จิตตปัญญาเวชศึกษา 43: หัวใจมนุษย์ หัวใจหมอ


ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความเพียรอุตสาหะ สิ่งเหล่านี้เป็นมดลูก เป็นครรภ์มารดา ประคบประหงมวิชาชีพแพทย์มาตั้งแต่มีสังคมมนุษย

หัวใจมนุษย์ หัวใจหมอ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้กล่าวว่า ณ ปัจจุบันนี้กระบวนทัศน์การดูแลปัญหาด้านสุขภาพของประเทศไทย ถึงวาระปรับเปลี่ยนเคลื่อนที่จาก การบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึง (standard health care access to all) มาเป็นการบริการสุขภาพที่มีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ (humanized health care) ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และเกิดแรงบันดาลใจเป็นอย่างยิ่ง มีบทความมากมาย และบรรยาย พรรณนา เชิงอรรถ ปุชฉาวิสัชนาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และอย่างกระตือรือร้น ด้วยสาเหตุต่างๆกัน หนึ่งในสาเหตุบรรดานั้นเป็นเพราะคำ "หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" นั้น ทุกผู้คนสามารถนำเอาตัวตนเข้าไปตีความ จับต้อง และรู้สึกสั่นสะเทือนได้

หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ 

มนุษย์มีวิวัฒนาการต่างจากสัตว์ species อื่นๆ ทั้งด้านกายวิภาค และสมอง สมองที่มีการพัฒนามากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมมนุษย์ผิดแผกแตกต่่างไปจากสัตว์ มีความสามารถในการใช้ความทรงจำเก่า สรรสร้างจิตนาการใหม่ แก้ปัญหาที่ยังไม่เคยเจอมาก่อน และพยากรณ์สิ่งที่กำลังน่าจะเกิด เป็นสมองที่เปี่ยมล้นด้วยความอยากรู้อยากเห็น โหยหาความรู้ แสวงหาความมั่นใจจากความรู้นั้นๆ หรือเพียงแค่อยากรู้เฉยๆก็ยังได้ 

ในขณะที่หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ก็ยังคงความสามารถเดิม ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้แก่ ความรู้สึกพื้นฐาน อาทิ กลัว หิว เพศสัมพันธ์ ความรัก ความเกลียด และเมื่ออารมณ์พื้นฐานเหล่านี้เข้ามาบูรณาการกับสมองส่วนความคิด ก็เกิดเป็นอารมณ์ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น ความอยากเป็นเจ้าของ ความอยากควบคุม ความหลงไหล อิจฉาริษยา หึงหวง หมั่นไส้ จนไปถึงคุณสมบัติของจิตที่พิเศษ ที่อาจจะเกิดขึ้นในบางคนเท่านั้น เช่น สมาธิ ฌาน สติ สงบ ศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

นักวิทยาศาสตร์พยายามจำลองผลิตผลของสมอง ที่มีเรื่องจิต เรื่องจิตใจ จิตวิญญาณ แต่ก็พบว่าสามารถสร้างสมองกลที่มีส่วนของตรรกะ logic ที่เป็นสมการ มี input และเกิด output ที่แน่นอน แต่ก็ยังไม่สามารถจำลอง model ของอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานและซับซ้อนของมนุษย์ออกมาได้ ถ้าจะมีความแตกต่างระหว่างเครื่องจักรกลกับมนุษย์เหลืออยู่ ก็คงจะเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก และผลกระทบของอารมณ์ความรู้สึกที่ผสานผนวกกับระบบความคิดใคร่ครวญไตร่ตรอง  และพื้นที่ที่ยังเป็นปริศนาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ก็คือ จิตใจ และจิตวิญญาณ

หัวใจมนุษย์ จิตใจ และจิตวิญญาณ

 การที่มนุษย์มีอารมณ์ จิตใจ จิตวิญญาณ ทำให้เกิดพฤติกรรมมากมาย แตกต่างไปจากสัตว์ ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ บทกวี ดนตรี เพลง เกิดเป็นสุนทรียศาสตร์ ที่เป็นอารมณ์อันละเมียดละไม ในขณะเดียวกัน เมื่อมนุษย์มีปัญหาทางกายเกิดขึ้น ก็สามารถส่งผลกระทบต่อระบบอารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณไปพร้อมๆกัน ความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกทนนิ่งเฉยไม่ได้เมื่อเห็นมนุษย์คนอื่น หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตอื่นๆมีความทุกข์ทรมาน อารมณ์ ความรู้สึก จิตใจ และจิตวิญญาณทำให้มนุษย์อยู่ในสังคมอย่างบูรณาการเต็มตัว แต่ละปัจเจกบุคคลเปรียบเสมือนดั่ง organelles ภายในเซลล์ ที่มีหน้าที่แตกต่างกัน เชื่อมโยงกันด้วยระบบนิเวศน์ คือ cytoplasm เดียวกัน และรับทราบสภาวะความสุขทุกข์ของระบบอย่างกลมกลืน มนุษย์ที่อาศัยในระบบนิเวศน์โลกใบเดียวกัน อาศัยอากาศ น้ำ ทะเล ต้นไม้ สิ่งแวดล้อมเดียวกัน มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างแยกกันไม่ออก

จิตใจ จิตวิญญาณ หมอ

มนุษย์กลุ่มหนึ่ง เมื่อสังเกต เห็นความทุกข์มากมายของสิ่งมีชีวิตรอบตัว คนในครอบครัว เพื่อนบ้าน ใช้อารมณ์ ความรู้สึก จิตใจ และจิตวิญญาณเข้ารับรู้เรื่องราวต่างๆเหล่านี้ เกิดพฤติกรรมขึ้น ได้มีการรวมตัวกันเพื่อเข้าไปดูแลคนที่ทุกข์ทรมานอย่างตามมีตามเกิด ไม่ได้คาดหวังอะไร เพียงทำไปเพราะเป็นสิ่งที่คิดว่าควรทำเท่านั้น ในขณะเดียวกันเกิดการสังเกต บันทึก การเปลี่ยนแปลง ลักษณะอาการแบบต่างๆ ในที่สุดก็ค่อยๆรวบรวมเป็นชุดของการสังเกต กลายเป็นกลุ่มอาการและการเปลี่ยนแปลง พยากรณ์ผลการเปลี่ยนแปลง เกิดมีการแทรกแซงให้การรักษา และบันทึกผลของการแทรกแซง การบำบัดรักษาแบบต่างๆ กลายเป็นวิชาการแพทย์ และได้เจริญรุดหน้ามาจวบจนปัจจุบัน

อะไรคือ "จุดกำเนิด" อะไรคือ "จิตวิญญาณ" อะไรคือ "ความหมายของวิชาชีพหมอแต่แรกเริ่ม"

อาชีพหมอแต่เริ่มนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยจิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณของมนุษย์ เป็น The Source

 

ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความเพียรอุตสาหะ สิ่งเหล่านี้เป็นมดลูก เป็นครรภ์มารดา ประคบประหงมวิชาชีพแพทย์มาตั้งแต่มีสังคมมนุษย์

หัวใจมนุษย์ หัวใจหมอ

 หมอทุกคนที่ได้ร่ำเรียน ฝึกอบรม เป็นเวลายาวนาน ก่อนที่จะได้มาประกอบอาชีพ หรือหาเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว ด้วยการดำรงชีวิตในการช่วยเหลือผู้อื่น จะมีประโยชน์ต่อตนเองอย่างมากมายมหาศาล เพียงแค่ย้อนกลับไปหารากแก้ว ที่มา ครรภ์มารดา มดลูก แห่งวิชาชีพของหมอ ของพยาบาล ชัยชนะ หรือ glory ของวิชาชีพนี้แต่แรกเริ่มนั้น มีมาตั้งแต่เกิดจิตเมตตา จิตที่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว ขอเพียงเรายอมเปิดใจ รับรู้่ความทุกข์ทรมานทางกาย ใจ ของคน และให้การรับรู้นี้เป็นแหล่งพลังงาน ที่จะผลักดันให้เราทำงาน ทำอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความทุกข์ของเขาลง และเราสามารถรับรู้ความรู้สึก "ขณะ" ที่ทำงานนี้่ได้ จะเปี่ยมไปด้วยความอิ่มเอม ยินดี

เพราะเสมือนเราได้ย้อนกลับไปหาแหล่งกำเนิดใหม่ กลับไปที่ที่อบอุ่นปลอดภัยที่สุด คือ ครรภ์แห่งจิตวิญญาณวิชาชีพแพทย์ และใช้จิตแห่งครรภ์ต้นกำเนิดนี้ เป็นแผนที่ชีวิตอันบริสุทธิ์ ทรงพลัง เป็นสิริมงคล สืบต่อไปไม่มีวันจบสิ้น

 

หมายเลขบันทึก: 154648เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2007 11:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท