เริ่มรู้จัก KM ขึ้นอีกหน่อยจ้ะ


KM ไม่ง่าย แล้วก็ไม่ยากเกินไป แต่ต้องอาศัยประสบการณ์และความร่วมมือ

ได้โอกาสไปเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ"การพัฒนาศักยภาพการจัดการความรู้" ที่กองทันตสาธารณสุข จัดเมื่อ 21-23 พค.ที่ผ่านมา เลยนอกจากจะได้รับความรู้และขั้นตอนการทำKM แล้วยังได้ของแถมดีๆ คือ ได้พบกับคุณหมอนนท์ตัวจริงหลังจากที่ได้แอบคบหาผ่าน blog มานาน เข้าไปแต่ก็แอบๆมองอยู่คะ ไม่กล้าเข้าไปทักคะ เพราะไม่มั่นใจว่าคนไหนแล้วก็แหม...ก็อย่างที่คิด จะกล้าทักได้ไงเราเป็นเด็ก  แล้วคุณหมอนนท์ก็เข้ามาทักคุณหมอก้องก็เลยผ่านมาถึงทีมที่ไปด้วยกัน แต่แหม! ทำไมมือมันแข็ง ยกไม่ขึ้น ทั้งๆที่ตั้งใจไว้ว่าถ้าเจอนะเราจะยกมือสวัสดีทักก่อนเชียว ...มันตื่นเต้นคะ บวกด้วยน้ำตาลกำลังต่ำ เพราะเดินทางจากนครสวรรค์แต่เช้าแล้วไม่ได้ทานอาหารกันไปก่อน  แต่คุณหมอนนท์ก็น่ารักมาก ยิ้ม ใจดีตลอดเลย บรรยากาศการอบรมวันนั้นเป็นกันเองดี สบายๆ 

  เริ่มด้วยคุณหมอนันทากล่าวเปิดงาน แล้วนำเข้าสู่เนื้อหาที่มาความสำคัญของการจัดการความรู้ที่แม้จะเป็นเพียง 5%ของมิติที่ 4 การพัฒนาองค์กร ในประเด็นของการประเมินผลการปฏิบัติราชการ แต่ทุกอย่างล้วนมีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้อย่างปฏิเสธไม่ได้เลยเชียวล่ะ

    การจัดการความรู้จะเน้นด้านความรู้ซ่อนเร้น ( Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่ได้มาจากการสะสมประสบการณ์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการทำงานในตัวบุคคลมากกว่าทฤษฎี  ซึ่งสำคัญ คือ คนที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้องมีใจตรงกันที่ต้องการแบ่งปันกันอย่างแท้จริง ไม่มีกั๊ก  ไม่มีข่ม มีแต่ความรู้สึกดีๆที่ชื่นชมความสำเร็จของกันและกัน

      มีสมาชิกถามว่า "ทำไมไม่ให้พูดถึงความผิดพลาดในงานล่ะ ทำไมต้องพูดแต่ความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ"  อาจารย์นันทา ได้ตอบว่า" เนื่องจากกว่าจะมาถึงวันที่เราพบความสำเร็จเราก็ต้องผ่านขบวนการผิดพลาดหรือพบอุปสรรคต่างๆมาก่อนอยู่แล้ว งั้นการพูดถึงความสำเร็จ หรือภาคภูมิใจก็มาจากผลลัพธ์เดียวกัน"...จริงๆอาจารย์ไม่ได้พูดแบบนี้เด๊ะหรอกนะคะ แต่ความหมายคล้ายๆแบบนี้แหล่ะ

     ก่อนเริ่มกิจกรรมKM ผู้จัดก็ให้ดูหนังรุ่นฝนตก...แบบสมัยมิตร-เพชรานะคะ เรื่อง "เสียงกู่จากครูใหญ่" ดูไปสะดุดไปแต่ก็ได้ความรู้สึกดีๆจากครูใหญ่ที่เป็นต้นแบบของข้าราชการที่สู้ชีวิตจากครูใหญ่คนใหม่ที่ชาวบ้านไม่ยอมรับ จนกระทั่งชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกันสร้างโรงเรียนใหม่ให้คุณครู มีผู้บริหารระดับประเทศมาสร้างโรงเรียนให้ใหม่ กลายเป็นคนดังระดับประเทศเลย 

   เมื่อดูหนังจบอาจารย์ก็ให้แต่ละกลุ่มสกัดเรื่องความสำเร็จเล็กๆของครูใหญ่ วิธีการที่ทำให้เกิดความสำเร็จนั้น ปัจจัยความสำเร็จ  และคำคมที่ชอบจากหนังเรื่องนี้  เช่น  "การทำงนหนักเป็นดอกไม้ของชีวิต" "พึ่งตัวเองซะก่อนแล้วสวรรค์จะช่วย" "สร้างศรัทธาไม่สำเร็จ การพัฒนาก็ล้มเหลว" "การศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่เพื่อการทิ้งท้องถิ่น" "ยกคนดี ตีคนชั่ว"

    จากนั้นแต่ละกลุ่มก็เล่าเรื่องที่เตรียมมา  เพราะก่อนที่จะมาเข้าประชุมคุณหมอนนท์ก็ให้ทุกคนส่งเรื่องเล่าไปให้ก่อน ผ่านทาง e-mail โดยกำหนดหัวปลาว่า"ความสำเร็จในการทำงานส่งเสริมสุขภาพ"  จากนั้นก็ได้ส่งเรื่องเล่าเดิมพร้อมทั้งข้อชี้แนะมาให้เจ้าของเรื่องเล่าเตรียมตัวไปเพิ่มเติม  แต่พอเอาเข้าจริงบางคนก็เปลี่ยนเรื่องเล่าใหม่ บางคนก็ขอเล่าสดในกลุ่มเลย  ในขณะเล่าจะมีFA ที่คอยควบคุมกระตุ้นกลุ่มให้เล่าให้ตรงประเด็น และควบคุมเวลา รวมทั้งเจาะลึกประเด็นสำคัญๆที่เป็นหัวใจของเรื่องเล่าที่บางครั้งเจ้าของเรื่องก็ไม่ได้เล่า แล้วคนในกลุ่มก็ฟังผ่านไป แต่ขั้นตอนนี้เลยขึ้นกับฝีมือ FA ว่าจะคุมเกมได้แค่ไหนที่จะได้ Tacit Knowledge ออกมาว่าความสำเร็จคืออะไร มีวิธิการอย่างไร  แล้วNote taker  ก็จดบันทึกตามที่สมาชิกเล่าเรื่อง

  เมื่อทุกคนเล่าเรื่องครบแล้วตามเวลาที่กำหนด ก็มาช่วยกันสกัดเป็น"ขุมความรู้ "ที่ได้จากแต่ละเรื่องเล่า  จากนั้นก็นำมาสกัดอีกขั้นเป็น"แก่นความรู้"

   แล้วให้แต่ละกลุ่มนำเสนอสิ่งที่สกัดได้  แล้วนำมารวมกันเป็นข้อมูลของกลุ่มใหญ่ นำเข้าสู่"สายธารปัญญา" โดยแบ่งเป็น 5 ระดับ(ไม่บังคับว่าต้อง 5 ระดับแต่ 5 ระดับจะได้การกระจายแบบเหมาะสมกว่าแบบอื่นๆ)  ระดับที่ 5 คือเรื่องที่ฝันว่าจะเป็นไปให้ถึง  ระดับที่ 1 คือระดับต่ำสุดที่ควรเป็น คล้ายกับการแบ่งระดับของ competency โดยยึดประเด็นว่า "ตารางอิสระภาพนี้มีอิสระในการสร้าง ในการใช้ ในการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ล่องลอย มีที่มาที่ไป"  และเลือกทำเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ไม่ต้องทำไปทุกเรื่อง

   จากนั้นก็นำไปจัดกลุ่มทำกราฟ แบ่งระดับหน่วยงานว่าใครอยู่ในระดับไหน จะไปเรียนรู้จากใครที่ดีกว่า และเราจะพัฒนาตัวเองไปอีกเท่าไหร่

  เมื่อได้แนวทางคร่าวๆแล้วเราก็มาทำ AAR  ทบทวนกิจกรรมในการอบรมครั้งนี้กันอีก เป็นอันจบขบวนการจ้ะ

 

     

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 101553เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท