อนุทิน 113843


ปิยพงษ์ พรมนนท์
เขียนเมื่อ

ทัศนะคติในเชิงองค์รวมกับกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนไทย 

สังคมในยุคชุมชนมีทัศนะที่ว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและสัมพันธ์อยู่กับธรรมชาติหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น มนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่กับธรรมชาติได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งเป็นผู้ดูแลและปกป้อง ตลอดจนการเอื้อเฟื้อแบ่งปันให้กันและกัน เพราะว่า โลกนี้มิใช่สมบัติของใคร แต่หากเป็นสมบัติของส่วนร่วม

สังคมในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสังคมเกษตรกรรม ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนกับธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตและการเรียนรู้ในสังคม ดังนั้นระบบการศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็น เด็ก ผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุก็ตาม การจัดการเรียนรู้จึงต้องสอดคล้องกลุ่มเป้าหมายของคนในชุมชน และความต้องการของประเทศชาติอีกด้วย เช่น การจัดการเรียนรู้แก่เยาวชนในเรื่องยาเสพติด หรือ การจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขแก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อจะศึกษาปัญหาและวิธีป้องกันได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ได้จากชุมชน เพราะว่าชุมชนมีความหลากหลายและแตกต่างกัน มีผลทำให้กระบวนการเรียนรู้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างบุคคลมากขึ้น

ปัจจุบันนับว่าโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้การศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนตามวิถีและการดำรงชีวิตของคนในชุมชน อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนจะต้องเชื่อมโยงกับองค์ความรู้และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีกด้วย เทคโนโลยีจึงมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ แต่ในบางครั้งเทคโนโลยีมักจะส่งผลเสียต่อชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชุมชนชนบท ทำให้สมาชิกในชุมชนห่างเหินจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม ดังนั้นการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

นอกจากกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว เพราะจุดเริ่มต้น ของการเรียนรู้อยู่ที่ครอบครัวเป็นหลัก ครอบครัวเป็นสถานที่พื้นฐานในการอบรม ขัดเกลาและถ่ายทอดวัฒนธรรม จริยธรรมของสมาชิกในครอบครัวและสมาชิกใหม่ในสังคม เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนต่างมีวิถีชีวิตและความรู้ที่แตกต่างกันออกไป บางคนถนัดเรื่องงานบ้าน อีกบางคนถนัดเรื่องการประกอบอาหาร ทุกคนต่างก็เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดกันในครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยก่อน ผู้ชายก็จะถูกสอนการเป็นหัวหน้าครอบครัวตลอดจนเป็นผู้นำของชุมชนจากบิดาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนผู้หญิงก็จะได้วิชาความรู้ในเรื่อง งานบ้าน เย็บปักถักร้อย หุงหาอาหาร จากมารดาแลย่ายาย ทำให้ผู้ชายจึงมีบทบาทมากกว่าผู้หญิง

อีกประการหนึ่ง การเรียนรู้ของคนในชุมชนนั้น ดูได้จากพิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ เพราะสังคมในปัจจุบัน ยังมีความเชื่อในเรื่องสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ว่าสิ่งไหนดี ดีเพราะอะไร สิ่งไหนไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร เป็นต้น

ในปัจจุบันการเรียนรู้ของคนชุมชนที่ประสบผลสำเร็จและสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต คือ การเรียนรู้แบบพึ่งตนเอง หรือที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจพอเพียง ที่น้อมนำเอาพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ ทำให้สมาชิกในชุมชนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพากันระหว่าคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การแปรรูปอาหาร ตลอดจน การผลิตข้าวของเครื่องใช้จากวัสดุธรรมชาติ

สรุปว่ากระบวนการเรียนรู้ในชุมชนต้องอาศัยปัจจัยหลายๆด้านมาสนับสนุน เพื่อให้การเรียนรู้นั้นบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการเรียนรู้ในชุมชน สังคม และครอบครัว



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท