อนุทิน 110349


บุรชัย
เขียนเมื่อ

การจัดการความรู้ จำเป็นต้องมีการสร้างฐานข้อมูล เพื่อ ใช้รวบรวมข้อมูล จัดหมวดหมู่ และเชื่อมโยงหมวดหมู่องค์ความรู้เข้าด้วยกัน และที่สำคัญข้อมูลต้องปรับเปลี่ยนได้ง่าย

คุณอาจจะเป็นเหมือนผมสมัยก่อน (ความจริงตอนนี้ก็ยังทำอยู่บ้าง นิสัยเสียเดิมๆ แก้ยากนะครับ) ผมมักพิมพ์บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ ลงในแฟ้มต่างๆ แยกกัน เป็นแฟ้ม text file เล็กๆ เต็มไปหมด มากจนโน้ตเล็กๆ เหล่านั้นเพิ่มจำนวนเป็นร้อยๆ แฟ้ม เวลาจะหาอะไรแต่ละที ก็ค้นยาก เพราะคำหลัก (keywords) ที่ใช้ค้นมักจะเป็นคำพื้นๆ เวลาค้นแล้วเจอแฟ้มอะไรในระบบ ก็ได้รายชื่อแฟ้มมาทีเป็นร้อยเป็นพัน แล้วต้องเสียเวลาไปเปิดดูอีกทีละแฟ้มๆ

เมื่อราว ๒ ปีมาแล้ว ผมเริ่มไปเจอว่า อาจารย์ทาง computer science บางคนใช้ wiki สำหรับจัดการข้อมูลส่วนตัวในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้คของตัวเอง ผมก็เลยคิดอยากทำบ้าง ก็ไปค้นหา personal wiki engine สำหรับมาลงเครื่องคอมพิวเตอร์ MacbookPro ของผม ไปๆ มาๆ ก็ไปเจอโปรแกรมสร้างฐานข้อมูลส่วนตัวโปรแกรมหนึ่ง ที่คนไม่ค่อยรู้จักกันนัก แต่คนที่ใช้ไม่มากนักนั้นชอบมันมาก ติดตั้งง่ายในทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น Mac OS-X, Linux, Unix, Windows เพราะใช้ Java ก็เลยลองใช้ดู และผมก็ชอบมันมาก และก็ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โปรแกรมนี้ชื่อว่า PiggyDB น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า ฐานข้อมูลหมูๆ (แต่จริงๆ คุณสมบัติไม่หมูเลยนะ) พัฒนาโดยชาวญี่ปุ่น ชื่อ คุณ ไดสุเกะ โมริตะ ใช้ง่ายเพราะคุณไม่ต้องรู้ภาษา SQL เลย ใช้งานง่ายเหมือนเราใช้เว็บเขียนบล๊อกนี้แหละ

Piggydb นี้เป็นโปรแกรมฟรี เปิดเผยรหัสโปรแกรม ประเภทฐานข้อมูลสำหรับบันทึกและจัดการองค์ความรู้ ที่เหมือนกับเว็บล็อก ผมใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ เก็บโน้ตเกี่ยวกับความรู้ต่างๆ สารพัดเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลย ในการเตรียมเขียนบทความ หรือใช้ระดมสมองส่วนตัว บางทีก็จดรวบรวมคำศัพท์เทคนิคใหม่ๆ ที่เพิ่งเคยอ่านเจอ จะได้ไม่ลืม (เพราะ neurons ในสมองก็ตายไปเยอะแล้ว ความจำแย่ลงๆ) หรือจดเอกสารอ้างอิงที่จะไปค้นคว้าต่อไป เป็นต้น  โน้ตเล็กๆ พวกนี้ คุณไดสุเกะ เขาเรียกว่า knowledge fragments เราสามารถ tag แต่ละ fragment ด้วยคีย์เวอร์ดไว้ได้ หรือสร้าง ลิงก์เชื่อมโยงเข้ากันได้ เอาซ้อนเข้าไว้ภายในโน้ตอื่นก็ได้ ดังนั้นท่้ายที่สุด fragment ต่างๆ ก็จะมาเชื่อมโยงกันได้ และแต่ละ fragment เราก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอด กี่รอบก็ได้ การค้นหาเนื้อเรื่องก็ทำได้เร็วมาก แม้แค่คำที่ไม่ได้ tag ไว้มันก็เจอจากเนื้อหา หรือหัวข้อที่โพสต์ และเราสามารถสำเนาฐานข้อมูลไว้ได้ง่ายมาก

การจัดความรู้โดยใช้เครื่องมือนี้ ต่างจากวิกิพีเดีย เพราะเป็นแบบ bottom up approach ทำงานช้ินย่อยๆ ไว้ก่อน แล้วค่อยเชื่อมเป็นชิ้นใหญ่เข้าด้วยกัน แต่ผมเข้าใจเอาเองว่า ใครจะทำเป็นแบบ top down ด้วยก็ได้คือทำโครงเรื่องไว้ก่อนแล้วค่อยเพิ่มเนื้อหาก็ได้เหมือนกัน  เครื่องมือซอฟต์แวร์นี้ผมเห็นว่าทำได้ปนกันทั้งอย่างเลยก็ได้ 

โปรแกรมนี้กำลังพัฒนาต่อเนื่อง และเพิ่มคุณสมบัติใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ถ้าได้ซอฟต์แวร์รุ่นเวอร์ชั่นใหม่มา ก็ติดตั้งทับรุ่นของเก่าไปเลย ความรู้เก่าในฐานข้อมูลก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ปลอดภัยดี ผมขอแนะนำให้ใครที่ยังไม่เคยใช้ ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและ ดาวน์โหลดมาลองใช้ดูครับ คุณอาจจะชอบมันก็ได้ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณ

 


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

น่าสนใจมากค่ะ ขอบคุณค่ะ

 

ของฟรี และดีจริงครับ คนไม่ค่อยรู้จัก อยากให้ลองใช้จริงๆ ครับ เพิ่งไปเช็ค รู้สึกว่าเขากำลังจะอัพเดทรุ่นใหม่เร็ววันนี้ ก็เลยมาเล่าให้ทราบกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท