ประเมินมาตรฐานระบาดวิทยาที่อำเภอบ้านดุง อุดรธานี ...ช่วยด้วยยย


ระบาดวิทยา

สัปดาห์นี้ ผมและทีมจากกลุ่มระบาดวิทยา สคร.6 ขอนแก่น ได้รับมอบหมายให้ออกประเมินมาตรฐาน SRRT (หน่วยเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว : Surveillance Rapid Response Team)และมาตรฐานงานระบาดวิทยาโรคติดต่อ ในอำเภอต่าง ๆ จำนวน 5 อำเภอ ในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งดูจากรายชื่อแล้วเป็นอำเภอที่ผมไม่เคยไปเลยซักอำเภอ แค่นึกก็ชักสนุกขึ้นมาแล้ว

วันแรกคือวันที่ 11 มิถุนายน หลังจากแวะรับคุณจ่อย นักวิชาการงานระบาดวิทยา 7 ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นผู้วางกำหนดการ และติดต่อประสานงานการตรวจประเมินให้พวกเราในครั้งนี้ เราก็ได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลพระยุพราชบ้านดุง ที่อำเภอบ้านดุง คุณจ่อยบอกเราว่าของขึ้นชื่อของอ.บ้านดุง คือ เกลือ เพราะมีการทำนาเกลือกันมากที่นั่น มีเรื่องเล่าว่าแค่เอาดินไปโปะ ๆ ไข่ (ไข่ไก่นะครับ..) ก็จะได้ไข่เข็มมากินกันแล้ว..

ที่อำเภอบ้านดุง ศูนย์ระบาดวิทยาอำเภอนั้นอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่ได้อยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเหมือนปกติทั่ว ๆ ไป (ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่บริบทของแต่ละอำเภอ ไม่ได้มีการบังคับแต่อย่างใด) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลออกมาต้อนรับเรา และปล่อยให้เราลุยประเมินอย่างเต็มที่

เป็นที่น่าสังเกตว่าโรงพยาบาลบ้านดุงนั้นค่อนข้างเงียบมาก ไม่รู้เป็นเพราะว่าคนอำเภอบ้านดุงนั้นสุขภาพดี หรือพวกเราไปถึงค่อนข้างสายกันแน่

เมื่อไปถึง พี่สมคิด (หัวหน้าใหม่ของพวกเรา) ก็ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอที่ตามมาที่โรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาประจำโรงพยาบาล ให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการมาประเมินในครั้งนี้ โดยเน้นย้ำว่านี่คือการออกมาเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ได้ออกมาจับผิดหรือหาข้อบกพร่องเพื่อตำหนิแต่อย่างใดนะท่านนะ

ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลจากโปรแกรม EPIDEM ทั้งหมด (EPIDEM : โปรแกรมระบาดวิทยาที่สำนักระบาดวิทยาใช้ในการส่งข้อมูลเฝ้าระวังรายงาน 506 ทั้งประเทศ) ซึ่งได้แก่ การตรวจจับการระบาด การดูความครบถ้วนในการรายงาน ความทันเวลาในการส่งรายงาน ความครบถ้วนของรายงานสอบสวนโรค และ ฯลฯ (อ่านว่า ไปกันใหญ่)

ป้าต๋อง และน้องเหมียวตัวแสบ ได้รับมอบหมายให้ดูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายงานสอบสวนโรค ซึ่งมีความสำคัญในแง่การพัฒนาวิชาการด้านระบาดวิทยาเป็นอย่างมาก ทางสำนักระบาดพยายามยกระดับรายงานสอบสวนโรคให้ดียิ่งขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นเพียงการกรอกตามแบบฟอร์ม ก็ถูกปรับมาเป็นการเขียนโดยเน้นที่การพรรณาตามหลักวิชาการ และมีหัวข้อที่ครบถ้วน

ด้วยความที่เป็นวันแรกในการออกประเมิน น้องใหม่ 2 คน คือผมและน้องเหมียว ก็ออกอาการเงอะๆ งะ ๆ โดยเฉพาะผมที่ต้องเร่งมือทำข้อมูลอันมากมายมหาศาล เพื่อให้ออกมาเป็นตัวเลขเพียงตัวเดียว เพื่อตอบลงในมาตรฐานแต่ละข้อนั้น ถึงกับเอ๋อเลยครับ ไม่รู้จะทำอะไรก่อนอะไรหลัง ความเข้าใจเรื่องการทำ Pivot  table ที่ปกติก็ทำกันอยู่ทุกวัน ๆ มาถึงวันนี้ มันกลับนึกไม่ออกว่าจะเอาตัวแปรไหนไปไว้ตรงไหนบ้าง  ทั้ง ๆ ที่ผมก็อ่านมาตรฐานและวิธีการประเมินมาตั้งหลายรอบจนคิดว่าเข้าใจเป็นอย่างดี 

เป็นจริงอย่างที่ท่านนายแพทย์ประเสริฐว่า "อ่านตำราว่ายน้ำเสร็จแล้ว ไปลงว่ายน้ำในสระลึกเลย มันก็จมตายน่ะซี้" (ต้องขึ้นเสียงสูงด้วยนะครับถึงจะเป็นของแท้)

เป็นบทเรียนครับว่า ทำงานอะไรก็แล้วแต่ หากขาดการซ้อมใหญ่ก่อนลงมือทำจริง มันก็จะถูกเอ๋อรับประทานฉะนี้แล

โชคดีครับได้หัวหน้าดี พี่สมคิดสงสัยจะตรวจจับอาการกระสับกระส่ายของลูกน้องได้ แกก็เลยเข้ามาใกล้บอกว่าค่อยๆ ทำไป ค่อย ๆ ศึกษาไป แล้วก็ทำให้ดู ...เราก็เปิดตำราตาม เออๆ เริ่มเข้าท่าแล้ว ทำได้ๆ สรุปว่าช่วงเช้านั้นเราประเมินไม่เสร็จทันเวลา ต้องมาต่อตอนบ่ายด้วย

ที่โรงพยาบาลพระยุพราชบ้านดุงนี้ เครื่องที่ใช้ทำโปรแกรม EPIDEM นั้นไม่มีที่เสียบ Handt Drive ครับ ใช้ได้เฉพาะแผ่น Disket ธรรมดาเท่านั้น เอาล่ะสิ โน๊ตบุ๊คที่เราเตรียมไป มันดันไม่มีที่เสียบแผ่นแบบนั้นซะด้วย ทำให้เราต้องถ่ายโอนข้อมูลจากเครื่องนั้นไปเครื่องนี้หลายทอดกว่าจะเอามาลงประมวลผลที่เครื่องนี้ได้ คิดต่อไปว่า ถ้าไปเจอบางโรงพยาบาลที่ไม่มีคอมพิวเตอร์เครื่องไหนสามารถเสียบแฮนดี้ไดรว์ได้เลยล่ะ ... จะทำยังไง

ตอนบ่าย เรามุ่งหน้าไปที่สถานีอนามัยวังทอง เพื่อประเมินมาตรฐานเช่นเดียวกัน แต่ข้อมูลนั้นจะได้มาจากโปรแกรม HCIS ซึ่งเป็นโปรแกรมเก็บข้อมูลผู้ป่วยในระดับสถานีอนามัย เพื่อรายงานเข้าโปรแกรม EPIDEM ของศูนย์ระบาดอำเภอต่อไป

ตัวผมนั้นใช้โปรแกรม HCIS ไม่เป็นหรอกครับ ยอมรับเลยว่าไม่ได้ศึกษามา แต่พี่จ่อยคนเก่งของเราแกคล่องมาก ปั๊บ ๆ แป๊บๆ ได้ข้อมูลมาให้พวกเราช่วยตรวจความครบถ้วนของการรายงานกันแล้ว

ไอ้การตรวจความครบถ้วนของการรายงานในระดับสถานีอนามัยนี่แหละครับ ยากมาก บอกได้เลยว่ามือใหม่อย่างผมทำไม่ได้แน่ๆ เพราะต้องใช้ความรู้ด้านสุขภาพ ไปนั่งดูผู้ป่วยทั้งหมดในโปรแกรมว่า มีผู้ป่วยรายใดที่สมควรถูกรายงานเข้าระบบ รง.506 บ้าง ซึ่งในรายงาน 506 นั้นมันมีทั้งหมด 81 โรคเชียวนะครับ โอวว ผมลองนั่งดูไปได้แค่เดือนเดียวก็แทบอาเจียนแล้วครับ ... ก็มันดูไม่ออกนี่หว่าว่าอาการแบบนี้น่าจะเข้ากับโรคอะไร และสมควรรายงานหรือไม่...อันนี้ต้องใช้ทักษะของผู้ที่คร่ำหวอดอย่างพี่สมคิดหรือพี่จ่อยแล้วครับ ผมเผ่นก่อนดีกว่า

แต่ที่เจอเยอะๆ  ก็พระเอกของเราล่ะครับ คือโรครหัส 02 และ 03 ซึ่งหมายถึงโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษตามลำดับ ตาแดงก็มีประปราย ส่วนโรคอื่นๆ นี่แทบจะไม่เจอเลย

ช่วงใกล้ ๆ จะประเมินเสร็จ ได้ยินแว่วๆ ว่าบ้านวังทองนี่อยู่ไกล้กับวัดป่าคำชะโนด ที่เคยเป็นข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน (เปรตอาจารย์กู้อ่ะครับ จำกันได้หรือเปล่า) พวกผมก็หูผึ่งกันทันที ....ไป ไป พวกเราชี้ชวนกันโดยมิได้นัดหมาย

หลังจากสรุปการประเมินให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยฟังแล้ว เราก็ดิ่งไปที่วัดป่าคำชะโนดเลยโดยไม่รอช้า (ส่วนหนึ่งเพราะว่ามันก็เย็นแล้ว เราต้องกลับขอนแก่นกัน )

วัดป่าคำชะโนด มีต้นคำชะโนดขึ้นเป็นเกาะกลางทุ่งนาเลยครับ เหมือนพวกเกาะเล็กเกาะน้อยแถวมัลดีฟอะไรแบบนั้น จากศาลาวัด จะมีทางเดิมเชื่อมไปยังเกาะที่ว่านี่ ซึ่งมีรูปปั้นพญานาคทอดตัวยาวไปตลอดสองข้างทาง มีป้ายกรุณาถอดรองเท้าตั้งอยู่ตั้งแต่ต้นทางครับ

ความรู้สึกเมื่อเดินผ่านทางเชื่อมเข้าไปในตัวเกาะคำชะโนดนั้น เย็นอย่างบอกไม่ถูกครับ ยิ่งประกอบกับเรื่องเราที่เคยได้ยินมา ยิ่งทำให้ขนลุก น้องเหมียวบอกว่าต้นคำชะโนดที่ขึ้นอยู่นี่ เป็นที่เดียวในโลกเลยนะคะ.....เราก็เฮ้ย จริงดิ (ยังไม่ปักใจเชื่อ ต้องไปหาเรฟเฟอเรนซ์) ส่วนพี่จ่อยก็บอกว่า เกาะนี้สามารถลอยน้ำได้ บางปีเมื่อถึงหน้าฝน ที่นาแถวลนี้จะถูกน้ำท่วมจนหมด แต่เกาะจะไม่ถูกน้ำท่วมเลย ทั้งๆ ที่ถ้าสังเกตดูเกาะจะอยู่ต่ำกว่าที่นารอบ ๆ (อันนี้ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะคำว่าเปอร์เสปคทีฟ สามารถหลอกตาคนได้)

แต่อย่างไรก็ตาม มันก็ผมทำให้ผมขนลุกได้อยู่ดี แต่ก็เป็นไปด้วยความศรัทธาและความมหัศจรรย์ในความอุดมสมบูรณ์ของป่าคำชะโนดที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนานะครับ น่าดีใจที่วัดสามารถอนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติแบบนี้ไว้ได้

วันนี้คงพอแค่นี้ก่อนครับ วันต่อไป เราจะไปที่อำเภอสร้างคอมกัน (ซิลิกอนวาลเลย์ ของบิลเกตส์ก็ต้องหนาว เมื่อเจออำเภอ "สร้างคอม")

 

คำสำคัญ (Tags): #ระบาดวิทยา
หมายเลขบันทึก: 103113เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตามมาขอบคุณ
  • ดีใจที่ได้พบ
  • ขอให้เขียนมาบ่อยๆๆ
  • นะครับ
  • จะตามมาอ่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท