จิตสาธารณะบนความเหลื่อมล้ำ


บทความ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งตั้งคำถามต่อนิยามและโครงสร้างที่เป็นไป ของนโยบายจิตสาธารณะ ทาน และการอาสาสมัคร ว่าควรเริ่มต้นและดำรงอยู่บนฐานใดของวัฒนธรรมไทย
จิตสาธารณะบนความเหลื่อมล้ำ 

ศ.นิธิ  เอียวศรีวงศ์ 

มติชนสุดสัปดาห์     ฉบับประจำวันที่ 814 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ปีที่ 27 ฉบับที่ 1399 

รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพิ่งประกาศวาระแห่งชาติอันใหม่ คือ ทานและการอาสาสมัคร ท่านบอกว่าคนไทยชอบทำทานอยู่แล้ว สถิติก็ชี้ให้เห็น 

ฉะนั้น กระทรวงจึงตั้งเป้าว่าจะทำให้เกิด 8 ล้านทาน, 8,000 โครงการ และ 8,000 วันลา ขึ้นในปีนี้ เดาได้เลยใช่ไหมครับว่า ทำไมถึง 8 ก็เพื่อฉลองวาระ 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามวิธีคิดของรัฐบาลใน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ควรคิด 

ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ควรถามว่า ตัวเลขเหล่านี้ได้มาจากการศึกษาอะไรในสังคมไทย เพื่อมองหาความเป็นไปได้และความน่าจะทำ เพราะถ้าศึกษาอาจไม่ตกเลข 8 ก็ได้ 

ในส่วนการอาสาสมัครนั้น ข้าราชการจะได้สิทธิ์วันลาเพิ่มขึ้นอีกปีละ 5 วัน เพื่อไปอาสาสมัครทำงานให้แก่สังคม แบบฟอร์มขออนุมัติการลาและเงื่อนไขต่างๆ ให้ไปดูได้ในเวปไซต์แห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็จะร่วมกับกระทรวงการคลังยกเว้นภาษีให้แก่ผู้บริจาคองค์กรการกุศลต่างๆ ให้มากขึ้น 

อันที่จริงทานและการอาสาสมัครนั้นเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของมนุษย์ หรือสังคมมนุษย์ นับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฝูง การอยู่รอดของฝูงจึงมีความสำคัญสุดยอดในการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ 

ปัญหามาอยู่ที่ว่าทานหรือการให้อะไร อย่างไร และแก่ใครจึงถือว่าเป็นทานที่ดี ควรส่งเสริม เช่นเดียวกับว่าอาสาสมัครทำอะไร อย่างไร และแก่ใคร จึงถือว่าเป็นการอาสาสมัครที่ดีควรส่งเสริม พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มาตรฐานของทานและการอาสาสมัครเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสังคม 

นับว่าถูกต้องแล้วนะครับ เพราะฝูงหรือสังคมของเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตลอดมามาตรฐานของทานและการอาสาสมัครจึงอยู่นิ่งกับที่ไม่ได้ ย่อมต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงนั้น เพื่อทำให้ชีวิตทางสังคมของมนุษย์และตัวสังคมของมนุษย์ดำรงอยู่ได้ไงครับ 

หากการอาสาสมัครในยุคนี้ มีมาตรฐานแต่เพียงไปช่วยเขาล่าสัตว์มาแบ่งกันกินอย่างเดียว ป่านนี้สังคมก็คงล่มจมไปตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว เพราะการล่าสัตว์ไม่ใช่ทางทำมาหากินเพื่ออยู่รอดของสังคมโดยส่วนใหญ่มานานแล้วเหมือนกัน 

แต่ก่อนนี้คนไทยทำทานกับวัดสูงมากๆ ไม่ใช่เพราะศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้าเท่านั้น แต่สังคมของเราจัดให้วัดทำหน้าที่สำคัญทางสังคมด้วย คือเป็นผู้รวบรวมทรัพย์ส่วนเกินมาเก็บไว้ และกระจายต่อไปยังผู้ขาดแคลน หรือกระจายไปบำบัดความต้องการและความจำเป็นของชุมชน ( Accumulation and distribution of wealth 

เช่น วัดคือผู้เก็บถ้วยขามรามไหไว้มากที่สุดในชุมชน ใครมีงานมีการต้องใช้ ก็มายืมวัดไปใช้ สมภารสามารถบอกบุญเอาแรงชาวบ้านมาล้างบ่อน้ำของวัดได้ เพราะที่จริงแล้วบ่อน้ำนั้นไม่ใช่ของวัด หากเป็นบ่อน้ำสาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน (ภายใต้การจัดการของวัด) 

นี่คือทานและการอาสาสมัครในชีวิตไทยสมัยก่อน เช่นเดียวกับการร่วมมือกันขุดลอกเหมืองฝายประจำปีของประชาชนในภาคเหนือ ก็เป็นทั้งทานและการอาสาสมัคร ทำให้การทำเกษตรในภูมิประเทศหุบเขาเป็นไปได้ 

แล้วสังคมไทยก็เปลี่ยนไป ด้วยสาเหตุอันหลากหลาย เช่น การทำมาหากินมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม การอาสาสมัครสร้างและรักษาฐานการผลิตที่ตัวไม่ได้ใช้จึงเริ่มไร้ความหมาย หรือรัฐแผ่อำนาจเข้ามาริบเอาวัดของชาวบ้านไปเป็นของตัว ทั้งยังตั้งตัวเป็นผู้รวบรวมทรัพย์ส่วนเกินและกระจายทรัพย์นั้นไปตามใจของตนเองมากขึ้นกว่าเดิมอย่างเทียบกันไม่ได้ (ในรูปของภาษีและงบประมาณแผ่นดิน) 

มาตรฐานของทานและการอาสาสมัครก็เปลี่ยนไป คงจำได้นะครับว่า ร.6 ทรงแสดงพระราชมติว่า ทำบุญกับวัดมากไปแล้ว ควรหันมาทำบุญกับโรงเรียนบ้าง แทนที่จะสร้างวัดประจำรัชกาล ก็ทรงสร้างโรงเรียนประจำรัชกาลแทน เป็นต้น 

นี่คือการที่รัฐพยายามเข้ามาปรับเปลี่ยนมาตรฐานของทานและการอาสาสมัครนั่นเอง 

มองในแง่นี้ องค์การสาธารณกุศลประมาณ 400 แห่งที่กระทรวงการคลังยกเว้นภาษีแก่ผู้บริจาคเอาไว้ ก็คือการกำหนดมาตรฐานว่า อะไรคือทาน และการอาสาสมัครนั่นเอง 

แต่ที่จริงแล้ว นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวนิดเดียวของทานและการอาสาสมัครที่คนไทยทุกวันนี้ทำอยู่ 

คนแก่ๆ ไร้ที่พึ่งจำนวนมากในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่รอดมาได้ด้วยการอุปถัมภ์ของชุมชน แม้ครอบครัวแตกสลายไปแล้วก็ตาม นี่คือทานและการอาสาสมัครที่คนไทยทำอยู่เป็นปรกติโดยไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรจากรัฐ ทั้งๆ ที่รัฐไม่สามารถดูแลคนแก่ซึ่งมีมากขึ้นท่ามกลางการพังสลายของกลไกล และสถาบันที่เคยอุปถัมภ์คนแก่ในสังคมไทยมาก่อนได้ทั่วถึง ปราศจากเสียซึ่งทานและการอาสาสมัครของคนในวัฒนธรรมไทยเช่นนี้ คงมีศพคนแก่ทิ้งเกลื่อนอยู่ทั่วไปในประเทศ 

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นด้วยว่า มาตรฐานของทานและการอาสาสมัครที่รัฐกำหนดขึ้นนั้น มีความลำเอียง (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น หากยกเว้นภาษีให้แก่องค์กรสาธารณกุศล ก็แปลว่าทานและการอาสาสมัครที่รัฐถือเป็นมาตรฐานนั้นต้องมีการจัดองค์กร แต่คนไทยส่วนใหญ่ทำทานและอาสาสมัครโดยไม่ได้จัดองค์กร หรือผ่านองค์กร 

พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ ทานและการอาสาสมัครนั้น แฝงอยู่ในวิถีชีวิต ไม่ใช่ 5 วันที่สามารถแยกออกจากชีวิตปรกติได้ จะทำอย่างไรเพื่อให้วิถีชีวิตไทย ซึ่งมีลักษณะปัจเจกมากขึ้นยังมีมิติของทานและการอาสาสมัครอยู่ต่อไป 

ยังมีปัญหาในเรื่องมาตรฐานของทานและอาสาสมัครที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เป็น สาธารณะ ในวัฒนธรรมไทยแต่เดิมเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ทางตรง เช่น ชุมชน, เครือญาติ, ศรัทธา, วัด ฯลฯ เมื่อเราขยับมาอยู่ในสังคมที่ความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ทางตรงมีมากขึ้นและสำคัญขึ้น จะขยายสำนึกถึง สาธารณะ ให้กว้างตามได้อย่างไร 

โรงเรียนซึ่ง ร.6 ทรงสนับสนุนให้สร้างขึ้นนั้น มีประโยชน์ต่อ สาธารณะ ในคนละความหมายจากวัดประจำหมู่บ้านนะครับ 

ผมไม่ได้คิดว่าคนไทยโง่เง่า หรือ ดื้อด้าน ไม่ยอมเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของ สาธารณะ ในโลกยุคปัจจุบันหรอกนะครับ แต่ผมคิดว่ามีปัญหาอยู่สองประการสำคัญของสังคมไทยเอง ที่ทำให้คนไทยปัจจุบันสำนึกถึง สาธารณะ ในวงกว้างได้ลำบาก 

1. ตรงกันข้ามกับโง่เง่าหรือดื้อด้านเลยนะครับ มีคนไทยจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มอง สาธารณะ กว้างกว่าที่รัฐต้องการ เพราะรัฐคิดว่าพื้นที่ส่วนนี้เป็นสัมปทานของรัฐคนเดียวคนไทยไม่เกี่ยว 

ผมขออธิบายด้วยการยกตัวอย่างเดียวกับที่ท่านรัฐมนตรีใช้ ท่านพูดถึงความช่วยเหลือจากภาคเอกชนและประชาชนที่หลั่งไหลเข้าไปช่วยเหลือสึนามิอย่างท่วมท้น เปรียบเทียบกับอีกหลายสังคมที่ประสบภัยสึนามิเหมือนกัน ก็ควรภาคภูมิใจนะครับที่คนไทยเข้มแข็งในด้านบรรเทา สาธารณภัย ร่วมกันได้เช่นนี้ 

แต่น้ำใจของคนไทยในทานและการอาสาสมัครครั้งนี้ ถูกทอนประสิทธิภาพลงไปมากมายด้วยความห่วยแตกของภาครัฐ เพราะจัดการไม่เป็น ซ้ำยังมีนักการเมืองและนายทุนที่ใช้กลไกของรัฐเพื่อช่วงชิงทรัพยากรท่ามกลางความทุกข์ยากแสนสาหัสของเหยื่อสึนามิ 

เช่น นักการเมืองคนหนึ่งใช้กำลังทั้งตำรวจ และทหาร ขับไล่ไม่ให้ประชาชนกลับเข้าไปตั้งบ้านเรือนบนถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งเคยอยู่มาของตน อ้างว่าเขามีเอกสารสิทธิ์ (ซึ่งออกมาได้อย่างไร และตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบได้) 

ของบริจาคที่ชาวบ้านไดรับซ้ำทั้งประเภทของสิ่งของและ ชุมชนเก่าได้รับแล้วรับอีก ในขณะที่ขาดแคลนของบางอย่าง และบางชุมชนไม่ได้รับของเลย ส่วนการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำมาหากินของเขาเป็นไปอย่างเชื่องช้า และให้ไม่ตรงจุดที่เขาต้องการ เช่น ลงทุนให้ตั้งร้านขายของในชุมชนที่ไม่มีใครมีเงิน เพราะเครื่องมือทำมาหากินถูกทำลายไปหมดแล้ว 

ประเด็นที่ผมอยากชี้ให้เห็นก็คือ นักข่าว, ผู้สังเกตการณ์, เอ็นจีโอ ฯลฯ ที่มองเห็นความห่วยแตกเหล่านี้ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐหรือโพนทะนาเพื่อให้รัฐปรับปรุงตัวเอง เป็นทานและการอาสาสมัครหรือไม่ คือให้อำนาจแก่ประชาชนที่จะได้รับบริการอันเหมาะสมจากรัฐ และอาสาออกหน้าที่รัฐอาจเหม็นได้ 

ถ้าอย่างนี้ไม่ใช่ทานและการอาสาสมัคร ผมเกรงว่าทานและการอาสาสมัครจะไร้ความหมายไปเรื่อยๆ เราจะช่วยคนพิการในสภาพที่รัฐไม่ยอมบังคับให้นายทุนลงทุนเพื่อคนพิการ สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคไปได้อีกกี่น้ำ เพราะรัฐคือผู้จัดการใหญ่ของสังคมสมัยใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้ 

แล้วลองคิดให้กว้างกว่าประเทศไทยขึ้นไปอีกนะครับ เช่น ประชาชนพม่าซึ่งถูกกองทัพพม่ากดขี่อยู่ในเวลานี้ แรงงานต่างด้าวที่ถูกรัฐและทุนช่วยกันขูดรีดเอาเปรียบ ชนส่วนน้อยกะเหรี่ยงในทุ่งใหญ่นเรศวร โลกร้อน ดาร์ฟูร์ อิรัก เลบานอน ฯลฯ 

ข้าราชการขอลาไปสนับสนุนอองซานซูจีสักห้าวัน หรือร่วมประท้วงการประชุมจีแปด จะได้ไหมเนี้ย 

2. ทานและการอาสาสมัครในชุมชนไทยโบราณซึ่งดำเนินมาได้เป็นเวลานาน โดยไม่มีวันลาและไม่มีการหักภาษี เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ผมคิดว่าปัจจัยสำคัญ คือ การมีชีวิตอยู่ในสังคมเสมอภาคครับ ถึงไม่เท่าเทียมกันเป๊ะ ก็มีความเสมอภาคพอที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ สาธารณะ เหมือนๆกัน 

เมื่อเราขยาย สาธารณะ จากชุมชนและท้องถิ่นมาถึงสังคมชาติและโลกในวงกว้าง สิ่งที่น่าจะถามก่อนอื่นก็คือ สังคมดังกล่าวมีความเสมอภาค พอที่จะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ สาธารณะ ต่างๆร่วมกันหรือไม่ 

ว่าเฉพาะสังคมชาตินะครับ ผมว่าไม่อย่างแน่นอน เรามองเห็นความเหลื่อมล้ำเต็มไปหมด ถนนของใครครับ ของคนมีรถยนต์อย่างชัดเจน ฉะนั้น ทำไมคนเดินถนน จึงควรช่วยกันรักษาความสะอาด หรือควรช่วยกันข้ามถนนด้วยสะพานลอยละครับ คลองคือท่อระบายน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ทำไมชาวสลัมจึงไม่ควรทิ้งขยะลงคลองละครับ แล้วจะให้อาสาสมัครทำความสะอาดคลอง ซึ่งเป็นสมบัติของคนอื่นไปเพื่ออะไร 

ทานและการอาสาสมัครเกิดในสังคมที่ดูแคลนความเสมอภาคถึงนี้ไม่ได้หรอกครับ  

หมายเลขบันทึก: 102544เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2007 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 18:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะคุณ Kati

เบิร์ดขอบอกว่านี่เป็นความรู้สึกของเบิร์ดในขณะนี้นะคะ..( เพราะถ้าเลยจากนี้ความรู้สึกอาจเปลี่ยน เพราะเป็นข้าราชการ )

เวลาเบิร์ดทำทานหรือเป็นอาสาสมัครเบิร์ดทำเพราะอยากทำและคิดว่าในช่วงเวลานั้นๆเบิร์ดทำได้ และเบิร์ดคิดว่าทำอยู่แล้วเป็นกิจวัตรตั้งแต่นั่งสมาธิ แผ่เมตตา การทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ฯลฯ ( วันนี้เบิร์ดหยุด เลยมาเล่นเน็ตตอนกลางวัน อิ อิ ) แต่ดู โครงการที่สนองวาระแห่งชาติ แล้วทำไมเบิร์ดไม่อยากทำก็ไม่ทราบนะคะ รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ทำชอบกล เหมือน" ต้องทำ " และต้องเกณฑ์กันไปทำให้เหมือนๆกันยังไงก็ไม่ทราบ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความนี้จะได้เตรียมใจ ^ ^

 

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ที่คุณเบิร์ดอธิบายมาทั้งหมด หัวใจสำคัญทั้งนั้นเลยครับ
  • นั่นแหละครับ สำหรับความหมายจริง ระหว่างการเลือกที่จะทำ แบบสมัครใจ ด้วยหัวใจแบบจิตอาสา
  • กับกรอบที่เป็นปัญหา และมีคนตั้งคำถาม กับเจตนาที่ดีที่จะสร้างวัฒนธรรม ในกรอบคิดแบบข้าราชการ ให้เป็นวาระแห่งชาติ
  • คือตัวตั้งดี เป้าหมายดี ความตั้งใจดี และวิธีการยังเป็นปัญหา
  • หัวใจ ก็คงต้องอธิบาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติ ผู้ออกแบบวางแผนนโยบายได้เข้าใจ ว่าสิ่งที่เป็นทางการ กับไม่เป็นทางการ มันจะแยกยังไง
  • เหมือนนั่งเขียนบันทึกในบล็อค ให้เป็นหลักการบ้าง ไม่เป็นหลักการบ้าง ใช้ความรู้สึกนิด ใช้เหตุผลหน่อย โดยหัวใจคือเป็นธรรมชาติ สบายๆ และไม่บังคับกะเกณฑ์ แต่ก็พยายามเขียนสม่ำเสมอ เพราะมีความสุขที่ได้บันทึก และสื่อสารกับคนอื่น
  • แต่หากต้องมีการจัดระเบียบวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการ บริหารองค์ความรู้แห่งชาติ โดยบังคับกะเกณฑ์ขึ้นมา
  • อันนี้ แหละครับ ปัญหาเกิดทันที
  • เช่นเดียวกัน ผมเห็นด้วย กับความรู้สึกที่อธิบายนะครับ
  • เห็นด้วย และสนับสนุนอย่างยิ่ง
  • สำหรับธรรมชาติของจิตอาสา และความปรารถนาที่จะทำ ที่จะช่วยทำ
  • คงต้องคาดหวัง ภาวนา และพยายามอธิบาย ให้ผู้ทำงานในระดับนโยบาย เข้าใจถึงช่องว่าง ความไม่เหมาะสม และไม่มีความน่าจะเป็นในทางปฏิบัติ ของวาระแห่งชาติเช่นนี้
  • คงต้องช่วยๆกันครับ
  • เขียน และส่งผ่านข้อมูลข่าวสาร ให้ช่วยกันรับรู้ครับ
  • ขอบคุณมากครับ สำหรับการร่วมแลกเปลี่ยน
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท