ชีวิตที่พอเพียง : 167. ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมน


         นิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2006    มีเรื่องขึ้นปก ว่า Love. Chemical Reaction     ที่หน้าสารบัญเขียนว่า True Love. Scientists say that the brain chemistry of infatuation is akin to mental illness ---- which gives new meaning to "madly in love".

         ทำให้ผมนึกถึงคำว่า "คลั่งรัก"  "บ้ารัก"  "ความรักเหมือนโรคา"   และนึกถึงช่วงปี ๒๕๐๗ - ๒๕๐๘ ผมไปจีบผู้หญิงที่บ้านอยู่ที่บางโพ     บ้านของเธออยู่ในซอย ต้องเดินเข้าไปสัก ๒๐๐ เมตร     ลงจากรถเมล์ผมก็เดินเข้าไปอย่างกระฉับกระเฉง     เรียกได้ว่าวันเสาร์หรืออาทิตย์ผมต้องไปเป็นแขกบ้านนี้      และคุยกันอยู่ได้คุยดีแบบไม่เกรงเสียมรรยาท     คือบางวันอยู่ตั้ง ๔ - ๕ ชั่วโมง     กินข้าวเที่ยงเสียด้วยเลย     สงสัยว่าพี่สะใภ้และพี่สาวของผู้หญิงคงจะเชียร์ผมอยู่บ้าง     เขาจึงหลบอยู่บนบ้านกันหมด  ปล่อยให้ผมกับ "ว่าที่แฟน" จับจองห้องรับแขกอยู่ ๒ คน     มีหลานตัวเล็กๆ นั่งเล่นกันอยู่บ้าง     มีคุณยายมาร่วมคุยบ้าง   

         นั่นไม่ใช่เรื่องแปลก    ไม่ถึงขนาด "คลั่งรัก"     แต่พอถึงหน้าน้ำหลากอย่างตอนนี้  หน้าปากซอยซึ่งอยู่ต่ำกว่าถนนมากจะมีน้ำท่วม      ท่วมไม่มากนัก อย่างสูงก็ครึ่งแข้ง     แล้วผมจะทำอย่างไร     สบายมากครับ เรื่องแค่นี้     ผมลุยน้ำทั้งรองเท้าถุงเท้าเลยครับ     ค่อยไปถอดผึ่งเอาที่บ้าน   เรื่องไอ้หนุ่มลุยน้ำไปหาสาวนี้รู้กันทั่วไปในหมู่เพื่อนๆ ผม และเธอ

         นักวิทยาศาสตร์เขาหาวิธีวัดความรักด้วยเครื่องสแกนสมอง ที่เรียกว่าเครื่อง MRI - Magnetic Resonance Imaging     หาอาสาสมัครที่กำลังอยู่ในสภาพมีความรักแบบต่างๆ มาตรวจ    แล้วเอารูปคนรักให้ดู     กับเอารูปคนทั่วๆ ไปให้ดู    พบว่าสมองส่วน ventral tegmental และ caudate nucleus สว่างวาบ     สมองส่วนนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสมองแห่งความหฤหรรษ์ (pleasure)     และเหตุที่สมองส่วนนี้สว่างก็เพระมีการหลั่งสารสื่อประสาท dopamine ออกมา      dopamine นี้ทำให้ร่างกายเกิดพลังมหาศาล    ตรงกับคำไทยว่า "ความรักเหมือนโคถึก"  ฉุดไม่อยู่     ทำอะไรๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้    

         นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งศึกษาคน "คลั่งรัก" เปรียบเทียบกับคนเป็นโรคจิตที่เรียกว่า obsessive - compulsive disorder (OCD)    โดยเจาะเลือดวัดระดับ serotonin เปรียบเทียบกัน    พบว่าระดับ serotonin ในคนทั้งสองกลุ่มต่ำกว่าในคนปกติร้อยละ ๔๐     serotonin เป็นสารเคมีที่หลั่งตรงรอยต่อของเส้นใยประสาท     เคมีแห่งรัก กับเคมีแห่งบ้า ดูจะมีส่วนคล้ายกัน         

        รักร้อน-ร้อนรัก หรือรักแบบโรแมนติค    กับรักยั่งยืนไม่เหมือนกัน    รักโรแมนติค เกิดจากพลัง dopamine    คล้ายๆ เกิดจากโด๊บยา พอนานๆ เข้าก็ดื้อยา  ต้องใช้โดปามีนมากขึ้น  จนในที่สุดก็ไม่ได้ผล     ความรักก็จืดจางไป     แต่รักยั่งยืนเกิดจากพลัง oxytocin  ฮอร์โมนแห่งความสัมพันธ์ ความผูกพัน    เป็นฮอร์โมนที่หลั่งเมื่อสามีภรรยากอดกัน  เมื่อแม่กอดลูก     สัตว์ที่มีระดับ oxytocin สูงในเลือด เป็นสัตว์ที่ครองคู่ตลอดชีวิต   

        ผมยังไม่เคยวัดระดับ oxytocin ของตัวเองเลย      แต่น่าจะพอเดาได้ว่าสูง     เพราะสาวที่ผมลุยน้ำไปหาทุกอาทิตย์เมื่อกว่าสี่สิบปีก่อนนั้น     เวลานี้เป็นผู้อุ้มชูดูแลผมอยู่พร้อมกับลูกสี่คน     และผมก็หมั่นเติม oxytocin ทุกวัน    

        รถยนต์ต้องเติมน้ำมันฉันใด     คู่ภรรยาสามีก็ต้องเติม oxytocin ฉันนั้น     แต่เติมน้ำมันเสียเงิน     เติม oxytocin ไม่เสียเงิน          
        ตามบทความในนิตยสาร National Geographic นี้     มองความรักเป็นปฏิกริยาเคมี     มองเป็นโรคา      แต่ผมมองเป็นความหวานชื่นครับ     นึกถึงตอนลุยน้ำไปหาสาวก็หวานชื่นไปแบบหนึ่ง     นึกถึงชีวิตหลังเกษียณร่วมกัน ก็สุขไปอีกแบบหนึ่ง 

วิจารณ์ พานิช
๑ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 65582เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
อ่านแล้วได้ความรู้เชิงวิชาการในตอนต้น ๆ แต่ช่วงท้ายอาจารย์ขมวดได้ถึงความชุ่มชื่นในหัวใจ สำหรับคนที่มีน้ำมันหล่อหัวใจไม่เคยเหือดแห้ง ขอจดจำนำไปฝึกให้มี oxytocin ถึง "ระดับ" ที่เนียนอยู่ในวิถีชีวิต ขอบคุณอาจารย์คะ
ขอบพระคุณครับ
  ผมว่านี่เป็นสุดยอดการเขียนที่เป็นบูรณาการ ทั้ง Tacit K. และ Explicit K. เข้าด้วยกันได้อย่างเหมาะเจาะครับ  และเป็นการบูรณาการ เพื่อชีวิตด้วยครับ 

ได้อ่านข้อเขียนนี้แล้วทั้งได้ความรู้และขำขัน :-)

อ่านพร้อมเพื่อนคนหนึ่ง เพื่อนเกิดคำถามว่า"สารคลั่งรัก" จะเป็นตัวเดียวกับที่คนเราสามารถยกโอ่งมังกรหรือตู้เย็นหนักๆได้เวลาเกิดไฟไหม้หรือเปล่า? :-D

เวลาตกใจ    หรือในสภาพสู้สุดฤทธิ์ สารที่หลั่งคือ adrenalin ครับ    ไม่ใช่ dopamine

วิจารณ์

สวัสดีครับ อาจารย์หมอวิจารณ์

  • ขอบคุณสำหรับมุมมองหลายมิติครับ

  • อาจารย์ว่า คนที่ติด GotoKnow แบบว่าวันไหนไม่ได้เจอ นี่จะรู้สึกขาดอะไรไปบางอย่างนี่ นับเป็น "ความรักแบบอ่อนๆ" ได้ไหมครับ แต่เป็นรักแบบอ่อนๆ พร้อมกับทีเดียวหลายคนเลย (คิดเล่นๆ นะครับ...ถ้าจะเอาจริงสงสัยต้องจับวัดปริมาณ dopamine และ oxytocin ว่าเปลี่ยนไหม เปลี่ยนยังไง) :-)

ขอบคุณครับ

สวัสดีอีกครั้งครับ อาจารย์

        อ้างถึงข้อคิดเห็นข้างบนนี้ครับ เลยเอาหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidence) มาแสดงด้วยครับ :-)

        ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท