ชีวิตที่พอเพียง : 291. ไปร่วมประชุม UKM 10


        UKM 10 ประชุมที่นครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๒๘ พ.ค. ๕๐    มวล. เป็นเจ้าภาพ     ใช้สถานที่โรงแรมแกรนด์ปาร์ค ซึ่งอยู่กลางเมือง  ถ. ปากนคร  ต. คลัง  อ. เมือง      เป็นโรงแรมที่การจัดการด้าน maintenance ไม่ดีนัก    แม้ห้องประชุมจะดีมาก  หัวข้อการ ลปรร. คือ Good Governance

        เวลาทำอะไรผมมักจะถามตัวเองเสมอว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ทำไปเพื่ออะไร     ไม่ทำได้ไหม    ไม่ทำสิ่งนี้ แต่เอาเวลาและสมองไปทำเรื่องอื่นจะดีกว่าไหม     เรื่อง UKM ที่ผมไปยุเขาไว้นี่ก็เหมือนกัน     ผมตั้งคำถาม (กับตัวเอง) ว่า  เวลานี้เรายังจำเป็นต้องมีเครือข่าย ลปรร. UKM อยู่หรือไม่

        ฟังดูจาก business meeting ของเครือข่าย (ซึ่งปีนี้ มน. เป็นผู้จัดการ)     รู้สึกว่าตัวแทนมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเห็นว่าการรวมตัวอย่างนี้มีประโยชน์     แต่มันยังไม่ค่อยเต็มเม็ดเต็มหน่วย     เพราะว่ามันกลายเป็นว่า UKM คือการประชุมกันทุกๆ ๓ เดือน ที่ผมเรียกว่าเป็น supply - push Knowledge Sharing     ไม่มีการ ลปรร. แบบ demand - pull ที่เกิดขึ้นจากความต้องการจริงๆ   ผมตีความว่า UKM ยังเป็นพิธีกรรมมากไป    ยังไม่เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อ  "ชีวิตจริง"

         มีการเสนอว่า น่าจะใช้ CoP เป็นเครื่องมือหลัก สำหรับให้เกิดการ ลปรร. ในชีวิตจริงของการทำงาน     เป็น CoP ข้ามมหาวิทยาลัย โดยมีสมาชิก UKM เป็นแกนหลัก และอาจมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย      ผมมองว่าน่าจะใช้ ICT เป็นเครื่องมือหลักของการ ลปรร.     เรียกชื่อเป็น CoP น่าจะแข็งไป     ชื่อไทยน่าจะดีกว่า คือ "ชมรม"     เช่น ชมรมนักพัสดุ     ชมรมนักจัดการงานวิจัย   ชมรมนักพัฒนาบุคลากร    เป็นต้น    น่าจะยุให้ตั้งชมรมกันเอง      คิดหาวิธีการ ลปรร. กันเอง     โดยจัดอำนวยความสะดวกสร้างพื้นที่ ลปรร. บน ICT ให้     ชมรมไหนต้องการที่ปรึกษาเชิงเทคนิค ก็บอกทาง มน. ที่เป็นผู้จัดการเครือข่าย  ซึ่งก็มีอีกชมรมหนึ่ง คือ "ชมรมคุณอำนวยช่วยหนุนชมรม"  

         การคิดออกแบบกิจกรรมเพื่อทำให้ UKM มีลักษณะ activity - based หรือ work -based     ไม่ใช่ UKM meeting - based   นี่เป็นสิ่งท้าทายความสามารถของทีมแกนนำ UKM ทั้งหมด

         ตกลงกันว่า กิจกรรม UKM จะเดินคู่ขนาน     คือการประชุมทุกๆ ๓ เดือนก็จะยังคงอยู่     และการจัดเป็นชมรมก็จะเกิดขึ้นและอาจมีการประชุมชมรมบางชมรม เป็นครั้งคราว    

         แนะกันว่าสมาชิกแต่ละแห่งควรทำให้การประชุมทุก ๓ เดือนแต่ละครั้งเกิดประโยชน์ต่อสถาบันมากที่สุด     โดยทำ BAR ในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม     และเมื่อประชุมเสร็จ ก็กลับไป AAR

         จะเลือก success stories ของการประยุกต์ใช้ KM ใน UKM Network สัก ๒ - ๓ กรณี     แล้ว สคส. สนับสนุนนักวิจัยไปศึกษาปัจจัยของความสำเร็จ     เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงทฤษฎีในการนำ KM ไปใช้ในบริบทของมหาวิทยาลัยไทย     เรื่องนี้ผมจะปรึกษากับ ผศ. ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร ต่อไป     เราจะพิถีพิถันเลือกนักวิจัยที่มองลึกลงไปในด้าน sociology ได้

        UKM 11 มรภ. มหาสารคามเป็นเจ้าภาพ ลปรร. เรื่อง การบริการวิชาการแก่ชุมชน    วันที่ ๒๓ - ๒๔ ส.ค. ๕๐    ผมมองว่าน่าจะเตรียมจัดตั้ง "ชมรมนักเชื่อมวิชาการกับชุมชน" ไว้ล่วงหน้า      ใช้ UKM 11 เป็นเครื่องมือทำให้ ชมรม นี้แน่นแฟ้นขึ้น และมีโอกาสที่จะยั่งยืน     ผมมองว่า น่าจะใช้การเตรียมประชุม UKM 11    เป็นการเตรียมจัดตั้งชมรม (CoP)     และใช้การประชุม UKM 11 เป็นการลงหลักปักฐานชมรม     ไม่ทราบว่าเป็นความคิดที่เข้าท่าหรือไม่

        "นักเชื่อมวิชาการกับชุมชน" น่าจะมีได้หลายแบบ  หลายบทบาท     และเราไม่มองแค่การเอาความรู้ไปให้ชาวบ้าน     แต่มองว่าเป็นการไปเรียนรู้จากชาวบ้านด้วย      "นักจัดการความรู้ท้องถิ่น" ที่ สรส. สร้างขึ้นและกำลังขยายออกไปสู่ อปท. ก็น่าจะเป็น "นักเชื่อมวิชาการกับชุมชน" ประเภทหนึ่งด้วย     ดังนั้น สมาชิกชมรมน่าจะเปิดกว้างออกไปนอกมหาวิทยาลัย          

         การใช้ KM เป็นเครื่องมือเชื่อมมหาวิทยาลัยกับท้องถิ่น น่าจะเป็นประเด็นหนึ่งของ การประชุมใน UKM 11     และวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้น่าจะได้แก่ คุณทรงพล เจตนาวณิชย์, คุณเดชา ศิริภัทร      และน่าจะเชิญนักจัดการความรู้ท้องถิ่นมาร่วม ลปรร. ด้วย      ยิ่งถ้าได้นักจัดการความรู้ท้องถิ่นที่เป็นสมาชิก อบต. ด้วย จะยิ่งดี 

          เรื่องนี้เขียนตอนนอนไม่หลับ     เช้าขึ้นมาหลังวิ่งออกกำลัง เอาไปคุยกับ ดร. วิบูลย์ ผู้ประสานงานเครือข่าย และ ดร. ทองม้วน แห่ง มรภ. มหาสารคาม เจ้าภาพคราวหน้า ก็เห็นพ้องกัน

วิจารณ์ พานิช
๒๘ พ.ค. ๕๐
นครศรีธรรมราช

หมายเลขบันทึก: 101376เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2007 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน  ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์  ที่เคารพ

         อาจารย์วิบูลย์ได้เขียนบันทึก <จาก UKM 10 สู่การเตรียมการ UKM 11และขอความคิดเห็นจากสมาชิก UKM เพื่อประโยชน์ต่อการเตรียมการ UKM 11 ของ มรภ.มหาสารคาม  ซึ่งหนูคิดว่าน่าจะเชื่อมโยงกับบันทึกนี้ของท่านอาจารย์ และหากท่านอาจารย์มีแนวคิดอื่นๆ หนูขอรบกวนท่านอาจารย์เข้าไปเสนอแนะเพิ่มเติมนะคะ

         ขอบพระคุณค่ะ
         เจนจิต  รังคะอุไร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท