อนุทิน 133007


Piyapong Promnont
เขียนเมื่อ

            การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา 

        การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา (Concentrated Language Encounters) หรือ เรียกย่อ ๆ ว่า CLE ได้พัฒนาและปรับปรุงมาจากนักภาษาศาสตร์ทางด้านการอ่าน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการสอนภาษาหลายท่าน ได้แก่ ไบรอัน เกรย์ (Gray) ริชาร์ด วอล์คเคอร์ (Walker) จูเลีย ไพรซ์ (Price) และ เนีย ดอร์ (Dore) จากประเทศออสเตรเลีย ต่อมาเมื่อปี 1980-1985 การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษา ได้ทดลองกับนักเรียนพื้นเมืองชาวออสเตรเลียเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนเทรเกอร์พาร์ค (Trager Park School) เป็นโรงเรียนย่านชานเมืองแอริส สปริง (Alice Spring) รัฐนอร์ทเทิร์นเทริทอรี (Northern Territory) ประเทศออสเตรเลีย โดยโรงเรียนดังกล่าว ส่วนใหญ่นักเรียนร้อยละ 90 เป็นชาวพื้นเมืองออสเตรเลีย (Aborigines) ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ใช้ภาษาพื้นเมืองในการติดต่อสื่อสาร ทำให้ปัญหาในการสื่อสารภาษาอังกฤษทั้งภาษาพูด และภาษาเขียนไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ผู้สอนในโรงเรียนดังกล่าวได้คิด และหาวิธีในการแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถสื่อสาร และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้ โดยการนำการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษาเข้ามาใช้ ซึ่งมีความคิดเห็นว่าเด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้ ก็ต่อเมื่อได้อาศัยประสบการณ์ของตนเองและผู้อื่น การดำเนินโครงการวิจัยในโครงการเทรเกอร์พาร์ค ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน และส่งผลผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน (เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์. 2550: 26-27)

        สำหรับประเทศไทยมีการทดลองใช้การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษาเป็นครั้งแรก กับรายวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โดยนำหนังสือภาษาอังกฤษ เรื่อง “A Little Red Hen” เป็นสื่อการทดลอง นำโดย       ริชาร์ด วอลเคอร์ (Richard Walker) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการเรียนรู้ทางการอ่าน ผู้เชี่ยวชาญทางการอ่าน ของวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแห่งบริสเบน (Brisbane College Advance of Education) ประเทศออสเตรเลีย และเสาวลักษณ์ รัตนวิชช์  คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร โดยใช้เวลาทำการสอนประมาณ 9 – 10 คาบเรียน คาบเรียนละ 50 นาที ผลของการทดลอง พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความสามารถด้านอ่าน เขียน ฟังและพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และมีเจคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ

          การทดลองใช้การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษายังคงดำเนินต่อไป และได้เริ่มกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษ หรือมีประสบการณ์การใช้ภาษาอังกฤษน้อยมาก ผลการทดลองพบว่านักเรียนกว่า 80% สามารถอ่านและเขียนได้ดี รักการอ่าน และสนใจการอ่านมากขึ้น มีเจคติที่ดีต่อการเรียนสูง จากการทดลองดังกล่าว เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์ จึงได้เสนอรายงานต่อ ดร. ริชาร์ด วอล์เกอร์ เพื่อขอทุนในการวิจัยจากสโมสรโรตารีซัลล์เบอรรี เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ปีการศึกษา 2530 ได้วิจัยนำร่อง ณ โรงเรียนชายแดน จังหวัดสุรินทร์ กลุ่มทดลอง คือ โรงเรียนบ้านหนองโสนและโรงเรียนบ้านศาลาสามัคคี กลุ่มควบคุมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ โรงเรียนบ้านตาโมม และโรงเรียนบ้านขอนแตก ในอำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ ผลการวิจัยปรากฏว่า ผู้เรียนในกลุ่มทดลองมีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยทั้งภาษาพูด และภาษาเขียนสูงกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม จากผลงานวิจัยทำให้เห็นว่า การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ทางภาษาประสบความสำเร็จในการสอน ทั้งภาษาแม่ และภาษาอังกฤษ (เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์. 2550: 27-28)

            การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา ให้ความสำคัญกับกระบวนการอ่าน ความสนใจในการใช้ประสบการณ์เดิม และการระลึกเรื่องที่อ่านได้ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาการอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผู้เรียนสามารถจับใจความสำคัญ ตีความ และขยายความเรื่องที่อ่านได้ การจัดขั้นตอนการเรียนการสอน เน้นกระบวนการพัฒนาภาษาอย่างเป็นธรรมชาติของเด็ก โดยใช้บทเรียนและกิจกรรมเป็นจุดเริ่มต้นในการให้ปัจจัยป้อน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะทางภาษาจากการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา จึงได้รับการแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ สำหรับผู้เรียนระดับต่างๆ ดังนี้ (เสาวลักษณ์ รัตนวิชช์. 2550: 70-71)

                        1. การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา รูปแบบที่ 1 เหมาะสมกับผู้เรียนในระยะเริ่มเรียน โดยยังไม่สามารถอ่านและเขียนได้ รูปแบบนี้สามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ อาทิ ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ตลอดจนวัยผู้ใหญ่ ก็สามารถใช้รูปแบบการสอนนี้ได้ ขึ้นอยู่กับการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกันออกไป จุดประสงค์ของการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา รูปแบบที่ 1 คือ ให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับภาษา และเกิดเจคติที่ดีต่อการเรียนภาษา มีสามารถด้านการอ่าน เขียน ฟัง พูดด้วยความคิดของตนเองในระดับพื้นฐาน และเข้าใจในเรื่องของโครงสร้างทางภาษา

                        2. การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา รูปแบบที่ 2 เหมาะสมกับผู้เรียนที่สามารถอ่านออกเขียนได้ในระดับเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ชำนาญพอ จุดมุ่งหมายของการสอนในรูปแบบที่สอง คือ ให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการอ่านและการเขียนในบริบทต่างๆ มากขึ้น โดยอาศัยกลวิธีในการสอนอ่านและเขียนแบบต่างๆ จึงจะทำให้ผู้เรียนสามารถจับใจความสำคัญของเรื่อง การแปลความ ตีความ ขยายความ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง ตลอดจนโครงสร้างของเนื้อความได้เป็นอย่างดี

                        3. การสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา รูปแบบที่ 3 เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความสามารถในการอ่านและการเขียนในระดับที่สูงขึ้น มีทักษะชำนาญมากพอแล้ว จุดมุ่งหมายของรูปแบบการสอนนี้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารภาษาของตนเองทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน และภาษากาย และสามารถหาข้อมูลเพื่อสื่อสาร และถ่ายทอดออกมาในบริบทต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย มีทักษะในการค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง และนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

          จากข้อความดังกล่าว การนำการสอนแบบมุ่งประสบการณ์ภาษา มาใช้ในการจัดการเรียนการสอน มีการจัดเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ตามหลักของการรับรู้และเรียนเรียนทางภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาในการสื่อสาร ได้ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน และภาษากายได้เป็นอย่างดี เนื่องจากขั้นตอนการสอนแต่ละขั้นตอนทั้ง 3 รูปแบบ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการใช้ภาษากับครูผู้สอน และเพื่อนร่วมห้อง อันจะเป็นประโยชน์และส่งผลให้ผู้เรียนสนใจการอ่าน และรักการอ่านมากขึ้น



ความเห็น (1)

ขอตัวอย่างได้ไหมครับ..ขอบคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท