เด็กสมองพิการ...เจ็บกายหรือเจ็บใจ


วันนี้ ดร.ป๊อป ฝึกการรู้คิดและจิตสังคมที่เกี่ยวข้องกับการปรับพฤติกรรมร้องไห้ขณะฝึกกิจกรรมบำบัดในเด็กสมองพิการวัย 11 เดือน และทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์ตามชื่อบันทึก

สมมติฐานที่ 1: เด็กร้องไห้ไม่หยุดขณะฝึกจับส่วนต่างๆ ของร่างกายลงน้ำหนักลดเกร็งใส่เคร่องดามมือ และกระตุ้นทำกิจกรรมการเล่นในท่านั่ง ตั้งคลาน และยืน โดยใช้อุปกรณ์ดามข้อศอกและอุปกรณ์จับยืน หากมีสิ่งเร้าจากเสียงของผู้ฝึกด้วย เด็กจะส่งเสียงร้องไห้ดังขึ้น

การทดสอบสมติฐานข้อที่ 1: เมื่อผู้ฝึกส่งเสียงให้เปลี่ยนท่าทาง สังเกตว่า เด็กจะร้องไห้ไม่ยอมทำมากขึ้น เมื่อผู้ฝึก-ผู้ปกครองเงียบและใช้การเล่นเคาะเสียงเซโลโฟนกับเสียงกลองในท่านอนคว่ำลดเกร็งบนบอลขนาดกลาง สังเกตว่า เด็กจะหยุดร้องไห้และเอียงหูฟังเสียงไม่เกิน 2 วินาที แล้วจะร้องไห้ต่อไป

สมมติฐานที่ 2: เด็กร้องไห้ด้วยน้ำเสียงเบาลง ขณะสลับการฝึกเคลื่อนไหวเล่นบนเบาะสลับกับการพักเล่นเคาะเสียงในท่านอนคว่ำบนบอลข้างต้น ได้นาน 10 นาที

การทดสอบสมมติฐานข้อที่ 2: เด็กร้องไห้มากขึ้นขณะฝึกการเคลื่อนไหวแต่ละชุดๆ ละ 5 นาที (ชุด 1 จับงอขาและสะโพกตั้งคลานแล้วยืนแขนและลำตัวส่วนบนไปข้างหน้าชุด 2 จับงอขาและสะโพกทีละข้างพร้อมแขนและลำตัวส่วนบนด้านตรงข้ามไปข้างหน้าทีละซีกซ้ายสลับขวา ชุด 3 ยกแขนชูเหนือศรีษะจับสะโพกกลิ้งตัวไปด้านข้างอย่างต่อเนื่อง) ซึ่งในแต่ละชุดจะมีการสลับกับการพักข้างต้น 5 นาที ตามด้วยการให้คุณแม่อุ้มพูดคุยด้วยอีก 5 นาที ทำให้เด็กร้องไห้ด้วยน้ำเสียงเบาลง เมื่อลองผ่อนคลายด้วยแสงไฟนิ่ง-เคลื่อนไหว-เสียงระฆัง-เสียงจังหวะดนตรี ก็ส่งผลให้เกิดอาการร้องไห้มากขึ้น

การทบทวนวรรณกรรมเพื่อสนับสนุนผลการทดสอบสมมติฐาน คือ

  • Hadden, K.L. & von Baeyer, C.L. (2002). Pain in children with cerebral palsy: common triggers and expressive behaviors. Pain, 99, 281-288. สรุปว่า เด็กสมองพิการที่ไม่สามารถสื่อสารความเจ็บปวด (กายและใจ) ทางคำพูดได้จะมีพฤติกรรมแปลก เช่น น้ำลายไหล หน้าแดง ปวดหัว ชัก หัวเราะ กัดฟัน ตัวแข็ง แลบลิ้น ทำลายตัวเอง หากมีความเจ็บปวดก็จะสื่อสารแบบอวัจนภาษาโดยร้องไห้ ไม่อยากทำกิจกรรม เรียกร้องความสบาย โกรธ ไม่ร่วมมือ ไม่นอนหลับ เกร็งตัว ฯลฯ ซึ่งความเจ็บปวดเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ฝึกยืดกล้ามเนื้อ จับยืนเดิน จับขับถ่าย ใส่อุปกรณ์ดามมือ เคลื่อนไหวข้อต่อ และทำกิจกรรมบำบัด ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมและการสื่อสารอวัจนภาษาของกรณีศึกษานี้ ได้แก่ ร้องไห้ หน้าแดง เกร็ง อยากให้อุ้ม และไม่อยากฝึก (เมื่อ 8 เดือนที่แล้วมีอาการชักกระตุก และปัจจุบันลดลงแล้ว)
  • McKearnan, K.A., Kieckhefer, G.M., Engel, J.M., Jensen, M.P., & Labyak, S. (2004). Pain in children with cerebral palsy: a review. Journal of Neuroscience Nursing, 36(5), 252-259. สรุปว่า เด็กสมองพิการมีความเจ็บปวดจากการผ่าตัด หัตถการทางการแพทย์ ความบกพร่องทางกระดูกและกล้ามเนื้อ ความบกพร่องทางประสาทและกล้ามเนื้อ ความบกพร่องระบบย่อยอาหาร และการฟื้นฟูสมรรถภาพ (โปรแกรมการออกกำลังกายที่บ้าน การเคลื่อนไหวข้อต่อ การกระตุ้นไฟฟ้า การฝึกเคลื่อนไหวทำกิจกรรม การใส่อุปกรณ์ดาม การฝึกใช้อุปกรณ์ช่วย และการจับยืนด้วยอุปกรณ์ช่วย) แต่สำหรับการฝึกกิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด และการบำบัดความผิดปกติของการสื่อความหมายนั้นให้ประโยชน์สูงสุดและทำให้เด็กรู้สึกสบายโดยลดความเจ็บปวดจากสาเหตุและกระบวนการข้างต้น นั่นคือที่เด็กร้องไห้ขณะฝึกกิจกรรมบำบัดเป็นการเรียนรู้ระหว่างประสบการณ์ที่เคยเจ็บปวดกับประสบการณ์ที่กำลังกังวลขณะทำกิจกรรม(Behavioral distress, pain and anxiety) จะเห็นว่ากรณีศึกษานี้สามารถร้องไห้ต่อเนื่องขณะฝึกแต่น้ำเสียงและพฤติกรรมที่แสดงความเจ็บปวดลดลงได้เมื่อฝึกสลับพักด้วยประสบการณ์การเล่นด้วยเสียงที่ชอบและการพูดคุยกับคุณแม่ที่อุ้มอยู่
  • Family empowerment & psychosocial education เป็นกระบวนการที่สำคัญมากสำหรับกรณีศึกษานี้ ซึ่ง ดร.ป๊อป ได้ทดลอง สาธิต และลองให้ผู้ปกครองเข้าร่วมทดสอบสมมติฐานข้างต้นด้วย พร้อมมีการประเมินร่วมกันตลอด 2 ชม. ที่คลินิกกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ศาลายา ซึ่งสอดคล้องกับงานของ Aisen, M.L., Kerkovich, D., Mast, J., Mulroy, S., Wren, T.A.L., Kay, R.M., et al. (2011). Cerebral palsy: clinical care and neurological rehabilitation. Lancet Neurology, 10, 844-852.        

 อ่านต่อเนื่องถึงการฝึกกิจกรรมบำบัดวันถัดไปที่ บันทึกเด็กสมองพิการคลายเจ็บคลายกังวล

หมายเลขบันทึก: 461562เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2011 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

น่าสนใจมากค่ะ ปฏิสัมพันธ์ที่อ่อนโยนด้วยความรักของแม่ คือการฟื้นฟูทั้งกายและใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท