กาวตราช้างหรือจะสู้กาวใจ


..“มือถือ หรือจะสู้มือถึง.“กาวตราช้างหรือจะสู้กาวใจ”..“ปัญหากับปัญญาจะมาเจอกันได้เมื่อไหร่”..การปันผลความรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการกลั่นความรู้ให้ได้แก่นความจริง เข้าถึงความถูกต้อง และความเหมาะสม

         การทำงานเพื่อสังคม  อยู่ที่กลไกของการเชื่อมองค์กรเข้ากับองค์กร ให้คนในองค์กรไปเชื่อมกับคนภายนอก จากนั้นให้คนเอางานไปเชื่อมงาน ให้งานเชื่อมระหว่างงาน แล้วพลังของงานก็จะจุดระเบิดพลังความคิดพลังปัญญา ไปต่อแต้มไต่ระดับขยายผลไปเป็นปณิธานเป็นสายธารแห่งปัญญา  ทำอย่างไร?  ปัญหากับปัญญาจะมาเจอกันได้  จะเดินเคียงคู่จับมือกันอี๋อ๋อได้เมื่อไหร่
        อย่าลืมว่า  คนไทยกำลังมะงุ้มมะง่าหราตามก้นคนชาติอื่นเขาในทุกด้าน เพราะเราไม่สอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ไปเอาใจแต่พวกจำเก่ง ลอกเก่ง พร่ำรำพันเก่ง  โดยไม่เคยลงมือปฏิบัติอะไรเลย  สติปัญญาของชนเชื้อชาติไทยจึงเป็นปัญญาครึ่งซีก  คือจะเก่งในเรื่องซีกด้านทฤษฎี จะวิจัยอะไรสักเรื่องไปค้นทฤษฎีล่วงหน้ามาไว้นำทาง  อะไรที่ออกนอกทฤษฎีถือว่านอกลู่นอกทาง ไม่รู้ตัวว่ากำลังอยู่ในเส้นทางอุบัติเหตุทางปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ งานวิจัย งานวิทยานิพนธ์มันจึงโหล่ยโท้ย เอามาใช้ได้ไม่คุ้มค่าไม่สมประโยชน์ “ผลิตบัณฑิตมหาบัณฑิตออกมาได้ในระดับเบ้ไม่ใช่บอส” ..ผมไม่ได้ว่าเองหรอกนะ ท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่งบรรยายไว้
        ปัญหาแห่งยุคสมัยคือการไม่เปิดใจของมนุษย์ยุคนี้  มีสนิมเขรอะเกิดขึ้นในสังคมการเรียนและพัฒนา  คนสมัยเก่าเขามองเรื่องการให้เป็นทาน เป็นบุญกุศล คนสมัยนี้คิดอีกอย่าง มองเรื่องความรู้ความสามารถเป็นทรัพย์สินทางปัญญา มีค่าลิขสิทธิ์ ต้องไปจดทะเบียนความรู้ความสามารถ ทั้งที่เกิดมากินขี้-ป-นอนกันทุกคนนี่นะ เกิดฟรี อยู่ฟรี ยังไม่คิดตอบแทนโลกอีก มนุษย์จะล่มจมเพราะกิเลศตัวเองนี่แหละ
        โลกตะวันตก คิดสนองกิเลศ
        โลกตะวันออก คิดกำกับควบคุมกิเลศ
         แนวคิดตะวันออกผ่านทางวัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นยุทธศาสตร์สายพุทธ ก็ลองนึกดูเถิด ค่ายหนึ่งกระจายกิเลศ อีกค่ายหนึ่งกำกับและควบคุมกิเลศ โลกใบนี้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร
          ถามว่า  คุณจะยืนอยู่ฝ่ายไหน ฝ่ายสนองกิเลศ หรือฝ่ายควบคุมกิเลศ บางคนอาจจะตอบว่า ขอยืนอยู่ตรงกลางเหมือนตอนสงครามโลก มีฝ่ายพันธมิตร ฝ่ายอักษะ และฝ่ายเป็นกลาง  สิ่งที่น่ากลัวก็คือเครื่องมือกำกับควบคุมกิเลศของฝ่ายตะวันออกยังไม่ดีพอ ถ้าพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาก็เห็นว่าสงครามความคิด เราแพ้ฝ่ายสนองกิเลศจนยับเยิน  ฝ่ายกำกับกิเลศถูกดันจนหลังติดกำแพงเมืองจีน   เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะทำฉันใด
เรามีความรู้อยู่ 3 ชุด
1. ชุดความรู้ด้านดี
2. ชุดความรู้ด้านร้าย
3. ชุดความรู้ด้านดีประสงค์ร้าย
          การแยกแยะความรู้มาเลือกใช้  ถือเป็นบริบทหนึ่งที่สำคัญของKM. จะคิดว่าดีก็ได้ร้ายก็เอามันก็วิบัติ บางคนถึงกับต้องทิ้งลูกเมียไปเดินท่อมๆอยู่ประเทศโน้นประเทศนี้  จะใช้ความรู้ก็ไม่มีอะไรจะไปขาย ต้องไปขายแรงงาน เป็นกรรมกรอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะไปทำงานที่ไหน นั่นก็แสดงให้เห็นว่า อิทธิพลของการใช้ความรู้ จะส่งผลให้อานุภาพความรู้เป็นไปในทิศทางเถื่อนหรือทางดีก็ย่อมได้
         เพื่อให้มีข้อยุติ เราจะพูดถึงเรื่องการจัดการความรู้ดีกับความรู้เถื่อนกันดีไหม ใครจะเป็นเจ้าภาพจับความรู้ดีๆที่เป็นมงคลมาเรียงกันไว้แล้วเอากาวตรงช้างแปะให้ติดกันยาวเป็นลูกโซ่  ขณะเดียวกันก็เอากาวตราช้างแปะความรู้ชุดกิเลศหนาปั้นม้วนเป็นก้อนกลมๆเก็บรักษาไว้  อย่าให้ออกไปเพ่นพ่านมากนัก
         ประเด็นนี้ ครูใหญ่ผม ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ได้กรุณาอธิบายว่า เส้นระหว่างทางจากสีดำไปถึงสีขาวมันจะมีสีเทาทุกเฉดระดับเป็นตัวเชื่อม เรื่องของใครคนนั้นก็มีมุมมองว่าของตนคิดดีทำดีแล้ว ความเป็นจริงส่วนใหญ่มันก็เป็นเช่นนั้นเสียด้วย ประเด็นนี้นักคิดบางคนก็ฟันธงว่า..ไม่ว่าจะแมวสีอะไร ขอให้มันจับหนูได้ก็พอแล้ว จะเอายังงั้นรึครับ หรือฉุกคิดต่อๆๆไปอีก..
          การจัดการความรู้ระดับชุมชนที่มหาชีวาลัยอีสาน 
ได้ทดลองทำเรื่องการเชื่อมองค์กร เชื่อมสถาบัน เชื่อมคน เชื่อมพื้นที่ เชื่อมความรู้  ยังสรุปไม่ได้ว่าจะออกหัวออกก้อย วันที่7ศกนี้ มหาชีวาลัยอีสานจะไปเชื่อมกาวใจกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เพื่อวางแผนการพัฒนาจังหวัด โดยมีคณะผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียนนำร่อง ครูนักปฏิบัติอีกร่วมร้อยคน นอกจากนี้ยังมีครูพื้นที่ครูชาวบ้านครูภูมิปัญญาอีกกลุ่มใหญ่ จะมาร่วมกันคิดคำตอบ  ว่าจะบริหารและพัฒนาจังหวัดมหาสารคามให้สดใสไฉไลดั่งปณิธานของจังหวัดที่ว่า“เป็นตักสิลาแห่งอีสาน”ได้อย่างไร นั่นก็หมายความว่า ตักสิลาคงไม่ใช่ระดับก้อนกรวดก้อนหินดินทราย  คงจะมีความหมายที่ชัดเจนไปกว่านั้น ประเด็นนี้จึงคาดหวังไว้ว่า “มหาสารคามน่าจะมีคำตอบ”
         ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาชีวาลัยอีสานได้ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร สถาบันวิจัยสังคมจุฬามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ สมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์
           คณาจารย์เหล่านี้มีทั้งยกทีมพาลูกศิษย์มาศึกษาในพื้นที่  หลายครั้งเชิญเราไปเล่าประสบการณ์ และมีหลายท่านเริ่มที่จะคิดแผนงานเชิงรุก เช่นนำลูกศิษย์มาออกค่ายพัฒนา ลงพื้นที่ค้นคว้าข้อมูลวิจัย  สถาบันวิจัยสังคมจุฬา ส่งลูกศิษย์มาปักหลักเก็บตกระบบสารสนเทศชุมชน เพื่อทำวิทยานิพนธ์
          องค์กรชาวบ้าน องค์กรชุมชน เริ่มทำการบ้านอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลนี้คัดเลือกให้สถานีเรียนรู้ 40 ศูนย์ทั่วประเทศ เป็นจุดฝึกอบรมแกนนำของหัวหน้าทีมที่จะไปสร้างฐานเศรษฐกิจพอเพียง ยิ่งมีการขยับเขยื้อนวิชาความรู้มากเท่าใด  บทบาทของKM.ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น การปันผลความรู้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการกลั่นความรู้ให้ได้แก่นความจริง ความถูกต้อง ความเหมาะสม

คำที่ขอถาม  ถ้ากาวตราช้างใช้ไม่ได้ผล  เราจะมีกาวใจยี่ห้อไหนครับมาทดแทน ใครคิดได้ยกมือขึ้น!

 

หมายเลขบันทึก: 65328เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 18:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครูบาครับ

เวลาติดกาวต้องดูพื้นผิวด้วยนะครับ

เช่นพวกใจฝ่อกาวอะไรก็ติดไม่ได้  และยิ่งไปกว่านั้น พวกใจปลาซิวก็เล็กจนติดไม่อยู่ครับ แค่ลมพัดเบาๆก็หลุดครับ

ต้องเลือกแบบหัวใจเสริมใยเหล็กครับ ติดไม่หลุด แถมไม่หักอกใครให้ช้ำใจอีกต่างหากครับ

  • เสริมใยเหล็กท่าจะดีนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท