เผชิญความตายอย่างสงบ ตอน 10: ภาวนาโพวา


ในการทำ palliative care ถ้าเราเป็นฝ่ายรับอารมณ์ลบ หรืออารมณ์จาก "ร่องอารมณ์" (ยืมคำของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) หรือ amygdala signals จากคนไข้ จากญาติมาเก็บไว้มากๆเข้า เราก็จะป่วยแทน

ภาวนาโพวา การเยียวยาโดยศรัทธาและเมตตา

สาเหตุหนึ่งของการล้มเหลว หรือ ความเสี่ยง ของ palliative care คือ สภาวะ burnt-out of staff หรือการ หมดสภาพการทำงานของบุคลากร เขียนไว้ในหนังสือตำราทั่วไป

ตอนผมอ่านเจอเรื่องนี้ ก็พยายามทำความเข้าใจอยู่นานพอสมควร (อย่างที่ Stephen Batchelor พูดถึงพระสมณโคดมกำราบมาร โดยตรัส "มารเอย เจ้าทำร้ายเราไม่ได้ดอก เพราะเรารู้จักเจ้า") ไหนๆจะทำ palliative care แล้ว ก็ต้องค้นหา สาเหตุแห่งความล้มเหลว ไว้ด้วย เพื่อทำความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ "รู้จักมาร" เสียก่อน

ทำไมทำๆไปแล้วเกิดอาการหมดสภาพ หมดพลัง?

เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เรามักจะมีคนบอกเสมอว่า ให้หางานที่ทำแล้วมีความสุข ทำแล้วเหมือนกับเล่น ทำแล้วเหมือนงานอดิเรก (งานอดิเรกคืองานที่เราสมัครใจทำเอง ตอนที่ไม่มีใครบังคับ เพราะเรา มีความสุข ขณะที่ทำ) งานอะไรที่ทำแล้วทรุดลงๆ ก็คงจะเป็นงานที่ ugly น่าเบื่อ และคงจะเป็นการทุกข์ทรมานที่ต้องทนทำ

การทำ palliative care นั้น ที่แน่ๆก็คือต้องคลุกคลีกับคนที่ทุกข์ทางกาย และมักจะมีทุกข์ทางมิติอื่นๆร่วมด้วย ผมเคยกล่าวไว้ ณ ที่ไหนสักแห่ง (หมู่นี้กล่าวหลายที่ สับสนนิดหน่อย) ว่า อารมณ์ของมนุษย์นั้นมันแพร่ระบาดได้ เหมือนโรคติดเชื้อ เคยมีการทดลองของ Dr Sheldrek ที่ลงตีพิมพ์ พี่วิธานกล่าวไว้ในหนังสืออันน่าอ่านอย่างยิ่งคือ "หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่" พูดถึงการทดลองคนมองไปที่ข้างหลังของอีกคน แล้วคนถูกมองสามารถบอกได้อย่างถูกต้องมากอย่างมีนัยสำคัญ เรามี ประสาทสัมผัส อีกแบบหนึ่ง และตอนที่เรากำลัง vulnerable state ได้แก่ การเจ็บป่วยรุนแรง กำลังมีอารมณ์พลุ่มพล่านปั่นป่วน ประสาทสัมผัสเหล่านี้ถูกขยายพลัง receptor ให้ไวมากขึ้น คนไข้จึง sensitive กว่าปกติ ดังนั้นหากหมอ พยาบาล หรือคนเยี่ยม มีอารมณ์ที่เศร้าหมอง ขุ่นเคือง เครียด ไม่สบายใจ มิใยที่จะเสแสร้งทำหน้าชื่น แต่คนไข้ก็จะ "รู้สึกได้" ถึง "อกตรม" ของเราข้างใน

ผมคิดว่านีเองอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พลังของเราถูก drain ออกไปได้ในการทำ palliative care ถ้าเราเป็นฝ่ายรับอารมณ์ลบ หรืออารมณ์จาก "ร่องอารมณ์" (ยืมคำของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู) หรือ amygdala signals จากคนไข้ จากญาติมาเก็บไว้มากๆเข้า เราก็จะป่วยแทน

จำเป็นต้องเกิดหรือไม่?

ขอฟันธงว่า "ไม่จำเป็น"

เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะคิดอย่างไรนั้น ตัวเราเองสามารถควบคุมได้ดีพอสมควรทีเดียว แทบจะเรียกได้ว่าเป็น free will ที่เราอยากจะคิดอะไร อยากจะรู้สึกอย่างไร บางคนอาจจะเข้าใจว่า พวกเราต้องล่องลอยไป ตามกระแส แต่ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะเราอ่อนแอ และ ยินยอมล่องลอยไปตามกระแส มากกว่า

เราสามารถที่จะสร้าง ภูมิคุ้มกัน ให้แก่จิตใจของเราโดยการฝึกฝน สัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสมาธิ ให้ดี ให้แข็งแกร่ง มั่นคง จิตใจของเราก็จะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน แถมยังเป็นภูมิคุ้มกันที่แผ่ไปให้คนอื่นได้ด้วย เหมือนกับที่บรรดาเจได (STARWAR, Gorge Lucas) สามารถทำให้คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ทรมานบรรเทาอาการกลัว ตกใจได้เพียงแค่กวาดมือไปหา แผ่สมาธิ พลังด้านบวกไปให้

สิ่งที่มีอยู่ในทุกๆศาสนา ของพุทธเราเรียกว่า "ความเมตตา กรุณา" เป็นอะไรที่สัมผัสได้ รู้สึกได้ sense ได้ เหมือนกับอารมณ์อื่นๆได้แก่ ความรัก ความปราถนาดี และเหมือนกับอารมณ์ประเภท ความท้อแท้ ความโกรธ เกลียด ความเศร้าเสียใจเหมือนกัน ยังจำฉากที่โยดารู้สึกพลังแห่งความโกรธ เกลียดของอนาคิน ตอนที่กำลัง masacre พวก sandman ที่ฆ่าแม่ของเขาตาย (STARWAR II, Attack of the Clones) หรือที่เจไดเบน เคโนบีรู้สึกถึงความกลัว despair ของคนนับล้าน เมื่อ planet ถูก Dark Star ทดลองมหาอาวุธทำลายดวงดาวไป (STARWAR VI, New Hope)

ดังนั้นแทนที่เราจะไปรับอารมณ์จากร่องอารมณ์ของคนไข้ หรือญาติที่กำลังตกบ่วงมารแห่งความทุกข์อยู่ ถ้าเราเข้าไปด้วยจิตสมาธิและความคิดแห่งแมตตากรุณา เราก็จะกลายเป็นผู้แผ่เมตตา เป็นผู้ให้ เป็นแหล่งแพร่เชื้อแห่งพลังบวกแก่พวกเขาแทน เพียงแค่เรา "เข้าใจ" เรื่องเหล่านี้เสียก่อน

ภาวนาโพวา การเยียวยาด้วยศรัทธาและเมตตา

หลวงพี่ไพศาลได้อบรมพวกเราในวันสุดท้ายถึงเทคนิกการเยียวยาอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งเยียวยาตนเอง เยียวยาคนไข้ เยียวยาญาติ การเยียวยา (healing) ไม่เหมือนการทำให้หาย (cure) และจริงๆแล้ว แพทย์นั้นมีหน้าที่เยียวยา (healer) ไม่ได้เป็นผู้ทำให้โรคหาย (curer) เมื่อแพทย์เยียวยาคนไข้ถึงระดับหนึ่ง คนไข้บางคนที่พร้อมก็จะทำให้โรคหายด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่จากหมอ หรือจากยา ถ้าคนไข้คนไหนไม่พร้อมที่จะหายด้วยตัวเองแล้ว ก็จะไม่มีทางหายได้เลย ดังนั้นถ้าหมอคิดว่าตัวเองเป็น curer ไม่ใช่ healer ก็จะมีความเหิมเกริม arrogant (นึกถึงที่หลวงพี่ไพศาลพูดถึงเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวว่า "ได้มองดูกระจก เห็นรอยย่นบนใบหน้า ก็เข้าใจถึงความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต ออกไปนอกบ้านเงยหน้าดูท้องฟ้า เห็นดวงดาว ก็เข้าใจถึงความเล็กน้อยกระจิดริดของตนเอง") คิดว่าตนเองเป็นผู้ทำให้หาย เป็นผู้ทำให้เกิด เป็นผู้ทำให้สิ่งต่างๆ "เป็น" ขึ้น เป็นกับดักมารอย่างหนึ่ง ("Vanity is my favourite sin", quoted by Satan from the movie "The Devil's Advocate", Al Pacino)

 เทคนิกการภาวนาโพวา

เริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ รวบรวมจิตใจ แสวงหาความศรัทธา นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของตนเอง ของศาสนา ของศรัทธา ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

นึกถึงสัญญลักษณ์ นึกถึงตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ ปรากฏอยู่บนท้องฟ้า มีแสงสีขาวนวล กระจัดกระจาย ไม่บาดตา แต่สว่าง ใสกระจ่าง อากาศอบอุ่นสบาย ร่มรื่น แจ่มใส สงบสันติ ไม่เร่งรัดรีบร้อน

มองเห็นตัวเราเอง อยู่ในทุ่งหญ้าเขียวขจี พื้นดินอ่อนนุ่ม สัมผัสได้ถึงพลังจากแผ่นดิน พลังจากสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ที่อยู่ร่วมกัน เกื้อกูลกัน

มองเห็นตัวเราเองเงยหน้าดูสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนท้องฟ้า ด้วยความศรัทธา จิตใจสบาย อิ่มเอมด้วยความเมตตา กรุณา ความปราถนาดี ความสงบ

มองเห็นตัวเราค่อยๆลอยขึ้น ขึ้นไปใกล้กับรัศมีอันประภัสสรของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อบอุ่นขึ้นจากเมตตาบารมี เกิดความปิติ สงบ สันติในจิตใจ จิตใจผ่องใส สบาย ปลอดโปร่ง โล่งสบาย จนกะทั่งเราค่อยๆเข้าใกล้แสง ใกล้เข้าไป จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแสง แสงสว่างนั้นวนเวียนอยู่รอบตัวเรา

มองเห็นตัวเรา ก้มลงดูผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มองเห็นผู้คนมากมาย เห็นผู้คนที่ทุกข์ทรมาน เจ็บไข้ได้ป่วย เรารู้สึกอยากให้คนเหล่านี้ พ้นทุกข์ พ้นทรมาน มีความสงบ เมือเรารู้สึกเช่นนี้ ก็เห็นแสงอันสว่างนวล ส่องลงไปยังคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยนั้น แสงได้นำเอาความปราถนาดีของเรา ความอยากให้คนได้พ้นทุกข์ของเรา ไปถึงคนที่กำลังทุกข์ทรมาน

เรารู้สึกถึง พลังบารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรานับถือ ได้แผ่ความเมตตา กรุณา ไปกับแสง สาดส่องไปยังร่างของคนที่กำลังทุกข์ทรมาน สัมผัสได้ถึงจิตใจ จิตใจอันต้องการความช่วยเหลือ แสงแห่งความเมตตานั้น ได้นำพาเอาศรัทธาที่เรามี ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นำพาเอาความรัก ความปราถนาดี นำพาเอาความเมตตากรุณาปราณี ไปยังผู้ที่ยังมีความทุกข์ ความทรมาน ให้เขาค่อยๆรู้สึกดีขึ้น รู้สึกนึกความรัก ความเมตตาอันยิ่งใหญ่ของสิงศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นกำลังของเรา

ตอนที่ทำภาวนาโพวา เราไม่จำเป็นต้องอธิบายทั้งหมดแก่ผู้ป่วยก็ได้ แค่ขอให้คนไข้ลองมีจิตใจที่เปิดกว้าง สงบ แล้วเราขอนั่งเป็นเพื่อนด้วยสักพักหนึ่ง การภาวนาโพวาสามารถทำได้กับตนเองก็ได้ กับเพื่อน กับใครก็ได้ และทำได้แม้แต่ไม่ได้เห็นหน้าตา หรืออยู่ใกล้กัน เป็นการฝึกความเมตตากรุณาและความศรัทธาของตัวเราเอง และลองใช้พลังด้านนี้ เสริมเข้ากับความรู้ด้านอื่นๆของเรา ได้แก่ ความรู้ทางการแพทย์ การพยาบาล เข้าไปหาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ด้วยความรัก ความปราถนาดี ความเมตตากรุณาอย่างเต็มที่

ภาวนาโพวาก็จะเป็นการบำเพ็ญบารมีส่วนตัวแบบหนึ่ง เหมือนการฝึกพลังเจได (The Force) ที่แสวงหาพลังจากชีวิต ชีวิตที่อยู่ร่วมกัน โดยเชื่อว่าความปราถนาดี ความรัก ความเมตตานั้น ก็เป็นพลังชนิดหนึ่ง และสามารถสัมผัสได้โดยคนไข้ หรือคนทั่วๆไปที่เปิดรับได้ และยังสามารถเป็นภูมิคุ้มกันของตนเอง ที่จะรับความรู้สึกอันเศร้าหมองจากคนไข้หรือญาติมาได้ด้วย เมื่อเรารู้สึกพลังของเรา drain ออกไป เหน็ดเหนือย ก็สามารถใช้การภาวนาโพวา ให้แสงนั้นสาดส่องมาที่จิตใจของเรา รับเข้ามาเสริมสิ่งที่สึกหรอไปได้

เมื่อเรามีภูมิคุ้มกันแล้ว เราก็จะอยู่ในสถานะที่พร้อม ที่จะช่วยเหลือผู้อื่นโดยตัวเองพ้นจากความกลัว ความเศร้าหมอง และห่างจากเหตุที่จะ drain พลังเราออกไปจนหมด การเป็นแพทย์ เป็นพยาบาล หรืออาชีพใดๆก็ตาม ที่มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่น เป็นอภิสิทธิ์อย่างยิ่ง และควรทำได้ด้วยจิตใจที่เบิกบาน ปลอดโปร่ง มากกว่าที่ทำแล้วแย่ลงๆ เมื่อนั้นเราก็จะมีความสุข ความสงบ มีพลังไม่จำกัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน Always for better Tomorrow. Better and Better เป็นชีวิตที่มีความหมาย อยู่อย่างมีความหมาย

ก่อนจะจบขอ quote คำของ Dalai Lama 

Peace must first be developed within an individual. And I believe that love, compassion, and altruism are the fundamental basis for peace. Once these qualities are developed within an individual, he or she is then able to create an atmosphere of peace and harmony. This atmosphere can be expanded and extended from the individual to his family, from the family to the community and eventually to the whole world.
Foreword for the book, Peace is every step
By H.H, The Dalai Lama
อวสาน
หมายเลขบันทึก: 85583เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2007 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ติดตามอ่านงานของอาจารย์และท่านพระอาจารย์ไพศาลมานานแล้ว..รู้สึกเป็นสุขทุกครั้งที่ได้อ่านเพราะได้ความรู้ที่จะนำไปฝึกหัดกับตัวเองและคนใกล้ชิดและหลายๆอย่างที่อาจารย์พุดถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นประโยชน์มากสำหรับการทำงานที่เผชิญอยู่..รู้สึกมีหลักและได้รู้จักครูบาอาจารย์ที่จะขอคำปรึกษาได้..ขอบคุณในความเมตตาที่ช่วยให้ข้อมูลและความรู้ค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึก series ดีๆ อีกแล้ว

คุณ Seangja ครับ

ขออนุโมทนาในการงานที่กำลังทำอยู่ด้วยคนครับ ยินดีที่ได้รับใช้ และดีใจที่เป็นประโยชน์ครับ

ขอบคุณครับพี่ปารมี มีกำลังใจในการเขียนต่อครับ

หมอสกล อธิบายเข้าใจ ไม่ยาก เรียกว่าเป็นทั้งหมอ

และวิศวกรในระบบความรู้ ----ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

(แอบเป็นลูกศิษย์ด้วย)

ดีใจที่รู้สึกว่าเข้าใจครับ

เป็นผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ได้นะครับ เมื่อเกิดความ "มัน" ขึ้นมา :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท