โรงเรียนแห่งการคิด


การคิด

การประชุมทีมงานวิจัยโรงเรียนการคิดคณะของ รศ.ดร.ทิศนา  แขมมณี เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์เส้นทางการคิด เพื่อสร้างเป็นรูปแบบการคิด อาจารย์ใช้วิธีให้ทุกคนไปคิดมาเป็นการบ้าน โดยเขียนเป็น mind map แล้วนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน  จากข้อสรุปของแต่ละคนเห็นตรงกันว่าทักษะการคิดพื้นฐานหลัก ๆ ที่นำไปสู่กระบวนการคิดที่ซับซ้อนขึ้น ได้แก่ การคิดวิเคราะห์และการคิดสังเคราะห์  จากนั้นจึงจะพัฒนาขึ้นไป แตกออกเป็น 2 ทาง คือ การคิดวิจารณญาณ และการคิดสร้างสรรค์  ตรงนี้ถ้าเราสามารถวิเคราะห์เส้นทางการคิดได้ เราก็จะสามารถอธิบายแนวทางการพัฒนาการสอนการคิดได้ 

มีการเล่าเรื่องเกี่ยวกับการคิดวิจารณญาน ดังนี้

ที่โรงเรียนมีนักเรียนคนหนึ่ง เอายาแก้ไอไปหยอดใส่ตู้ปลาที่โรงเรียน จนปลาตาย ความจริงเด็กคนนี้สร้างปัญหาหลายเรื่อง ชวนเพื่อนทะเลาะ  เอาclipภาพโป๊อวดเพื่อน ฯลฯ ครูเลยประชุมกันเพื่อหาทางแก้ไข ครูประจำชั้นตัดสินใจว่าจะเอาปัญหาพฤติกรรมของเด็กคนนี้ไปปรึกษาเพื่อนนักเรียนในชั้น โดยคิดว่าพลังกลุ่มจะช่วยปรับพฤติกรรมได้  เรื่องนี้อาจารย์ทิศนาว่า ให้คาดเดาว่า เด็กคนนี้จะเป็นอย่างไร  เพื่อน ๆจะรู้สึกอย่างไร เป็นว่าปัญหาอาจบานปลายไปใหญ่  คำถามง่าย ๆ ที่อาจารย์ทิศนาถามว่า "ครูเคยถามตัวเด็กหรือไม่ว่า ทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น"  เพียงเด็กทำปลาตายไปหนึ่งตัว ครูก็จับโยงกับพฤติกรรมไม่ดีในอดีตของเขา และตัดสินใจทำเช่นนั้น แสดงว่าครูมี "การคิดวิจารณญาณ" หรือไม่  เด็กอาจมีเหตุผลอะไรบางอย่าง แต่ครูไม่เคยถามเขาเลย   

จากเรื่องนี้ เราได้ข้อสรุปว่าการคิดวิจารณญาณ มีความคลุมเครือมาก ไป ๆ มา ๆ มันกลายเป็น "คิดแก้ปัญหา" ไป  การคิดวิจารณญาณต้องมีการรับข้อมูลอย่างรอบด้านในการตัดสินใจ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลไม่เคยเพียงพอหรอก เราก็มักลงข้อสรุปไปตามข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัด  ถ้าเปรียบเทียบในชีวิตจริง บางทีก็ไม่ได้คิดด้วยซ้ำ คนเรามักเชื่อตามข่าวสารที่มีคนคิดไว้และตัดสินใจให้เสร็จ แต่ครันจะหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ไม่รู้จะหาที่ไหน ข้อมูลจริงเท็จอย่างไรก็วินิจฉัยยาก มันเลยเป็นยากซ้อนยาก เป็นว่าการสอนให้คิดวิจารณญานจึงเป็นเรื่องยาก สอนได้ยากมาก  ถ้าทำได้ บ้านเมืองเราคงไม่วุ่นวายอย่างนี้หรอก

สรุปว่าการขับเคลื่อนการสอนคิดในระยะแรก เราจะใช้ "ยุทธวิธีพระเจ้าตากสิน" คือ ฝึกเรื่องง่ายที่สุดก่อน (แต่ก็ยังยากอยู่) พวกการสอนคิดวิเคราะห์ ไปก่อน  เชื่อเถอะลำพังการสอนปกติ ก็เป็นเรื่องสาหัสสำหรับครู  ครูที่ปกครองชั้นเรียนไม่ได้ เด็กป่วน ถ้าครูจัดการไม่ได้ ก็อย่าไปพูดเรื่องการสอนเลย

เราเลยต้อง "ทำงานไป เรียนรู้ไป พร้อมกับครู"  คนส่วนมากเน้นไปที่เรื่องยากไปหมด หารู้ไม่ว่าเรื่องง่าย ๆ ก็สำคัญ  ก็ลืมไปหมด  เหมือนพยายามสร้างปราสาทอันสวยงามบนโคลนเลนที่ไม่มั่นคง แล้วปราสาทก็ทลายลง  การศึกษาเราเป็นอย่างนั้น สนใจสร้างปราสาท มากกว่า การปรับโคลนเลนให้เป็นฐานที่มั่นคงก่อน   

หมายเลขบันทึก: 102992เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2007 12:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้องหนุ่ม

      จะคิดแบบไหนก็แล้วแต่  ต้องอาศัยข้อมูลทั้งสิ้น  สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าทำอย่างไร  ครูจะนำพาให้นักเรียนได้มีข้อมูลรอบด้านมาใช้   ในเมื่อครูยังห่วงการป้อนเนื้อหาให้กับนักเรียน

สวัสดีค่ะพี่หนุ่ม 

กำลังสนใจเรื่องการคิดวิเคราะห์ คิดวิจารณญาณค่ะ ต้องการทราบว่ามีโรงเรียนใดที่สอนโดยเน้นการคิดดักล่าว หรือเป็นโรงเรียนต้นแบบกาสอนคิด ใครทราบช่วยบอกด้วค่ะ

จากน้องรุ่น 25 ค่ะ

ทาง สพฐ. นำเสนอรูปแบบกว้าง ๆ ให้โรงเรียนดำเนินการเพื่อยกระดับการคิดของนักเรียนให้สูงขึ้น โดยโรงเรียนเลือกใช้วิธีการตามที่ตนเองถนัดหรือมีทรัพยากรสนับสนุนอยู่แล้ว  จึงมีวิธีการหลากหลาย ส่วนเป้าหมายในการพัฒนาว่าเน้นการคิดอะไรนั้น ก็เหมือนกันครับ การพัฒนาเราก็ไม่ได้เน้นเชิงวิจัยมากนัก ไม่ได้มีกรอบในการพัฒนาที่ชัดเจนแบบกระบวนการวิจัย  เพราะอยู่ในระยะสร้างให้ครูเป็นนักคิด และปรับระดับให้เอื้อต่อการคิดของนักเรียนมากขึ้น การพัฒนาด้านการคิดต้องใช้เวลาครับ ดังนั้นถ้าจะตอบว่าโรงเรียนใดเน้นการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ คิดวิจารณญานนั้นก็ตอบยากครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท