งานให้คำปรึกษา
กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์

เรียนรู้...สร้างสุขได้ด้วย พ ห ช


อ่านหนังสือธรรมะเล่มเล็กเรื่อง "ความสุขอันประณีตของมนุษย์" ของ พระเทพโสภณ ท่านเจ้าคุณประยูร ธมมจิตโต ในบท "คนมีความสุข" แล้วรู้ว่าความสุขหาได้ไม่ยากเลย

ท่านเขียนถึงคนขับแท็กซี่ที่บอกว่าเขาดับทุกข์ได้จากการขับแท็กซี่ เขาเคยเป็นคนขับรถที่กระทรวงแห่งหนึ่งแต่ไม่ชอบระบบราชการที่เล่นพรรคเล่นพวกกัน จึงลาออกไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

คราวนี้ไม่ใช่เรื่องเส้นสาย แต่ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยนั้นสอนเขาว่า คนเรียนมากฉลาดมาก กลับทุกข์มากขึ้น อาจารย์ทุกข์คนเดียวไม่พอ ยังพลอยให้นิสิตนักศึกษาทุกข์ไปด้วย เขาบอกให้อาจารย์สอนนักศึกษาใหม่ว่า ในพยัญชนะไทยสี่สิบสี่ตัวนั้น ตัวไหนเป็นตัวดี ตัวไหนเป็นตัวชั่ว แต่อาจารย์ไม่เชื่อบอกกว่าตัวหนังสือไม่มีดีชั่ว มีแต่ตัวกลาง ๆ เขาเลยลาออก

เขาบอกว่า"ตัวชั่วมี 3 ตัวคือ ล ก ล ตัวดีมี 3 ตัวคือ พ ห ช" ล ก ล = โลภ โกรธ หลง อ่านถึงตรงนี้ท่านทราบหรือยังคะว่า พ ห ช คืออะไร

พ = รู้จักพอ เขาเล่าว่าเพื่อนคนขับแท็กซี่ทุกข์เพราะค่าเช่าแพง รายได้น้อย แต่เขาไม่ทุกข์ เพราะรู้จักพอ

ห = รู้จักให้ ถ้าผู้โดยสารต่อราคาค่ารถเขาก็ลดลงให้บ้าง ให้ไปส่งต่ออีกนิดก็ไปให้ เขาถือว่าเขาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ผู้โดยสารก็ให้ค่าโดยสารแก่เขา

สุดท้าย ช = ช่างเถอะ ขณะที่เขาสนทนาธรรมนั้น รถติดไฟแดง พอไฟเขียวขึ้นเขาไม่ได้ออกรถทันทีเพราะเพลินอยู่ รถคันหลังบีบแตรไล่ เขารู้สึกไม่พอใจว่าไม่รู้จะรีบไป...ที่ไหนก็จริง แต่สุดท้ายเขาหยุดความไม่พอใจด้วย ช. ช้าง

ท่านพระเทพโสภณได้สรุปไว้ว่า คน ๆ นี้มีธรรมประจำใจ ไม่ต้องท่องบาลีเขาก็ใช้ได้ทันที รู้จักพอ คือสันโดษ รู้จักให้ คือให้ทาน รู้จักช่างเถอะ ปล่อยวาง คือจาคะ สละสิ่งที่ไม่ดีจากจิตใจ ไม่เก็บงำ และเขาใช้เป็นประจำ ถูกสถานการณ์ เรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือ เลือกธรรมข้อย่อยมาใช้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่เราต้องการ

อ่านแล้วดิฉันเลยได้คำขวัญเพื่อสร้างสุขประจำใจเพิ่มมาอีกว่า "พอใจ มีให้ ใช้ช้าง" ค่ะ

                                                                          DAENG...;D

หมายเลขบันทึก: 101349เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 06:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แล้วมันจะเข้ากับหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้ด้วยไหมคะ

เท่าที่ความเข้าใจในหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" น่าจะเข้ากันได้ค่ะ

สำหรับตัวเองส่วนใหญ่ต้องใช้ "พ" ให้ผ่านก่อนค่ะ คือ พอใจ ควบคุมให้เข้มงวด ถ้าไม่พอใจทีไร หมดกันแทบทุกเรื่อง ไม่เงินหมด ก็หมดแรง หมดอารมณ์ไปเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท