อนุทิน 134565


ต้นโมกข์
เขียนเมื่อ

ผมได้ฟัังคำแถลงของอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ฟังแล้ว ผมเห็นว่าแกมีความรู้เรืื่องนี้ดีมากๆ เลยอยากจะแบ่งปันให้เพื่อนๆฟังครับ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ

     นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้วิพากษ์เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ  โดยการแบ่งแยกออกเป็น 3 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1. ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา (โดยมาจากผู้ตรวจการแผ่นดิน)หรือไม่ 2. ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคดี ว่าพระราชกฤษฎีกา ในส่วนการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่เป็นโมฆะมีผลอย่างไร 3. ผลของการวินิจฉัย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เป็นอย่างไร

     เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่ามาตรา 216 วรรค 5 บัญญัติไว้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ แต่การจะดูว่าคำวินิจฉัยของศาลฯนั้นผูกพันทุกองค์กรหรือไม่อย่างไร สมควรดูด้วยว่าการพิจารณาหรือคำตัดสินนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่ปรากฏในมาตรา 197 ที่บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

     อาจารย์วรเจตน์กล่าวอีกว่า การพิจารณาคดีนั้นไม่สามารถจะทำได้ตามใจของตนเอง หรือนัยยะทางการเมือง หรือความรู้สึกนึกคิดของตัว หรือไปตามพจนานุกรม ฯลฯได้ แต่ต้องวินิจฉัยคดีไปตามรัฐธรรมนูญ และถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ตัดสินสิ่งต่างๆไปตามรัฐธรรมนูญ เราก็คงยากที่จะยอมรับคำตัดสินที่ผูกพันกับทุกองค์กรได้

     นอกจากนี้อาจารย์วรเจตน์กล่าวต่ออีกว่า ผลที่ตามมาจากคำวินิจฉัยดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาในเชิงกฎหมายตามมาอยู่หลายประการ โดยอาจารย์วรเจตน์ ได้อธิบายว่า ปัญหาเกิดจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นวินิจฉัย ไม่ตรงกับที่ผู้ร้องเสนอเข้ามา กล่าวคือ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องว่า การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดย กกต. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยผู้ร้องได้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1)[1]

     ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องไว้พิจารณา แต่ได้ตั้งประเด็นวินิจฉัย ไม่ตรงกับผู้ที่ร้องเสนอเข้ามา โดยศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยไปว่า ตัวพระราชกฤษฎียุบสภาฯ พ.ศ. 2556 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 หรือไม่ โดยอาจารย์วรเจตน์ เห็นว่า การตั้งประเด็นวินิจฉัยของศาลที่ไม่ตรงกับคำร้องเช่นนี้ก็เพื่อที่จะให้ศาลสามารถใช้เป็นข้ออ้างว่า ตนมีอำนาจในการรับคำร้องไว้พิจารณาได้ เนื่องจากกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ แม้กระนั้นก็ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ใช่บทบัญญํติแห่งกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) อยู่ดี

    โดยตามคำวินิจฉัยกลางฉบับที่5/2557อย่างไม่เป็นทางการ ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การไม่มีการรับสมัครส.ส.จำนวน 28 เขตเลือกตั้ง เป็นผลทำให้ พระกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2[2] เพราะมิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

   ซึ่งถ้าใช้เหตุผลตามคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ถือเป็นเหตุผลทางกฎหมายที่รับไม่ได้และไม่มีที่ไหนในโลกเพราะเท่ากับว่าการที่มีผู้ไปขัดขวางการรับสมัครรับเลือกตั้ง ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวพระราชกฤษฎีกาขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถ้าจะวินิจฉัยให้ตัวพระราชกฤษฎีกายุบสภา เฉพาะในส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพียงส่วนเดียว ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้ง เป็นผลสืบเนื่องจากการยุบสภาฯ ดังนั้น ถ้าต้องการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ก็ต้องทำให้การยุบสภาเป็นโมฆะ  ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่สามารถกระทำได้แล้วตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจ ประกาศให้การยุบสภาเป็นโมฆะได้ด้วย

     นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ให้เหตุผลว่า การกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกาฯ ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญเพราะอะไร,การดำเนินการจัดการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่,การไปลงคะแนนเสียงของประชาชนจะทำอย่างไรรวมถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชกฤษฎีกาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งตามเหตุผลจะไปเอาผิดกับผู้รับสนองพระราชกฤษฎีกาก็ไม่ได้ เพราะวันที่นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็ไม่สามารถรู้อนาคตได้ว่าวันดังกล่าวจะจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพียงแต่กำหนดไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 ที่กำหนดให้ เมื่อประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร จะต้องตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

      ส่วนคะแนนเสียง 20 ล้านเสียงที่ไปลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ก็ยังไม่ถูกทำลายลงในระบบกฎหมาย แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเสมือนการบีบให้รัฐบาลและกกต. ต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้คะแนน 20 ล้านเสียงถูกทำลายลงไปโดยปริยาย แต่ทั้งนี้หากมีผู้นำประเด็นดังกล่าวไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกก็จะมีประเด็นปัญหาให้ถกเถียงกันต่อไป

      ทั้งนี้ผลกระทบในระยะสั้นจากนี้ไปกกต.จะต้องมาตีความคำวินิจฉัยที่ไม่มีความชัดเจนและจะเกิดปัญหาตามมามากมายเช่น การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ เงินค่าสมัครก็ไม่คืน การดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งก็ยังดำเนินต่อ แต่จะออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งใหม่ แล้วเงินค่าหาเสียงของผู้สมัคร รวมถึงงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต่อจากนี้ กกต.คงจะต้องหารือกับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ส่วนผลกระทบระยะยาวที่ตามมา คือ ต่อจากนี้ ถ้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีคนไปขัดขวางไม่ให้มีการรับสมัครเกิดขึ้นได้แม้แต่เขตเลือกตั้งเดียว พระราชกฤษฎีกานั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทันที

http://youtu.be/aRj-TKLN4O4

 

 

 

 

[1] มาตรา 245  ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้(1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

[2] มาตรา 108  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวันแต่ไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท