ฝากเด็ก


ช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม  จะเป็นเวลาที่ปวดหัวมากที่สุดสำหรับคนที่เป็นอธิบดีและปลัดกระทรวง   เพราะเป็นเวลาที่เด็กเรียนจบชั้นประโยคจะต้องหาที่เรียนต่อใหม่   ผู้จบชั้นอนุบาลก็
วิ่งหาที่เรียนต่อชั้นประถม  ผู้จบชั้นประถมก็ต้องหาที่ต่อชั้นมัธยมต้น   ผู้จบชั้นมัธยมต้นก็หาที่ต่อ
ชั้นมัธยมปลายหรือไม่ก็อาชีวศึกษา  ผู้สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ก็อยากเข้าเรียนสถาบันราชภัฏต่าง ๆ   การหาที่เรียนเป็นความเดือดร้อนของผู้ปกครองเป็นอย่างยิ่ง  ปัญหานี้เกิดขึ้นทุกปี  มีคนพยายามแก้มาหลายหนหลายวิธี  แต่ไม่มีใครแก้ได้สำเร็จจริง ๆ สักคนเดียว  ทำไม ก็เพราะอำนาจความเป็นใหญ่ของคนในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ตรงนี้  อยู่ตรงการจัดหาที่เรียนให้เด็ก  ถ้าใครช่วยรับฝากได้คนนั้น
ดูเหมือนมีอำนาจมาก

                   เคยมีคนที่เป็นระดับรัฐมนตรีพูดว่า  ถ้าผมฝากเด็กเข้าเรียนไม่ได้  ผมจะเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร

                   คนเป็นอธิบดีแม้รับฝากเด็กเข้าเรียนไม่เป็น  ก็ต้องหัดทำให้เป็นมิฉะนั้นจะต้องเดือดร้อน  ตอนที่ผมเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษา  ผมพยายามไม่ให้มีการรับฝากเด็กเข้าเรียน  ก็ทำไม่สำเร็จ  เคยไม่รับฝากจากผู้ใหญ่ระดับสูงที่ฝากครั้งละมาก ๆ พอบอกว่าทำไม่ได้ก็ถูกขู่ว่าจะต้องย้ายออก  ย้ายก็ย้าย  สบายใจดีกว่าอยู่ตั้งเยอะ (ตรงนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว)

                   ทำไมถึงมีการฝากเด็กเข้าเรียนได้  ทั้งที่ระเบียบก็มี  ถ้าอ่านระเบียบที่ออกมาทุกครั้ง 
ดูเหมือนว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคนอย่างเต็มที่  แต่ภายใต้ระเบียบที่เป็นธรรมนั้น มันซ่อนช่องว่างให้รับฝากเด็กได้มากมาย  เช่น  การรับเนื่องจากผู้ปกครองมีอุปการคุณต่อโรงเรียน  การรับเนื่องจากความสามารถพิเศษบางประการ  และอื่น ๆ อีกมาก

                   ผมเคยทำหน้าที่เป็นประธานการทำระเบียบการรับเด็กเมื่อสมัยเป็นรองปลัดกระทรวง 
ตั้งใจอุดช่องว่างต่าง ๆ อย่างเต็มที่  ผลคืออธิบดีคนหนึ่งหอบลูกน้องมาเป็นพรวน  เดินหน้าตูมเข้ามา
ต่อว่าผมยกใหญ่   บอกว่าถ้าระเบียบเป็นอย่างนี้  กรมก็ปฏิบัติไม่ได้  ความหมายก็คือ  ถ้าจะให้กรมทำ
ก็ต้องตามใจกรม  เปิดช่องให้รับฝากได้   ผมถามว่าก็ตอนประชุมกัน  ผู้แทนของท่านก็อยู่  ผมก็ถามย้ำแล้วเขาก็ไม่ว่าอะไร  อธิบดีท่านนั้นก็ตอบว่าเขาเป็นเด็ก  เขาไม่กล้าพูดกับเจ้านายเขา  ผมก็เลยตอบไปว่า  วันหลังก็อย่าส่งเด็กมาประชุมซิ    อธิบดีผู้นั้นก็หน้าแดงหนักขึ้นไปอีก

 

 

                   ช่องว่างเพื่อการรับฝากเด็กอีกประการหนึ่งคือ สิ่งที่เขาเรียกกันว่า แผนการจัดชั้นเรียน  คือ  กำหนดว่าห้องเรียนหนึ่งจะรับเด็กกี่คน   โรงเรียนดังมักกำหนดแผนรับนักเรียนไว้ต่ำ  เช่น  ห้องละ 35 – 40 คน  แต่พอรับนักเรียนเรียบร้อย  มีนักเรียนห้องหนึ่งเกือบ 60 คน  เด็กที่เกินมาจากไหน  ก็จาก
เด็กฝากทั้งนั้น  ใครฝากบ้างอย่าให้กล่าวถึงเลย  เขาว่าบางคนฝากเป็นห้องเรียนก็มี คือ ขอขยายห้องเพิ่มอีกหนึ่งห้อง  ผู้บริหารโรงเรียนก็ก้มหน้าก้มตากล้ำกลืนรับไป

                   เขาฝากกันอย่างไรบ้าง หลายคนคงอยากรู้  หากเขียนละเอียดไปก็จะกลายเป็นการชี้โพรงให้กระรอก  แต่เพื่อประโยชน์แห่งความเข้าใจ  ใครคิดจะเอาไปใช้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของแต่ละคนก็แล้วกัน

                   หากฝากกันง่าย ๆ ก็ไปฝากกับสมาคมผู้ปกครองและครู  หรือมิฉะนั้นก็สมาคมศิษย์เก่า  ขึ้นอยู่ว่าสมาคมไหนมีบทบาทกว่ากัน  แต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน  บางสมาคมมีอิทธิพลมากที่  มาข่มขู่ปลัดกระทรวง   รองปลัดกระทรวงก็มี  ถ้าระเบียบออกมากีดกันไม่ให้สมาคมยุ่งเกี่ยวกับการ
รับนักเรียน  ถ้าติดต่อผ่านสมาคม ร้อยทั้งร้อยต้องมีค่าใช้จ่าย  จ่ายแล้วเข้าสมาคมทั้งหมด  หรือไม่ได้เข้าเลยไม่มีใครรู้ได้  โดยทั่วไปสมาคมจะมีโควต้ารับฝากเด็กอยู่  ยิ่งโรงเรียนดังยิ่งมีโควต้ามาก  และ
ค่าใช้จ่ายเพื่อให้เด็กเข้าโควต้าก็สูงตามไปด้วย

                   โรงเรียนบางโรงตั้งอยู่ในวัด  อาศัยที่โรงเรียนต้องพึ่งพาวัด  วัดท่านก็ขอฝากลูกหลานญาติโยม  และเด็กวัดบ้าง  บางวัดก็ฝากมาก  บางวัดก็ฝากน้อย  มีอยู่วัดหนึ่งมาหาปลัดกระทรวง  บอกขอให้ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียน  ผมถามว่าทำไมถึงอยากให้ย้าย ท่านตอบว่าปีนี้อาตมาฝากเด็กเข้าเรียน 30 คน  โรงเรียนรับแค่ 20 คน  เงินทองอาตมาก็รับบริจาคผู้ปกครองมาหมดแล้ว  ลูกเขาเข้าเรียนไม่ได้อาตมาก็ต้องเดือดร้อนซิ  อย่างนี้ก็มีด้วย  รับรองว่าเป็นความจริง  ถ้าไม่จริงคงไม่กล้าเขียน  เพราะมันเฉียดนรกเอามาก ๆ

                   ฝากนักการเมืองมีไหม  มี และมีมาก ๆ   น่าสงสารนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี  จะมี
นักการเมืองมารุมเร้าฝากมากมาย ไหนจะ สส. ร่วมรัฐบาล ร่วมพรรค ไหนจะฐานเสียง ไหนจะพรรคพวก  เพื่อนฝูง  ญาติพี่น้อง  ก็ถ้ารัฐมนตรีฝากไม่ได้แล้วจะเป็นรัฐมนตรีได้อย่างไร  ด้วยเหตุนี้ละกระมังระเบียบจึงไม่สามารถอุดช่องฝากได้

                   คนที่ฝากกับปลัดกระทวงละมีไหม  ตอบได้ว่ามี  และมีมาก เมื่อมีมากช่วงที่ผมเป็น
ปลัดกระทรวงก็เลยประกาศไปเลยว่าผมยินดีรับฝากเด็กเข้าเรียนทุกคน  โดยเฉพาะชั้นมัธยมศึกษา 
แต่ห้ามเลือกโรงเรียน  ก็ผมรู้ดีว่ามีโรงเรียนอีกมากมายที่มีที่ว่างรับได้  แต่คนไม่ค่อยไป  ที่ไปแย่งกันเข้ามีอยู่ไม่เกิน 20 โรงเรียน    วิธีนี้ได้ผล  เพราะคนที่อยากให้เข้าโรงเรียนดังไม่กล้ามาฝาก

 

 

                   ที่มาฝากกับผมมีมาในลักษณะแปลก ๆ เช่น บางคนมาถึงก็เสนอให้ทุกอย่าง  ถ้าเด็ก
เข้าเรียนได้จะเรียกเงินเท่าไรก็ไม่ว่า  ประเภทนี้  ผมไม่เคยคุยด้วย  เชิญออกไปทุกราย  ไม่ได้ไล่เตะก็
บุญแล้ว  บางคนก็มาได้บทบาทรู้จักสนิทสนมกันเลย  รู้จักกับญาติของญาติของญาติผม  หรือมิฉะนั้นก็เป็นเพื่อนสนิทของเพื่อนของเพื่อนผม  บางรายก็มาชวนไปรับประทานอาหารจีน  ไปตีกอล์ฟ  ฯลฯ 
ดูแล้วส่วนใหญ่ก็ต้องการให้เด็กได้มีที่เรียน  ผมก็สงเคราะห์ตามสมควร บางคนก็ต้องบอกว่าโรงเรียน
ที่ต้องการนั้นเต็มแล้ว  ผมช่วยไม่ได้  ถ้าอยากให้ผมช่วยจะช่วยให้เข้าอีกโรงเรียนหนึ่งแทนจะเอาไหม  เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะเอาและจากไปอย่างมีความสุข

                   ที่ฝากเพราะหวังผลตอบแทนส่วนตัวก็มี  ผมเป็นปลัดกระทรวงก็มีคนมาเตือนว่าให้ระวังเจ้าคนนั้นให้ดี  อย่าไปสนิทสนมด้วยมากนัก  เพราะเขาจะเอาไปอ้างว่าคุ้นเคยปลัดกระทรวงดี  แล้วเขาจะไปเที่ยวเรียกร้องรับเงินเพื่อฝากเด็กเข้าโรงเรียนดัง ๆ   ผมก็เลยแหย่เล่นว่า ได้มาแล้วเขาแบ่งให้
ปลัดกระทรวงบ้างหรือเปล่า  คนที่มีแนวโน้มว่าจะหากินกับเรื่องนี้  ผมไม่ยอมให้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เป็นอันขาด

                   มีผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งมาขอพบ  ท่านเคยเป็นอธิบดีกรมหนึ่งไม่ใช่กระทรวง
ศึกษาธิการ  เมื่อพูดคุยกันพอสมควรแล้วท่านก็เอ่ยปากว่า  ที่มานี่ก็เพราะอยากจะขอรบกวนสักอย่าง  คงไม่เหลือบ่ากว่าแรง” 

                    “สำหรับพี่แล้วถ้าไม่มีปัญหาผมยินดีเสมอ       เป็นเรื่องฝากเด็กหรือเปล่า” 
พอดีช่วงนั้นเป็นฤดูกาลรับนักเรียน  ผมซึ่งถามไปเช่นนั้น 

                   “ใช่”  ท่านตอบ  

                   “จะให้เข้าเรียนที่ไหนละ”  ผมถาม

                   “ไม่ได้ให้เข้าเรียนที่ไหนหรอก  แล้วก็กระซิบว่า เด็กของผม คือ เด็กของผมน่ะ  เข้าใจไหม   ผมอยากจะฝากให้ช่วยรับเข้าทำงานหน้าห้องปลัดกระทรวง  เป็นลูกจ้างก็ได้  แล้วผมจะขอตัวไปดูแลบ้านเล็กของผม  ไม่ต้องให้มาทำงานจริง ๆ หรอก

                   ผมนึกไม่ออกว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธดี  ก็เลยพูดไปว่า 

                   “พี่  อายุมากแล้ว  ระมัดระวังตัวบ้างนะ  เดี๋ยวจะหัวใจวายตายเสียก่อน

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 101508เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • มาขำๆๆ
  • กลัวท่านจะหัวใจวายเหมือนกันครับผม
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท