อนุทิน 23776


กวิน
เขียนเมื่อ

อนุโมทนา. เล่าเรื่องภาษาบาลี @ 217034 โดย  BM.chaiwut

นมัสการพระคุณเจ้า BM.chaiwut ที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า "อนึ่ง บางคนบอกว่า ถ้าอนุโมทนาก็ต้องเฉพาะส่วนบุญเท่านั้น ถ้าเรารับคำอนุโมทนารวมๆ แล้ว เราก็จะรับทั้งส่วนที่เป็นบุญและส่วนที่เป็นบาปของเค้ามาทั้งหมด... "

โยมคิดว่า มีประโยชน์มากๆ ที่พระคุณเจ้าตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ โยมคิดว่า น่าจะแยกได้สองประเด็นที่ควรนำมาพิจารณานั่นคือ ประเด็นว่าด้วยเรื่อง อำนาจแห่ง บุญและบาป (บุญกับบาปอย่างไหนมีกำลังมากกว่ากัน)  และประเด็นว่าด้วยเรื่อง การอนุโมทนา สำหรับเประเด็นเรื่องว่าด้วยเรื่องการอนุโมทนานั้น พระภาวนาวิริยคุณ อรรถาธิบายไว้ความว่า 

"การอนุโมทนาบุญ คือ ดีใจด้วยกับการที่คนอื่นทำความดี เช่น พอเห็นใคร ทำความดี เราก็ไปอนุโมทนาบุญด้วย ดีใจด้วย ซึ่งจะเป็นทั้งความชื่นใจ ที่เกิดกับตัวเราเอง แล้วก็เป็นการให้กำลังใจกับคนที่ทำความดี ให้เขามีกำลังใจที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนการ อนุโมทนาบาป คือ ดีใจด้วยกับการที่คนอื่นทำความชั่ว พอเห็นใครทำความชั่ว " แหม ดีเหลือเกิน" เช่น เวลาเห็นคนที่เราไม่ค่อยรัก ไม่ค่อยชอบหน้าสักเท่าไหร่ ถูกรังแก เราก็ดีใจ ไปสมน้ำ หน้าเขา นั่นเป็นการอนุโมทนาบาป เต็มที่เลย ก็จะมีผลทำให้เราพลอยได้บาปไปด้วยเพราะถึง เขาไม่ค่อยจะถูกกับเรา ก็เป็นคนละเรื่องกัน ยิ่งกว่านั้น ในกรณีที่เห็นใครได้รับความเดือดร้อน ได้รับความทุกข์ยาก แม้ว่าเขาจะเป็น คนชั่ว เป็นคนไม่ดี ก็อย่าไปโมทนากับเขา ยกตัวอย่าง พ่อค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นคนชั่วอย่างแน่นอน โดยกฎหมายมีโทษว่าต้อง ประหาร ชีวิต เพราะทำความเดือดร้อนให้กับคนอื่นมามากมายเหลือเกิน ขืนปล่อยให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เดี๋ยวจะมี คนติดยาเสพติดของเขา จนต้องเป็นทุกข์เป็นร้อนกันทั่วบ้านทั่วเมือง พอมีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พ่อค้ายาเสพติดผู้นี้ถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ด้วยวิธียิง เป้าเท่านั้น คนสาธุกันลั่นเมืองทีเดียวโดยหารู้ไม่ว่า ได้อนุโมทนาบาปเข้าไปแล้ว เพราะไป ยินดีต่อ การที่ จะต้องฆ่าคน ยินดีต่อการที่จะมีคนถูกฆ่า แม้ทางโลกอาจจะมองว่า ในเมื่อเขาทำ ความชั่วมาเยอะ ก็สมควรแล้วที่จะต้องถูกฆ่าให้ตาย แต่ทางธรรม เมื่อเกิดมีการฆ่ากันขึ้นมา เราจะไม่พูดในแง่ของกฎหมาย แต่เราจะพูดในแง่กฎของวัฏฏสงสาร คือ ในเมื่อเราก็ไม่ได้เป็นผู้ที่สร้างชีวิต ไม่ได้เนรมิตชีวิตใครขึ้นมา เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปฆ่าใคร ถ้าไปฆ่าใครเข้า บาปก็เกิดแก่ผู้ฆ่าทันที แล้วถ้าหากไปอนุโมทนาต่อการฆ่านั้น เราก็จะพลอยได้บาปไปด้วย เพราะทันทีที่เห็น ดีเห็นงาม ต่อการทำบาป ใจของเราก็จะขุ่นมัว ซึ่งพวกเราก็คงจำกันได้ดีว่า เมื่อใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ถ้าตายขณะนั้น ย่อมมีทุคติเป็นที่ไป" (1)

สำหรับประเด็นที่สอง คือประเด็นว่าด้วยเรื่อง อำนาจแห่ง บุญและบาป (บุญกับบาปอย่างไหนมีกำลังมากกว่ากัน)  โยมเคยอ่าน มิลินทปัญหา (ฉบับการ์ตูน) จำเนื้อหาไม่ได้ทั้งหมด แต่จำได้คร่าวๆ ว่า พระเจ้ามิลินท์ ถามปัญหากับ พระนาคเสนว่า การทำบุญแผ่ส่วนกุศล ให้คนตาย คนตายยังได้รับส่วนของผลบุญนั้น ถ้าเช่นนั้น การทำบาป แล้วแผ่ไปให้คนตายคนตายจะได้รับผลของบาปนั้นด้วยหรือไม่? พระนาคเสน ตอบว่า ไม่ได้รับ สาเหตุน่าจะสืบเนื่องมาจาก อำนาจแห่ง บุญมากกว่าอำนาจแห่งบาป อันมีสาเหตุเพราะ 

"คนทำบาปมีความเดือดร้อนใจ เมื่อจะทำบาปอีกก็ลังเลใจ ส่วนคนทำบุญมีความสบายใจ อยากทำบุญไปเรื่อยๆ มีจิตใจสงบสุข ตัวอย่างเช่นคนผู้หนึ่งมือเท้าด้วนได้ถวายดอกบัวกำมือหนึ่งแก่พระพุทธเจ้า ได้รับผลบุญนับได้ 91 กัป" (2)

อ้างอิง

(1) พระภาวนาวิริยคุณ. ตอบคำถาม "การอนุโมทนาบุญกับอนุโมทนาบาป ต่างกันอย่างไร? ถามโดย porapatr (นามแฝง)". [cited 2008 October 16]. Available from: http://board.palungjit.com/showthread.php?t=107252

(2) กรมการศาสนา. มิลินทปัญหา เล่ม 1 .กระทรวงศึกษาธิการ จัดพิมพ์ ; 2543 หน้า 98.  อ้างใน TupLuang (นามแฝง). บาปปุญญพหุตรปัญหา : ถามกำลังแห่งบุญและบาป (บุญกับบาปอย่างไหนมีกำลังมากกว่ากัน) . [cited 2008 October 16]. Available from: http://community.thaiware.com/thai/index.php?showtopic=340912&pid=2098797&st=0&#entry2098797



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท