อนุทิน 17496


กวิน
เขียนเมื่อ
ข้ามภพ (ครบพล่าม)  @ 197742

Suchet Chookong : อ่านศัพท์บาลีพุทธศาสนสุภาษิตที่น่าสนใจ....วิเคราะห์ศัพท์ สมุททะ เลยได้รู้คำที่เป็นทั้งอุปสรรค(นำหน้า) รากศัพท์ และปัจจัย ก็พอมีพื้นฐานอยู่บ้าง    แต่ช่วยวิเคราะห์ปัญหาที่ตอบยากของเด็ก ป.5 คนหนึ่งให้ที่   วันหนึ่ง ครูSuchet สอนเด็กเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็พูดไป" พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ทรงชนะมาร ........." พูดอีกยาวจนจบคาบ   เด็ก ป.5 ลุกขึ้นถามครูว่า  "ไหนครูเคยบอกว่าแพ้เป็นพระชนะเป็นมารไง"  แล้วที่พระพุทธเจ้าชนะมาร พระพุทธเจ้าก็ไม่ใช่พระนะซิ  แสดงว่าเป็นอภิมหามารแน่เลย .......  คิดว่าเด็กคนนี้หัวคิดไม่ธรรมดา..... ถ้ากวินเป็นครูจะตอบเขาว่าอย่างไรหรือว่าไม่ตอบ แบบอย่างวิธีที่พระพุทธเจ้าใช้กับบางปัญหา 

ตอบ : สวัสดีครับอาจารย์  Suchet Chookong ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความ วิเคราะห์กาพย์กลอน การเมือง 

พญามาร เป็น บุคลาธิษฐาน (Personification) ซึ่งในสมัยก่อนกวีใช้ในวงแคบๆ ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาเช่น เมื่อจะกล่าวถึง พระพุทธเจ้ามีชัยชำนะเหนือพญามาร ก็กล่าว ไว้เป็น วสันตดิลกฉันท์ 14 ความว่า


พาหุงสะหัสสะมะภินิม      มิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆ        ระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา          ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เม      ชะยะมังคะลานิ

ถอดความได้ว่า

มื่อครั้ง พญามารเนรมิตแขน 1,000 แขน ถืออาวุธครบมือ
ขี่ช้างครีเมขละ สะพรึบพร้อมด้วยกองทัพอันน่าสะพรึงกลัว
พระจอมมุนีทรงชนะด้วยทานบารมีเป็นต้น
ด้วยพระเดชนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ข้าพเจ้า



พญามาร ในที่นี้ก็คือ กิเลส ความฟุ้งซ่าน ความท้อถอย ในจิตใจ ของพระพุทธองค์ แต่กวี ได้บรรยาย ถึง กิเลส ให้ดูประหนึ่งว่ามี ชีวิต จิตใจ ฉะนั้น พญามาร ในที่นี้ จึงเป็น บุคลาธิษฐาน ของกวีนั่นเอง คือบรรยาย ถึง กิเลส ความฟุ้งซ่าน ความท้อถอย (ใช้โวหารพูดถึงสิ่งไม่มีชีวิต ให้เหมือนว่ามีชีวิต) กิเลส เมื่อมีชีวิตจิตใจมีตัวมีตน เราจึงรู้จักในนาม พญามาร นั่นเอง 

ส่วนพระแม่ธรณี บีบมวยผม (แต่ใน ฉันท์ 14 มิได้กล่าวถึง) ผู้ซึ่งมาช่วย บำราบพญามาร ก็คือบุคคลาฐิษฐาน ของความหนักแน่นในจิตใจแห่งผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อมีความหนักแน่น เฉกเช่น ผืนธรณี ก็ย่อมที่จะเอาชนะ กิเลส ในตัวในตนได้ในที่สุด

ส่วนสำนวนแพ้เป็นพระชนะเป็นมารนั้น ขออ้างถึงบทความ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ บะโช มะทสึโอะ ที่ว่า 

หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ด้านที่ 1 :

พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์       แม่กูชื่อนางเสือง
พี่กูชื่อบานเมือง               ตูพี่น้องท้องเดียวห้าคน
ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง       พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็ก
เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า


(สิบเก้าเข้า คือ สิบเก้าข้าว แปลว่า 19 ฝน 19 หนาว ทำนาข้าวมา 19 ครั้ง/19 ขวบ กรณีการยืดหดของกระสวนเสียงกรณีนี้ คล้ายกับกรณีคนภาคกลาง ออกเสียงเรียกควายว่าควาย แต่คนอีสานจะออกเสียงเรียก ควายว่า ข้วย นั่นเอง )

ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก   พ่อกูไปรบขุนสามชนหัวซ้าย
ขุนสามชนขับมาหัวขวา                     ขุนสามชนเกลื่อนเข้า
ไพร่ฟ้าหน้าใส                                 พ่อกู หนีญญ่ายพ่ายจะแจ
กูบ่หนี กูขี่ช้างเบิก*พล                        กูขับเข้าก่อนพ่อกู
กูต่อช้างด้วยขุนสามชน                     ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ **



*สตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Prof.George Coedès) ถอดความไว้ว่า "กูขี่ช้างเนกพล" (คำว่า เนกพล=เนกพล=มีกำลังมากกว่าหนึ่ง คำว่า อเนกพล กลายเป็น เนกพล นั้นก็น่าจะมาจาก การตัดเสียง (Chipping) ตามหลักนิรุกติศาสตร์ (philology) คล้ายกรณีคำว่า  อนุช/อนุชา ถูกตัดเสียง เหลือ นุช หรือ อัญชุลี/อัญชลี ถูกตัดเสียงเหลือ ชลี/ชุลี) "กูขี่ช้างเนกพล" นี้ จิตร ภูมิศักดิ์ สันนิษฐานว่า น่าจะอ่านว่า "กูขี่ช้างเบิกพล"

**้ /แป๊ เป็นภาษาล้านนา หากคำว่าแพ้ อยู่ท้ายประโยค ต้องแปลว่า ชนะ ประโยคนี้ไม่ได้หมายความว่าช้างที่ชื่อมาสเมืองแพ้ แต่แปลว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เองเอาชนะช้างชื่อมาสเมืองได้) กรณีการใช้คำว่าแพ้ ในความหมายว่า ชนะ ยังมีให้เห็นในวงการศาสนาเช่น การแปลพระคาถาบาลี บทที่ว่า

ชยํ เวรํ ปสวติ       
ทุกฺขํ เสติ ปราชิโต
อุปสนฺโต สุขํ เสติ   
หิตฺวา ชยปราชยํ.
ขุ. ชา. มหา. 28/415 

อรรถกถาจารย์ (ล้านนา) ได้ถอดความไว้ว่า

ผู้แพ้(แป๊)ย่อมก่อเวร
ผู้พ่าย(ป๊าย)ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ผู้ละความแพ้(แป๊)และความพ่าย(ป๊าย)เสีย
มีใจสงบระงับนั่นแหละเป็นสุข


*คำว่า "แพ้"/"แป๊" แปลว่า ชนะ "พ่าย"/"ป๊าย" แปลว่า ไม่ชนะ คำว่าแพ้ นี้เป็น ภาษาไทยโบราณ ซึ่งมีความหมายไม่ตรงกับที่ใช้ในปัจจุบัน )

สรุป : แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร   นั้นมาจาก พระคาถาที่ว่า

ผู้ชนะย่อมก่อเวร
ผู้พ่ายแพ้ย่อมอยู่เป็นทุกข์
ผู้ละความชนะและความพ่ายแพ้เสียได้
มีใจสงบระงับนั่นแหละเป็นสุข

เมื่อคนสองคน มุ่งแต่จะเอาชนะกัน นั่นย่อมหมายถึง การแพ้ต่อ พญามาร (กิเลสในใจตน อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ)  ส่วนการจะเอาชนะพญามาร (กิเลสในใจตน อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ) ได้นั้น ก็ด้วยการ ปล่อยวาง ความแพ้ชนะ นั้นลงเสีย เมื่อไม่มีใครอยากที่จะเอาชนะใคร ก็จะเกิดความสงบสุข เกิดสภาวะที่ เป็น วร/พระ (ประเสริฐ) นั่นเองใครก็ตามที่เอาชนะ พญามารได้ ย่อม เป็น พระ (ประเสริฐ) พระพุทธองค์ทรงชนะ พญามาร (กิเลสในใจตน อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ) จึงเป็น พระ (ประเสริฐ) ด้วยประการฉะนี้



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท