซ้อน

บันทึกเพื่อสกัดแง่คิดที่ได้จากประสบการณ์อินแปง-น่าน สำหรับใครที่ทำงานชุมชนอาจได้แวะเข้ามาอ่านแล้วใช้ประโยชน์

ก่อนเข้าพื้นที่ได้มีโอกาสคุยกับกูรูหลายท่าน ขออนุญาตเอ่ยนามไว้ในที่นี้ คือ อาจารย์หมออุทัยวรรณ กาญจนกามล อาจารย์หมออติศักดิ์ จึงพัฒนาวดี อาจารย์หมอ ศศิธร ไชยประสิทธิ์ และ อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์

การได้พูดคุยกับท่านเหล่านี้ได้เห็นมุมมองการเข้าไปศึกษาชุมชนหลายประเด็นครับ

ประเด็นแรก "ชุมชนเป็นระบบที่ซับซ้อน" ใช้วิธีการมองอะไร ก็จะเห็นอย่างนั้นและมีโอกาสที่จะมองไม่เห็นอย่างอื่นทั้งๆ ที่ปรากฎอยู่ตำตา

ได้เข้าไปอยู่ในชุมชนก็เห็นอย่างนั้นจริงครับ

เห็นความซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม

เห็นข้อบกพร่องในวิธีคิดของเราเมื่อก่อนที่พยายามจะ "เหมาเอาเองว่าเขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้" "สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนี้เป็นอย่างนี้"

เราเคยคิดว่า "เจ็บป่วย-ไม่ดี" "ไม่ป่วย-ดี" (วิธีคิดแบบเชิงเส้น)

เข้าไปอยู่ก็ได้ไปเห็นวิธีคิดที่บอกว่า ใครเลี่ยงความเจ็บป่วยได้บ้าง คนต้องป่วย ต้องแก่ ต้องตาย ฉะนั้นที่ทำได้ก็คือ อยู่กับความเจ็บป่วยนั้นอย่างมีความสุข (ไปเจอวิธีคิดแบบไม่เชิงเส้น)

เราเคยคิดว่า "ชุมชนแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน"

แน่นอนอันนี้เห็นชัด แต่ที่เห็นเพิ่มขึ้นคือ "แม้แต่ในชุมชนเดียวกัน วันนี้กับเดือนหน้า ก็ไม่เหมือนกัน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา" ชุมชนมีการเรียนรู้ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจตลอดเวลา มีการไหลเข้าออกของบุคคลและข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา

เราเคยคิดว่า "มีการแบ่งประเภทของบริการทางการแพทย์ ในความคิดของคน" เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน, แผนโบราณ สมุนไพร ฯลฯ

ปรากฎว่าที่ไปเจอนั้นผู้คนไม่มัวมานั่งเสียเวลาคิดว่า อันนี้ยาฝรั่ง ยาสมุนไพร อันนี้ยาหมอผี อันนี้ลูกประคบ อันนี้พิธีกรรมบวงสรวง อันนี้การสะเดาะเคราะห์ อันนี้พิธีต่อชะตา ฯลฯ คนรับเอามาทั้งหมด เอามาทดลองเรียนรู้และปรับเปลี่ยน ผสมผสาน จนเป็นตำรับ หรือวิธีการที่ทำให้เข้ารู้สึกดีที่สุด สบายกาย "สบายใจ" ที่สุด

บทเรียนสำคัญบทเรียนที่หนึ่งครับ

"เพราะชุมชนเป็นระบบที่ซับซ้อน ฉะนั้นถ้าเรามองอะไรตรงไปตรงมา ซื่อๆ ทื่อๆ เป็นเชิงเส้น เป็นเชิงเหตุผล เป็นเชิงพิสูจน์ทราบ ไปเสียหมด ก็จะขาดโอกาสที่จะเห็น ความเชื่อมโยงไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเส้น นอกกรอบ อยู่นอกเหนือเหตุผล (อันจำกัดของเรา) เชื่อมโยงไปสู่ความดี ความงาม ความรู้สึก เชื่อมโยงไปสู่ "ภาพรวม" ของชุมชนหรือสังคมที่เรากำลังไปศึกษาได้"

ชุมชนไม่ใช่เครื่องจักรที่ถอดน๊อต ถอดเฟืองมาวิเคราะห์แบบตรงไปตรงมาได้

ชุมชนน่าจะเปรียบกับสิ่งมีชีวิต ที่เปลี่ยนไปเสมอ มีการเรียนรู้ มีอารมณ์ความรู้สึก

ประสบการณ์อินแปง-น่าน สอนเรื่องนี้เป็นบทเรียนแรกครับ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ทันตสาธารณสุข
หมายเลขบันทึก: 103467เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2007 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้าเรื่อง complex adaptive system ต่อได้เลย : )

ถ้าจำไม่ผิดอ. วิจารณ์จะบันทึกแปลเรื่องนี้ไว้แล้วในบันทึกของท่านด้วยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท