กล้วย ยอดอาหารเสริม (1)


พวกเราคงได้ยินได้ฟังเรื่องนักเทนนิสที่เข้าร่วมการแข่งขันวิมเบิลดันกินกล้วยหอมเป็นอาหารเสริมกันไม่มากก็น้อย วันนี้มีข่าวดีเกี่ยวกับท่านที่ชอบกล้วยครับ...

พวกเราคงได้ยินได้ฟังเรื่องนักเทนนิสที่เข้าร่วมการแข่งขันวิมเบิลดันกินกล้วยหอมเป็นอาหารเสริมกันไม่มากก็น้อย วันนี้มีข่าวดีเกี่ยวกับท่านที่ชอบกล้วยครับ...

กล้วย 1 ผลให้กำลังงาน 100-110 แคลอรี มีโพแทสเซียมสูง โซเดียมต่ำมาก (1 มิลลิกรัม) และให้คุณค่าทางอาหารดังตาราง (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1:                                                       

แสดงคุณค่าทางอาหารของกล้วย 1 ผล หนัก 118 กรัม (DV = daily value = ปริมาณสารอาหารที่ต้องการใน 1 วันสำหรับผู้หญิงฝรั่งสุขภาพดี อายุ 25-50 ปี)

ผู้หญิงฝรั่งอายุ 25-50 ปีมีขนาดรูปร่าง และความต้องการอาหารใกล้เคียงกับผู้ชายไทย แต่ต้องการแคลเซียมสูงกว่า เนื่องจากผู้หญิงเสี่ยงต่อโรคกระดูกโปร่งบางหรือกระดูกพรุนมากกว่า มีโอกาสตั้งครรภ์(ท้อง) หรือเลี้ยงลูกด้วยนม(เสียแคลเซียม)

ผู้หญิงต้องการธาตุเหล็กมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมีโอกาสเสียเลือดทางประจำเดือน ตั้งครรภ์ คลอดลูก และให้นมลูก

สารอาหาร

ปริมาณ

DV(%)

วิตะมิน B6

0.68 มิลลิกรัม

34

วิตะมิน C

10.74 มิลลิกรัม

17.9

โพแทสเซียม

467.28 มิลลิกรัม

13.4

เส้นใย (ไฟเบอร์)

2.83 กรัม

11.3

แมงกานีส

0.18 มิลลิกรัม

9.0

กำลังงาน

108.56 แคลอรี

-

 

เรื่องกล้วยๆ...                                                  

กล้วยในโลกเราแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. กล้วยหวาน (sweet banana) ซึ่งมีสัดส่วนน้ำตาลมากหน่อย-แป้งน้อยหน่อย
  2. กล้วยแป้งหรือเพลนเทน (plaintain banana) ซึ่งมีสัดส่วนแป้งมากหน่อย-น้ำตาลน้อยหน่อย

คนไทยเรากินกล้วยหวานเป็นผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า ฯลฯ ส่วนกล้วยแป้ง(เพลนเทน)นิยมนำมาปิ้งหรือผ่านความร้อนให้สุกเสียก่อน และกินเป็นผัก

ถ้าเมื่อเทียบคุณค่าสารพฤกษเคมี หรือสารคุณค่าพืชผักในรูปเบตาแคโรทีน (beta-carotene) กันแล้ว กล้วยแป้งมีเบตาแคโรทีนสูงกว่ากล้วยหวานเกือบทุกชนิด

กล้วยดิบจะมีแป้งมากหน่อย-น้ำตาลน้อยหน่อย เมื่อกล้วยสุกเพิ่มขึ้นจะมีสัดส่วนแป้งลดลง-น้ำตาลเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

กล้วยน่าจะมีถิ่นกำเนิดในมาเลเซียหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว ต่อมามีการนำไปปลูกในฟิลิปปินส์และอินเดีย

เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจากกรีกบุกอินเดียในปี พ.ศ. 216 มีการบันทึกไว้ว่า คนอินเดียยุคนั้นปลูกกล้วยกินกันแล้ว

ประมาณ 500 ปีก่อนนักสำรวจโปรตุเกสพบว่า พ่อค้าชาวอาหรับนำกล้วยไปปลูกในอาฟริกาในปี 2025 และนำกล้วยไปปลูกในอเมริกาใต้

คนอเมริกามีโอกาสลิ้มรสกล้วยครั้งแรกช่วงประมาณครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 (พ.ศ. 2393-2443) เรือจากอเมริกาใต้จะนำกล้วยมาขายตามเมืองชายทะเล ตอนนั้นยังขนส่งไปได้ไม่ไกล เพราะกล้วยเสียง่าย และบอบบาง ขนส่งไปไกลๆ ไม่ได้

หลังจากโลกตะวันตก(ฝรั่ง)มีตู้เย็น และถนนหนทางดีขึ้น... คนอเมริกาและยุโรปจึงมีโอกาสกินกล้วยกันอย่างแพร่หลาย

การตัดกล้วยนิยมตัดตั้งแต่ยังดิบ ทว่า... เวลาจะแช่เย็นส่งขายต้องรอให้สุกพอสมควรก่อน เนื่องจากการแช่เย็นที่อุณหภูมิต่ำมากๆ อาจทำให้กระบวนการ "สุก" ของกล้วยเสียไปได้แบบเสียแล้วเสียเลย หรือกลายเป็น "กล้วยไม่ยอมสุก" แบบผู้ใหญ่(บางคน)ที่ไม่รู้จักโต(เอาแต่ใจตัวเอง)

ปัจจุบันแหล่งปลูกกล้วยใหญ่ของโลกอยู่ในอเมริกาใต้ เช่น คอสตาริกา เมกซิโก อีกวาดอร์ บราซิล ฯลฯ จนถึงกับมีชื่อเรียกบางประเทศว่า "สาธารณรัฐกล้วย"

คุณค่าต่อระบบหัวใจ-เส้นเลือด...                          

กล้วยมีโพแทสเซียมสูง (467 มก.) โซเดียมต่ำ (1 มก.) มีส่วนช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคความดันเลือดสูง

การศึกษาที่ทำในบุคลากรวิชาชีพสุขภาพอเมริกามากกว่า 40,000 คน ติดตามไปนานกว่า 4 ปีพบว่า ผู้ชายที่กินอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง แมกนีเซียมสูง และเส้นใยจากธัญพืช(ตระกูลข้าว) มีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาตลดลง

การศึกษา (ตีพิมพ์ใน Archives of Internal Medicine) ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอเมริกาเกือบ 10,000 คน ติดตามไป 19 ปี สนับสนุนว่า การกินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น กล้วย ฯลฯ ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน

คนที่กินเส้นใยมากที่สุด (วันละ 21 กรัม) มีความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันลดลง 12% และโรคระบบหัวใจ-เส้นเลือดลดลง 11% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่กินเส้นใยน้อยที่สุด (วันละ 5 กรัม)

(บันทึกชุดนี้มี 3 ตอน)                                       

  • โปรดคลิกที่นี่ เพื่ออ่านตอนต่อไป (ตอนที่ 2)
  • [ Click - Click ]

    แหล่งที่มา:                                      

  • Thank > The world's healthiest food (whfoods.org) > Banana > [ Click ] > June 4, 2007.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี + อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 4 มิถุนายน 2550 > 1 สิงหาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 100559เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2007 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท