อนุทิน 16610


กวิน
เขียนเมื่อ

ความโง่ของปัญญา : โดย พุทธทาสภิกขุ

ลูกอ่อน กลืนสตางค์ ค้างติดคอ       นางแม่หล่อ น้ำกรดตรง ลงแก้ไข
ว่าละลาย โลหะหมด แล้วปลอดภัย   ผลอย่างไร เชื่อว่าทาย ได้ด้วยกัน
นี้แหละหนา ปัญญา มาพรวดพราด    เพราะสติ มันขาด ก็ผวนผัน
กลายเป็นโง่ ในปัญญา ขึ้นมาพลัน    ถ้าสติ มาทันควัน นั้นปลอดภัย
ความโง่มี ในปัญญา ถ้าขาดสติ        มันอุตริ ออกมา อย่าสงสัย
ฆ่าเจ้าของ ของมัน ได้บรรลัย          มีสติไว้ หนอพวกที่ มีปัญญาฯ

พ่อแม่ที่ไหนจะไม่รักลูก? ลึกๆ แล้วก็รักลูกด้วยกันทุกผู้ ทุกคน เพราะลูกนั้นย่อมถือกำเนิดมาจาก เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้เป็นพ่อและแม่ แต่เพราะว่าในบางครั้งคนเราก็ ขาดสติสัมปะชัญญะ(consciousness & commonsense) จึงทำให้ใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด และส่งผลเสียต่อลูก จึงไม่น่าแปลกใจ เลยที่จะเห็นกรณี แม่ผู้ตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์ทำแท้งเอาลูกออก  โดยที่ผู้เป็นพ่อกลับยุยงส่งเสริม นั่นก็เพราะพวกเขามีปัญญาแต่ว่าขาดสติสัมปะชัญญะ เช่นเดียวกันกับคำกลอนของท่าน พุทธทาสภิกขุ ซึ่งสะท้อนภาพ เกี่ยวกับ ปัญญา และ สติสัมปะชัญญะไว้อย่างแยบยล 

อ่านกลอนนี้จบลง ก็มานั่งนึกถึง นางเอกในนิยายน้ำเน่า @16461 เธอนั้นเป็นตัวแทนของคนผู้มีปัญญา อีกทั้งมีความรักลูก แต่ทว่าขาดสติสัมปะชัญญะไปชั่วขณะ จึงเลือกที่จะใช้วิธีประชดประชัน/เรียกร้องความสนใจจากสามีของเธอ ด้วยกรรมวิธีเพี้ยนๆ ต่างต่าง นานา ซึ่งก็ไม่ต่างจากการนำน้ำกรด ให้ลูกดื่มเพื่อแก้อาการเหรียญติดคอ ผลเสียย่อมมีต่อลูกของเธอ และตัวเธอเองก็จะได้รับความเจ็บปวดทางใจ การทำให้สามีเกิดความรู้สึกหึงหวงนั้น ย่อมทำได้ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าสามีเขาไม่หึงไม่หวงเสียแล้วก็จะกลายเป็นตกกระได แล้วต้องพลอยกระโจนไปในที่สุด นี่จึงถือเป็นเรื่องที่น่าปริวิตกเป็นอย่างยิ่ง  ในเรื่องเด็กหนุ่มผู้ได้ มโนมยิทธิ ซึ่งในอดีตชาติมีความผูกพันธ์กับนางเอก คือเคยเป็นพี่เป็นน้องกับมาก่อน มีความเป็นห่วงอยากที่จะช่วยเหลือให้นางเอกได้ดำเนินชีวิตในวิถีทางที่ถูกต้อง ในโคลงโลกนิติกล่าวไว้ว่า 

น้ำเหม็นมล้างสิ่งเหน้า         ไฉนหยุด
มล้างอุทกบริสุทธิ์               เสื่อมร้าย
คนเวรต่อเวรประทุษฐ์           ทวีโทษ
เอาอเวรระงับหง้าย              อาจสิ้นสูญเวร


การนำน้ำเหม็นเน่า ไปล้างสิ่งที่เน่าเหม็น ไฉนจะหยุดความเหม็นเน่านั้นได้
หากแต่ต้องนำน้ำที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ไปชะล้างสิ่งที่เน่าเหม็นนั้นให้เสื่อม(สูญ)หมดความร้ายกาจ(แห่งกลิ่น)นั้นต่างหาก
การจองเวรจองกรรม(ผูกเวร)ระหว่างคนสองคนนั้นจะยิ่งทวีโทษ
ต้อง ใช้ อเวร (คือการไม่จองเวร) เข้าระงับ จึงดับสิ้นสูญเวร

ถ้าสามีนอกใจแล้วใช้วิธีประชดประชัน  ก็เหมือนกับการนำน้ำเหม็นเน่า ไปล้างสิ่งที่เน่าเหม็น ไฉนจะหยุดความเหม็นเน่านั้นได้และก็เหมือนกับการกรอกน้ำกรดใส่ปากลูกน้อย เพื่อช่วยลูกน้อยซึ่งมีเหรียญบาทติดคอ ทั้งสองวิธีนี้เป็นวิธีที่ ใช้ปัญญาโดยขาดสติสัมปะชัญญะ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวรฉันใด การให้อภัย และพยามประพฤติตนเป็นคนดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นั้นจะเป็นการชะล้างสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิตได้ฉันนั้น

นิยายเรื่องนี้คงจะให้ อนุสติ อย่างน้อยๆ สองข้อก็คือ ข้อแรกการใช้ชีวิตด้วยสติสัมปะชัญญะและปัญญา ข้อสอง มโนมยิทธิ นั้นฤาษีชีไพรในสมัยก่อนเช่น อาฬารดาบส และอุทกดาบส  ก็สามารถมีได้แต่ไม่ใช่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ พุทธองค์จึงทรงละเสีย แล้วมุ่งสู่หนทางที่ถูกที่ควรต่อไป เช่นเดียวกันกับเด็กหนุ่มผู้นี้เขาได้เรียนรู้ในเวลาต่อมาว่า สัตว์โลกย่อมมีกรรมเป็นของตนและเป็นไปตามยถากรรม การชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องนั้น ย่อมไม่สามารถที่จะไปบังคับให้เธอก้าวไปทางซ้าย หรือก้าวไปทางขวาได้ ดังนั้นเด็กหนุ่มผู้นี้จึงหมั่นพิจารณา อุเบกขาธรรม  แต่ก็ไม่ละเลย การทำหน้าที่ กัลยาณมิตร เท่าที่พอจะทำได้ อนึ่งเรื่องราวเหล่านี้หากขืนโพล่งพูดไป คนก็จะหาว่า "ว้อ" ซึ่งเป็นภาษาอีสานที่แปลว่า "บ้า"   แต่ท้ายที่สุดเรื่องราวที่กล่าวมานี้ ก็จบอย่าง Happy Ending  



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท