อนุทิน 136712


สามารถ บุญบาง
เขียนเมื่อ

                                                       

                                                ภาพพระยามหิธรมนูปกรณ์ โกศลคุณ (Tokichi Masao)

                                     นักกฎหมายชาวญี่ปุ่น นายมาซาโอะ โทคิจิ (Tokichi Masao)


          ความสัมพันธ์ไทยญี่ปุ่น 120 ปี

                                                                                 บทนำ

ประเทศไทย หรือชื่อเดิมว่า "สยาม" เป็นประเทศหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชีย ที่สามารถรักษาเอกราชของตนเอาไว้ได้อย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยโบราณ  มีเอกสารยืนยันได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย สามารถนับย้อนกลับได้ยาวไกลถึง 600 ปี ปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์กับประเทศไทย ชาวญี่ปุ่นมักจะได้รับฟังว่า ระหว่างปีค.ศ.1609-1630 (พ.ศ. 2152 -2173) ซึ่งตรงกับสมัยเคโชถึงสมัยคังเอ ทั้งสองประเทศมีการติดต่อกัน มีการส่งเรือ "โกะชูอิน" เดินทางมาประเทศไทย เรื่องหมู่บ้านชาวญี่ปุ่นที่อยุธยา ซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น ตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้น เช่น อะคุอุอิ สึมิฮิโร, ชิโรอิ คิวเอมอน และยามาดะ นางามาสะ สันนิษฐานว่าในสมัยดังกล่าว มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในเมืองไทยมากที่สุดถึงเกือบ 3,000 คน นอกจากการติดต่อแลกเปลี่ยนกันและกันในระดับประชาชนต่อประชาชนแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนเครื่องบรรณาการและสาส์นระหว่างรัฐบาลโชกุนแห่งตระกูล "โตกุกาวะ" กับพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา แต่ไม่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ จากการปิดประเทศในสมัยโชกุนอิเยะมิตสึ ทำให้การติดต่อกับต่างประเทศรวมถึงการติดต่อกับประเทศไทยได้หยุดชะงักลง แต่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า มีเรือสินค้าจากสยามเข้าเทียบท่าที่นางาซากิจนถึงปี ค.ศ.1756 (พ.ศ. 2299 ตรงกับปี โฮเรขิที่ 6)

ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ และมีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางการทูต เมื่อ 120 ปีมาแล้ว หลังจากที่ได้มีการลงนามในปฏิญญาทางพระราชไมตรีระหว่างญี่ปุ่นและไทย

                                            นักกฎหมายชาวญี่ปุ่น นายมาซาโอะ โทคิจิ (Tokichi Masao)

หนังสือราชการของไทยเรียกชื่อว่า “หมอมาเซา“ ท่านเป็นนักกฎหมายชาวญี่ปุ่นที่จบการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายจาก Yale University และมหาวิทยาลัยโตเกียว เข้ามารับราชการในประเทศไทยเมื่อ ปี ๒๔๔๐ ทำหน้าที่ให้ข้อแนะนำและช่วยในการตรวจชำระกฎหมายลักษณะอาญา พระราชกำหนดบทพระอัยการเก่าใหม่ นายมาซาโอะรับราชการในประเทศไทยเป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี โดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นกรรมการศาลฎีกา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหิธรมนูปกรณ์ โกศลคุณ หลังจากนั้นในปี ๒๔๕๖ นายมาซาโอะได้ลาออกจากราชการ เพื่อกลับไปรักษาอาการป่วยที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี ๒๔๖๓ นายมาซาโอะ ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จึงได้เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๖๔ ที่กรุงเทพมหานคร (ท่านผู้สนใจสามารถหาอ่านประวัติเพิ่มเติมของนายมาซาโอะได้จากในหนังสือ ๑๐๐ ปีกระทรวงยุติธรรม และหนังสือประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย เล่ม ๒ กรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๓๙) 

นักกฎหมายชาวต่างประเทศเหล่านี้มีคุณูปการต่อการปฏิรูปกฎหมายและการศาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดานักกฎหมายชาวเบลเยี่ยม ซึ่งถือเป็นชาติที่เป็นกลาง เมื่อมาปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอังกฤษและฝรั่งเศสก็ย่อมไม่มีข้อรังเกียจสงสัยต่าง ๆ ในระหว่างสองชาติดังกล่าว ผลงานของนักกฎหมายชาวเบลเยี่ยมเหล่านี้มีมากมาย ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของ ชาร์ลส บุลส์ นายกเทศมนตรีบรัสเซลส์ พ.ศ. ๒๔๓๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๗ ในหนังสือ “ล้านนาไทยในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง“ ที่พิษณุ จันทร์วิทัน แปลและเรียบเรียงจากบันทึกต้นฉบับของหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรุงบรัสเซลส์ดังนี้
“ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการสมควรจะกล่าวเพิ่มเติมสักเล็กน้อยถึงภารกิจของ
เมซิเออร์ โรลัง จักแมงส์ และบรรดาผู้ช่วยชาวเบลเยี่ยม ภารกิจของคนเหล่านี้ได้แก่ การทำให้ชาวสยามซึ่งกำลังถูกคุกคาม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในคุณค่าแห่งการธำรงอยู่อย่างเป็นเอกราช การติดอาวุธแห่งความรู้ด้านกฎหมายยุโรปเพื่อให้ชนชาวสยามสามารถใช้หลักนิติศาสตร์ตะวันตกในการขัดขวางการรุกรานจากตะวันตก การช่วยจัดกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ชาวสยามสามารถจะเรียกร้องความไม่ชอบธรรมเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต การจัดระเบียบการบริหารเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างมีแบบแผน ทั่งหลายทั้งปวงนี้คือการฟูมฟักให้ประเทศเล็ก ๆ ได้เติบใหญ่เป็นรัฐอันมั่นคงในภายภาคหน้า ข้าพเจ้าเห็นว่าภารกิจเหล่านี้นับเป็นสิ่งอันสมควรแก่การยกย่องบรรดาที่ปรึกษาเหล่านี้ล้วนมีความกล้าหาญและอดทนในการจากบ้านเกิดเมืองนอนมาอยู่ในดินแดนอันห่างไกล ทั้งยังต้องเสี่ยงต่อสภาวะอากาศอันร้อนระอุและไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพเช่นในสยาม” 

ในส่วนของญี่ปุ่น มาซาโอะ โทคิชิ อดีตที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ประเทศไทย อัครราชทูตญี่ปุ่นที่มารับตำแหน่งในปีค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464 ปีไทโชที่ 10 ) ได้เจรจาเพื่อการแก้ไขสนธิสัญญา แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า มาซาโอะ โทคิชิ ได้เสียชีวิตที่กรุงเทพฯ การเจรจาจึงได้หยุดชะงัก ในที่สุด ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาฉบับใหม่ กล่าวคือ สนธิสัญญาว่าด้วยการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างญี่ปุ่นและไทยฉบับปี ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467) ได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 10 เดือนมีนาคม ค.ศ.1924 (พ.ศ.2467 ปีไทโชที่ 13) โดยประเทศไทยยินยอมข้อตกลงต่าง ๆ เช่น การอนุมัติให้ชาวญี่ปุ่นถือสิทธิในการถือครองกรรมสิท ธิ์ที่ดินดังที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาระหว่างไทยและอังกฤษ และสนธิสัญญาระหว่างไทยและฝรั่งเศส

                                                           

มาซาโอะ โทคิชิ ที่ปรึกษากฎหมายรัฐบาลไทย ถ่ายภาพพร้อมภรรยา (ซ้ายมือแถวหลัง และคนกลางในแถวกลาง) และนักเรียนจากประเทศไทยรุ่นแรกคือ นักเรียนชาย 4 คนในแถวหน้า และนักเรียนหญิงในแถวกลาง ถ่ายปี ค.ศ.1904 (พ.ศ.2447 ปีเมจิที่ 37)

                                                           

มาซาโอะ โทคิชิ (Masao Tokichi) (คนกลางในภาพ) ได้รับเชิญจากรัฐบาลไทย ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ(ขวามือแถวหน้า) และกงสุลมิคูมะ (Mikuma) หน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1921 (พ.ศ.2464 ปีไทโชที่ 10) ถ่ายขณะดำรงตำแหน่งอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

                                        การก้าวสู่การเป็นประเทศอธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ

ประเทศไทยได้ดำเนินการเจรจากับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกเลิกเงื่อนไขในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และได้ประสบความสำเร็จในการให้ 9 ประเทศยินยอมแก้ไขสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางการศาล และให้ไทยมีอำนาจในการกำหนดภาษีศุลกากรได้ ในปีค.ศ.1925 และ1926 (พ.ศ. 2463 และ 2464) แต่ยังคงความไม่เสมอภาคในบางส่วน

ในปีค.ศ.1932 (พ.ศ. 2485 ปีโชวะที่ 7 ) ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยกลุ่มนายทหาร และข้าราชการ ภายใต้การนำของพันตรีหลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น ภายหลังได้รับยศจอมพล และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี), นายปรีดี พนมยงค์ ข้าราชการกระทรวงยุติธรรม (ภายหลังดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการและตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หลังจากการเปลี่ยนแปลง 3 ปี รัฐบาลใหม่ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับที่ 5 และ 6 และประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง และธรรมนูญศาลสถิตยุติธรรม เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบกฎหมายให้เป็นสากล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น จึงได้เจรจากับต่างชาติเพื่อขอทำสัญญาที่เสมอภาคแบบสมบูรณ์แบบในลักษณะต่างตอบแทน และในปีค.ศ.1937 (พ.ศ. 2480 ปีโชวะที่ 12) ก็ได้ประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาใหม่ กับประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ รวม 17 ประเทศ

ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นลงนามสนธิใหม่ในวันที่ 8 เดือนธันวาคม ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) ในนามสนธิสัญญาไมตรีด้านการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างญี่ปุ่นและไทย จากสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ไทยทำกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ รวม 17 ประเทศ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีอธิปไตยสมบูรณ์แบบ ไทยสามารถรักษาอำนาจในด้านกฎหมายและสิทธิในการจัดเก็บภาษีศุลกากร แต่เมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาและสามารถแก้ไขได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วกว่า นับได้ว่าไทยต้องใช้เวลาและสูญเสียมากมายเป็นการแลกเปลี่ยน จึงรู้สึกเห็นใจประเทศไทยในจุดนี้ในฐานะเป็นประเทศในเอเชียด้วยกัน 

แหล่งข้อมูล : หนังสือ "ญี่ปุ่นกับไทย" กันยายน 1987
เรียบเรียงโดย กระทรวงการต่างประเทศ
พิมพ์โดย Sekai no Ukoki Sya


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท