มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน
ว่าที่ร้อยตรี จิรศักดิ์ กรรเจียกพงษ์

ด้วยรักจากแม่ แต่ทำลายโลก




ด้วยรักจากแม่ แต่ทำลายโลก
30 พฤษภาคม 2550
เขียนโดย สุขุม ชีวา
ความย่อ : ผ้าอ้อมเด็กใช้แล้วทิ้งได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะความสะดวกสบายและรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็ก่อปัญหาขยะล้น ไม่ย่อยสลาย และปนเปื้อนเชื้อโรคสู่แหล่งน้ำ ผ้าอ้อมเด็กจึงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ ที่มองข้ามไปได้

เวลาไปเยี่ยมญาติ หรือเดินในห้าง เคยนึกสงสัยที่เห็นลูกของญาติและเด็กอ่อนที่พ่อแม่พามาเที่ยวช้อปปิ้งด้วย จะใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปกันไปหมด ผู้เขียนนึกถึงสมัยก่อน เด็กใช้ผ้าอ้อมที่ตัดจากผ้าฝ้ายสีขาวผืนใหญ่ นำมาพับเป็นสามเหลี่ยมและพับทบไปมากลัดด้วยเข็มกลัดอันใหญ่ นึกเสียดายว่าพ่อแม่ยุคใหม่สมัยนี้จะยังพับผ้าอ้อมแบบเดิมกันเป็นหรือไม่


ผ้าอ้อมยุคใหม่

คงไม่มีใครปฏิเสธเด็กตัวน้อยนั้น น่าอุ้ม น่าหอมแก้ม แต่ถ้าไม่ระวังตัวอาจโดนฝากรอยฉี่ของเจ้าตัวเล็กไว้บนเสื้อ ผ้าอ้อมแก้ปัญหานี้ได้ แต่ที่ถูกใจคุณแม่มือใหม่ในความมหัศจรรย์ของผ้าอ้อมสำเร็จรูปคือคุณสมบัติของ ไฮโดรเจล สารดูดซับชนิดพิเศษที่เป็นผงแต่เมื่อสัมผัสกับของเหลวจะเปลี่ยนเป็นสารคล้ายเจล พองตัวจับกันเป็นก้อน สามารถดูดซับฉี่เด็กได้ 20-40 เท่า

ผ้าอ้อมแบบนี้ใช้ได้สะดวก แถมยังใช้แล้วทิ้งลงถังขยะได้ ไม่ต้องเปลืองแรงซักให้เหนื่อย ยิ่งครอบครัวเดี่ยวปัจจุบันนี้แล้วละก็ คงไม่มีใครยอมมานั่งซักผ้าอ้อมกองโตกันแน่

ผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งเกิดขึ้นมาไม่นาน ประมาณ 60 ปีก่อนนี้ บริษัทพล็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter and Gamble : P&G) หัวใสคิดผลิตผ้าอ้อมแบบใหม่ นำเอาวัสดุที่ดูดซับของเหลวได้ดีแบบเดียวกับที่ใช้ในผ้าอนามัย มาประยุกต์ใช้แทนผ้าอ้อมผ้าและกระดาษทิชชู ปรากฏว่าผ้าอ้อมยี่ห้อ “แพมเพอร์ส” ทันทีที่เปิดตัวสู่ตลาดก็โด่งดังขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในอเมริกา และยุโรป

ผ้าอ้อมแบบเดิมๆ จึงตกกระป๋องไป บรรดาแม่ลูกอ่อนหันมาซื้อผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งกันถ้วนหน้า



ขยะผ้าอ้อม

ยิ่ง P&G กับ คิมเบอรี่ คล๊าส์ก (Kimberly Clark) แข่งขันกันเจาะตลาดผู้บริโภคจนกระจายสินค้าไปทั่วโลก เฉพาะในสหรัฐอเมริกา เด็กทารกคนหนึ่งเฉลี่ยใส่ผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งมากกว่า 5,000 ผืน ในช่วงอายุ 30 เดือนแรก หากคิดรวมในปีเดียวมีการใช้แล้วทิ้งมากกว่า 16,000 ล้านผืนทีเดียว หรือคิดเป็นน้ำหนัก 2.7 ล้านตัน

ขยะผ้าอ้อมจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะคุณแม่แกะผ้าอ้อมที่สกปรกทิ้งตรงลงถังขยะทันที ขยะจำพวกนี้มากกว่า 92% ไปจบลงที่ภูเขาขยะ ผ้าอ้อมที่ทับถมกันจะไม่ย่อยสลายไปได้ง่ายๆ อาจใช้เวลาถึง 250-500 ปี การแพร่เชื้อโรคลงสู่แหล่งน้ำยังเป็นปัญหาอีกเรื่อง เพราะสิ่งขับถ่ายที่หมักหมมอยู่ในผ้าอ้อมจะไหลซึมลงดินอย่างแน่นอนเมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน

ประมาณการกันว่า กระบวนการผลิตผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งในแต่ละปี ต้องใช้พลาสติก 82,000 ตัน เยื่อไม้ 1.8 ล้านตัน หรือต้องตัดไม้มากกว่า2 แสนต้น แม้ว่าจะเป็นไม้จากป่าปลูกก็ตาม แต่ก็ใช้ไม้มากมายอยู่ดี



ของเก่า ไม่ถึงกับแย่
ของใหม่ ไม่ได้ดีเสมอไป

คงไม่มีใครนึกว่าผ้าอ้อมผืนเล็กแค่นี้ จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้มากมาย กลุ่มรณรงค์ใช้ผ้าอ้อม Real Diaper Association จึงเกิดขึ้นมา ชักชวนคุณแม่หันมาใช้ผ้าอ้อมแบบซักได้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ยกข้อดีของผ้าอ้อมที่ทำจากผ้าไม่เพิ่มปริมาณขยะ กว่าจะทิ้งเป็นผ้าขี้ริ้วก็ผ่านการใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก 50-200 ครั้ง

ข้อด้อยของผ้าอ้อมแบบซักได้ จะดูดซับฉี่เด็กได้น้อยกว่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป แต่กลับเป็นข้อดีต่อเด็ก ทำให้คุณแม่ต้องหมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งที่เปียกเด็กฉี่หรือถ่าย จึงไม่เกิดการหมักหมมเหมือนผ้าอ้อมที่ใส่ตลอดวัน ปัญหาผื่นผ้าอ้อมก็ลดลง

ผู้เขียนเห็นพ่อแม่บางคนให้เด็กใส่ผ้าอ้อมจนโต ผู้เชี่ยวชาญการดูแลเด็กเล็กเตือนว่า จะทำให้เด็กไม่ฝึกควบคุมการขับถ่ายของตัวเอง นึกอยากฉี่หรือถ่ายตอนใดก็ไม่ต้องกลั้นไว้ไปถ่ายในห้องน้ำ เพราะคุณพ่อคุณแม่นึกเอาสะดวกไว้ก่อน แต่ปัญหาตกอยู่ที่ลูกไม่เคยฝึกนิสัยขับถ่ายเป็นเวลา

แต่ความสะดวกรวดเร็วเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณแม่สมัยใหม่ไปเสียแล้ว งานบ้านก็ต้องทำ ดูแลลูกก็ต้องทำ และงานนอกบ้านอีก ผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งจึงยังตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่

เจสันและคิม เกรแฮม ไน พ่อแม่ลูกสอง มีความห่วงใยสิ่งแวดล้อม แต่ยังอยากใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป จึงลองผลิต gDiapers ผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้งและย่อยสลายได้ขึ้นมา ผ้าอ้อมแบบใหม่นี้ ไม่ใช้คลอรีนฟอกสี ไม่ใส่น้ำหอม สีย้อม และไม่มีส่วนผสมของพลาสติก

ผ้าอ้อม gDiapersย่อยสลายได้ในเวลาประมาณ 2 เดือน และย่อยสลายจนหมดภายใน 1 ปี จึงเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง (www.gdiapers.com)

เมืองไทยเองปัจจุบันนี้ก็ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีใครกล่าวถึงปัญหาขยะ อาจจะมองไม่เห็นว่าปัญหาขยะล้นเมืองนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากผ้าอ้อม (ขยะในครัวเรือนของคนสหรัฐกว่า 50% เป็นขยะจากผ้าอ้อมใช้แล้วทิ้ง) อย่างไรก็ดี มันเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากว่า แค่ผ้าอ้อมไม่กี่ชิ้นต่อวันจะก่อขยะได้มากแค่ไหนกันเชียว



เรียบเรียงจาก :

www.rmutphysics.com ในชื่อเรื่อง วิวัฒนาการของผ้าอ้อมสำเร็จรูป เขียนโดย ปิยวรรณ สุรัญชนาจิรสกุล ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

www.wikipedia.org ในคำค้น “diaper”

http://www.ag.ohio-state.edu/~ohioline/hyg-fact/5000/5503.html The Diaper Decision - Not A Clear Issue Joyce A. Smith & Norma Pitts / Ohio State University Extension Fact Sheet, 2 jul 2001

http://www.alternet.org/story/51311/ Natural Baby, Poisonous World By Brita Belli, E Magazine Posted on May 17, 2007

www.realdiaperassociation.org ในชื่อเรื่องREAL DIAPER ASSOCIATION - DIAPER FACTS

ที่มา : http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=c2_30052007_01<hr width="100%" size="2" />

หมายเลขบันทึก: 102301เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2007 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2014 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท