อนุทิน 16242


กวิน
เขียนเมื่อ

สำหรับนักกายกรรม ทุกท่าน ผู้ชอบใช้ชีวิตแบบโลดโผน

ยืนถนัดไฉน ; อัศนี พลจันทร (นายผี)

โคลงดั้นวิวิธมาลี

ตีนโตแม้ไม่ต้อง          ทรงตัว
ยามย่องยืนยันมัน-       ไม่ล้ม
ตีนเล็กไต่ลวดมัว-        ทำประหม่า
มันจะเค้เก้ ก้ม-            กัดดิน

ฐานใหญ่ยอดเล็กแล้ว    มั่นเหลือ
สูงสกิดเกาอมรินทร์       เล่นได้
ฐานย่อมยอดใหญ่เจือ-   จริตหยิ่ง
ตาตุ่มสูงต้องใต้-           ตุ่มเสมอ

ที่มา รำลึกถึงนายผี จากป้าลม / วิมล พลจันทร 2463-2545. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า, 2533.

จริงๆ โคลงดั้นบทนี้ (โคลงดั้น 2 บท ถือเป็น 1 บท) นายผีแต่งแฝงนัยยะทางการเมือง คนตีนเล็ก=พวกผู้ดี (ตามความเชื่อของจีน แต่ในโคลงดั้นนั้น หมายถึง รัฐาธิปัตย์) คนตีนโต นั้นหมายถึง ไพร่ฟ้า ประชาชน แต่จะไม่ขอแปลโดยอิงการเมืองดีกว่า ซึ่งก็จะได้ความว่า

-คนตีนโตเดินไปไหนมาไหน ย่อมไม่ พะวงเรื่องการทรงตัว
-ยามจะย่อง จะยืนจะยัน มันก็ไม่ล้ม คือล้มได้ยาก
-แต่คนที่มีตีนเล็ก แล้ว ยังชอบ เดินไต่ลวด แล้วยัง ขาดความมั่นใจ (ประหม่า)
-แน่นอนว่าจะต้อง ล้มลงมานอนเค้เก้ เอาปากกัดกิน (ล้มปากกระแทกดิน)

-การสร้างพีรามิด( Pyramid ) /เจดีย์ ย่อมสร้างให้ฐานใหญ่ ยอดเล็ก จึงจะเกิดความมั่นคง ในโครงสร้าง
-สร้างสูงถึงสวรรค์ก็สร้างได้ (ยอดสูง จนไปสะกิดพระอินทร์ได้)
-แต่ถ้าการสร้างพีรามิด( Pyramid ) /เจดีย์ สร้างแบบ ฐานเล็ก แต่มีขนาดใหญ่ คนทักท้วงก็ไม่ฟัง เปี่ยมไปด้วย ความหยิ่งในดวงจริต เอ้ย ดวงจิต
-สร้างไป ก็สูงได้ไม่เกินตาตุ่ม

การดำเนินชีวิต ก็เหมือนกัน หากสร้างรากฐานให้กับชีวิตมั่นคงด้วยศีลธรรมเสียแล้ว ความล้มทลาย ย่อมไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้ยาก

คนที่มีตีนเล็ก (อันมีอยู่มากมายในโลกนี้) คนพวกนี้ยังชอบใช้ชีวิตแบบโลดโผน คือเอาชีวิตไปแขวนอยู่บนเส้นลวด (ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า รวด รวดเร็ว รวดร้าว) ไม่รู้จะตกลงมาเมื่อไร คนมองดูก็ได้แต่หวาดเสียวแทน ถ้าเดินไต่ลวดผ่านไปตลอดรอดฝั่ง คงได้ลง Guinness World Records  แต่ก่อนจะตกลงมา อยากตะโกนถามว่าจะให้ไปจองวัดไหน?



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท