ชีวิตที่พอเพียง : 298. ไปฟังสัมมนาวิชาการ เรื่อง "วัฒนธรรมเกี่ยวกับสี"


         ผมเป็นคนโชคดี    มีโอกาสได้เข้าร่วมงานประเทืองปัญญาอยู่เนืองนิตย์     วันที่ ๑ มิ.ย. ๕๐ ได้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการ เรื่อง "วัฒนธรรมเกี่ยวกับสี" จัดโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา  ที่มี ศ. ปรีชา ช้างขวัญยืน เป็นประธาน      ท่านทราบว่าผมชอบฟังการประชุมเกี่ยวกับความรู้ เกี่ยวกับการวิจัย จึงเชิญผมไปร่วมการประชุมวิชาการของสาขาปรัชญาเสมอ     แต่ผมไปร่วมได้เพียงบางครั้ง

        ผมนิยมชมชอบ ศ. ปรีชา ช้างขวัญยืน ในหลายด้าน    ด้านหนึ่งคือ ความสามารถในการใช้ภาษาที่สละสลวย และสื่อความหมายได้ลึกซึ้งอย่างหาตัวจับยาก    และคำกล่าวเปิดงานของท่านก็งดงามและลึกซึ้ง ตามแนวของท่าน   มีการเล่นคำ สีสัน แสงสี  ให้ร้ายป้ายสี ฯลฯ   แม้สิ่งที่ไม่มีสี เช่นแก้ว ก็มี "สีใส"   จิตรกรสามารถวาดภาพแก้วเป็นสีใสได้    ท่านบอกว่า สีทำให้มนุษย์ไม่เบื่อ  และยังใช้บอกวรรณะได้ด้วย เช่น สีขาว สีแดง สูงกว่าสีดำ (แต่ในวงการธุรกิจถือว่าการแต่งกายด้วยสูทสีดำเป็นการแต่งกายอย่างเป็นทางการสุดๆ  เคยมีคนบอกผมว่าสีดำเป็นสีแห่งอำนาจ)

       หลังพิธีเปิดอย่างง่ายๆ  ศ. ปรีชา ช้างขวัญยืน ก็บรรยายนำ เรื่อง "สีในวิถีชีวิตไทย" แต่เอกสารประกอบการสัมมนา ใช้ชื่อว่า "สีในวัฒนธรรมไทย" 

        ผมได้ความคิดว่า สีช่วยความคงทนของวัตถุ เช่นผ้า ถ้าไม่ย้อมสี เส้นด้ายจะถูกน้ำซึมและเปื่อยง่าย    แต่เมื่อย้อมด้วยสีเปลือกไม้    จะทำให้น้ำเข้าไม่ถึงช่วยให้เส้นใยของด้าย มีความคงทนขึ้นมาก    ทำให้ผมนึกถึงสีทาบ้านในปัจจุบัน    ช่วยให้ไม้คงทน    สีบางชนิดกันเชื้อราได้

        ฟัง ศ. ปรีชา ช้างขวัญยืน แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า สีเกี่ยวข้องกับทุกด้านของสังคมมนุษย์    และคำบรรยายของ ศ. ปรีชา ช้างขวัญยืน ได้ช่วยให้คนที่มีความรู้ด้านมนุษยศาสตร์น้อยมากอย่างผม ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ผ่านเรื่องสี  

        ผมมองว่า เวลาเรานำสี มาใช้ประโยชน์ หลายครั้ง เราใช้แบบบูรณาการ    ไม่ได้ใช้สีแยกโดดๆ    คือใช้ทั้งสี แสง เงา    แต่หลายครั้งเราใช้สีอย่างโดดๆ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับแยกแยะ   เป็นสัญญลักษณ์บอกคุณค่า หรือวรรณะสูงต่ำ    

        การประชุมนี้มี ๒ วัน คือ ๑ - ๒ มิ.ย.   ที่น่าสนใจคือ มีการอภิปรายเรื่อง "สีในศาสตร์ต่างๆ" มากมาย ได้แก่ ภาษาศาสตร์  วิทยาศาสตร์  จิตรกรรม  วรรณกรรม  แผนที่ทางอากาศ  การพิมพ์  การผลิตทางอุตสาหกรรม  การจัดแสดงนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ งานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน  ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์   อัญมณี  ศิลปะการจัดดอกไม้  แฟชั่น  นาฏศิลป์  ทัศนศิลป์  สถาปัตยกรรมศาสตร์  หัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น   น่าจะกล่าวได้ว่า สีเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์    แม้เรื่องไม่เกี่ยวกับสี ก็มีเรื่องสีแฝงอยู่ด้วย 

        ศ. ดร. สันติ เล็กสุขุม คณะโบราณคดี มศก. นำเสนอเรื่อง  "สีในจิตรกรรมไทยโบราณ และแนวไทยโบราณ"  นำเสนอโดยอ้างถึงสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และพระยาอนุมานราชธน   ว่าในสมัยโบราณ   ช่างไทยใช้สีจากวัตถุธรรมชาติ    และสีที่สดมากกว่าสีจากวัตถุธรรมชาติ น่าจะมาจากจีน    และเวลานี้ใช้สีจากตะวันตก เป็น สีน้ำ สีอะคริลิกหรือสีพลาสติก       ท่านบอกว่าเวลานี้มี อจ. มศก. ค้นคว้าผลิตสีขึ้นเองสำหรับช่างเขียนภาพเชิงอุตสาหกรรมใช้    ได้รับพระราชทานชื่อว่า  สีศิลปากรประดิษฐ์   สีวิจิตรรงค์   เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง  
  
        ในภาพเขียนไทยโบราณ สีท้องฟ้าสมัยอยุธยาตอนต้น  ไม่จำเป็นต้องเป็นสีฟ้า แต่เป็นสีอุดมคติ  ไม่ใช่สีสมจริง    คือใช้สีแดง-ขาว    สีฟ้ามาเกิดสมัยรัตนโกสินทร์ตามแนวจิตรกรรมตะวันตก     ต่อมามีการเขียนก้อนเมฆบอกความใกล้ไกล ความกว้าง ความลึก
  
       ผู้มีคุณูปการด้านมาตรฐานสี คือ อ. อมร ศรีพจนารถ รร. ช่างศิลป์ เมื่อ 16 มีค. 30  เขียนตัวอย่างแถบสี 50 แถบสี  บอกชื่อสี ได้ใช้อ้างอิงกันจนบัดนี้

       ท้องฟ้า แทนสวรรค์ สะท้อนอุดมคติเรื่องสวรรค์ ไม่ใช่สมจริง   ใช้สีแดงสด  และดอกไม้ร่วงช่วยไม่ให้มีช่องว่าง  
       สมัย ร 3 เริ่มเขียนท้องฟ้า  ทะเล  พระอาทิตย์ สมจริงมากขึ้น 
       จิตรกรรมโบราณบอกเรื่องราว    ไม่บอกอารมณ์  
       สมัยใหม่ นำ 2 แนวมาผสมผสานกัน ยังสะท้อนรสนิยมในวัฒนธรรมไทย  

       ศ. ดร. ศักดา ศิริพันธุ์ (www.git.or.th) อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  และอดีต ผอ. สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  และเป็นราชบัณฑิต    นำเสนอประวัติศาตร์สี 15,000 ปีใน 15 นาที     ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มนุษย์ใช้สีจากแร่ธาตุ หินสีบด     ผมได้เรียนรู้ว่าสารสีมี ๒ แหล่ง  คือ pigment - มาจากสารอนินทรีย์   และ dyestuff หรือสีย้อม มาจากสารอินทรีย์
      Leonardo da Vinci เป็นผู้อธิบาย brightness contrast ของสีหรือของภาพเขียน
      Newton ค้นพบสีจากแสงสีขาว    เริ่มศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสี 
      สีกับจักษุประสาท  คนเห็นสีได้โดย retinal cone รับสี & visual cortex รับรู้สี
      จิตวิทยาของการเห็นสี :  เหลือง - เตือนภัย,  แดง บอกอันตราย    สีน้ำเงิน-เขียวเหมาะสำหรับใช้เตือนภัยตอนโพล้เพล้   
      ชื่อสีเปลี่ยนตามยุคตามสมัย   ตามวัฒนธรรมของประเทศ  

      ระบบ standardization ของสี  ใช้ ๓ ตัว คือ
          -  Hue, Value หรือ lightness
          -  Chroma - ค่าพิกัดสี
          -  saturation/purity ความอิ่มตัว
      ปี ๒๕๒๕ ได้ทำวิจัยเทียบชื่อแถบสี อมร - กับระบบ Munsell  พิมพ์แถบสีมาตรฐานลงใน J Sci Soc Thailand ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
 
       ต่อมาได้จัดทำระบบมาตรฐานสีอัญมณี    เพื่อให้สื่อสารกันได้    ตอนนั้นคิดว่าเป็นการทำครั้งแรก    แต่พบว่าหลวงนรินทราภรณ์ได้เคยรวบรวมไว้ตั้งแต่สมัย ร. ๒ 

      ศ. ดร. อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ คณะอักษรศาสตร์  จุฬาฯ  นำเสนอเรื่องสีในภาษาศาสตร์      นักศึกษาศาสตร์ศึกษาคำเรียกสี (ปริชาน - cognitive)    โลกทัศน์สี     สีเป็นการรับรู้พื้นฐานของมนุษย์    การจัดประเภทขึ้นกับวัฒนธรรม     มีคำถามวิจัยด้านภาษาศาสตร์มากมาย   
      hue  สีสัน  เนื้อสี
      chromaticity ภาวะสี  พิกัดสี
      saturation ความอิ่มตัวสี
      ความส่องสว่าง

      ชาวบ้าน แบ่งสีตาม ความมืด - สว่าง    ความสด - ความแห้ง
      วิวัฒนาการของการรับรู้สีของมนุษย์ : ขาวดำ,  แดง,  เขียวเหลือง,  ฟ้าน้ำเงิน,  น้ำตาล,  ม่วง ชมพู ส้ม เทา  
      คนจ้วง - ไทย รับรู้ขาว เหลือง แม่นยำที่สุด
      คนไทยในอดีตเรียกสี ฟ้า น้ำเงิน เขียว เป็นสีเขียว เช่นพิมพ์เขียว  

      ศ. ดร. กุสุมา รักษมณี (ผู้ดำเนินการอภิปราย) :  เรียกสีด้วยคำเปรียบเทียบ เช่น ตาเขียว  

      ผศ ดร เสาวนิต วิงวอน คณะมนุษยศาสตร์ มก.   เสนอเรื่องสีในวรรณกรรม    เป็นการศึกษาเพื่อดูความคิดของคน   ใช้สีในวรรณกรรมเพื่อพรรณนาให้เห็นภาพ    ใช้เปรียบเทียบ   เป็นสัญลักษณ์ เช่น สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์  สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความรัก    แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่นในหนังสือกามนิต ใช้สีดำแทนความรัก
     ใช้สีเชิงเปรียบเทียบกับสิ่งที่พบเห็นบ่อย
      ผมได้เรียนรู้ว่า นิล ในวรรณคดีไม่จำเป็นต้องสีดำ   อาจเป็นสีเขียว เท่ากับในวรรณคดีก็ใช้คำแสดง hue หรือเนื้อสี  

      สีเป็นสัญลักษณ์บอกอารมณ์ : blue - เศร้า   pink - สดใส ร่าเริง    ทำให้ผมนึกถึงหนังสือ The Six Thinking Hats,  The Six Action Shoes ของ Edward de Bono

      วรรณกรรม สัมผัสสีด้วยอารมณ์และมโนภาพ  

      ผมฟังการบรรยายและอภิปรายด้วยความอิ่มเอม     แล้วยังอิ่มท้องด้วยอาหารเที่ยงหนึ่งมื้อ ก็ลาไปประชุมสภา มศว.  ที่มีวาระสำคัญคือการลงมติแต่งตั้งอธิการบดี     ซึ่งได้คนเดิม คือ ศ. ดร. วิรุณ ตั้งเจริญ ด้วยมติเอกฉันท์     สภาฯ ปรึกษาหารือกันด้วยความรอบคอบ     เกรงจะมีคนไปฟ้องศาลปกครอง

วิจารณ์ พานิช
๒ มิ.ย. ๕๐    
 
   

หมายเลขบันทึก: 103176เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2007 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านบันทึกเล่าเรื่องนี้อย่างอิ่มเอมเช่นเดียวกันค่ะ อาจารย์ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่อาจารย์นำมาถ่ายทอด นอกจากจะได้อิ่มเอมกับเนื้อหาแล้ว ยังรับรู้ได้ถึงความ "อิน" ในบทบรรยายแต่ละเรื่องอย่างไรของอาจารย์ด้วย

อ่านแล้วก็ยังทำให้เกิดข้อคำถามในใจอีกมากมาย รู้สึกได้เลยค่ะว่ามีเรื่องมากมายหลายเรื่องที่เป็นสากลขนาดเนียนไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง หากเราสนใจแต่ในมุมมองที่เกี่ยวกับเราเท่านั้น จะทำให้เสียโอกาสที่จะได้เห็น ได้คิดในแง่มุมอื่น น่าชื่นชมผู้จัดที่เข้าใจนำผู้บรรยายในต่างแวดวงมารวมกัน เห็นเสน่ห์ของความต่าง (โดยเฉพาะมุมมอง) จริงๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท